iLaw ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยความหวังเพื่อวันที่ดีกว่า

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ก่อตั้งขึ้นในปี 2552 และทำกิจกรรมทางออนไลน์มากว่า 7 ปี บนหลักการ 2 ประการ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน และเสรีภาพการแสดงออก เราจึงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารไม่ว่าด้วยการอ้างเหตุผลหรือความจำเป็นใด เพราะการรัฐประหารทุกครั้งต่างนำไปสู่การทำลายคุณค่าทั้งสองเสมอ
อย่างไรก็ดี เราไม่เคยทำกิจกรรมเพื่อคัดค้านการบริหารประเทศของ คสช. แต่ตลอดเวลาที่ คสช. บริหารประเทศ เราจับตาการใช้อำนาจของ คสช. อย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกกฎหมาย การปฏิรูปประเทศ และการใช้กระบวนการยุติธรรมปิดกั้นการแสดงความเห็นต่าง เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและร่วมพิสูจน์ไปกับทุกคนว่า คสช. จะปฏิรูปประเทศไปสู่การปรองดองตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ได้หรือไม่
2 ปี 2 เดือน ที่ผ่านมา คสช. ออกประกาศ, คำสั่งอย่างน้อย 300 ฉบับ, ใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งอย่างน้อย 90 ฉบับ, สนช.ที่แต่งตั้งมาออกกฎหมายอย่างน้อย 176 ฉบับ, สปช.ที่แต่งตั้งมาออกข้อเสนอ 505 ข้อ ครอบคลุมประเด็นปัญหาหลากหลาย แต่ยังมองไม่เห็นว่าปัญหาเรื้อรังของประเทศ เช่น การศึกษา การทุจริต กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ จะถูกปฏิรูปได้อย่างไร ในทางตรงกันข้าม คสช. กลับออกประกาศ, คำสั่งหลายฉบับ ให้ทหารมีอำนาจเหนือระบบยุติธรรม ปิดกั้นและเอาผิดกับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง จนทำให้สังคมไทยตกอยู่ภายใต้บรรยากาศของความหวาดกลัวมากกว่าความปรองดอง
จนถึงวันนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเป็นบททดสอบสำคัญ ที่จะแสดงให้เห็นว่า การบริหารประเทศภายใต้ระบอบ คสช. จะพาประเทศไปสู่ทิศทางใด
ในแง่กระบวนการ: การปิดกั้นได้ทำลายความชอบธรรมของตัวรัฐธรรมนูญเอง
ตลอดกระบวนการการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ที่ คสช. แต่งตั้งมา ไม่ปรากฏว่ามีการเปิดเวทีให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น จนกระทั่งเมื่อร่างรัฐธรรมนูญ เผยโฉมออกมาให้เห็นทางออนไลน์ พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง ก็ถูกประกาศใช้ พร้อมเงื่อนไขจำกัดการแสดงความคิดเห็นซึ่งคลุมเครือและวางโทษจำคุกไว้สูงสุดถึง 10 ปี ในเวลาไล่เลี่ยกับประกาศ กกต. ที่ขยายข้อจำกัดให้กว้างออกไปอีก เป็นผลให้มีคนที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญถูกตั้งข้อหานี้อย่างน้อย 35 คน และยังมีกิจกรรมเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกปิดกั้นอย่างน้อย 20 ครั้ง มีคนที่ถูกจับกุมด้วยข้อหาต่างๆ จากการทำกิจกรรมโดยสงบเกี่ยวกับกระบวนการประชามติ อีกอย่างน้อย 86 คน
ในระหว่างที่บรรยากาศการทำกิจกรรมรณรงค์เป็นไปอย่างจำกัด ในทางตรงกันข้าม ผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนมากเข้าไม่ถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริง และได้รับแจกเพียงจุลสารสรุปย่อสาระสำคัญ ที่เต็มไปด้วยข้อความเท็จ การตีความเพิ่มเกินไปจากที่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ และคำขวัญชวนเชื่อถึงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ แผ่นพับที่ กรธ. ผลิตเพื่อแจกจ่ายในที่สาธารณะก็ยิ่งตีความเกินเลยจากที่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้มากขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับ การเผยแพร่ข้อมูลทางออนไลน์ของ คสช. ก็มุ่งแต่โจมตีฝ่ายที่เห็นต่างและจงใจนำเสนอข้อมูลไม่ครบถ้วน 
ก่อนการลงประชามติ ประชาชนจึงแทบไม่มีโอกาสได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประชาชนยังไม่เคยเกิดขึ้นจริง ผู้มีสิทธิลงคะแนนทั่วไปยังไม่มีโอกาสทำความเข้าใจเนื้อหาที่เป็นประเด็นสำคัญและจะกระทบต่อสิทธิของทุกคนจนตกผลึกดีพอ เช่น ประเด็นการย้ายสิทธิไปเป็นหน้าที่ของรัฐ ระบบเลือกตั้งและการจัดสรรที่นั่งส.ส.แบบใหม่ แนวทางและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ฯลฯ กฎหมายใดที่ทำขึ้นโดยปราศจากความรับรู้ความเข้าใจของสังคมเช่นนี้ เมื่อนำไปบังคับใช้ก็ย่อมเกิดความขัดแย้งในการตีความและไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ถูกบังคับใช้ 
ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เมื่อจัดทำขึ้นโดยประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูล ไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็น ไม่มีการถกเถียงแลกเปลี่ยน แม้จะผ่านการทำประชามติในฐานะพิธีกรรมทางการเมือง ก็ย่อมไม่มีความชอบธรรมในฐานะเป็นกติกาที่สังคมตกลงยินยอมร่วมกัน รังแต่จะกลายเป็นเงื่อนไขสู่ความขัดแย้งในทุกมิติในอนาคต
ในแง่เนื้อหา: "ปราบโกง" เพิ่มความขัดแย้ง ผลักให้ "ประชาชนเป็นผู้อยู่ใต้ปกครอง" 
ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ถูกตั้งชื่อเล่นว่าเป็น "ฉบับปราบโกง" โดยมีหลายมาตราที่เพิ่มกลไกการตรวจสอบนักการเมือง และกำหนดคุณสมบัตินักการเมืองให้เข้มงวดขึ้นจริง แต่เราไม่อาจพึงพอใจด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้ได้ เพราะเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วพบว่า กลไกการตรวจสอบที่วางไว้ไม่ได้ขับเคลื่อนโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิของประชาชนที่จะเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกตัดทิ้ง และเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระซึ่งมาจากการแต่งตั้ง ในทางตรงกันข้ามร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้พัฒนากลไกตรวจสอบการทุจริตในสถาบันอื่น เช่น ข้าราชการ ตุลาการ และกองทัพ กลไก "ปราบโกง" ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ จึงเป็นเพียงข้ออ้างที่มุ่งกีดกันไม่ให้นักการเมืองกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเข้ามามีบทบาททางการเมืองต่อไป ไม่ใช่การสร้างระบบการป้องกันการทุจริตอย่างยั่งยืน
กลไก "ปราบโกง" ที่วาดฝันไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงมีแต่จะสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองให้มากขึ้น แต่ "ปราบโกง" ไม่ได้อย่างแท้จริง 
“ความเหลื่อมล้ำ” เป็นประเด็นอยู่กับสังคมไทยมายาวนาน ด้วยความคาดหวังว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีโอกาส แต่ กรธ. กลับร่างรัฐธรรมนูญโดยตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจนขึ้นไปอีก เช่น การให้มีกองทุนการศึกษาสำหรับ "ผู้ขาดแคลน" การให้บริการสาธารณสุขฟรีสำหรับ "ผู้ยากไร้" การให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ "ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ"
สำหรับเรา ประเด็นที่น่ากังวลที่สุดในร่างรัฐธรรมนูญ คือ การย้าย "สิทธิ" ของประชาชนหลายประการ ไปเขียนเป็น "หน้าที่ของรัฐ" เช่น สิทธิของคนพิการที่จะได้รับความช่วยเหลือ  สิทธิได้รับการศึกษาฟรี  สิทธิแสดงความคิดเห็นก่อนการตัดสินใจในโครงการของรัฐ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าผลในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไร แต่ในทางหลักการนี่คือการเปลี่ยนแนวคิด จาก "ประชาชนเป็นใหญ่" ไปเป็น "รัฐเป็นใหญ่" และประชาชนมีฐานะเพียงผู้รอรับการจัดให้เท่าที่รัฐบาลพึงพอใจ และเปลี่ยนจากแนวคิด "ประชาชนเป็นเจ้าของสิทธิ" เป็น "ประชาชนเป็นผู้อยู่ใต้ปกครอง" 
ในแง่เนื้อหา: มุ่ง "รวมศูนย์" สวนทางการพัฒนา อ้างปฏิรูปเพื่อสืบทอดอำนาจ
ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคสมัยใหม่ โครงสร้างสังคมเปลี่ยนแปลงทำให้ผู้คนต่างมีความเป็นปัจเจกนิยม มีความสนใจและความต้องการที่หลากหลาย ระบบการเมืองการปกครองที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนี้ได้ คือ รัฐต้องกระจายอำนาจให้มากขึ้น รวมศูนย์ให้น้อยลง และส่งเสริมให้ประชาชนมีพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้นเท่านั้น แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับสวนทางกับแนวคิดดังกล่าว โดยให้ข้าราชการประจำมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น เปิดทางให้ข้าราชการเป็นผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการสรรหาองค์กรอิสระและที่นั่งขององค์กรอิสระเต็มไปด้วยข้าราชการ เปิดช่องให้ปลัดกระทรวงรักษาการรัฐมนตรีได้ ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้เป็นความเสื่อมถอยที่ไม่อาจพาประเทศไปเผชิญหน้ากับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
