รัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว)’57 สองปีแก้สี่ครั้ง

รัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 จากนั้น หนึ่งวันให้หลัง วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในขณะนั้น อธิบายถึงลักษณะของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ว่า “รัฐธรรมนูญชั่วคราว มีความหมายอยู่ในตัวว่า ให้ใช้บังคับไปพลางก่อน ซึ่งคาดว่า จะมีระยะเวลาประมาณ 1 ปี บวกลบ เพื่ออยู่ระหว่างการรอการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร” 
นับถึงวันที่ 13 มกราคม 2560 รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ยังคงประกาศใช้อยู่เป็นเวลาประมาณ 2 ปี 5 เดือน หรือประมาณ 905 วัน นับว่า มีอายุยาวนานกว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวจากการรัฐประหาร 5 ครั้งหลังสุดในประเทศไทยที่เฉลี่ยแล้วอายุประมาณ 1 ปี และอายุน้อยกว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวเพียงฉบับเดียวคือ ธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2502 อายุประมาณ 3,433 วัน ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์  
ระยะเวลาประมาณ 2 ปี 5 เดือน รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้ง ทุกครั้งใช้เวลาเพียงวันเดียวในการให้ความเห็นชอบ เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญถาวรเรียกว่า แก้ได้ง่ายกว่ามาก และเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วยกันยังไม่มีข้อมูลว่า ในอดีตเคยมีฉบับไหนมีการแก้ไขเพิ่มเติมบ้าง แต่ที่ทราบคือจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 8 ฉบับ มีเพียงสองฉบับที่บัญญัติให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ คือ รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2519
 

แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1: จัดให้มีประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

หลังจากมีเสียงกดดันจากหลายฝ่าย การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งแรกในยุคคสช. จึงเกิดขึ้นในวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มหลายประเด็น โดยมีประเด็นหลักสองประเด็นคือ 
1) กำหนดให้มีการจัดการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแก้ไขจากขั้นตอนเดิมที่เมื่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ จะส่งร่างให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่เห็นชอบหรือไม่เท่านั้น ถ้าสปช.เห็นชอบ ให้นำร่างรัฐธรรมนูญไปออกเสียงประชามติ แต่ถ้าสปช. ไม่เห็นชอบ ให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป และให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแทน เมื่อกรธ.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จให้นำไปออกเสียงประชามติเลย นอกจากนี้ให้มีการแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) เพื่อสานต่องานจากสปช.
ผลของการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำให้ต่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กมธ.ชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกสปช.ไม่เห็นชอบ ทั้งสององค์กร คือ กรธ.และสปช.ชุดเดิมจึงถูกยุบ และตั้งกรธ.และสปท. ชุดใหม่ขึ้นมา นำโดยมีชัย ฤชุพันธ์เข้ามาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแทน 
2) แก้ไขลักษณะต้องห้ามของครม. จากเดิมกำหนดห้ามบุคคลที่ “เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” แก้ไขเป็น “ไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” การแก้ไขประเด็นนี้เกิดในช่วงที่รัฐบาลคสช.ถูกตั้งคำถามถึง ความสามารถในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของทีม มรว.ปรีดิยาธรเทวกุล รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ที่ดูจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ดั่งใจ รัฐบาลทหารจึงต้องแก้ไขมาตรานี้เพื่อให้สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลไทยรักไทยซึ่งเคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเข้ามานำทีมเศรษฐกิจแทน   

แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2: แก้ความผิดพลาดการนับเสียงข้างมากประชามติ

จากความผิดพลาดในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งที่หนึ่ง ทำให้เกิดความสับสนในประเด็นการนับเสียงข้างมากในการออกเสียงประชามติ ที่เดิมเขียนว่าให้นับ “เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ” ทำให้เกิดการตีความว่า การนับคะแนนประชามติให้นับรวมผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิด้วยซึ่งหากเป็นเช่นนี้ร่างรัฐธรรมนูญก็มีโอกาสมากที่จะไม่ผ่านประชามต
ในวันที่ 10 มีนาคม 2559 คสช.จึงให้ สนช.แก้ไขเพิ่มเติม เป็นให้นับ “เสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติ” คือนับเฉพาะผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเท่านั้น ถ้าเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญก็ให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย
นอกจากนี้ ยังมีแก้ไขให้ สนช.สามารถเสนอคำถามเพิ่มเติมหรือคำพ่วงในการออกเสียงประชามติครั้งนี้ได้อีกหนึ่งคำถาม

แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3: เพิ่มสนช.อีก 30 คน รับนายทหารเกษียณและเลื่อนขั้น

ก่อนการปรับโยกย้ายข้าราชการประจำปีในเดือนกันยายน 2559 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 คสช.ส่งร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ให้สนช.พิจารณา การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้มีประเด็นเดียวคือ การเพิ่มจำนวนสมาชิกสนช.จากเดิมไม่เกิน 220 คน เป็นไม่เกิน 250คน โดยเหตุผลในการเพิ่มจำนวนสนช. คือ เพื่อเข้ามาช่วยแบ่งเบาภารกิจ ในการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญที่ยังค้างการพิจารณาอีกจำนวนมากรวมถึงมีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ต้องพิจารณาภายในระยะเวลาที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งสนช.ใหม่ 30 คน ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยนายทหารที่เพิ่งเกษียณอายุราชการและนายทหารที่เพิ่งได้รับการเลื่อนขั้นไปดำรงตำแหน่งสำคัญ  

แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4: เปิดช่องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามพระราชทานข้อสังเกต

ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปแล้วกว่า 5 เดือน และยังอยู่ในขั้นตอนการรอพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ซึ่งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ลงพระปรมาภิไธยก็เท่ากับร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป อย่างก็ไรก็ตามวันที่ 13 มกราคม 2560 คสช.ส่งร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่สี่ ให้สนช.พิจารณาเห็นชอบ โดยมีการแก้ไขมีสองประเด็น
1) ถ้าพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้
2) เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า หากพระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใด ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าใหม่
การแก้ไขในประเด็นที่สองจะนำไปสู่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ วิษณุ เครืองาม บอกไม่มีส่วนใดกระทบกับสิทธิเสรีภาพ โครงสร้างทางการเมือง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ
ไฟล์แนบ
You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์