ที่มา-ที่ไป เจตนารมณ์คำถามพ่วงส.ว.เสนอชื่อนายกฯได้ไหม?

แม้ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงที่ "ให้ส.ว.ชุดแรกที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมกับส.ส.พิจารณาเห็นชอบนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรก" จะผ่านความเห็นชอบแล้ว แต่ยังเหลือขั้นตอนแก้ร่างรัฐธรรมนูญกับคำถามพ่วงให้สอดคล้องกัน การแก้ไขเพิ่มเติมที่ดูเหมือนจะง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อนถึงตอนนี้ไม่แน่แล้ว เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พยายามขยายความคำถามพ่วงเพื่อให้ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ด้วย 
เจตนารมณ์ของคำถามพ่วงเป็นอย่างไร ชวนย้อนดูที่มาที่ไปและการนำเสนอคำถามพ่วงต่อประชาชนก่อนลงประชามติ และหลังประชามติแต่งแต่งกันอย่างไร 
ตั้งคำถามพ่วง
(1) รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 มาตรา 39/1 วรรค 7 กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สามารถเสนอประเด็นคำถามเพิ่มเติม หรือ คำถามพ่วง ในการลงประชามติได้ โดยต้องนำข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มาร่วมพิจารณาด้วย
(2) วันที่ 1 เมษายน 2559 สปท.มีประชุมพิจารณาคำถามพ่วงเพื่อเสนอต่อ สนช.ประกอบการพิจารณาตั้งคำถามประชามติเพิ่มเติม
(3) วันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท.เสนอคำถาม คือ “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่ในระยะ 5 ปีแรก นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา” 
(4) โดยสรุปการประชุมสปท. แนบข้อสังเกตของคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสปท. โดยเพิ่มข้อความว่า “โดยยกเว้น ไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเฉพาะจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น” ไปด้วย     
จากซ้ายไปขวา: คำนูณ สิทธิสมาน วันชัย สอนสิริ และเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปท.
(5) วันชัย กล่าวว่า ถ้าส.ว.250 คน มีส่วนร่วมในการหานายกรัฐมนตรี ช่วยกันดูว่า นายกฯ คนไหนไม่ฉลาด ประวัติไม่ค่อยดี จะทำให้เราคอยช่วยกันดู ดังนั้น ถ้าเราสามารถช่วยกันดูแลประคับประคอง ฝ่ายการเมืองที่มาจากภาคประชาชนจะได้เห็นว่า เรื่องการปฏิรูปนั้นสำคัญ เพราะ ส.ว.สรรหามีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ เข้ามา ดังนั้นญัตตินี้ถือว่า เป็นการแก้วิกฤติของประเทศได้จริง เพราะคนที่จะมาเป็นนายกฯ ถูกเลือกจากคนที่มาจากการสรรหาในหลายวิชาชีพกับฝ่ายเลือกตั้ง
(6) สมาชิกสปท.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนญัตติของวันชัย เช่น คำนูณ สิทธิสมาน และเสรี สุวรรณภานนท์ สปท. เพราะเห็นว่าการที่ส.ว.มีอำนาจในการดูแลและติดตามการทำงานของนายกฯ จะช่วยให้ประเทศเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้
(7) ที่ประชุม สปท.มีมติว่า ให้ส่งญัตติของวันชัยไปยัง สนช.เพียงญัตติเดียว ด้วยคะแนน 136 ต่อ 3 งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนน 1       
(8) วันที่ 7 เมษายน 2559 สนช.มีประชุมเพื่อพิจารณาคำถามพ่วงที่จะเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการออกเสียงประชามติ      
(9) กล้าณรงค์ จันทร์ทิก รองประธาน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ สนช. กล่าวว่าจากประมวลคำถามที่ได้รับจากสนช. และสปท. ปรากฏว่าประเด็นคำถามที่ว่า “ในช่วงระยะเวลา 4 ปี หรือ 5 ปีควรที่จะกำหนดให้มีบทเฉพาะกาลในรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่” มีการเสนอเข้ามามากที่สุด โดยคณะกรรมาธิการได้เน้นข้อเสนอของสปท.เป็นหลักในการพิจารณา 
จากซ้ายไปขวา: สมชาย แสวงการ กล้าณรงค์ จันทร์ทิก และสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกสนช.