เมื่อพิจารณารวมกับประเด็นอื่นๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีเสียงคัดค้านจากสังคม เช่น การให้ คสช. แต่งตั้ง ส.ว. ชุดแรกทั้งหมด การให้ กรธ. ร่างกฎหมายลูกเองทุกฉบับ การให้รัฐบาลคสช.เขียนแผนยุทธศาสตร์ชาติ ารให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเขียนมาตรฐานจริยธรรม จะเห็นได้ว่ามีแต่ทิศทางที่มุ่ง "รวมศูนย์" และเรียกร้องให้ประชาชนมอบความไว้ใจที่ไร้หลักประกันให้กับคนบางกลุ่ม ซึ่งตรงข้ามกับการบริหารประเทศที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
หลังจากเราติดตามและพบว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาการปฏิรูปประเทศภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จของคสช. ไม่ปรากฏผลงานเป็นที่ประจักษ์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับโยนการปฏิรูปที่ คสช. ทำไม่สำเร็จให้ไปเป็นภาระของรัฐบาลชุดใหม่ โดยกำหนดในหมวดปฏิรูปไว้อย่างสวยหรู แต่เลื่อนลอยไร้กลไกที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง ตัวอย่างเช่น การปฏิรูปการศึกษาให้ครูมีจิตวิญญาณความเป็นครู การปฏิรูปเศรษฐกิจปรับปรุงระบบภาษีให้เป็นธรรม ฯลฯ แล้วร่างรัฐธรรมนูญก็ตีกรอบให้รัฐบาลชุดหน้าให้ต้องทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. ให้ คสช. แต่งตั้ง ส.ว. มาร่วมพิจารณากฎหมายเพื่อการปฏิรูปด้วย
การกล่าวอ้าง "การปฏิรูป" ของ คสช. ตั้งแต่วันยึดอำนาจมาจนถึงการกล่าวอ้างไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้เดินหน้าไปสู่การแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ อย่างเป็นรูปธรรม แต่เป็นข้ออ้างเพื่อวางกลไกให้คสช.มีอำนาจบริหารประเทศต่อได้เท่านั้น
iLaw ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยความหวังเพื่อวันที่ดีกว่า
จากการที่เราได้ศึกษาประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างรอบคอบ ฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย และจัดทำสรุปเผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว เราได้พบว่า กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยรัฐบาลที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จปิดกั้นการมีส่วนร่วมและความคิดเห็นของประชาชน ไม่สามารถนำมาซึ่งวิธีแก้ปัญหาทั้งหลายอย่างยั่งยืนเท่าทันความเป็นไปของสังคม และสร้างกลไกที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายเพื่อปฏิรูปประเทศไปสู่การปรองดองได้
หากร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ ผ่านการทำประชามติและประกาศใช้ จะมีผลกับคนทั้งประเทศรวมไปถึงคนรุ่นหลังที่ไม่มีโอกาสร่วมตัดสินใจในวันนี้ด้วย โดยประเด็นที่ยังเป็นปัญหาจะแทบไม่มีโอกาสแก้ไขได้ กติกาที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้าเช่นนี้มีแต่จะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองที่อิงความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง กับสถาบันอื่นที่อิงอำนาจจากที่ คสช. วางไว้ การทุจริตและความขัดแย้งทางการเมืองจะยังมีอยู่ต่อไปและมีแต่แนวโน้มจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw จึงขอแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 
เราเชื่อว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการทำประชามติ ด้วยคะแนนของประชาชนที่ตื่นตัวและตระหนักรู้ในสิทธิเสียงของตัวเองอย่างเต็มที่ จะเกิดแรงผลักให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญหลังจากนี้เดินหน้าไปโดยไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดเดิม เมื่อประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีเสรีภาพการแสดงออกที่จะถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างเสรี เราก็จะมีโอกาสได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับนี้ พร้อมกับทิศทางการเมืองการปกครองที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางต่อไปในอนาคต
ด้วยความหวังเพื่อวันที่ดีกว่า