ขู่-ห้าม-จับ พ.ร.บ.ประชามติฯ กตต.ใช้จำกัดการรณรงค์อย่างไรบ้าง

เข้าสู่โหมดประชามติอย่างเป็นทางการหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ แม้จะเข้าสู่โหมดประชามติแล้วแต่สถานการณ์บรรยากาศของประชาชนที่จะมาถกเถียงเรื่องการลงประชามติครั้งนี้ยังคงเงียบเหงา เราเห็นแต่การรณรงค์จากภาครัฐเท่านั้น ขณะที่ภาคประชาชนมีข้อจำกัด เนื่องจากถูกควบคุมด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559  หรือ พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่เขียนข้อจำกัดการแสดงความคิดเห็นไว้อย่างกว้างขวาง และมีโทษที่รุนแรง
วันลงประชามติจริงๆ ยังมาไม่ถึง แต่ก่อนหน้านี้มีเหตุการณ์จำนวนมากที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามใช้ พ.ร.บ.ประชามติฯ จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เรารวบรวมเรื่องราวเหล่านี้ นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ประชามติฯ ประกาศใช้เมื่อ 23 เมษายน 2559 ดังนี้
 
กกต.ดำเนินคดีเฟซบุ๊กกองทุนออทิสติก ผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ
26 เมษายน 2559 พ.ร.บ.ประชามติฯ ถูกประเดิมใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เข้าแจ้งความกับสน.ทุ่งสองห้อง เพื่อดำเนินคดีกับเพจเฟซบุ๊ก กองทุนรัฐวัฒน์ตันมณี เพื่อสิทธิคนออทิสติก จากการเผยแพร่โพสต์ข่าวเกี่ยวกับการประชุมของนักวิชาการถกเถียงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยโพสต์ข้อความประกอบมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวัง เพื่อให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง เกี่ยวกับการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผิดมาตรา 61(1) หลังจากแจ้งความ สมชัย กล่าวว่าการแจ้งความครั้งนี้มาในนาม กกต.แต่ไม่ได้เป็นมติ กกต.เพราะความผิดชัดเจน และการแจ้งความครั้งนี้ถือเป็นตัวอย่าง เพื่อให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างสร้างสรรค์
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า หลังการแจ้งความเพียงวันเดียววันที่ 27 เมษายน ตำรวจสามารถจับตัวผู้ต้องหาได้ ทราบว่าชื่อ จีรพันธุ์ ประธานกองทุนรัฐวัฒน์ตันมณี เพื่อสิทธิคนออทิสติก ที่จังหวัดขอนแก่น และนำตัวมาแถลงข่าวที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ในการแถลงข่าวครั้งนี้ จีรพันธุ์ กล่าวว่า ที่โพสต์ข้อความดังกล่าวอยากให้ประชาชนสนใจ ซึ่งกลุ่มของตนก็เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ไม่รู้ว่าจะมีคนให้ความสนใจ อยากฝากเตือนเป็นอุทาหรณ์ว่าควรจะใช้ถ้อยคำที่สุภาพมากกว่านี้
 
จีรพันธุ์ ตันมณี ประธานกองทุนรัฐวัฒน์ตันมณี เพื่อสิทธิคนออทิสติก จังหวัดขอนแก่น
ถูกนำตัวมาแถลงข่าวที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 หลังถูกกกต.แจ้งความเพียง 1 วัน
 