(10) ดังนั้นคณะกรรมาธิการจึงเห็นควรตั้งคำถามพ่วงว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติสมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ให้ที่ประชุมร่วมกับรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
(11) สมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. ซึ่งเป็นผู้เสนอคำถามนี้และเป็นคณะกรรมาธิการ กล่าวให้การสนับสนุนว่า ข้อเสนอดังกล่าวมา “ถูกทางแล้ว” พร้อมเน้นย้ำว่า คำถามพ่วงถ้าผ่านประชามติจะไม่ไปแก้บทถาวรของร่างรัฐธรรมนูญแต่จะใส่ไว้ในบทเฉพาะกาล นอกจากนี้ข้อเสนอแนะของ คำนูณ สมาชิก สปท. ที่ขอเพิ่มข้อความว่า ที่ให้ยกเว้นการเลือกนายกฯ จากบัญชีที่พรรคการเมือง สมชายมองว่า อันนี้ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสับสนหรือไม่
(12) สมชาย กล่าวทิ้งทายข้อเสนอจากสปท.ที่กังวลว่าจะต้องไปแก้บทถาวร หรือไปสร้างความสับสนหรือไม่ คณะกรรมาธิการได้ปรับถ้อยคำให้ชัดเจน แล้วก็นำเสนอต่อที่ประชุมนี้ด้วยความรอบคอบ รัดกุม ไม่ต้องการสร้างความสับสน
(13) ที่ประชุม สนช..มีมติส่งคำถามพ่วงดังกล่าวให้ กกต.นำไปลงประชามติ ด้วยคะแนน 152 ต่อ 0 งดออกเสียง 15 
เอกสารอธิบายคำถามพ่วงของ สนช.
สนช.ชี้แจงคำถามพ่วง
(1) วันที่ 29 เมษายน 2559 สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. ได้ประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางวิธีการดำเนินงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์คำถามพ่วง ในเวที่กรธ.ในพื้นที่ 9 กลุ่มจังหวัด และพื้นที่กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีเวทีเดิม เช่น โครงการ สนช. พบประชาชน โดยจะจัดสรรเวลาให้สมาชิกได้อธิบายประเด็นคำถามเพิ่มเติม รวมถึงการเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อวิทยุโทรทัศน์ของรัฐสภา 
ส่วนเหตุผลที่ต้องมีคำถามเพิ่มเติม เพราะนายกรัฐมนตรี คือ หัวหน้าที่ทำให้การปฏิรูปประเทศประสบผลสำเร็จ ตามยุทธศาสตร์ชาติต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี จึงวางรากฐานการปฏิรูปได้อย่างเป็นรูปธรรม และรัฐสภา ประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. กำกับให้มีการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ จึงกำหนดให้ ส.ส. ส.ว. ทำหน้าที่เลือกนายกฯ       
(2) จุลสารการออกเสียงประชามติที่จัดทำโดยกกต. ซึ่งถูกใช้ชี้แจงคำถามพ่วงและจัดส่งไปตามครัวเรือนทั่วประเทศ กล่าวถึงสาระสำคัญของประเด็นคำถามพ่วงว่า คือ "แก้ไขบทเฉพาะกาลให้ส.ว.ชุดแรกตามบทเฉพาะกาลที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติ ร่วมกับส.ส.เป็นผู้เห็นชอบการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่สังคมในช่วงเปลี่ยนผ่านในระยะเวลา 5 ปีแรก ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ"
(3) ในสารสนช. ฉบับที่ 24 เดือนกรกฎาคม 2559 กล่าวถึงประเด็นคำถามเพิ่มเติมของสนช. กรณีถ้าทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านประชามติ จะมีการแก้ไข “บทเฉพาะกาล” ของรัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับความเห็นของประชาชน ที่ต้องการให้ ส.ว. มีส่วนร่วมกับ ส.ส. ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี
รายการสาระประชามติ ตอนคำถามพ่วง
(4) วันที่ 25 กรกฎาคม 2559 รายการสาระประชามติ ตอนคำถามพ่วง ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. กล่าวในช่วงท้ายรายการว่า "คำถามพ่วงและรัฐธรรมนูญผ่านก็มาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับส่วนให้ส.ว.มีส่วนเพิ่มเติม ก็คือการให้ความเห็นชอบนายกรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากผู้แทนราษฎร ผมย้ำนะ (ส.ว. – เพิ่มเติมโดยผู้เขียน) เป็นองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้นเอง
รายการเดินหน้าประเทศไทย ตอนไขข้อข้องใจกับคำถามพ่วง
(5) วันที่ 3 สิงหาคม 2559 สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย กล่าวในรายการเดินหน้าประเทศไทย ตอนไขข้อข้องใจกับคำถามพ่วง ว่า "ที่มาของนายกรัฐมนตรีนั้น จะผ่านกระบวนการกลั่นกรองมาตั้งแต่ หนึ่ง สามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอแล้วให้สังคมได้ร่วมกันพิจารณาเป็นเบื้องต้นมาก่อน สอง ต้องเป็นพรรคที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ มีเก้าอี้ไม่น้อยกว่า 5% สาม ต้องมี ส.ส. ก็คือ ตัวแทนที่ประชาชนเลือกมาเอง ยึดโยงกับประชาชน มาให้การรับรองรายชื่อนั้นไม่น้อยกว่า 10% … เราก็เชื่อว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้ได้นายรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถ เข้าใจบริบทของสังคมไทย ที่จะเป็นผู้นำธงในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ"