สองปีแล้วสินะ: ‘ผลประโยชน์ของชาติ’ ผูกขาดอยู่ที่ใคร?

"ประชาชนสังคมไทยต้องตัดสินได้เเล้วว่า อะไรเหมาะสมไม่เหมาะสม
บุคคลนี้ทำประโยชน์อะไรให้กับบ้านเมืองบ้างในบทความที่เขาได้อธิบาย
เขาได้รับการอบรมสั่งสอนมาดีเพียงใด"
คำพูดตอนหนึ่งของพลตรีวีระชน  สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อถึงกรณีหม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล เขียนบทความ วิจารณ์พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
หลังได้ยินประโยคดังกล่าว ผู้เขียนเกิดข้อสงสัยเป็นคำถามในใจว่า ปีสองปีมานี้ รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใช้คำว่า’ เพื่อผลประโชน์’ของชาติบ้านเมืองไปแล้วกี่มากน้อย ใช้ในบริบทอะไรบ้าง ก่อนจะตอบคำถามนี้ อยากชวนผู้อ่านทำความรู้จักกับต้นตอวาทะกรรมผลประโชน์ของชาติ ที่ฝ่ายรัฐนำมาอ้างบ่อยในระยะหลังนี้เสียก่อน
แน่นอนว่า เรามาถึงจุดนี้เเล้ว สองปีกับรัฐประหารครั้งหลังสุด ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ผ่านเหตุผลกล่าวอ้าง… เพื่อผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ป้องกันสิ่งร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ  ให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ ให้เกิดความชอบธรรมทั่วทุกฝ่าย ในระยะหลังเริ่มหลุดคำว่า “รักษาระยะเปลี่ยนผ่าน”  ซึ่งก็ยังไม่มีอะไรแน่ชัดว่าเปลี่ยนผ่านไปสู่อะไร
หากนับจากยุคม็อบมวลมหาประชาชน ถึงยุคปฏิรูปเพื่อชาติบ้านเมือง  สังคมไทยมีคนมากมายที่ใช้คำว่า… “ทำเพื่อผลประโยชน์ชาติ” คำคำนี้ ถูกทำให้ดังขึ้นมากมายนับครั้งไม่ถ้วน แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน
มีเอกราช ,อธิปไตย,สมานฉันท์, สามัคคี,ปรองดอง , ความปลอดภัย, ความเป็นธรรม ,อยู่ดีมีสุข,ฐานทรัพยากรธรรมชาติมั่นคง , อยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสันติสุข, ปราศจากภัยคุกคามมีเกียรติและศักดิ์ศรีในประชาคมระหว่างประเทศ … คือ 12 ประการหลักที่ผู้เขียนพอจะนึกออก หากจะพูดถึง “ผลประโยชน์ชาติ” ตามหลักสากล
และถึงมีนโยบายเพื่อเป้าหมายเหล่านี้จริง ด้วย 12  ประการที่ยกมา ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะก่อเกิด “ผลประโยชน์ชาติ” อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่?
ในทัศนะผู้เขียนเห็นว่า สังคมใด ที่ผู้คนหันมองทางไหนก็พบแต่ปัญหา รู้สึกว่ายากจะตอบได้ว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร ปัญหาต่าง ๆ ล้วนแต่ต้องการทางออก และยังหาทางออกไม่ได้ บ่งชี้ว่าผลประโยชน์ประเทศชาติมีปัญหา เพราะทั้งสิบสองสิ่งไม่ได้ถูกทำให้เป็นเจตจำนงร่วมกันของคนทั้งประเทศ
แม้กระทั่งราษฎรอาวุโสคนหนึ่งเพิ่งออกมากล่าวถึงรัฐบาลว่า เข้าใจว่าทหารเคยชินแต่ระบบบังคับบัญชา แต่ก็ควรทำความเข้าใจว่าประเทศบริหารงานด้วยระบบราชการที่มีความซับซ้อน ดังนั้นควรบริหารงานให้มีความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายและต้องเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ หากรัฐทำงานเชิงส่งเสริมเครือข่ายได้ผลก็จะทำงานที่ยากได้ง่าย
“ผลประโยชน์ชาติ” จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำงานขององค์กรเพียงหนึ่ง หรือกลุ่มคนเพียงไม่กี่คนที่มาออกแบบและผูกขาดการทำผลประโยชน์ชาติ  
นับแต่เรื่องปากท้องอย่างนโยบายทางเศรษฐกิจ  การก่อเกิด‘บริษัทประชารัฐรักสามัคคี’ การตลาดเพื่อสังคมที่ตั้งเป้าเปิดวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยนำร่องในหลายพื้นที่อย่าง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีบุรีรัมย์ จำกัด และบริษัทชื่อคล้ายกันในเชียงใหม่ อุดรธานี เพชรบุรีและภูเก็ต
ก็ยังไม่แน่ว่าประชาชนทราบหรือไม่ว่าคืออะไรและจะทำอะไรกันแน่?   ใครได้ใครเสีย? เอื้อประโยชน์สิ่งใดให้เอกชนบางกลุ่มเข้ามากำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนหรือไม่?
ยิ่งเฉพาะ กติกาที่วางหลักให้คนอยู่ร่วมกันเช่น ร่างรัฐธรรมนูญ ในภาวะที่มีผู้ขัดแย้ง แสดงออกไม่เห็นด้วยต่อร่างฯ ฉบับนี้ และออกมารณรงค์ชักชวนให้ประชาชนไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 ไว้ขู่บังคับใช้ ซึ่งแม้ภายหลังผลประชามติจะผ่านพ้นด้วยชัยชนะอันท้นท่วมของฝ่ายรับ อันนับเป็นจุดแสดงการ สืบทอดผลประโยชน์ของชาติอย่างต่อเนื่อง 
สามนักกิจกรรมกับหนึ่งนักข่าวถูกจับในความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ขณะเดินทางไปให้กำลังชาวบ้านที่ราชบุรี
"เพราะฉะนั้นคนไทยคงต้องทำใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทหารจะอยู่ยาวแล้วอ้างการปฏิรูปประเทศ อ้างช่วงเปลี่ยนผ่าน หรืออ้างความขัดแย้งทางการเมือง เราทุกคนคงจะต้องทำใจ กับความเป็นจริงที่ว่า ประเทศไทยนั้นมีตัวตลกเป็นนายกฯ"  เป็นประโยคจบของ “สำรวม สุภาพ สุขุม ท่วงทำนองที่ผู้นำไทยไม่มี" ข้อเขียนจากหม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุลผ่านเว็บไซต์ประชาไทที่ทำให้รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีต้องออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้ ซึ่งผู้เขียนเห็นควรให้เป็นบทสรุปของคำถามที่ว่า สองปีแล้วสินะ ผลประโยชน์ของชาติผูกขาดอยู่ที่ใคร ส่วน “จะยืดยาวไปอีกแค่ไหน?”  เป็นอีกคำถามหนึ่งซึ่งเพิ่งผุดขึ้นในใจ แต่ยังไร้วี่แววของปลายทางคำตอบ…