ข่มขืน=ประหาร? ข้อถกเถียงที่ยังไม่มีวันจบ

โดย นันทชัย อินทรอักษร 
นักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเพิ่มบทลงโทษในคดีข่มขืนให้เป็นการประหารชีวิตถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในสังคมไทยอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่กรณีฆ่าข่มขืนน้องแก้ม แล้วโยนศพทิ้งเพื่ออำพรางคดี เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 หรือกรณีฆ่าข่มขืนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า เมื่อเดือนกันยายน 2557 กรณีข่มขืนแล้วโยนทิ้งลงเหวในจังหวัดพัทลุง เมื่อเดือนมีนาคม 2559 รวมถึงกรณีการข่มขืนอื่นๆ ที่ปรากฏในข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ จนนำไปสู่การรณรงค์ผ่านโลกโซเชียลมีเดียให้เพิ่มบทลงโทษของการข่มขืนเป็นการประหารชีวิต ผ่านแฮชแท็ก #ข่มขืน=ประหารชีวิต 
การแสดงความคิดเห็นว่า “การข่มขืน = ประหาร” นั้น อยู่บนพื้นฐานของหลักการคิดแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” และ “การเพิ่มบทลงโทษให้น่ากลัวเพื่อที่จะไม่มีใครกล้าทำอีก” 
อย่างไรก็ตามกระแสของการรณรงค์ก็กลับมีความคิดเห็นโต้แย้งในกลุ่มของนักวิชาการรวมถึงนักสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลายเช่นกัน การแสดงความไม่เห็นด้วยดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของความคิดที่ว่า “การเพิ่มบทลงโทษประหารชีวิต ไม่ได้ช่วยให้การข่มขืนลดลง” รวมถึง “การเพิ่มบทลงโทษประหารชีวิต เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ”
สำหรับกลุ่มคนที่ เห็นด้วย ในการเพิ่มบทลงโทษให้เป็นโทษประหารนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลจากการนำเสนอของสื่อ กล่าวคือ สื่อในปัจจุบันมิได้ทำหน้าเพียงแค่นำเสนอข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา แต่กลับมีการกำหนดวาระในการนำเสนอ (Agenda-Setting) โดยสื่อเองเป็นผู้เลือกว่าจะนำเสนอสิ่งใดและไม่นำเสนอสิ่งใด สิ่งใดที่นำเสนอไปแล้วจะเป็นสิ่งที่คนในสังคมให้ความสนใจ หรือนำเสนอไปแล้วเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง หรือแม้แต่การนำเสนอเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในลักษณะของความบันเทิง สร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้รับสารผ่านการประดิษฐ์ถ้อยคำที่สะเทือนความรู้สึกของผู้รับสาร ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจเลยว่าผู้รับสารหรือประชาชนในสังคมย่อมมีความรู้สึกร่วมต่อเหตุการณ์ เมื่อเหตุการณ์พยายามข่มขืน ข่มขืน หรือฆ่าข่มขืนเกิดขึ้น กระแสความเกลียดชังและการรณรงค์ให้ #ข่มขืน=ประหารชีวิต นั้นจึงเป็นที่สนใจในสังคมอย่างเป็นวงกว้างราวกับน้ำมันที่โหมเชื้อไฟแห่งความเกลียดชัง 
กลุ่มคนที่เห็นด้วยต่อการเพิ่มบทลงโทษฐานข่มขืนให้เป็นการประหารชีวิตนั้น โดยพื้นฐานหลักเป็นการมองผ่านมุมมองของเหยื่อ รวมถึงความพยายามที่จะเอาตนเองเข้าไปสวมทับการเป็นเหยื่อ โดยจะปรากฏเหตุผลที่ใช้สนับสนุนการประหารชีวิต เช่น