กกต.เตือนกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ขายเสื้อรณรงค์ 'Vote NO' อาจผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ
4 พฤษภาคม 2559 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับการรายงานว่ามีเพจของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มหนึ่งมีการประกาศจำหน่ายเสื้อตัวละ 300 บาท ในลักษณะรณรงค์ทั่วไปเพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมืองให้เกิดการออกเสียงประชามติ เป็นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งอาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 (1) ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้
สมชัย เตือนต่อว่า แม้ภาพที่เผยแพร่เกี่ยวกับการขายเสื้อจะดำเนินการก่อนวันที่ 23 เมษายน 2559 ก่อนที่ พ.ร.บ.ประชามติฯ จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่เนื่องจากภาพโฆษณาดังกล่าวยังคงค้างอยู่ในเพจจนถึงปัจจุบัน จึงขอเตือนว่าควรนำภาพโฆษณาดังกล่าวออก มิเช่นนั้นหากมีบุคคลไปร้องทุกข์กล่าวโทษอาจมีการจับกุมก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการไม่ยาก เพราะมีชื่อผู้เปิดบัญชีธนาคารที่ชัดเจน และหากสืบสวนเพิ่มเติมพบว่าเป็นคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปร่วมกระทำการดังกล่าว บทลงโทษจะรุนแรงกว่าการกระทำโดยคนคนเดียว  
ภาพ การประกาศขายเสื้อหน้าเพจเฟซบุ๊ก ขบวนการประชาธิปไตยใหม่
กรธ.มั่นใจใส่เสื้อรับ-ไม่รับ ผิดกฎหมายแน่นอน
2 มิถุนายน 2559 หลังจากที่สุรนันทน์ เวชชาชีวะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สวมเสื้อ “รับ ไม่รับ เป็นสิทธิ์ไม่ผิดกฎหมาย” อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า กรณีเสื้อที่มีข้อความ “รับ-ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเห็นว่าผิดตามกฎหมายประชามติอย่างชัดเจน เพราะตัวหนังสือ “รับ” มีขนาดแทบมองไม่เห็น ส่วนข้อความ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญที่ขนาดใหญ่ ส่อให้เห็นเจตนาของผู้สวมใส่เสื้อ หรือผู้ผลิตเสื้อที่ต้องการ “ชักจูงใจ” ให้ผู้พบเห็นสะดุดตากับคำว่า “ไม่รับ” ดังนั้น หากหน่วยราชการผู้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องการพยานผู้เชี่ยวชาญในกรณีนี้ ตนยินดีให้ความร่วมมือ เพราะจะได้เป็นการให้ความรู้กับสังคมอีกทางหนึ่งว่าวิธีแบบนี้มันผิดกฎหมายแน่นอน 
อย่างไรก็ตาม สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. โพสต์ข้อความ โดยระบุว่า ใส่เสื้อไม่ผิดแม้จะเอาคำว่า “รับ” ออกก็ตาม แต่อาจผิด หาก 1.ใส่จัดรายการทุกวัน ในลักษณะเชิญชวนปลุกระดม  2.ช่วงจัดรายการมีการพูด เท็จ ปลุกระดม หยาบคาย  3.มีการแจกเสื้อแก่ผู้ฟัง (ผิด ม.61(2) แจกของเพื่อจูงใจลงคะแนน) และ 4.มีการขายเสื้อ และคนใส่มากๆ แล้วไปเดินขบวนก่อความวุ่นวาย 
 พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ ใส่เสื้อ รับ ไม่รับ เป็นสิทธิไม่ผิดกฎหมาย
กกต.ฟันเพลง 'อย่างนี้ต้องตีเข่า' ขัด พ.ร.บ.ประชามติฯ
13 มิถุนายน 2559 กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. แถลงผลการพิจารณาคลิปเพลง “อย่างนี้ต้องตีเข่า (โหวตไม่เอา แล้วตีตก)” ซึ่งมีการเผยแพร่และมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า เนื้อเพลงมีข้อความหยาบคาย บางส่วนเป็นข้อมูลเท็จ ขัดกับสิ่งที่เป็นสาระของร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังมีการทำประชามติกันอยู่ ทั้งนี้ คลิปเพลง มี 2 เวอร์ชั่น โดยเวอร์ชั่นแรกเผยแพร่เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2559 จึงไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ แต่เวอร์ชั่นที่ 2 เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 เมษายน ซึ่ง พ.ร.บ.ประชามติฯ มีผลบังคับใช้แล้ว ดังนั้นเวอร์ชั่นที่ 2 จึงผิดกฎหมายประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง 
 
 
มิวสิกวีดีโอเพลง อย่างนี้ต้องตีเข่า (โหวตไม่เอา แล้วตีตก) ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ
ที่ กกต.กล่าวว่าผิด พ.ร.บ.ประชามติ
เพื่อไทย 17 คนโพสต์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กกต.บอกทำได้ คนร่างกฎหมายบอกผิด
15 มิถุนายน 2559 แกนนำพรรคเพื่อไทยรวมทั้งหมด 17 คน ได้ออกมายืนยันการใช้สิทธิส่วนบุคคลในการแสดงความเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยพร้อมใจกันโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของแต่ละคน เช่น ภูมิธรรม เวชยชัย ระบุว่า รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ลดทอนอำนาจประชาชน ขาดหลักประกันสิทธิเสรีภาพที่เพียงพอ และแก้ไขได้ยากมาก จึงไม่สร้างความเชื่อมั่น ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ จึงไม่อาจรับให้เป็นกฎหมายสำคัญสูงสุดของประเทศได้, สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ระบุว่า จะได้เดินตามทางที่ท่านวางอนาคตประเทศไปอีก 20 ปีนั้น รับไม่ได้, พงศ์เทพ เทพกาญจนา ระบุว่า ภายใต้กติกาแบบนี้ ไม่เห็นอนาคตประเทศไทย รับไม่ได้จริงๆ, วัฒนา เมืองสุข ระบุว่า เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่เบียดบังอำนาจและสิทธิประโยชน์ของประชาชน แต่เชิดชูอำนาจเผด็จการ ปกป้องและปิดกั้นการตรวจสอบ, และจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต ระบุว่า ผมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
 
จาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
หลังการโพสต์ของ 17 สมาชิกพรรคเพื่อไทย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งกรธ. และกกต.ออกมาแสดงความเห็นว่าสามารถทำได้ถ้าอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงและไม่ขัด มาตรา 61 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ขณะที่ พล.สมเจตน์ บุณถนอม ประธานร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ให้ความเห็นว่าการกระทำของสมาชิกพรรคเพื่อไทยสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายผิดมาตรา 61 วรรคสอง เรื่องการชี้นำ ปลุกระดม ไม่ใช่การแสดงเจตนาแสดงความคิดเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะเป็นการกระทำพร้อมๆ กันภายในเวลาเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน จึงมองได้ว่าเป็นความร่วมมือกัน เข้าองค์ประกอบเป็นการกระทำของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  และจูงใจให้คนออกไปใช้สิทธิออกเสียงทางใดทางหนี่งจะมีโทษรุนแรงกว่ากระทำในฐานะส่วนบุคคล โดยศาลอาจจะตัดสินมีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท รวมถึงถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี 
วัฒนา เมืองสุข โพสต์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
กกต.เผย การ์ตูน มติชน บิดเบือนร่างรธน.
18 มิถุนายน 2559 ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.เปิดเผยว่า มีคนส่งภาพการ์ตูนของมติชนสุดสัปดาห์ชิ้นหนึ่งมาให้ ซึ่งจากรายงานข่าวระบุว่าภาพการ์ตูนดังกล่าววาดโดย “อรุณ วัชระสวัสดิ์” ในชื่อเรื่องว่า “รัฐธรรมนูญใหม่ รับกันได้ไหม?” และมีข้อความบรรยาย เช่น “เปิดช่องให้นายกฯ มาจากคนนอก” “วุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้งมากกว่าเลือกตั้ง” “มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจเหนือกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” เป็นต้น
จากภาพการ์ตูนดังกล่าว สมชัยอธิบายว่าถ้าผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ ภาพการ์ตูนต้องมี 1.สิ่งที่เป็นเท็จบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้สำคัญผิดเกี่ยวสาระของร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การโน้มน้าวจูงใจให้รับหรือไม่รับ ซึ่ง กรธ. น่าจะเป็นผู้ให้ความเห็นได้ดีว่าบิดเบือนหรือไม่ 2.เป็นการเผยแพร่ผ่านสื่อ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ ถ้าเข้าองค์ประกอบ 2 ประการข้างต้น ก็เสี่ยงที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง โดยสมชัยได้กล่าวเพิ่มเติมว่าผู้ที่เห็นว่าเป็นความผิด สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษที่โรงพักทุกแห่ง เร็วกว่ามาแจ้งที่ กกต. 
 
การ์ตูนของ “อรุณ วัชระสวัสดิ์” ที่คาดว่าอาจถูกแจ้งว่าผิด พ.ร.บ.ประชามติ
ต่อมา 30 มิถุนายน สุวพงศ์ จั่นฝั่งเพ็ชร บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ และอรุณ วัชระสวัสดิ์ คอลัมนิสต์และนักเขียนการ์ตูน หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ได้เข้าชี้แจงต่อสมชัย หลังจากหารือเสร็จ สมชัยแถลงว่า ภาพการ์ตูนดังกล่าวเป็นภาพที่ลงในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 4-10 กันยายน 2558 เป็นการ์ตูนที่ระบุถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ใช่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน จึงถือว่าไม่ใช่รูปที่ผิด แต่ที่เป็นปัญหาคือมีการนำภาพการ์ตูนดังกล่าวมาทำซ้ำด้วยการโพสต์ในเฟซบุ๊กมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งบรรณาธิการมติชนฯ ได้ยอมรับว่าภาพการ์ตูนที่ถูกโพสต์นั้นเนื้อหาเป็นเท็จ ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำซ้ำ ดังนั้น เมื่อมีการยอมรับดังกล่าวแล้วก็ถือว่าจบ ยุติ จะไม่มีการดำเนินคดีใด เพราะทางมติชนออนไลน์ก็ได้มีการลบดังกล่าวแล้ว 
       
ตำรวจแจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประชามติฯ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่หลังแจ้งใบปลิวรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญ
23 มิถุนายน 2559 นักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ กลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และกลุ่มนักศึกษาจากรามคำแหง จำนวน 13 คน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัว จากกรณีแจกแผ่นพับ ใบปลิวและเอกสารให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ บริเวณพื้นที่ตลาดเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ โดยตำรวจ สภ.บางเสาธง แจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และยังได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61(1) วรรคสอง และวรรคสาม เพิ่มเติม
เวลา16:30 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่แจกเอกสาร ณ ตลาดเคหะบางพลี
 
ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน ตำรวจและทหารได้นำตัวนักกิจกรรมทั้ง 13 คน ไปยังศาลทหารกรุงเทพ เพื่อยื่นขออำนาจศาลทหารในการฝากขัง 12 วัน ช่วงเย็นวันนั้นศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตฝากขังทั้ง 13 คน อย่างไรก็ดี ผู้ต้องหา 6 คนได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาล ขณะที่ผู้ต้องหาอีก 7 คนยืนยันจะไม่ยื่นประกันตัวทำให้ถูกส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 
 
รังสิมันต์ โรม ถูกทหารจับตัวระหว่างแจกเอกสาร (ภาพ:สงวน คุ้มรุ่งโรจน์)
ทหารเรียก กกต.ดูที่คั่นหนังสือโหวตโน ผิดพ.ร.บ.ประชามติฯ หรือไม่
24 มิถุนายน 2559 นักกิจกรรมนิสิตและนักศึกษา 7 คน นัดร่วมตัวกับเพื่อทำความสะอาดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และรำลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 แต่กิจกรรมต้องถูกยกเลิกไปเนื่องจากทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวและแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.3/2557 ฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ขณะที่ทั้งหมดถูกควบคุมตัวที่ สน.บางเขน ตำรวจและทหารได้นำรถของนักกิจกรรมคนหนึ่งมาตรวจค้นและพบเอกสารเป็นที่คั่นหนังสือซึ่งมีข้อความ Vote No และจะตั้งข้อหาผิดพ.ร.บ.ประชามติฯ โดยทหารได้เรียก กกต.มาดูว่าผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ หรือไม่ แต่สุดท้ายยังไม่ใครถูกตั้งข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติฯ
 
ที่คั่นหนังสือมีข้อความ Vote No ถูกทหารสงสัยว่าอาจผิดพ.ร.บ.ประชามติ
 
นักศึกษา ม.รามคำแหงถูกเชิญไปโรงพัก หลังใส่เสื้อโหวตโน ร่วมกิจกรรมรับน้อง
5 กรกฎาคม 2559 มติชนออนไลน์ ได้รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ประมาณ 5 นาย ได้เข้าสั่งห้าม จินวัฒน์ เภตา ผู้ประสานงานกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ให้ใส่เสื้อที่มีข้อความ "vote no" ขณะเข้าร่วมกิจกรรมรับสมัครสมาชิกชมรม ที่มหาวิทยาลัยบางนา โดยเจ้าหน้าที่อาวว่าเป็นการกระทำที่ผิด พ.ร.บ.ประชามติ เข้าข่ายการรณรงค์ทางการเมือง และพยายามสั่งให้จินวัฒน์ ถอดเสื้อออก และขอรายชื่อกลุ่มทั้งหมด แต่จินวัฒน์ได้นำเสื้อมาสวมทับแทน เจ้าหน้าที่ไม่ยอมจึงได้เชิญจินวัฒน์และสมาชิกกลุ่ม รวม 7 คนไปสอบถามที่สถานีตำรวจ
นักกิจกรรม NDM นักศึกษา  และนักข่าวประชาไทยถูกจับข้อหา ผิดพ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 หลังให้กำลังใจชาวบ้านที่ถูกแจ้งข้อหาตั้งศูนย์ปราบโกงที่ราชบุรี
11 กรกฎาคม 2559 ประชาไท รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม สภ.บ้านโป่ง นำผู้ต้องหา พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ในความผิดฐานเป็นตัวการแล้ว จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 3 คน คือ ปกรณ์ อารีกุล อนันต์ โลเกตุ และอนุชา รุ่งมรกต  นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ 1 คน คือ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย และนักข่าวประชาไท 1 คน คือ ทวีศักดิ์ เกิดโภคา และแจ้งข้อความข้อหาเพิ่มเติมกับผู้ต้องหาที่ 1-4 (ตามลำดับ) ข้อหาไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งเป็นความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฝากขังที่ศาลจังหวัดราชบุรี ในข้อหา "น่าเชื่อว่าจะแจกเอกสาร แผ่นพับ ใบปลิวต่อต้านการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ"  ในคำร้องของขอฝากขัง ยังระบุการคัดค้านประกันตัว ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน โดยให้เหตุผลว่า "เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไปผู้ต้องหาจะหลบหนี และไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น จึงขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหานี้"
 
