ทางสองแพร่งในมือศาล: “มาตรา 61 วรรค 2” ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ จะอยู่หรือจะไป

ภายหลังโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ และเครือข่าย เข้ายื่นจดหมายต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเป็นเอกฉันท์ส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยเห็นตรงกับผู้ร้องว่า
“มาตรา 61 วรรคสอง มีเนื้อหาคลุมเครืออาจทำให้ประชาชนสับสนจนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และมีเพียงส่วนของวรรคสี่ซึ่งเป็นบทลงโทษที่ผู้ตรวจการแผ่นไม่ได้เห็นด้วยกับผู้ร้อง เนื่องจากเป็นดุลยพินิจของผู้ออกกฎหมาย”
ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตา นับจากนี้ คงจะหนีไม่พ้น ทิศทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ จากการพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นสิทธิเสรีภาพที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่การดำรงตำแหน่งของตุลาการชุดนี้เมื่อปี 2551 จนถึงปัจจุบันจะพบว่า หากศาลจะพิจารณาว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า กฎหมายนั้นเป็นไปตามเงื่อนในการจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือไม่ เช่น “เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของรัฐหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” หรือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ “เท่าที่จำเป็นและใช้บังคับเป็นการทั่วไป”
โดยประเด็นที่ร้องต่อศาลก็คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคสอง เนื่องจาก กฎหมายดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพราะเป็นกฎหมายที่กำหนดอัตราโทษไว้สูงเกินไป ทั้งที่ มีลักษณะความผิดคล้ายการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามีโทษจำคุกเพียงหนึ่งปี และมีเหตุยกเว้นโทษ นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังมีอัตราโทษสูงกว่าโทษของความผิดต่อความมั่นคงอื่นๆ อย่างเช่น ประมวล กฎหมายอาญามาตรา 116 อีกด้วย
แต่ท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะ กฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคสอง นอกจากนี้ ในมาตราเดียวกันยังกำหนดไว้อีกว่า สิทธิเสรีภาพดังกล่าวอาจถูกจำกัดได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
ส่วนประเด็นอัตราโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็เป็นการกำหนดเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมกับฐานความผิด และเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำความผิดได้โดยง่าย จึงต้องมีโทษสูงกว่ากฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดา ร่วมถึงไม่มีเหตุยกเว้นโทษ นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยังเป็นกฎหมายที่บังคับใช้โดยทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายบังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่ได้กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และ 45 แต่อย่างใด
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยประเด็นที่ร้องต่อศาลว่า มาตรา 32 ของกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในมาตรา 29 และ 43 ของรัฐธรรมนูญ
โดยกรณีนี้ มีผู้ร้องว่า มาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มฯ ที่กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อมขัดต่อเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือ ประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และกระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิดังกล่าวจนเกินจำเป็น
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 ว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพราะ วัตถุประสงค์ของกฎหมายคือ การกำหนดมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน โดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าจะก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพเป็นต้นเหตุให้เกิด โรคต่าง ๆ อันเป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ดื่ม ทั้งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทหรือ ก่ออาชญากรรม เป็นปัญหาแก่ครอบครัว และก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ โดยรวมของประเทศ
ดังนั้น มาตรา 32 จึงถือเป็นการหนึ่งในมาตรการควบคุมตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ถึงแม้ว่าบัญญัตินี้จะจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางส่วนแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการจัดระเบียบการประกอบอาชีพ และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอยู่ในขอบเขตรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 43 วรรคสอง นอกจากนี้ มาตราดังกล่าวยังเป็นการจำกัดเสรีภาพเท่าที่จำเป็น เนื่องจากไม่ได้ห้ามโดยเด็ดขาดและไม่ได้มุ่งบังคับเฉพาะเจาะจง จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ด้วยเช่นกัน
โดยในกรณีนี้ มีประเด็นที่ร้องต่อศาลว่า มาตรา30 ของ พ.ร.บ.ประปาฯ ไม่ชัดเจนและสร้างความไม่เป็นธรรมต่อสิทธิในทรัยพ์สินของประชาชน เพราะกฎหมายกำหนดว่า การการเดินท่อน้ำและติดตั้งอุปกรณ์ไปใต้หรือเหนือดินในที่ดิน ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเกิน 80 เซนติเมตร ขึ้นไป ให้การประปาสามารถกำหนดเขตของการวางท่อด้านละไม่เกิน 2.50 เมตร และมีอำนาจรื้อสิ่งที่สร้างหรือต้นไม้ ได้โดยต้องจ่ายค่าชดเชยในการใช้ที่ดินและการรื้อถอนหรือตัดฟันต้นไม้ ทั้งนี้ เมื่อมีการชดเชยแล้วเจ้าของเต็มใจไม่รับหรือไม่มีสิทธิรับค่าทดแทนก็จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้อีก
แต่ทว่า กฎหมายไม่ได้กำหนดกรณีที่ ถ้าท่อขนาดต่ำกว่า 80 เซนติเมตรจะต้องชดเชยหรือไม่ และเป็นผลให้การประปาไม่ย่อมจ่ายค่าชดเชย จนผู้เสียหายต้องร้องผ่านศาลปกครองให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อว่า กฎหมายดังกล่าว ขัดต่อ มาตรา 41 รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ที่กำหนดว่า สิทธิในทรัพย์สินย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หรือไม่
ท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ว่า ถึงแม้ มาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ประปาฯ  จะไม่กำหนดให้การประปาจ่ายค่าทดแทนในกรณีวางท่อขนาดไม่ถึง 80 เซนติเมตร แต่รัฐก็ทำให้สิทธิในที่ดินนั้นเสื่อมเสียไปและทำให้เจ้าของที่ดินไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งเป็นการรบกวนสิทธิของประชาชน ดังนั้น หากไม่มีการจ่ายเงินชดเชยก็จะถือว่าไม่เป็นธรรม และเป็นการจำกัดสิทธิเกินความจำเป็นและขัดกับสาระสำคัญแห่งสิทธิตามมาตรา 29 และ 41 ของรัฐธรรมนูญ  
 
—————————————————
จากทั้งสามกรณี เมื่อนำมาเทียบเคียงกับ มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ก็อาจจะพอทำให้คาดเดาทิศทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ว่า น่าจะแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่
หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะมาตราดังกล่าว จำกัดสิทธิและเสรีภาพบางส่วนแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อีกทั้ง มาตราดังกล่าวยังเป็นการจำกัดเสรีภาพเท่าที่จำเป็น เนื่องจากไม่ได้ห้ามโดยเด็ดขาดและไม่ได้มุ่งบังคับเฉพาะเจาะจง เช่นเดียวกับการวินิจฉัย พ.ร.บ.แอลกอฮอล์ฯ หรือ มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
สอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะมาตราดังกล่าวมีความคลุมเครือเนื่องจากไม่ได้นิยามความหมายของคำให้ชัดเจนอาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน และเป็นการจำกัดสิทธิเกินความจำเป็นและขัดกับสาระสำคัญแห่งเสรีภาพ เช่นเดียวกับพ.ร.บ.การประปาฯ
ทั้งนี้ ไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาในทิศทางใดก็จะมีผลเฉพาะในมาตรานั้นและไม่ได้ส่งผลจนทำให้พ.ร.บ.ประชามติถูกระงับการใช้ หรือเป็นเหตุให้ประชามติต้องเลื่อนออกไป ส่วนทิศทางคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นสิทธิและเสรีภาพจะเป็นอย่างไร ขอให้ทุกคนช่วยติดตาม…
ไฟล์แนบ