1. สังคมไทยยังเป็นสังคมที่มีความคิดแบบดั้งเดิมในเรื่องของความรู้สึกผิดตลอดชีวิต หรือ “ตราบาป” ดังนั้นการถูกข่มขืนจึงหมายความถึง ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) การย่ำยีถึงสิทธิเหนือเรือนร่างของตนเองรวมถึงการย่ำยีทางจิตใจ และถึงแม้ว่าเหตุการณ์การข่มขืนจะจบไปแล้วก็ตามแต่การเยียวยาสภาพจิตใจของเหยื่อจะต้องใช้เวลานาน หรือท้ายที่สุดเหยื่อที่ถูกข่มขืนก็ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติตลอดชีวิต
2. ต้องการให้ผู้ที่กระทำความผิด ต้องตกอยู่ในสภาพทุกข์ที่เท่าเทียมกันหรือรุนแรงกว่าเหยื่อ เพื่อชดเชยให้กับเหตุการณ์หรือการกระทำที่เกิดขึ้น โดยความคิดแบบนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดที่ว่า “ถ้ากล้าที่จะทำความผิด ผลลัพธ์คือบทลงโทษก็ถือว่าสมควรแล้ว”
3. ผู้กระทำความผิด หากได้รับโทษเพียงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อรับโทษจำคุกจริงๆ เป็นระยะเวลาไม่นานก็กลับออกมาในสังคมและมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดแบบเดิมซ้ำอีก ซึ่งการเพิ่มโทษคดีข่มขืนให้เป็นการประหารชีวิตจึงช่วยทำให้ผู้คนวางใจและเห็นผลอย่างชัดเจนว่า นักโทษคดีข่มขืนได้ถูกประหารอย่างสิ้นซากและไม่มีทางที่จะกลับมาทำความผิดได้อีก ซึ่งความคิดแบบนี้เกิดจากการที่ประชาชนไม่เชื่อในระบบยุติธรรม ระบบการลดโทษและอภัยโทษ เพื่อให้ผู้เคยกระทำความผิดกลับตัวเข้าสู่สังคมใหม่
4. ต้องการโทษตามกฏหมายมีความรุนแรงจนผู้ที่คิดจะกระทำความผิดไม่กล้าที่จะทำความผิด หรือ “เขียนเสือให้วัวกลัว” กล่าวคือ การเพิ่มโทษคดีข่มขืนให้เป็นการประหารชีวิตนั้นจะทำให้ผู้ที่จะข่มขืนตระหนักถึงความผิดหรือบทลงโทษที่จะได้รับหากตนลงมือทำ เกรงกลัวต่อบทโทษและเลิกล้มความคิดที่จะกระทำไปในท้ายที่สุด หรือแม้แต่ทำให้คนในสังคมรู้สึกถึงความปลอดภัยว่า มีกฏหมายที่มีบทลงโทษสูงสุดคุ้มครองตนและสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิต
5. ความผิดฐานข่มขืน และกระทำอนาจารในปัจจุบันเป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความโอนอ่อนผ่อนผันของกฏหมายไทย ที่มีช่องว่างทางกฏหมายเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ผู้กระทำความผิด จึงเห็นว่า การกำหนดให้ยอมความได้ทำให้ไม่เป็นธรรมแก่เหยื่อและต้องการปรับแก้กฏหมายให้การข่มขืนไม่ว่าในกรณีใดๆก็ตามจะต้องถูกประหารชีวิต
6. ความไม่พอใจในเรื่องดุลยพินิจการลดโทษเมื่อจำเลยรับสารภาพ แม้ว่าผู้กระทำความผิดในคดีข่มขืนและ
ฆ่ามีโทษประหาร แต่เมื่อรับสารภาพจะได้รับลดโทษครึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา ก็ทำให้โทษที่ได้รับจริงลดน้อยลงไปอีก ส่งผลให้คนไม่เกรงกลัว คิดว่าขนาดข่มขืนและฆ่าเมื่อสารภาพก็ไม่ถูกประหารอยู่ดี 
ที่มาภาพ Nigsby
สำหรับ กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย กับการรณรงค์ข่มขืน=ประหารชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นนักวิชาการด้านกฏหมาย นักสิทธิมนุษยชนที่รณรงค์ในการยกเลิกโทษประหารชีวิตอยู่แล้วก่อนแล้ว หรือผู้คนบางกลุ่มในสังคม ภายใต้ฐานแนวคิดที่ว่า“การเพิ่มบทลงโทษประหารชีวิต ไม่ได้ช่วยให้การข่มขืนลดลง” รวมถึง “การเพิ่มบทลงโทษประหารชีวิต เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ”
โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยต่อการเพิ่มบทลงโทษฐานข่มขืนให้เป็นการประหารชีวิตนั้น โดยพื้นฐานเป็นการมองจากมุมของผู้กระทำความผิด ปรากฏเหตุผลดังต่อไปนี้
1. ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล ประธานหลักสูตร ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความคิดเห็นว่า “ถ้าโทษอย่างเดียวของการข่มขืนคือ ประหาร ผลที่ตามมาก็คือ หนึ่ง เหยื่อทุกรายจะตาย เนื่องจากเกิดการฆ่าปิดปากและอาจมีการอำพรางศพร่วมด้วย สอง หากกระบวนการยุติธรรมผิดพลาด อาจมีกรณีจับแพะหรือเกิดการใส่ร้ายขึ้น สาม อาจมีการ ติดสินบนเจ้าพนักงานเนื่องจากผู้ต้องหาทราบล่วงหน้าแล้วว่ามีความตายรออยู่และจะพยายามวิ่งหาทางเอาตัวรอดทุกช่องทาง จนอาจนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่น จากการเปลี่ยนแปลงหลักฐานของเจ้าหน้าที่รัฐ” และ บทลงโทษของกฎหมายไม่ได้มีไว้แก้แค้น แต่มีไว้เพื่อป้องกันการกระทำความผิด การประหารชีวิตเป็นมาตรการที่ไม่ให้โอกาสแก้ไขปรับตัวได้อีก มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะเยาวชน
2. นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท แสดงความคิดเห็นถึงสภาวะทางจิตของผู้กระทำความผิดว่า “ อสูรร้ายไม่ได้ถูกสร้างขึ้นใน 1 วัน แต่ถูกสร้างขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยนานนับปี คดีเล็กๆ ที่เคยก่อขึ้นถูกละเลยและพัฒนากลายเป็นคดีสะเทือนขวัญ ทุกๆ คดีมักมีสัญญานนำมาก่อน สัญญานที่ล่องหนในสายตาของคนในสังคม และเมื่อนำฆาตกรคดีสะเทือนขวัญทั้งหลายมาสัมภาษณ์ เกือบทั้งหมด เคยผ่านชะตาชีวิตอันโหดร้ายเกินกว่าจินตนาการมาแล้วทั้งนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจถ่ายทอดบาดแผลของตัวเองไปให้ผู้บริสุทธิ์ในท้ายที่สุด” ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเพิ่มบทลงโทษในคดีข่มขืน จึงเป็นเพียงแค่การตัดส่วนที่เน่าของผลไม้ออก โดยที่ไม่ได้กลับไปมองปัญหาที่แท้จริงว่าเชื้อที่เน่านั้นมาจากแกนกลางของผลไม้ เพราะการฆ่าข่มขืนเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่ด้านล่างถูกกดทับไว้ด้วยความเหลื่อมล้ำของทางสังคมในทุกๆด้าน หรือแม้แต่การถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก ดังนั้น ข่มขืน=ประหารชีวิต จึงไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาสังคมในระยะยาวอย่างแท้จริง
3. ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกฏหมายระหว่างประเทศว่า “ตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีการลงโทษต่างๆคงไม่สามารถใช้หลักตาต่อตาฟันต่อฟันแบบดั้งเดิมได้ เพราะประเทศไทยนั้นอยู่ใต้พันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยการลงโทษต้องสอดคล้องกับหลักมนุษยธรรม การลงโทษจำคุกหรือประหารชีวิตเป็นบทลงโทษที่พอรับได้ใน ICCPR แต่การลงโทษด้วยความโกรธแค้นของสังคมแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน หรือในรูปแบบอื่นๆอย่างการทรมานหรือทำให้พิการ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในกติการะดับสากล”