ภาพข่าวจาก ประชาไทย
ก่อนหน้าการถูกจำกุม ปกรณ์ อารีกุล สมาชิกกลุ่ม NDM เดินทางมาให้กำลังใจกลุ่มชาวบ้านที่ถูกหมายเรียกมารายงานตัวในความผิดฐานขัดคำสั่่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 จำนวน เรื่องการมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง จากกรณีการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ 18 คน ที่ สภ. บ้านโป่ง 
ก่อนเดินทางกลับเจ้าหน้าที่ได้ขอตรวจค้นรถกระบะที่เดินทางมา ของสมาชิกกลุ่ม NDM และพบเอกสารรณรงค์ประชามติและมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมาแจกเอกสาร ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง โดยในบันทึกการจับกุม ตำรวจระบุการจับกุมว่า "เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับแจ้งจากประชาชนอ้างว่าเป็นพลเมืองดีและศูนย์วิทยุ สภ.บ้านโป่ง ว่ามีบุคคลใช้รถยนต์กระบะเชฟโรเลท หมายเลขทะเบียน XXX บรรทุกอุปกรณ์สิ่งของท้ายรถมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมาทำการแจกเอกสาร แผ่นพับ ใบปลิวในเรื่องรณรงค์ต่อต้านการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในเขต อ.บ้านโป่ง ต่อมาจากการสืบสวนพบว่ารถยนต์คันดังกล่าวจอดอยู่ถนนทรงพล เทศบาลเมืองบ้านโป่ง เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวขอตรวจค้นรถดังกล่าว"
และช่วงค่ำของวันที่ 10 กรกฎาคม ตำรวจได้ควบคุมตัว ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ จากบ้านพักในจังหวัดราชบุรี ด้วยข้อหาผิด พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกับทหารได้ร่วมกันเข้าตรวจค้น และอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เรื่องการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งเป็นคำสั่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการเฉพาะในการกระทำอันเป็นความผิดตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายคำสั่ง ส่วนทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกจับกุมขณะไปทำข่าว
 
ภาพข่าวจากประชาไท
11 กรกฎาคม 2559 โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า ศาลจังหวัดราชบุรีได้อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คน โดยทนายความได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว คนละ 140,000 บาท ทั้งหมดถูกปล่อยเมื่อเวลา 17.20 น. นอกจากนี้ยังมีประชาชนมารอให้กำลังใจและมอบดอกกุหลาบให้กับทั้ง 5 คนด้วย
ปกรณ์ อารีกุล กล่าวถึงกรณีนี้ว่า "วันนี้แค่มีเอกสารไว้ในรถและไม่ได้แจกยังเกือบจะต้องนอนคุก ซึ่งคงจะต้องกลับไปปรึกษากันก่อนว่าจะจัดต่อไปอย่างไร  และจะต้องถามไปทางกกต. และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องตอบให้ชัดว่า เอกสารของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ทั้งความเห็นแย้ง แผ่นพับ และสติ๊กเกอร์นั้นมีความผิดหรือไม่"
 
ภาพข่าวจากโพสต์ทูเดย์
 
ทนาย จ.กระบี่ ถูกออกหมายจับ พ.ร.บ. ประชามติ หลังโพสต์ข้อความไม่รับร่างผ่านเฟซบุ๊ค
16 กรกฎาคม 2559 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ชูวงษ์ มณีกุล ทนายความและแกนนำกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินจังหวัดระบี่ได้เข้ามอบตัวที่ สภ. หลังจากถูกแจ้งความดำเนินคดีผิด พ.ร.บ.ประชามติ เนื่องจากเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ชูวงษ์ ได้โพสต์ข้อความ "จะไปลงประชามติ แต่จะไม่รับร่างประชามติ ฉบับโจรปล้นชาติ" ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว หลังจากโพสต์ข้อความได้ 1 วัน มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งให้ทราบว่าตนถูกแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งชูวงษ์ ได้ยอมรับว่าตนโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง เป็นเพียงแค่การโพสต์ระบายความรู้สึก ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝง หรือสร้างความวุ่นวายในการไปลงประชามติใด ๆ เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้ให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด จำนวน 150,000 บาท และชูวงษ์เป็นบุคคลแรกของจังหวัดกระบี่ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาผิด พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2
สมชัยโพสต์อัพเดทกระทำที่ผิด และเข้าข่ายการกระทำผิด พ.ร.บ. ประชามติ 
16 กรกฎาคม 2559 สมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งได้โพสต์ข้อความอัพเดทการกระทำที่ผิด พ.ร.บ. ประชามติ และการกระทำที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ. ประชามติ ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Srisutthiyakorn Somchai ความว่า 
"สิ่งที่ ผิด กม.ประชามติ (อัพเดท 16 กรกฎาคม 2559)
1. เอกสาร 7 เหตุผล ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
ของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่
2. จม.ที่ส่งถึงประชาชนและตรวจพบที่ จ.ลำปาง ลำพูน เขียงใหม่ รวมประมาณ 10,000 ฉบับ
ไม่ทราบกลุ่มผู้ผลิตและแจกจ่าย
3. สไลด์ สรุปรัฐธรรมนูญมีชัยใน 8 บรรทัด
ของ เพจ หยุดดัดจริตประเทศไทย
หากมีการเผยแพร่ ทาง วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่ออีเล็คทรอนิกส์ (โพส แชร์ ส่งต่อ) หรือ สื่ออื่นใด จะเป็นความผิด
สิ่งที่พึงระมัดระวัง ว่า เริ่มเข้าใกล้การกระทำที่ผิด กม.ประชามติ (อัพเดท 16 กรกฎาคม 2559)
1. เอกสาร อนาคตประเทศไทยหลังประชามติ ตอนที่ 2 
ของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี ม.มหิดล
สิ่งที่ไม่ผิด กม.ประชามติ เฉพาะ เรื่องที่สังคมสับสน (อัพเดท 16 กรกฎาคม 2559)
1. การใส่เสื้อ vote yes หรือ vote no
2. การขายเสื้อ vote yes หรือ vote no
3. เอกสาร "ความเห็นแย้ง สรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ เล่ม 2"
โดยกลุ่ม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่
ทั้งหมดเป็นการวินิจฉัยส่วนบุคคล มิใช่ มติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (5 คน)
สมชัย ศรีสุทธิยากร"
 
โพสต์สมชัยอัพเดทการกระทำที่ผิด และเข้าข่าย พ.ร.บ.ประชามติ
 
กกต. ชี้เอกสารอนาคตของประเทศไทยหลังประชามติตอนที่ 2 เข้าข่ายการชี้นำ
 
17 กรกฎาคม 2559 ประชาไทย รายงาน กรณีการเผยแพร่ข้อมูลของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัย ใน เอกสารอนาคตของประเทศไทยหลังประชามติตอนที่ 2 โดย สมชัย ศรีสุทธิยากรกล่าวว่า เอกสารฉบับนี้มีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่ถูกต้อง และเข้าข่ายการชี้นำ คือ การทำหน้าที่ของ คสช. ที่ระบุว่า คสช. จะอยู่อีก 11 ปี หลังจากลงประชามติ ซึ่งสมชัยมองว่า สถาบันดังกล่าวเป็นหน่วยงานของรัฐ อยากให้สถาบันดังกล่าวทบทวนการเผยแพร่เอกสารชุดนี้ และทั้งนี้ กกต.ได้แจ้งให้มีการดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่ถ้าสถาบัน ฯ ยืนยันที่จะไม่แก้ไขข้อมูล ทาง กกต.ก็จะมีการหารือกับ กรธ. เพื่อดำเนินการต่อไป 
ตัวอย่างภาพจากเอกสารอนาคตประเทศไทยหลังประชามติ ตอนที่ 2 ของสถาบันสิทธิมนุษยชน ฯ ม.มหิดล
 
จับชาย อายุ 63 ปี แปะใบปลิว "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No"
28 กรกฎาคม 2559 เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้เข้าจับกุมตัว สามารถ ขวัญชัย อายุ 63 ปี ในกรณีตกเป็นผู้ต้องสงสัยเสียบใบปลิวโหวตโน พร้อมข้อความ "เผด็จการจงพินาศ ปนะชาธิปไตยจงเจริญ" โดยมีรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว ณ บริเวณลานจอดรถของห้างพันทิพย์พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ได้แจ้งข้อหาความผิดพ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 และขออำนาจศาลจังหวัดเชียงใหม่ขังตัวระหว่างการสอบสวน
 
