“ข้อมูลเท็จ” #พรบคอม ฉบับใหม่ สื่อเสี่ยงถูกปิดกั้นการรายงานข่าว แนวโน้มใหม่ที่ไม่สามารถเลี่ยงข้อกล่าวหาได้

เวทีเสวนาวิชาการสะท้อน ในร่าง #พรบคอม ข้อกล่าวหาเสนอ "ข้อมูลเท็จ" เป็นแน้วโน้มที่สื่อไม่สามารถเลี่ยงได้ นักสิทธิมนุษยชนมีข้อกังวล คำว่า "ศีลธรรมอันดี-ความมั่นคงของชาติ" ขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจของคณะกรรมการ 9 คน
 
25 ธันวาคม 2559 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีโครงการเสวนาวิชาการ “ประเทศไทย หลังพรบ. คอมพิวเตอร์ฯ 2559” เวลา 13:30 – 16:00 น. ห้องเอนกประสงค์ริมน้ำ ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมฟังประมาณ 60 คน 
เริ่มต้นงานเสวนา รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึง สถานการณ์ พ.ร.บ. คอมฯ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมาว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ ได้ผ่านวาระ 3 โดยที่คนจำนวนประมาณ 300,000 คน เข้าลงชื่อคัดค้าน แต่ยังมีเสียงที่ดังกว่าคือ เป็นเสียงจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ จำนวน 168 เสียง จากจำนวนผู้เข้าประชุม 172 คน
ข้อมูลเท็จ ใน #พรบคอม 14(1) เทรนด์ที่สื่อไม่สามารถเลี่ยงข้อกล่าวหาได้
อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) หยิบยกเนื้อหา ร่างพ.ร.บ.คอมฯ 14(1) ที่มีคำว่า “ข้อมูลเท็จ” โดยมองว่า คำดังกล่าว ส่งผลต่อการนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชน และ คำว่า “อันไม่ใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” ก็ไม่ได้แก้ปัญหาในกระบวนการพิจารณาคดีอะไรเลย 
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ ที่ผ่านวาระ 3

มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

อรพิณ ยกตัวอย่าง คดี พ.ร.บ.คอมฯ 14(1) ที่สื่อถูกปิดกั้นการนำเสนอข่าวว่า คือ คดีไทยพีบีเอส ที่เยาวชนรายงานข่าวถึงผลกระทบจากเหมืองแร่ที่บ้าน โดยมีสารปนเปื้อนในน้ำ จากเดิมบริษัทถูกหมิ่นประมาท เพราะถูกมองว่า การดำเนินกิจการของบริษัททำให้ชุมชนเดือดร้อน แต่ในคดีที่ฟ้องกัน เขาไม่ได้พูดเพียงในด้านของผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่บริษัทฟ้องถึงการกระจายของตัวแร่ที่ลงไปในน้ำเป็นเรื่องที่ไม่เป็นจริง ดังนั้น โดยส่วนตัว แม้ในอนาคตที่ไม่ได้ฟ้องควบคู่กับคดีหมิ่นประมาทแล้ว แต่ต่อไปต้องมีการอ้างคดีอยู่ดีว่า สารคดีของไทยพีบีเอสพูดเรื่องน้ำที่ปนเปื้อนออกมาเข้าข่ายข้อมูลเท็จตามมาตรา 14(1) เช่นเดิม 
อีกตัวอย่างหนึ่ง คดีของ ภูเก็ตหวาน เป็นเว็บไซต์ข่าวขนาดเล็กแห่งหนึ่งทางภูเก็ต มีการแปลรายงานสืบสวนสอบสวนทำโดยเว็บไซต์รอยเตอร์ เว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ ที่พูดถึงกระบวนการค้ามนุษย์ทางเรือ แล้วมีการพาดทิ้งถึงหน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุน ทำให้เจ้าหน้าที่ของทหารไปฟ้องเว็บไซต์ข่าวภูเก็ตหวาน นอกจากเรื่องว่า หมิ่นประมาทองค์กรของรัฐแล้ว องค์กรรัฐต้องปกป้องตัวเองด้วยว่า ไม่จริงนะ รัฐไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องพัวพัน คำถามก็คือ ถ้าเรายึดหลักเรื่องข้อมูลเท็จ แต่เป็นไปได้ไหมว่าเราจะสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้กับทุกกรณี แน่นอนว่าเรื่องการนำเสนอข้อมูลเท็จในทางกฎหมาย ย่อมส่งผลต่อการนำเสนอข้อมูลของสื่อมวลชน
“เวลาที่เราคุยกัน เรื่อง พ.ร.บ.คอม ทางผู้ร่าง จะไม่ได้มองถึงผลกระทบการแสดงออกของสื่อมวลชนเท่าไหร่ แต่ถ้าดูภาพใหญ่ และคดีตัวอย่างที่ผ่านมา ทุกคนจะพุ่งไปทางเดียวกัน คือ เอามาใช้จัดการปิดปากกับคนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้”  อรพิณตั้งข้อสังเกต
สำหรับสถานการณ์การนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร ของสื่อกระแสหลักที่มีต่อร่าง พ.ร.บ. คอมฯ ในสังคม รุจน์ ยกข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวของ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า “ความเงียบงันของสื่อกระแสหลักต่อประเด็นสำคัญอย่าง #พรบคอม ยิ่งสะท้อนและตอกย้ำว่า เหตุใดพื้นที่สื่อสารในโลกออนไลน์จึงสำคัญ และเหตุใดรัฐจึงอยากควบคุม” 
ข้อน่ากังวล ศีลธรรมอันดี-ความมั่นคงของชาติ ขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจของคณะกรรมการ 9 คน 
ช่วงหนึ่งของงานเสวนา รุจน์ กล่าวถึง บทสัมภาษณ์ของประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หลังจากร่างแก้ไขพ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่ผ่านว่า “ตนสงสัยอยู่ว่า ในเมื่อเราเป็นเมืองพุทธ คำว่า ศีลธรรมอันดีไม่รู้จักกันหรือ สื่อรู้จักไหม ถ้ารู้จักอย่ามีปัญหามากนัก การทำผิดศีลธรรมอันดีคืออะไร ศีลธรรมคือความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของประเทศชาติ ถ้าไม่เข้าใจคำนี้ก็ไม่ต้องทำอย่างอื่น…” 
อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงประเด็น “ความมั่นคงของชาติ” ว่า  ใน พ.ร.บ. หลายๆ ฉบับจะมีการเพิ่มคำหนึ่งคือ “ความมั่นคงของชาติ” เช่น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ ก็อนุญาตให้มีการเลือกปฏิบัติได้ เพื่อความมั่นคงของชาติ เมื่อปีแล้ว กสม. ตั้งคำถาม ต่อคณะผู้แทนไทยจากรายงานสถานการณ์สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ว่า อะไรคือความมั่นคงของชาติที่เป็นเหตุต่อการเลือกปฏิบัติทางเพศ ทางคณะผู้แทนไทยก็ไม่สามารถตอบได้ 
“..เราจะเห็น “ความมั่นคงของชาติ” กว้างขวางมากและเข้าไปอยู่ในชีวิตของทุกคน และเปิดโอกาสให้มีการตีความของคณะกรรมการอย่างไร้ขอบเขต…”  อังคณากล่าว
อังคณากล่าวต่อว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ การใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการ 9 คน อย่างที่เราได้ยินตามข่าว อดีตบิ๊กตำรวจมีภรรยาหญิง บอกไม่ขัดต่อกฎหมาย แล้วคำถามคือ ขัดศีลธรรมหรือเปล่า ซึ่งคำว่าศีลธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงจำเป็นต้องให้มีการรับฟังอย่างกว้างขวาง และไม่ควรเปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจโดยลำพังของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  
ความหวาดกลัวของชาวบ้านต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ
อังคณา ยกตัวอย่าง คดีและเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ในฐานะที่ตนเป็นอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองว่า วันนี้ มีชาวบ้านในชนบท ที่จะถูกฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.คอมฯ โดยมีชาวบ้านรายหนึ่ง มาบอกว่า มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาพบที่บ้าน แล้วไปเจอแม่ มีคนถ่ายรูปเก็บมาไว้ แล้วไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก ถูกขู่ว่าจะฟ้องตาม พ.ร.บ.คอมฯ ปรากฏกลัวกันไปทั้งชุมชน 
นอกจากนี้ มีกรณี การขู่ว่า จะใช้ มาตรา 44 จับชาวบ้าน พอถามว่าแล้วใครจะเป็นผู้ใช้ มาตรา 44 ท่านรู้หรือเปล่า คนที่มีอำนาจใช้ มาตรา 44 คือ หัวหน้า คสช. แต่ในพื้นที่ในที่ห่างไกลตัวเมือง เจ้าหน้าที่รัฐพยายามจะคุกคามโดยใช้กฎหมาย นายกรัฐมนตรีอาจไม่ทราบ แต่ สนช.ที่ทำงานกับประชาชนก็จำเป็นที่ต้องจะทราบ และหาแนวทางเพื่อปกป้องประชาชน
อังคณา พบรัฐมองประชาชนต่อต้าน ปั่นป่วน วุ่นวาย 
อังคณา เสนอแนะตอนท้ายเวทีเสวนาว่า ท่านทั้งหลาย ต้องศึกษาในเรื่อง กฎหมายให้เข้าใจ ต้องมีความรู้ความเข้าใจสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประสบการณ์การทำงานของดิฉัน พบว่า การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นไปเพื่อต้องการที่จะปกป้องสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน เวลามีการละเมิดที่ไหนประชาชนก็จะเร็วมากในการช่วยเหลือกัน แต่ทุกวันนี้ นักสิทธิ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีคนที่ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน คือ คนที่ปกป้องสิทธิของคนเล็กคนน้อย มุมมองในประสบการณ์ฉันเอง รัฐมองเห็นว่า ประชาชนเป็นพวกต่อต้าน ปั่นป่วน เกิดความวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม เราต้องมาเรียนรู้ร่วมกัน
เราคงไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นประชาชน เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยของไทย แม้มีรัฐประหาร แต่ก็ไม่ได้แปลว่า เราจะไม่ให้มีการแสดงความเห็นของประชาชนได้ ประชาชนยังไม่รู้สึกหวาดกลัว รัฐต้องส่งเสริมเพื่อเป็นการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนกับรัฐ 
“เราจะเห็นว่า พ.ร.บ.คอมฯ มีการบัญญัติถึง ‘ความมั่นคงของรัฐ’ แต่ยังไม่มีกฎหมายใด บัญญัติถึง ‘ความมั่นคงของมนุษย์’ และดิฉันยังเชื่อว่า เราอยู่ได้ โดยไม่มี มาตรา 44” อังคณากล่าวปิดข้อเสนอแนะ