ประชามติพม่า: เผด็จการรณรงค์ข้างเดียว เข็นประชามติเปิดทางทหารอยู่ต่อหลังเลือกตั้ง

พม่าลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2008 ซึ่งเป็นหนึ่งขั้นตอนของโรดแมปไปสู่ประชาธิปไตยของรัฐบาลทหาร ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะปูทางให้ทหารยังอยู่ในอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้ ระหว่างการทำประชามติมีทั้งข้อกล่าวหาเรื่องการโกงประชามติ การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล และการจับกุมฝ่ายเห็นต่าง จนกระทั่งมหันตภัยพายุนาร์กีสช่วงก่อนการลงประชามติ จนต้องเลื่อนวันลงคะแนนในหลายพื้นที่ ผลออกมาโหวตรับท่วมท้น 93% มีผู้มาออกเสียง 99%
โรดแมปสู่ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เป็นทางลงของรัฐบาลทหาร
ประวัติศาสตร์การเมืองของพม่า เกิดจุดหักเหสำคัญในปี ค.ศ. 1988 เมื่อคณะทหารพม่าเถลิงอำนาจขึ้นบริหารประเทศในนาม "สภาฟื้นฟูกฏระเบียบแห่งรัฐ” หรือ State Law and Order Restoration Council (SLORC) พร้อมยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1974 จากนั้น คณะทหารก็ปกครองรัฐในฐานะเผด็จการด้วยกฏอัยการศึก และประกาศของคณะทหารฉบับต่างๆ
ต่อมา ทหารพม่าจัดการเลือกตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1990 ด้วยคิดว่าฝ่ายตนจะกุมชัยชนะ แต่ผลกลับไม่เป็นไปตามคาดเมื่อพรรค NLD คว้าชัยชนะถล่มทลาย คณะทหารในสมัยนั้นตัดสินใจล้มกระดานการเลือกตั้งกลับไปปกครองประเทศด้วยกฏอัยการศึกต่อไป โดยอ้างว่า การเลือกตั้งมีขึ้นขณะที่ประเทศยังไม่มีรัฐธรรมนูญ การจะพัฒนาประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญก่อน จากนั้นจึงค่อยลงประชามติและจัดให้มีการเลือกตั้ง
ด้วยแรงกดดันจากนานาชาติ และมาตรการลงโทษ (Sanction) ที่มีต่อพม่าอย่างหนัก เมื่อปี 2003 คณะทหารนำโดยนายกรัฐมนตรีขิ่น ยุ้นต์ ประกาศแผน โรดแมป 7 ขั้น สู่ประชาธิปไตย ซึ่งประกอบด้วย 1. การฟื้นสมัชชาแห่งชาติเพื่อสร้างแนวปรองดองและระดมสมองเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง 2. การเสริมสร้างประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยใต้อิทธิพลกองทัพ 3. การร่างรัฐธรรมนูญ 4. การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 5. การเลือกตั้ง 6. การประชุมรัฐสภา และ 7. การพัฒนาชาติบ้านเมืองให้ทันสมัย
ในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลทหาร ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา หรือ State Peace and Development Council (SPDC) ได้ตั้งคณะกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา 54 คน ด้วยคำสั่งลงนามโดยพลโทเต็งเส่ง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการอันดับ 1 ของ SPDC คณะกรรมาธิการประกอบด้วย ประธานผู้พิพากษาศาลฏีกา อัยการสูงสุด รัฐมนตรีข่าวสาร รัฐมนตรีวัฒนธรรม รัฐมนตรีกลาโหม ตลอดจนกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์และตัวแทนข้ารัฐการจากกระทรวงหรือหน่วยปกครองระดับต่างๆ ซึ่งทั้งหมดถูกเลือกสรรโดยผู้ทรงอำนาจในสภา SPDC
หลังได้ร่างรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลทหารประกาศให้มีการลงประชามติโดยประชาชน ว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2008 
ภาพผู้ชุมนุมหน้าสถานทูตพม่าในมาเลเซีย คัดค้านการทำประชามติ
ที่มาภาพ Getty image
ร่างรัฐธรรมนูญสไตล์พม่า หาช่องให้ทหารสืบทอดอำนาจหลังเลือกตั้ง
ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ติดตามศึกษาการเมืองพม่า เล่าว่า ก่อนช่วงลงประชามติ รัฐบาลทหารพม่าได้สร้าง โรดแมปเพื่อเนรมติประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยสไตล์พม่าเอาไว้แล้ว โดยมีจุดเน้นหลัก คือ การสนับสนุนให้กองทัพยังคงมีบทบาทสำคัญในการเมืองระดับชาติ พร้อมกับใช้ประกาศคณะทหารฉบับต่างๆ มีการออกตรวจตราควบคุมความสงบเรียบร้อยโดยกำลังพลของกองทัพ เป็นเครื่องมือกำกับกระบวนการ โรดแมป ตลอดทุกขั้นตอน
ประเด็นสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญพม่าอยู่ที่ การกำหนดโควต้าให้มีผู้แทนของกองทัพ ร้อยละ 25 ทั้งในสภาสูงและในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งสงวนตำแหน่งรัฐมนตรีสามกระทรวงสำคัญซึ่งเกี่ยวกับความมั่นคงไว้ให้ผู้แทนของกองทัพ ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกิจการชายแดน นอกจากนี้ยังให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเข้ามามีอำนาจในช่วงสภาวะฉุกเฉินอีกด้วย
นอกจากนี้กฎหมายว่าด้วยการลงประชามติของพม่า ก็ได้บัญญัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการ และอนุกรรมการ ที่แต่งตั้งและคัดเลือกโดย SPDC ให้มีอำนาจดูแลจัดการการลงประชามติทุกขั้นตอน ทั้งการจัดแบ่งพื้นที่ การควบคุม การลงคะแนน การนับคะแนน โดยมีคณะอนุกรรมการเป็นผู้ดูแลในส่วนท้องถิ่นขึ้นตรงต่อกรรมการส่วนกลาง
บรรยากาศก่อนประชามติ ทั้งปิดกั้น ทั้งโฆษณาด้านเดียว ทั้งพายุนาร์กิส
บทความเรื่อง ประชามติพม่า พายุจะถล่ม ฟ้าจะทะลาย ต้องเดินหน้าต่อไป จาก Blog OK Nation อธิบายบรรยากาศการรณรงค์ก่อนการทำประชามติว่า กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย และองค์กรต่าง ๆ ของชนกลุ่มน้อย ต่างเรียกร้องให้ประชาชนไปโหวต "NO" หรือ การลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีการรณรงค์ทั่วประเทศ แม้ทางการจะจับกุมนักเคลื่อนไหวไปอย่างน้อย 48 คน 
การข่มขู่, การก่อกวน, การซื้อเสียง และการชวนเชื่อ ล้วนเป็นวิธีการของ SPDC ที่จะให้ประชาชนไปโหวต "YES" SPDC จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญขายในราคาเล่มละ 1 พันจ๊าต หรือ 30 กว่าบาท หนังสือร่างรัฐธรรมนูญหน้าปกสีเขียว ที่มีทั้งหมด 457 มาตรา พิมพ์ออกมาเพียง 465,000 เล่ม ขณะที่ประชากรที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีกว่า 30 ล้านคน และ SPDC พิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญเป็นภาษาพม่าเท่านั้น ไม่ได้แปลเป็นภาษาอื่นๆ ที่ชนกลุ่มน้อยใช้กันในประเทศ หรือภาษาอังกฤษ แสดงให้เห็นว่า SPCD ไม่ต้องการให้คนในพม่า หรือประชาคมนานาชาติได้รับรู้ว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง
SPDC ได้ออกมาตรการคุมเข้มการรายงานข่าวเกี่ยวกับการลงประชามติ MRTV ซึ่งเป็นทีวีของรัฐ ออกอากาศรายการและเพลงเรียกร้องให้คนไปโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล ได้ตีพิมพ์สโลแกน บทบรรณาธิการ การ์ตูน และบทกวีเรียกร้องให้คนไปโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ
ภาพปกร่างรัฐธรรมนูญ ของพม่า จาก The Interpreter
 
ป้ายนี้เขียนว่าการลงมติ ‘เห็นชอบ’ เป็นหน้าที่ของพลเมืองแห่งวันนี้ ที่มาภาพ Prachatai Burma
โฆษณาทางโทรทัศน์ เชิญชวนประชาชนไปลงมติ ‘รับ’ รัฐธรรมนูญ ที่มาภาพ Prachatai Burma
แม้รัฐบาลทหารจะอ้างว่า การลงมติครั้งนี้เสรีและยุติธรรม แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า มีการโกงและการกระทำที่มิชอบกันอย่างโจ๋งครึ่ม ทีมข่าวพิเศษ Prachatai Burma รายงานว่า รัฐบาลทหารพม่าจัดรณรงค์ให้ประชาชนออกเสียง ‘รับ’ รัฐธรรมนูญทุกวิถีทาง รัฐบาลมีฐานคะแนนเสียงอยู่ในมือจำนวนหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มคนถือสัญชาติจีนที่อยู่ในพม่าจะได้บัตรประชาชนชั่วคราว เพื่อลงมติ ‘รับ’ มีการสอนนักโทษในคุกตำรวจให้โหวต ‘รับ’ แล้วปล่อยตัวเป็นอิสระหลังลงประชามติ 
ขณะเดียวกัน คนบางกลุ่มมีสิทธิลงมติล่วงหน้าได้หลายครั้ง เช่น กลุ่มทหารตำรวจ ข้าราชการพม่าที่ได้รับการแนะนำให้ลงมติ ‘รับ’ กลุ่มพ่อค้า คนงาน ที่ต้องเดินทางไกลเพื่อมาทำงานในเมือง ก็ถูกรัฐบาลสั่งว่าถ้าการลงคะแนนล่วงหน้า ‘ไม่รับ’ จะไม่สามารถออกจากบ้านได้
ในช่วงก่อนหน้าการลงประชามติ SPDC และมวลชนจัดตั้งที่เรียกว่า Union Solidarity and Development Association (USDA) 33,000 คน ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี กลายเป็นผู้มีสิทธื์ลงประชามติในรัฐคะฉิ่น ทั้งที่ในกฎหมายว่าด้วยการลงประชามติกำหนดให้ บุคคลที่มีสิทธิ์ลงประชามติต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป 
ภาพป้ายแนะนำการลงประชามติ มีแต่เครื่องหมายถูก ที่มาภาพ บล็อก Oknation
วันลงประชามติทั่วประเทศถูกกำหนดไว้ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2008 แต่ช่วงปลายเดือนเมษายนและต้นเดือนพฤษภาคม พม่าประสบภัยพิบัติอย่างหนักเมื่อพายุหมุนนาร์กิสพัดเข้าถล่มอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน และหลายแสนคนไม่มีที่อยู่อาศัย ทีมข่าวพิเศษ Prachatai Burma อธิบายว่า ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติรัฐบาลทหารพม่ายังให้ความสำคัญกับการผลักดันการทำประชามติให้เดินหน้าต่อไปตามกำหนดเดิมมากกว่าการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากพายุนาร์กิส  
ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช กล่าวว่า ก่อนวันลงประชามติบรรยากาศรณรงค์มิได้เป็นไปอย่างเสรีเนื่องจากรัฐบาลทหารคือผู้กุมกลไกปกครองรัฐ และพม่ากำลังอยู่ในช่วงสับสนจากโศกนาฏกรรมนาร์กิส แต่ทว่า รัฐบาลทหารก็ดันทุรังที่จะไม่เลื่อนการลงประชามติออกไป เพื่อประคองแผน โรดแมปให้เดินหน้าต่อ โดยมีธงในใจ คือ ต้องให้ประชาชนออกมาโหวต Yes ให้ถล่มทลาย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญฉบับร่างทรงทหาร และเพื่อเปลี่ยนผ่านระบอบการเมืองไปสู่ "เผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตย"
หลังการกดดันจากทุกฝ่ายรัฐบาลทหารพม่า ยอมเลื่อนการลงประชามติเฉพาะในเขตประสบภัยพิบัติ ออกไปสองสัปดาห์เป็นวันที่ 24 พฤษภาคม
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย อธิบายผลการลงประชามติ ตามที่รัฐบาลทหารพม่าประกาศว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ด้วยคะแนนเสียง ร้อยละ 92.4 และมีผู้ไปใช้สิทธิกว่าร้อยละ 99 จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 22 ล้านคน  
รัฐบาลมีเครื่องมือหลากหลาย ต่อให้รณรงค์เสรีก็อาจไม่ชนะ
ผศ.ดุลยภาค มีความเห็นต่อการรณรงค์ฝ่ายเดียวของรัฐบาลทหารพม่าว่า หากมีการรณรงค์เสรี ผลอาจไม่ออกมาเป็นเช่นนี้ เนื่องจากมีกลุ่มการเมืองหลายฝ่าย ทั้ง NLD กลุ่มชาติพันธุ์ และ ภาคประชาสังคมพม่า ที่ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 
แต่ ผศ.ดุลภาค ยังเห็นว่า ไม่แน่ว่าหากมีการรณรงค์เสรีแล้วผลจะออกมาว่า "ไม่รับ" อย่างเด็ดขาด เพราะ ก่อนวันลงประชามติ รัฐบาลทหารได้จัดตั้งมวลชนภาครัฐ หรือ Union Solidarity and Development Association (USDA) ที่มีสมาชิกเครือข่ายเกิน 20 ล้านคน รวมถึงครอบครัวทหาร/ข้าราชการ หน่วยศึกษาธิการและครอบครัวชาวนาชนบทที่รับความช่วยเหลือทางการเกษตรจากรัฐบาลทหาร กลุ่มนี้จึงเป็นอาวุธต่อสู้ที่รัฐบาลทหารใช้ทัดทานอิทธิพลของฝ่ายต่อต้าน จนทำให้มีประชาชนไม่น้อยเห็นคล้อยตามกับร่างรัฐธรรมนูญ 
นอกจากนี้ ยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้มีข้อบกพร่องหลายประการ แต่ถ้าผ่านประชามติไปแล้ว ก็ย่อมเปิดช่องให้ประเทศมีการพัฒนาประชาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งยังดีกว่าการปล่อยให้เป็นระบอบทหารล้วนๆ เหมือนที่เป็นอยู่ ดังนั้น จึงมีคนพม่าไม่น้อยที่ยอมรับหรือไม่ต่อต้านรัฐธรรมนูญนี้ 
ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช 
ส่วนตัวเลขคนไปใช้สิทธิ 99% และผลโหวต Yes ถล่มทลายนั้น ผศ.ดุลยภาคมองว่า เป็นที่เข้าใจกันอยู่ทั้งในหมู่คนพม่าและนักสังเกตุการณ์ภายนอกว่า ผลลัพธ์เช่นนี้สวนทางกับความเป็นจริง เพราะด้วยภาวะภัยพิบัติและขั้นตอนที่รวบรัดตั้งแต่ระยะเวลาการแจกร่างรัฐธรรมนูญไปตามบ้านเรือนประชาชน จนถึงวันลงประชามติ ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะมีอัตราการใช้สิทธิสูงขนาดนี้ ส่วนผลลัพธ์ การโหวต No ก็ไม่น่าจะแพ้การโหวต Yes ได้เกินคาดขนาดนี้ 