แผ่นใบปลิว ภาพจากผู้จัดการออนไลน์
 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ใบปลิวนี้ถูกแจกจ่ายระหว่างเวลา 15.00-17.00 น.  เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างพันทิพย์พลาซ่ากล่าวว่า ใบปลิวนี้ถูกเสียบไว้ที่ปัดน้ำฝนของรถยนต์ที่จอดอยู่ภายในลานจอดรถชั้นใต้ดินของห้าง ประมาณ 10 คัน 
23 กรกฎาคม 2559 สำนักข่าวเนชั่น รายงานว่า  กรณีของ สามารถ ขวัญชัย ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 ที่บ้านพัก พร้อมกับของกลางคือ แผ่นใบปลิว จำนวน 407 ใบ ระบุข้อความว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No" พร้อมด้วยรถจักรยานยนต์ ฮอนด้าเวฟ สีดำ-แดง ป้ายทะเบียน กวง 46 ภูเก็ต
 
การพูดกาช่องขวาของ วรเจตน์ เสี่ยงผิด พ.ร.บ.ประชามติ
 
25 กรกฎาคม 2559 ไทยรัฐอออนไลน์ รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ กรณีที่ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดว่าจะกาลงในช่องขวามือของบัตรลงประชามติ ซึ่งหมายความว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีความเสี่ยงที่จะผิดพ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 “ถ้าพูดแบบนั้นก็เสี่ยง เพราะสิ่งที่ผมอธิบายว่าไม่ผิดคือ การพูดความคิดเห็นส่วนตัว แต่การแนะนำ หรือบอกคนอื่นว่าตัวเองจะกาช่องไหน ถือเป็นคนละเรื่อง มันอาจจะเข้าข่ายความผิดพ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61"
 
ภาพประกอบจากไทยรัฐออนไลน์
"วิชาญ" ตะโกนกลางตลาดชวน NO Vote พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 ประท้วงอดข้าว
 
28 กรกฎาคม 2559 ประชาไท รายงานว่า วิชาญ ภูวิหาร อายุ 47 ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวด้วยความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 62 วรรค 2 เนื่องจากมาตะโกนเชิญชวนประชาชนในตลาดในเมืองพิบูลมังสาหาร ไม่ให้ออกไปลงประชามติ 

 
ตามคำร้องขอฝากขังระบุว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เวลาประมาณ 7.30 น. ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจรอยู่ตลาดพิบูล เห็นวิชาญปั่นจักรยานมาแล้วพูดกับประชาชนในละแวกนั้นว่าตนเองเป็นสมาชิกพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ พร้อมกับชูเอกสาร และพูดจาปลุกระดมให้ประชาชนไม่ไปออกเสียงประชามติ และพูดจาไม่เห็นด้วยกับที่มาของร่างรัฐธรรมนูญ จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องเข้าจับกุม และจากการสอบถามเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ พบว่า วิชาญมีอาการคล้ายกับคนป่วยทางจิต จึงนำตัวไปส่งตรวจที่โรงพยาบาล ผลการตรวจพบว่า วิชาญไม่ได้เจ็บป่วยทางจิต เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมนำของกลางส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย 

 
วิชาญถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนกลางอุบลราชธานี เนื่องจากไม่ได้ขอประกันตัว เพราะไม่มีหลักทรัพย์ในการประกันตัว ราคา 200,000 บาท นอกจากนี้วิชาญยังประกาศอดข้าวประท้วงการถูกจับกุมในกรณีดังกล่าวอีกด้วย 

ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน เขื่อนปากมูล โพสต์เฟซบุ๊คแถลงการณ์ และรูปโหวตโน ถูกแจ้งจับข้อหาผิด พ.ร.บ.ปราชามติ
 
