ไม่ใช่แค่นักการเมือง…ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยที่กำลังจะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ได้รับการขนานนามว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับ "ปราบโกง" เพราะมีการบัญญัติมาตรฐานด้านจริยธรรมและมาตรการป้องกันการทุจริตไว้ในหลายมาตรา เช่น ในมาตรา 98 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครส.ส. ระบุว่าผู้สมัครต้องไม่เคยถูกพิพากษาในความผิดฐานทุจริต หรือเคยพ้นจากตำแหน่งเพราะฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม รวมทั้งบัญญัติวิธีการถอดถอนนักการเมืองออกจากตำแหน่งไว้อีกหลายมาตรา

วันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสกัดคนทุจริตออกไปจากเวทีการเมืองและมีกลไกควบคุมกำกับผู้มีอำนาจไม่ให้หาประโยชน์เพื่อตัวเอง  ส่งผลให้มีนักการเมืองออกมากล่าวโจมตีและประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดดเด่นที่สุดคงจะเป็นบรรดาอดีตนายกรัฐมนตรี นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรืออดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเช่น  รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีตสส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และ ขัตติยา สวัสดิผล อดีตสส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยที่ออกมาประกาศว่าในการลงประชามติจะลงความเห็นไม่เห็นชอบทั้ง 2 คำถาม

ขณะที่พรรคประชาธิปัติย์ ไม่ได้มติร่วมกันของพรรค พรรคเพื่อไทยประกาศในนามพรรคไม่รับร่างรัฐธรรมนูญชัดเจน และนักการเมืองของพรรคอีกจำนวนมากก็ประกาศตัวชัดเจนตามมา เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง, วัฒนา เมืองสุข 

 

 

คนเคย "ไม่รับ" เพื่อไทย ก็ "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ"

ไม่เพียงนักการเมืองเท่านั้นที่ออกมาตอบโต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังมีอีกหลายคนที่เคยต่อต้านนักการเมืองและการคอร์รัปชันออกมาประกาศว่าจะออกเสียงไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยเช่นกัน  รายแรกคือสมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและอดีตส.ว.จังหวัดสุพรรณบุรีโดยระบุว่า จะลงคะแนนไม่ให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับของคสช. เพราะไม่มีความเป็นประชาธิปไตยทั้งในแง่ที่มาและเนื้อหา ก่อนหน้านี้ในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มกปปส. สมเกียรติเป็นคนหนึ่งที่ขึ้นเวทีปราศรัยวิจารณ์อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรเรื่องการคอร์รัปชัน ขณะที่สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) หนึ่งในผู้ที่เคยขึ้นเวทีกปปส.วิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองทั้งประเด็นนโยบายประชานิยมและประเด็นจริยธรรมทางการเมือง  แต่วันนี้เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ โดยให้เหตุผลว่าร่างฯดังกล่าวล้าหลังกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นทีให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ทั้งที่คนไทยเคยเสียเลือดเนื้อต่อสู้ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ออกมาแสดงเจตนารมณ์ร่วมกับองค์กรภาคประชาชนในภาคใต้ 30แห่ง ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย เพราะเป็นร่างฯที่มีสาระสำคัญด้อยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ในด้านสิทธิชุมชน สาธารณสุข และการศึกษา รวมทั้งเป็นร่างฯที่เพิ่มอำนาจรัฐราชการแต่ลดทอนอำนาจภาคประชาชน  โดยก่อนหน้านี้ นพ. สุภัทร เคยร่วมกับเครือข่ายอาสาสมัครทางการแพทย์และชมรมแพทย์ชนบท นำอาสาสมัครแพทย์มาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มกปปส. และเคยให้ความเห็นว่า การออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯแสดงถึงเจตนาที่เลวร้ายในการใช้กลไกเสียงข้างมากมาล้างผิดคนโกง ทำลายนิติรัฐและนิติธรรม

สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนซึ่งเคยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐสภาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ไม่รับหลักการในร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับเข้าชื่อของภาคประชาชนในเดือนมีนาคม 2556 ว่า เป็นการกระทำที่ลุแก่อำนาจด้วยเสียงข้างมากในสภา และวิจารณ์การนำกองทุนประกันสังคมมาอยู่ภายใต้กระทรวงแรงงานว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองก็ออกมาประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโดยระบุว่า ผู้ร่างไม่เข้าใจเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้ยังเน้นการปราบโกงโดยลดอำนาจประชาชนและมีอคติต่อนักการเมืองมากเกินไปโดยไม่ได้มองถึงภาพใหญ่ว่าระบบราชการหรือกลุ่มทุนต่างๆ ก็เป็นปัญหาด้วย

ล่าสุดในวันที่ 3 สิงหาคม 2559 หรือเพียง 4 วันก่อนการลงประชามติ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตสมาชิกวุฒิสมาชิกกรุงเทพ ซึ่งเคยเข้าร่วมเวทีกปปส. จนถูกดำเนินคดี และเคยทำหนังสือชุด "รู้ทันทักษิณ"  โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กประกาศจุดยืนว่า จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยระบุว่า เป็นการตัดสินใจที่ลำบากเพราะแกนนำเสื้อแดงประกาศจุดยืนว่าไม่รับไปก่อนแล้ว หากตนประกาศจุดยืนว่าไม่รับก็อาจถูกป้ายสีว่าเห็นด้วยกับ "ระบอบทักษิณ "แต่ที่ไม่รับร่างเป็นเพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อด้วยกว่าฉบับปี 50 หลายประการ เช่น ลดบทบาทขององค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดบทบาทของภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมหรือตรวจสอบการทำสัญญาระหว่างประเทศ นอกจากนี้ระบบการเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่ให้เลือกกันเองในกลุ่มอาชีพก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ทั้งนี้เจิมศักดิ์ยังสนับสนุนให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ทำงานต่อไป

