ชวนทุกคน #ส่องประชามติ ร่วมกัน 7 สิงหา นี้

1 สิงหาคม 2559 ที่ห้องประชุมสำนักข่าวประชาไท มีการเปิดตัว “เครือข่ายสังเกตการณ์ประชามติ” นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร โดยเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจขององค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้ง องค์กรสิทธิมนุษยชน และสื่อทางเลือก คือ เครือข่าย We Watch อาสาสมัครเยาวชนสังเกตการณ์ประชามติ, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), สำนักข่าวไทยพับลิก้า, ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ), และสำนักข่าวประชาไท เพื่อร่วมกันจับตาการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม นี้ โดยเปิดรับข้อมูลจากประชาชนและเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมรายงานข้อมูลสู่สาธารณะ

"ในการรับข้อมูลจะมาจากสองส่วน คือ อาสาสมัครของ We Watch ซึ่งมีกระบวนการให้จัดส่งรายงานเข้ามาอย่างเป็นระบบ ส่วนของประชาชนทั่วไปที่อยากเข้าร่วม ไม่มีเงื่อนไขว่าต้องลงทะเบียน เช่น หลังจากไปออกเสียงประชามติ ก็สามารถเขียนรายงานเข้ามา หรือกลุ่มคนที่จะเดินทางในพื้นที่ต่างจังหวัด ในหน่วยที่อยู่ไกล แล้วถูกสกัดกั้นการออกเสียง เรื่องเหล่านี้อยากให้รายงานและบันทึกไว้ให้มากที่สุด เท่าที่กำลังของประชาชนและเครือข่ายจะทำได้" นางสาวจีรนุช กล่าว
นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า การลงประชามติครั้งนี้แตกต่างจากหลายครั้งและการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากยังไม่เคยเห็นความพยายามที่จะทำให้เกิดการสอดส่องและติดตามกระบวนการลงประชามติครั้งนี้ ทั้งนี้ การที่มีองค์กรติดตาม ทั้งในช่วงก่อนลงประชามติ วันประชามติ และหลังประชามติ สำคัญมากเพราะทำให้เห็นว่าการประชามติครั้งนี้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
"ในอดีต ในการเลือกตั้งทุกครั้ง พรรคการเมืองจะส่งตัวแทนลงสังเกตการณ์ทุกหน่วยเลือกตั้ง ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะมีการจับผิดกันว่ามีการโกงกันไหม ใครมีพฤติกรรมล่อแหลม ขณะเดียวกัน องค์กรอื่นๆ จะร่วมสังเกตการณ์ด้วย ทำให้เกิดการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้มา ทั้งของพรรคการเมือง องค์กรจากส่วนกลาง หรือจากต่างประเทศ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นกระบวนการเหล่านี้เลย" นายเอกพันธุ์ กล่าว
นางสาวชมพูนุท เฉลียวบุญ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Watch ซึ่งเป็นเครือข่ายของเยาวชนที่สนใจในประเด็นการเมือง การเลือกตั้ง ประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กล่าวว่า เครือข่ายมีการอบรมเยาวชนและคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการสังเกตการณ์ประชามติ โดยในการสังเกตการณ์จะจับตาข้อดีและข้อด้อย เพื่อสรุปเป็นข้อปรับปรุงการเลือกตั้งหรือการประชามติในครั้งต่อๆ ไป
"สำหรับหลักสำคัญของการสังเกตการณ์ประชามติ คนที่จะไปสังเกตการณ์ อย่างน้อยต้องศึกษากระบวนการตั้งแต่ต้น โดยสามารถดูในหน่วยของตัวเอง การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดูว่าประชาชนที่ไปใช้สิทธิ ตื่นตัวแค่ไหน กระบวนการระหว่างวัน เป็นไปด้วยความเรียบร้อยหรือไม่ แต่ละหน่วยมีผู้มาใช้สิทธิเท่าไหร่ มีบัตรดี บัตรเสียเท่าไหร่ คะแนนดิบในแต่ละประเภท ตลอดจนการนำเอกสารและอุปกรณ์กลับไปที่ระดับเขต" นางสาวชมพูนุท กล่าว
ด้านนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า ทางเครือข่ายจะเป็นศูนย์กลางในการรายงาน โดยให้ประชาชนเก็บข้อมูลและรายงานข้อเท็จจริงที่เห็นจากแต่ละพื้นที่ โดยทางเครือข่ายมีแนวทางปฏิบัติในการสังเกตการณ์ จากนั้นทางเครือข่ายจะทำออกมาเป็นรายงานต่อไป

 

ชวนทุกคนดาวน์โหลดแบบฟอร์มการสังเกตการณ์ ตามไฟล์แนบ หรือใช้แบบฟอร์มออนไลน์ คลิกที่นี่

ไปใช้สิทธิลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ตามหน่วยที่มีสิทธิ สังเกตการณ์ประเด็นต่างๆ จดบันทึก และส่งข้อมูลมายังเครือข่ายส่วนกลาง

หรือหากพบเห็นเหตุการณ์ผิดปกติ เช่น การนับคะแนนไม่เป็นไปตามกติกา ประชาชนไม่อาจออกเสียงได้ตามสิทธิที่มี การพยายามเปลี่ยนแปลงผลการลงคะแนน ฯลฯ สามารถส่งข้อมูลเข้ามาทางเครือข่ายส่วนกลางได้

 

ช่องทางการส่งข้อมูล

ประชาไท
อีเมล [email protected]
Line ID: @Prachatai
โทร. 0-2690-2711
We Watch
อีเมล [email protected]
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
อีเมล [email protected] 
ประชามติ
อีเมล [email protected]
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
อีเมล [email protected]
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
อีเมล [email protected]
ไฟล์แนบ