29 กรกฎาคม 2559 เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า กฤษฎากร ศิลาลักษ์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ถูกแจ้งดำเนินคดีด้วยความผิด พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 โดย กกต. จังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้แจ้งความ 
กฤษกร ได้ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่ กกต. จังหวัดอุบลราชธานีเข้าแจ้งความนั้นน่าจะมาจาก การแสดงความคิดเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญผ่าน เฟซบุ๊คของตนเอง เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา วันต่อมาได้มีทหารโทรศัพท์มาบอกให้ลบข้อความดังกล่าวออกจากเฟซบุ๊ค เนื่องจากโพสต์ดังกล่าวเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. ประชามติ แต่ตนก็ไม่ได้ลบออก และเมื่อวันที่ 27 ตนก็โพสต์แถลงการณ์สมัชชาคนจน โดยแถลงการดังกล่าว ได้แสดงจุดยืนที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 
 
ภาพแสดงจุดยืนไม่รับร่าง ฯ
 
 
 
ภาพแถลงการณ์ไม่รับร่างที่โพสต์ในเฟซบุ๊คของกฤษกร
 
กกต. จังหวัดอุบลราชธานี เห็นว่าข้อความดังกล่าวของเขาเข้าข่ายการปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 จึงเข้าดำเนินการแจ้งความ 
เบื้องต้น วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 กฤษฎากรยังไม่ได้รับหมายเรียกแต่อย่างใด แต่ในเวลาประมาณ 14.30 น. เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวม 8 คน ได้เดินทางไปยังสำนักงานสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูลแต่ไม่พบใคร
ส่งจดหมายวิจารณ์ร่าง เจอข้อหาหนัก ไม่ให้ประกันตัว
5 สิงหาคม 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยสิทธิมนุยชน รายงานความคืบหน้ากรณีการจับกุมผู้ส่ง จดหมายที่มีเนื้อหาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ จ่าหน้าซองถึงบ้านเลขที่ของผู้รับ แต่ไม่ระบุชื่อผู้ส่ง หย่อนลงตามไปรษณียบัตรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน จำนวน 11,181 ฉบับ ผู้ต้องหาทั้ง 10 คน ถูกตั้งยุยงปลุกปั่น และอั้งยี่ซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, 209 และ 210 และ พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ก่อนจะศาลจะขออนุญาตให้ฝากขัง 12 วัน และไม่อนุญาตให้ประกันตัว
สำหรับจดหมายฉบับดังกล่าว เนื้อหาในจดหมายมีความยาว 1 หน้ากระดาษเอ4 หัวข้อของจดหมายคือ "จริงหรือไม่ที่่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ได้ตัดสิทธิ์ของประชาชน" โดยมีเนื้อหาครอบคลุมถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ การลงประชามติ และประเด็นที่มีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ คือ ด้านสิทธิการรักษาพยาบาลฟรี การช่วยเหลือบุคคลที่มีอายุเกิน 60 ปี และเรื่องสิทธิการเรียนฟรี รวมทั้งคำถามพ่วงในการลงประชามติ และปิดท้ายจดหมายด้วยข้อความว่า "อนาคตของประเทศไทยและสิทธิของประชาชนจะหายไปหรือไม่จะขึ้นอยู่กับผลประชามติ 7 สิงหาคม 2559" 
 
เนื่้อหาในจดหมายที่ถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ 
รายชื่อผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด คลิกที่นี่
จับ 2 นักกิจกรรม NDM ขณะแจกเอกสารความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 

 
6 สิงหาคม 2559 เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  รายงานการเข้าจับกุม นักกิจกรรม NDM 2 คน ประกอบด้วย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ วศิน พรหมณี นักศึกษาคณะวิศกรรมธรณี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ขณะกำลังแจกเอกสารรณรงค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วย ความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ 1 เล่ม เอกสาร 7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 128 ชุด และเอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ 16 เล่มของขบวนประชาธิปไตยใหม่ให้แก่พ่อค้าแม่ค้าบริเวณตลาดสดภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

 
ต่อมา เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนนอกเครื่องแบบ ประมาณ 10 นาย ได้นำหมายศาลเข้าไปขอตรวจค้นบ้านของ จตุภัทร ซึ่งในขณะนั้นมีมีบิดาและมารดาของนายจตุภัทรอยู่ที่บ้าน หลังจากการตรวจค้นก็ไม่พบเอกสารหรือหลักฐานใดๆ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกจับทั้ง 2 คน ในข้อหาผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ก่อนจะมีการสอบคำให้การเบื้องต้น ซึ่งทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

 
8 สิงหาคม 2559 เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  ได้รายงานความคืบหน้าว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยื่นขอนุญาตศาลฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองต่อศาลจังหวัดชัยภูมิ วศิน ได้ขอยื่นประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์คำประกันเป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท ศาลอนุญาตให้ประกันตัว ส่วนจตุภัทร์ไม่ขอยื่นประกันตัว