ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ใช่ฉบับเดียวที่ต้องจับตา ถ้าทุกฉบับผ่านก็หมายความได้ว่า Single Gateway

ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือ #พรบคอม ที่กำลังจะผ่าน สนช. ยังไม่ใช่ Single Gateway และไม่ใช่กฎหมายฉบับเดียวที่จะมาควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ต การสื่อสาร และข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน แต่ยังมีอีกมากทั้งที่ผ่านแล้วและรอคิวอยู่

ต้องไม่ลืมว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบัน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชน เพื่อสืบสวนหาผู้กระทำความผิดได้อยู่แล้ว (มาตรา 18) การใช้กฎหมายนี้เพื่อฟ้องคดีปิดปากการรณรงค์ หรือการเคลื่อนไหวทางสังคมก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว (มาตรา 14(1)) และกฎหมายนี้ก็ให้อำนาจปิดเว็บไซต์ที่ “ขัดต่อศีลธรรมอันดี” ไว้อยู่แล้ว โดยยังมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นความผิดต่อกฎหมายนี้ด้วย (มาตรา 20)

ดังนั้น ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ถูกเสนอใหม่ จึงเพียงตอกย้ำ ปัญหาเดิมๆ ให้หนักขึ้น เช่น การกำหนดฐานความผิดที่กว้างและคลุมเครือ การให้อำนาจเพิ่มกับเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ให้อำนาจเพิ่มในการตรวจสอบจากสาธารณะ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้แก้ไขส่วนที่เป็นจุดอ่อนให้ดีขึ้นได้

ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ ไม่มีมาตราไหนเขียนให้รัฐมีอำนาจทำ Single Gateway หรือระบบการเดินทางของข้อมูลในโลกออนไลน์แบบประตูเข้าออกทางเดียวที่รัฐเป็นผู้ควบคุมได้โดยตรง เพราะ Single Gateway นั้น ต้องทำใน “ทางกายภาพ” คือต้องสร้างระบบทางเดินของข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้นมา แต่ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ ให้อำนาจรัฐมากขึ้นในการควบคุมเนื้อหาบนโลกออนไลน์และการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนใน “ทางกฎหมาย” เท่านั้น ไม่ใช่ทางกายภาพ

โดยหลักคิดแล้ว ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำลังเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกับ Single Gateway คือ ทิศทางที่มองว่า “โลกอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นภัย ต้องให้อำนาจรัฐเข้ามาควบคุมอย่างเต็มที่”

สำหรับคนที่คัดค้าน Single Gateway เพราะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเช่นนี้ ก็ย่อมต้องคัดค้าน ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย

และสำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด “รัฐเป็นใหญ่” เช่นนี้ ก็ไม่ได้มีแค่ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ฉบับเดียวที่กำลังเดินหน้าผลักดันกันอยู่และควรจับตามอง ถ้ายังพอจำกันได้ เมื่อต้นปี 2558 คณะรัฐมนตรีเคยรับหลักการกฎหมายเกี่ยวกับโลกออนไลน์ทีเดียว 8 ฉบับ ภายใต้ข้ออ้าง “เศรษฐกิจดิจิทัล” ซึ่งรวมถึงร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ด้วย แต่หลังมีเสียงคัดค้านท่วมท้น กฎหมายทั้งชุดจึงถูกเปลี่ยนมาเป็นค่อยๆ ทำและค่อยๆ ผ่านทีละฉบับ ดังนี้ 

1. พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขึ้นแทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้เป็นกฎหมายไปตั้งแต่เดือนกันยายนแล้ว

2. ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการและจัดทำแผนระดับชาติว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล จัดตั้งสำนักงานและจัดตั้งกองทุน ซึ่งเพิ่งผ่านการพิจารณาของ สนช.ไปในเดือนธันวาคม 2559 นี้เอง 

3. ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ ร่างกฎหมาย กสทช.ใหม่ เสนอระบบการคัดเลือกกรรมการ กสทช. แบบใหม่ โดยให้ที่มายึดโยงกับศาลและองค์กรอิสระ ไม่ยึดโยงกับภาคประชาชนอีกต่อไป ซึ่งองค์กรนี้จะทำหน้าที่จัดสรรการใช้งานคลื่นความถี่เพื่อการสื่อสาร ทั้งในกิจการโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. และไม่แน่ว่าจะผ่านเมื่อไร

ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่เคยถูกเสนอขึ้นมาในปี 2558 แม้จะยังไม่ผ่านการพิจารณาของ สนช. แต่หากสังคมไม่ได้จับตาความเคลื่อนไหวให้ดีก็อาจถูกรื้อขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง และอาจใช้เวลาไม่นานในการพิจารณาประกาศใช้ก็ได้ เช่น

1. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ ที่จะให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ โดยไม่ต้องมีหมายศาล เพื่อคุ้มครองป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ต่อความมั่นคงของประเทศ 

2. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งควรจะเป็นกฎหมายที่มาคุ้มครองประชาชนให้มากขึ้น แต่ฉบับล่าสุดที่เห็นกลับมีหลักการให้การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน เพียงแค่แจ้งให้ทราบก็พอ 

นอกจากนี้ก็ยังมีร่างกฎหมายอื่นๆ ที่ถูกจัดทำขึ้นภายใต้แนวคิดเดียวกัน คือ ไว้ใจรัฐให้ควบคุมการสื่อสารแต่ไม่ไว้ใจประชาชนผู้ใช้งานด้วยกันเอง เช่น ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่างแก้ไขวิ.อาญาฯ เพิ่มอำนาจดักฟังโทรศัพท์ เป็นต้น

หากร่างกฎหมายทุกฉบับที่จะเพิ่มอำนาจให้รัฐเข้ามาควบคุมการสื่อสารของประชาชนผ่านการพิจารณาและประกาศใช้ทั้งหมดได้ แม้ว่ารัฐไทยจะไม่สามารถลงทุนสร้าง Single Gateway ในทางกายภาพได้ แต่รัฐก็จะมีอำนาจควบคุมทั้งข้อมูลและเนื้อหาได้ทุกแง่มุมตามที่ต้องการ ซึ่งให้ผลลัพธ์ไม่ต่างอะไรกับการสร้างทางเข้าออกของข้อมูลให้เป็นทางเดียวนั่นเอง

ภายในเวลาเพียงสองปีสามเดือน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไปแล้วอย่างน้อย 200 ฉบับ ขณะที่ คสช.ก็ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งให้มีผลเป็นกฎหมายไปอีก 119 ฉบับ ดังนั้น จึงไม่ใช่เฉพาะร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เท่านั้นที่ถูกผลักดันและอาจผ่านเมื่อไรก็ได้ แต่เป็นเรื่องที่ไม่ยากและไม่นานเกินไปหากรัฐบาลชุดนี้ต้องการจะประกาศใช้กฎหมายสักฉบับเพื่อเพิ่มอำนาจกำกับควบคุมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ 

สิ่งที่ประชาชนยังพอจะทำได้ก็คือการจับตาดู และหากไม่เห็นด้วยกับเรื่องใดก็แสดงออกส่งเสียงคัดค้านกันไปเท่าที่ช่องทางจะมี หวังว่าจะไปถึงหูผู้มีอำนาจบ้าง ถึงจะไม่เชื่ออย่างน้อยก็ให้ได้ยิน

ไอลอว์ชวนติดตามร่างกฎหมายฉบับต่างๆ ที่เตรียมจะเสนอสู่ สนช. หรือ สนช.กำลังพิจารณา ได้ที่ https://ilaw.or.th/articles/tag/nlawatch