ผศ.ดุลยภาคกล่าวด้วยว่า ตัวแปรหลักส่วนหนึ่ง คือ ฐานเสียงของพรรค NLD ในช่วงนั้น เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุนาร์กิสพอดี จึงทำให้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกหรือถูกควบคุมแปลงผลจากทหารโดยง่าย ขณะเดียวกัน การลงประชามติที่จัดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกับโศกนาฏกรรมของประเทศ แถมยังมีการสู้รบระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยดำรงอยู่หลายพื้นที่ ก็ถือเป็นเงือนไขที่เอื้อต่อรัฐบาลทหารในการอำพรางผลเพื่อกุมชัยชนะท่ามกลางสภาวะอึมครึมหรือรวนเรของตัวแสดงการเมืองอื่นๆ ซึ่งเป็นเกมการเมืองที่ถนัดของนายพลตานฉ่วยอยู่แล้ว 
เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติมาแบบงงๆ ประเทศก็ต้องหาทางเดินต่อไป
หลังการออกเสียงประชามติผ่านไป รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ถูกประกาศใช้ และนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2010 ภายใต้ข้อจำกัดอีกหลายประการ ข้อจำกัดสำคัญคือ อองซานซูจีจะไม่สามารถขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้ เพราะมีข้อห้ามในรัฐธรรมนูญไม่ให้คนที่สมรสกับชาวต่างชาติเป็นประธานาธิบดี ส่วนทหารพม่าก็เปลี่ยนบทบาทมาอยู่ในโครงสร้างใหม่เพื่อถ่วงดุลกับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง
ผศ.ดุลยภาค อธิบายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ สร้างความพอใจให้กับชนชั้นนำทหารพม่าที่สามารถผ่อนคลายระบอบการเมืองตามกระแสโลกาภิวัฒน์และคลื่นประชาธิปไตยของโลก ทำให้ทหารสามารถจำแลงแปลงกายลงมาสิงสถิตอยู่ใต้โครงสร้างการปกครองแบบใหม่ได้มั่นคง หรือ พูดในอีกแง่หนึ่ง รัฐธรรมนูญนี้ทำให้พม่าเป็น "ประชาธิปไตยอำนาจนิยมแบบกึ่งสหพันธ์ใต้เงากองทัพ” หรือ "Authoritarian Democracy with Quasi Federalism under Praetorian Shadow” และยังเป็นเช่นนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ผศ.ดุลยภาคยังวิเคราะห์ด้วยว่า สิ่งที่กองทัพคาดไม่ถึง คือ พลังประชาชน ที่หันมาสนับสนุน NLD อย่างถล่มทลาย ในศึกเลือกตั้ง 2015 จนทำให้ท้ายที่สุดทหารต้องยอมต่อรองอำนาจกับซูจี แถมยังต้องเจอสูตรการเมืองใหม่ของพรรค NLD ผ่านเสียงข้างมากในสภา เช่น การสร้างตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐของนางซูจี ทำให้ทหารที่แม้จะอยู่ในโครงสร้างรัฐต่อไปได้ ก็เริ่มเผชิญกับอำนาจของฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นเรื่อยๆ
ในอีกทางหนึ่ง แม้รัฐธรรมนูญ 2008 จะได้รับทั้งการยอมรับและไม่ยอมรับจากประชาชนชาวพม่าหลายๆ กลุ่ม แต่เมื่อรัฐธรรมนูญนี้ คือ โครงสร้างหลักที่เปิดช่องให้รัฐบาลพลเรือนของพรรค NLD ขึ้นเข้าสู่อำนาจปกครองประเทศได้ การประณามรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างรุนแรงจึงไม่ส่งผลดีมากนักต่อฝ่ายประชาธิปไตยในพม่า เพราะสภาพเงื่อนไขทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ขณะเดียวกัน การจัดกิจกรรมรณรงค์ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา หรือ เตรียมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอนาคต ก็อาจมีให้เห็นเป็นระยะระหว่างการบริหารของรัฐบาลพลเรือน
____________
อ้างอิง