4. ในเจตนารมณ์ของกฏหมาย กฏหมายมีขึ้นเพื่อสร้างความสงบสุขของบ้านเมืองและให้โอกาสผู้ที่กระทำความผิดได้สำนึกในความผิดของตน ซึ่งกฏหมายมิได้มีขึ้นเพื่อการแก้แค้นหรือเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการฆ่าคนที่เกลียดชัง ทุกคนล้วนต้องการโอกาสครั้งที่สองในการแก้ไขความผิดพลาดของตนเอง ซึ่งการ ข่มขืน=ประหารชีวิต นั้น เป็นเพียงการมองที่ผลลัพธ์ของการกระทำอย่างด่วนสรุปที่สุด โดยเพิกเฉยถึงการศึกษาถึงแรงจูงใจ หรือปัญหาก่อนหน้าที่จะลงมือกระทำ อิสร์กุล อุณหเกตุ อธิบายว่า การลงโทษเป็นไปโดยมีวัตถุประสงค์หลายประการ ได้แก่ การแก้แค้นทดแทน (Retribution) การป้องปรามการกระทำความผิด (Deterrence) การกันผู้กระทำความผิดออกจากสังคม (Incapacitation) และการแก้ไขฟื้นฟู (Rehabilitation) แม้ว่าการแก้แค้นทดแทนจะเป็นเหตุผลหนึ่งในการลงโทษ แต่การลงโทษไม่จำเป็นต้องเป็นไปเพื่อการแก้แค้นเสมอไป เพราะสุดท้ายแล้วการล้างแค้นอาจได้ความสะใจ แต่อาจไม่ได้ให้ผลเชิงบวกต่อการป้องปรามการกระทำความผิดเท่าที่คาดไว้
5. หากมองในมุมมองของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การรณรงค์เรื่องข่มขืน=ประหารชีวิต เป็นการขัดกับหลักการที่สากลพยายามผลักดันให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตเนื่องจาก การลงโทษประหารชีวิตเป็นการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดสำหรับบุคคล นั่นคือ เป็นการละเมิด “สิทธิในการมีชีวิต” ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) โทษประหารชีวิตเป็นการสังหารบุคคลโดยรัฐเป็นผู้ลงมืออย่างเลือดเย็นและมีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าและที่น่าหวาดหวั่นที่สุด คือ การลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรูปแบบนี้ ถูกกระทำในนามของความยุติธรรม
6.  ใครเป็นตัดสินว่าควรอยู่หรือตาย ? คำถามดังกล่าวหากมองในระดับปรัชญาจะพบว่า ไม่มีกระบวนการใดก็ตามที่มีความชอบธรรมในการตัดสินใจว่าคนหนึ่งคนจะอยู่หรือตาย โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า “เราไม่สามารถใช้โทษประหารชีวิตต่อกรณีการสังหารบุคคลได้ หากรัฐกระทำเช่นนั้นก็เท่ากับสะท้อนภาพของความจงใจของอาชญากรที่จะใช้ความรุนแรงต่อเหยื่อ นอกจากนั้น ระบบยุติธรรมทางอาญาทั้งปวงย่อมมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและการตัดสินผิดพลาดไม่มีระบบใดที่จะสามารถตัดสินได้อย่างเป็นธรรม สม่ำเสมอ และปราศจากข้อบกพร่อง เมื่อเป็นการตัดสินว่าใครควรมีชีวิตอยู่และใครไม่ควรมีชีวิตอยู่ การตัดสินตามอัตวินิจฉัยและความเห็นของสาธารณะอาจมีอิทธิพลต่อกระบวนการทางอาญา ตั้งแต่ช่วงเริ่มการจับกุมไปจนถึงการพิจารณาการขออภัยโทษในช่วงนาทีสุดท้ายและสิทธิมนุษยชนเป็นเอกสิทธิติดตัว และบุคคลพึงได้รับสิทธินี้เสมอเหมือนกันทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานภาพ ชาติพันธุ์ ศาสนา หรือชาติกำเนิด เป็นสิทธิที่ไม่อาจพรากจากบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะก่ออาชญากรรมเช่นใด สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่บุคคลทุกคนพึงมี ตั้งแต่บุคคลเลวร้ายสุดไปถึงดีสุด และช่วยคุ้มครองเราทุกคน” 
นอกจากสองฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกันอย่างสุดขั้วแล้ว ยังมีกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นเป็นกลางๆ เกี่ยวกับการเพิ่มบทลงโทษให้เป็นโทษประหารนั้น เป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีความคิดแบบสุดขั้ว แต่มองเห็นถึงช่องโหว่ของแนวคิด ข่มขืน=ประหารชีวิต ขณะเดียวกันก็ยังคงตระหนักว่า บทลงโทษของคดีข่มขืนยังเบาเกินไปเช่นกัน แต่ได้พยายามเสนอแนวทางที่ประณีประนอมและมองภาพรวมของสถานการณ์ให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น
โดยกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นเป็นกลางต่อข้อถกเถียงนี้ จะมองผ่านมุมมองของคนนอก โดยไม่ได้เอาตนเองเข้าไปมีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์หรือรูปคดี โดยปรากฏเหตุผลดังต่อไปนี้
1. การตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของทั้งสองฝ่าย ภายใต้กรอบแนวคิดที่ว่าไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดหรือเหยื่อเองก็ตามยังคงมีความเป็นมนุษย์ที่เสมอเหมือนเท่าเทียมกัน การเยียวยาช่วยเหลือเหยื่อเป็นสิ่งเร่งด่วนที่จะต้องทำ แต่ก็มิได้เพิกเฉยถึงการลงโทษผู้กระทำความผิดโดยจะต้องลงโทษตามกรอบที่กฏหมายกำหนด
2. กลุ่มคนที่มีความคิดเห็นเป็นกลางเห็นถึงปัญหาในการบังคับใช้กฏหมาย ว่าแท้จริงแล้วมิใช่บทลงโทษที่ผู้คนในสังคมไม่เห็นด้วยจนนำไปสู่การรณรงค์ให้การข่มขืน=ประหาร แต่เป็นเพราะกระบวนการทางกฏหมายเองที่ไม่มีผลบังคับใช้ที่ชัดเจนและรวดเร็ว ทั้งอาจเป็นเพราะกระบวนการทางกฏหมาย หรือขั้นตอนทางกฏหมายที่มีความล่าช้าที่ไม่ทันต่อกระแสสังคมที่ร้อนแรงในขณะนั้น
3. กลุ่มคนที่มีความคิดเห็นเป็นกลางพยายามที่จะมองภาพรวมของสถานการณ์ในกรณีของแพะรับบาป ที่เกิดขึ้นกับคดีที่มีชื่อเสียงหรืออำนาจในสังคมซึ่งยังคงมีความเคลือบแคลงต่อกระบวนการยุติธรรม โดยมีความคิดเห็นว่าการที่เพิ่มบทลงโทษให้เป็นการประหารชีวิต และเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมให้มีการประหารชีวิตจะนำไปสู่การกระทำความผิดในลักษณะคือ เช่น การใช้อำนาจเพื่อช่วยเหลือให้พ้นโทษโดยให้มีคนอื่นรับผิดแทน หรืออาจจะนำไปสู่การบังคับให้สารภาพผิด เพื่อปกป้องผู้กระทำความผิดที่แท้จริง และเมื่อมีการประหารชีวิตแล้ว ความเกลียดชังของผู้คนในสังคมเบาบางลงแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความทุกข์ของเหยื่อจะลดลง และเมื่อคดีจบผู้กระทำความผิดที่แท้จริงก็ยังคงลอยนวลอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของการฆ่าข่มขืนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษในเกาะเต่า ที่ผู้คนบางกลุ่มในสังคมไทยคิดว่าเป็นการหาแพะรับบาปและยัดเยียดข้อกล่าวหาให้แก่แรงงานชาวพม่า 
4. ความรุนแรงของการข่มขืนมีหลายระดับ เป็นการตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า การข่มขืนในลักษณะใดจึงจะนำไปสู่การประหารชีวิตบ้าง การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) ถือเป็นการข่มขืนด้วยหรือไม่ หรือแม้แต่การที่สามีต้องการจะมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาซึ่งไม่ยินยอมหรือไม่มีอารมณ์ร่วม จะต้องนำไปสู่การประหารชีวิตด้วยหรือไม่ นอกจากนี้การข่มขืนที่จะต้องนำไปสู่การประหารนั้น บทลงโทษดังกล่าวครอบคลุมถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่อย่างไร