ปฏิทินอย่างช้า: เตรียมจับตากฎหมายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้

ภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ 2557 ทำให้ระยะเวลาของการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใหม่อาจเลื่อนออกไปยาวนานขึ้น อย่างมากที่สุดคือ เลื่อนออกไป "4 เดือน" แต่ทว่า ก็ยังมีกฎหมายหลายฉบับที่จะเผยโฉมออกมาในปีนี้ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูป เป็นต้น
'อย่างช้าที่สุด' รัฐธรรมนูญประกาศใช้เดือน "มิถุนายน 2560"
ภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ 2557 ที่ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจพระราชทานข้อสังเกตแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ หากพระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติม ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมาและดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น แล้วถึงนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าอีกครั้ง เพื่อให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย 
อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาอย่างมากที่สุด 120 วัน หรือประมาณ 4 เดือน นั่นเท่ากับว่า หากพระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตลงมาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็อาจจะประกาศใช้อย่างช้าประมาณเดือนมิถุนายน 2560
กฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติมาแน่ๆ ได้เห็นก่อนสิ้นปีนี้
"ยุทธศาสตร์ชาติ" เป็นกลไกใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใดของไทยมาก่อน ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย มาตรา 65 กำหนดให้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นเพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ โดยร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้กำหนดกรอบว่ายุทธศาสตร์ชาติจะต้องมีเนื้อหาอะไรบ้าง กำหนดเพียงให้จัดทำกฎหมายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติขึ้น
หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติแล้ว มาตรา 275 กำหนดให้ จัดทำกฎหมายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ ภายใน 120 วัน และจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้เสร็จภายในหนึ่งปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คณะรัฐมนตรีชุดที่แต่งตั้งโดยคสช. ยังอยู่ในอำนาจ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น แม้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้วางโครงสร้างเนื้อหาของยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้แต่คนที่เขียนเนื้อหาทั้งหมดก็ คือ เป็นรัฐบาลของคสช.เอง
และรัฐบาล คสช. จะต้องออกกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ อย่างช้าภายในเดือนตุลาคม 2560 
สี่เดือนหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เตรียมจับตากฎหมายว่าด้วยการปฏิรูป
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดกลไกการปฏิรูปไว้ในหมวดที่ 16 ตั้งมาตรา 257 ถึง 261 โดยกำหนดว่า "รัฐบาลลุงตู่" ต้องจัดทำกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปภายใน 120 วัน หรือ "สี่เดือน" นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ แล้วจากนั้นถึงเริ่มดำเนินการตามแผนภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ขอบเขตการปฏิรูปก็มีหลายด้านด้วยกัน เช่น
  • การปฏิรูปด้านการเมือง ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ให้กิจกรรมของพรรคการเมืองเปิดเผยและตรวจสอบได้  ให้มีกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ฯลฯ
  • การปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ให้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ให้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของรัฐให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ
  • การปฏิรูปด้านกฎหมาย ให้ใช้การขออนุญาตคณะกรรมการเท่าที่จำเป็น ให้ปฏิรูปการสอนกฎหมายให้มีจริยธรรม ให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชน ฯลฯ
  • การปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม ให้กำหนดระยะเวลาทุกขั้นตอน สร้างวัฒนธรรมให้บริการประชาชนสะดวกรวดเร็ว ปรับปรุงภาระหน้าที่ของตำรวจ ฯลฯ
  • -การปฏิรูปด้านการศึกษา ให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนา ให้ครูมีจิตวิญญาณความเป็นครู ให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัด ฯลฯ
  • การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทย ปรับปรุงระบบภาษีให้เป็นธรรม เสริมสร้างระบบสหกรณ์ ฯลฯ
  • การปฏิรูปด้านอื่นๆ ให้มีระบบจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ให้กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ให้มีระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ
รัฐบาล คสช. จะต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป อย่างช้าภายในเดือนตุลาคม 2560
ต้นปีหน้า เตรียมจับตากฎหมายประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ และอื่นๆ
ในมาตรา 278 ของรัฐธรรมนูญใหม่ กล่าวถึงกฎหมายอีกสามฉบับที่ต้องเร่งรัดให้ออกให้ได้โดยเร็ว หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและการรับฟังความคิดเห็นก่อนการดำเนินโครงการใด ตามมาตรา 58 กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตามมาตรา 62 และกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนที่ชี้เบาะแสการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามมาตรา 63
นอกจากนี้ ในมาตรา 278 ยังให้ความสำคัญกับกฎหมายสามฉบับนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากมีการกำหนดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ให้ดำเนินการร่างกฎหมายทั้งสามฉบับให้เสร็จภายใน 240 วัน และให้สนช.พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หรือใช้เวลาอย่างช้า 10 เดือน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การดำเนินการร่างกฎหมายดังกล่าวจะอยู่ภายใต้รัฐบาล คสช. ทั้งหมด อีกทั้ง หากหน่วยงานใดไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพ้นจากตำแหน่ง 
ดังนั้นกฎหมายเร่งด่วนสามฉบับ จะต้องร่างขึ้น พิจารณาให้เสร็จ และประกาศใช้ อย่าช้าภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561
กุมภาฯ ปี 2561 สิ้นสุดการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับ
ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 267 กำหนดว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติแล้ว ให้ กรธ. อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อ เพื่อจัดทําพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ "กฎหมายลูก" 10 ฉบับ ให้เสร็จภายในระยะเวลา 240 วัน หรือ 8 เดือนนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้ และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน โดยกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ ได้แก่
(1) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  
(2) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา  
(3) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง  
(4) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
(5) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ  
(6) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง   
(7) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน  
(8) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  
(9) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
(10) พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 
อย่างไรก็ดี นรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวยืนยันว่า กรธ.พร้อมจะส่งร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ กฎหมายลูกด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายลูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สนช.ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ พร้อมยืนยันว่า กรธ.จะร่างกฎหมายให้ทันตามโรดแมปเดิม