 

"นักการเมือง" หลายคน ก็ "รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ

ในอีกด้านหนึ่งก็มีนักการเมืองบางส่วนออกมาประกาศจุดยืนว่าจะรับร่างฯ เช่น อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งก่อนหน้านี้เมื่อคสช.ส่งข้อเรียกร้อง 16 ข้อ เช่น ขอให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งสามารถลงคะแนนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีชัยก็ไม่รับข้อเสนอดังกล่าวมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้มีการกลั่นกรองมาเป็นอย่างดีแล้ว จึงเป็นเหตุผลที่อรรถวิชช์จะไปออกเสียงให้ความเห็นชอบ ขณะที่บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีก็กล่าวประกาศว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเช่นกันโดยระบุว่า ประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประเด็นที่พอรับได้ หากไม่รับร่างฯก็เกรงว่าร่างใหม่อาจแย่กว่าเดิม ทั้งปี 2560 ก็อาจไม่มีการเลือกตั้ง การประกาศจุดยืนของบรรหารเกิดขึ้นประมาณสัปดาห์เสร็จก่อนที่เขาจะถึงแก่อนิจกรรม  สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำกปปส.ก็เป็นนักการเมืองอีกคนหนึ่งที่ประกาศตัวรับร่างรัฐธรรมนูญอย่างแข็งขัน พร้อมทั้งจัดรายการผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ทุกวันเวลา 14.00 น. เพื่อพูดเรื่องรัฐธรรมนูญโดยสุเทพเริ่มจัดรายการมาตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2559

นอกจากนี้ คนที่ออกมาประกาศตัวรับร่างรัฐธรรนูญ ก็ยังมี เช่น จักษ์ พันธ์ชูเพชร นักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เคยเคลื่อนไหวร่วมกับกปปส. ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดก่อนหน้านี้ และ นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์

 

รายชื่อบุคคลอื่นๆ ที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่าที่รวบรวมได้
 
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เอฟทีเอวอทช์
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เคท ครั้งพิบูลย์ นักวิชาการอิสระ
โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี
จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา
จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ นักเขียนอิสระ
เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสมาชิกกรุงเทพ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ชุลีพร ด้วงฉิม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและกลุ่มคนรักหลักประกัน
สุขภาพ
ชูวงศ์ มณีกุล ทนายความ และแกนนำกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินจังหวัดกระบี่
นิมิตร์  เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์
เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์
บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน
บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พฤ โอ่โดเชา ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือ
พวงทอง ภวัครพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)
สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
สุรพล สงฆ์รักษ์ ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
สิระ เจนจาคะ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ต

 

รายชื่อกลุ่มบุคคล – องค์กร กลุ่มบุคคล ที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่าที่รวบรวมได้

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่
พลเมืองโต้กลับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลุ่ม Mini Drama
กลุ่มกระเหรี่ยงภาคเหนือ
กลุ่มการเมืองครั้งแรก
กลุ่มแก็งค์ข้าวกล่อง ม.รามคำแหง
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน (พื้นที่คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุงจ.เลย)
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)
กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
กลุ่มเพื่อนประชาชน
กลุ่มรักษ์บ้านแหง(พื้นที่คัดค้านสัมปทานทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง)
กลุ่มละครมะขามป้อม
กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา
กลุ่มศิลปากรเสรีเพื่อประชาธิปไตย
กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์
กลุ่มเสรีนนทรี
เครือข่ายการศึกษาทางเลือก
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.)
เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ-บำนาญแห่งชาติ
เครือข่ายพลเมืองเน็ต
เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก
เครือข่ายสลัม 4 ภาค
โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
ชมรมแพทย์ชนบทภาคใต้
ชมรมอนุรักษ์ลุ่มน้ำสรอย ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ (พื้นที่การขอสัมปทานสำรวจแร่เหล็กและทองคำ)
มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
มูลนิธิบูรณะนิเวศ
มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
มูลนิธิโลกสีเขียว
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
ศูนย์ข้อมูลชุมชน
ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD)
ศูนย์พลเมืองเด็ก
ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน จะนะ
ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา(สจน.)
สถาบันศานติธรรม
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
สภาทรัพยากรพันธุกรรมพื้นบ้านภาคใต้
สภาประชาชนอำเภอรัตภูมิ
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
สมาคมรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สมัชชาคนจน
สมัชชาอู่ข้าวอู่น้ำภาคกลาง
หน่วยวิจัยประชาธิปไตยชุมชนเพื่อการพัฒนา

กลุ่ม Save Krabi

กลุ่มคนรุ่นใหม่ ใจอาสา
กลุ่มทนายไร้ตั๋ว
กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำท่าสะท้อนและสิ่งแวดล้อม สุราษฎร์ธานี
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคใต้
เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้
เครือข่ายนักวิชาการรับใช้สังคมลุ่มทะเลสาบสงขลา
เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ( permatamas )
เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สงขลา สตูล
เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
เครือข่ายพลเมืองพัทลุง
เครือข่ายพลเมืองสงขลา
เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา รัตภูมิ
เครือข่ายรักษ์ชุมพร
มูลนิธิอันดามัน
สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ
สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
สงขลาฟอรั่ม

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 302 องค์กร