3 เดือนใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วิทยุชุมชนปิดปาก ไม่พูดเรื่องการเมือง

พบวิทยุชุมชน 86แห่งในอีสานและเชียงใหม่ถูกขึ้นแบล็คลิสต์ศอฉ. หัวหน้าสถานีและผู้จัดรายการถูก ตั้งข้อหาดำเนินคดีรวม 35 ราย เผยเจอคุกคามทุกรูปแบบ ทั้งบุกยึด คำสั่งเตือน ขอความร่วมมือ และเรียกพบ ส่งผลบรรยากาศเซ็นเซอร์ตัวเอง

วันที่ 14 กรกฎาคม 2553 ที่ห้องประชุมศศนิเวศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) จัดเวทีสัมมนา “การปิดวิทยุชุมชนภายใต้พ...ฉุกเฉิน” โดยร่วมกับศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อคณะนิเทศน์ศาสตรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยในงานนี้มีตัวแทนจากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ตัวแทนวิทยุชุมชนจากภูมิภาคต่างๆ เข้าร่วมการสัมมนาด้วย

นายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ นำเสนอผลการศึกษากรณีการจับกุมดำเนินคดีและสั่งปิดสถานีวิทยุชุมชนภายใต้พ...ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 7 เม.. – 7 ..53 ว่า ภายใต้ความขัดแย้งครั้งนี้ วิทยุชุมชนตกอยู่ในฐานะเป็นช่องทางโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อตอบสนองอุดมกาณ์ทางการเมืองของทุกฝ่าย ไม่เฉพาะสีใดสีหนึ่ง บรรยากาศที่ผ่านมาสร้างความหวาดกลัวในการนำเสนอข่าวสารอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการต่อเชื่อมสัญญาณหรือการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ผู้ดำเนินรายการจะรู้สึกว่าถูกกำหนดให้เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไป แม้ตัวเองจะไม่ได้คิดอย่างนั้นโดยตรง เป็นความกังวลอย่างมาก เพราะตอนนี้วิทยุชุมชน ยังไม่มีสถานีใดได้รับใบอนุญาต สิทธิที่มีอยู่เป็นเพียงสิทธิการทดลองออกอากาศชั่วคราว
 
สิ่งที่ตามมาคือ วิทยุชุมชนหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวสารการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ตามมาด้วยการเซ็นเซอร์ตัวเอง บางสถานีถึงกับกล่าวว่าไม่พูดเรื่องการเมืองหรือยกเลิกการพูดเรื่องนี้ไปเลย ก็คงต้องตั้งคำถามว่า การปฏิรูปสังคม หรือการเมือง หรือความปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าประชาชนปฏิเสธเรื่องราวเหล่านี้”
 
นายสุเทพเล่าถึงสถานการณ์ของวิทยุชุมชนภายใต้ พ...ฉุกเฉินในช่วงที่ผ่านมาว่า มีปฏิบัติการแวดล้อม เช่น มีหนังสือเตือนการนำเสนอเนื้อหาไปยังวิทยุชุมชนทุกแห่ง โดยแนบคำสั่งศอฉ. นอกเหนือจากนี้ยังมีการเรียกแกนนำเครือข่ายวิทยุชุมชนเข้าไปพบ หลังจากนั้นก็มีการเรียกเข้ามาชี้แจงว่า การนำเสนอเนื้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต มีการขอความร่วมมือให้ออกอากาศเนื้อหาห้ามเข้าร่วมชุมนุม ให้ออกจากสถานที่ชุมนุม ที่กรมประชาสัมพันธ์จัดทำมา ส่วนในต่างจังหวัด มีการออกหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้วิทยุชุมชนถ่ายทอดสัญญาณจากวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ในระดับท้องถิ่นคาดว่ามีคำสั่งกำชับลงไป เพราะสถานีตำรวจในพื้นที่มีการเรียกวิทยุชุมชนมาทำข้อตกลง ที่ชาวบ้านเรียกว่า MOU (Memorandum Of Understanding- ทำความตกลง) ที่จัดทำขึ้นโดยสถานีตำรวจ
 
โดยสรุปแล้ว ตามการศึกษาของคปส. พบว่า ภายใต้ พ...ฉุกเฉิน มีการปิดวิทยุชุมชน 26 แห่ง ใน 9 จังหวัด หลังจากวันที่ 19 พฤษภาคม 53 มีสถานีวิทยุชุมชนอยู่ในแบล็คลิสต์ 86 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ใน 11 จังหวัด ในพื้นที่ภาคอีสานและจังหวัดเชียงใหม่ มีหัวหน้าสถานีและผู้จัดรายการถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีทั้งหมด 35 ราย
 
รูปแบบของการเข้าปิดสถานีวิทยุชุมชน พบว่าประมาณ 5-7 สถานีมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่ 50-500 นาย อาวุธที่ใช้มีทั้งเอ็มสิบหก ปืนกล กระบอง โล่ เป็นการเข้าไปยึดเครื่องส่งสัญญาณ สายส่ง แผงส่งสัญญาณ อุปกรณ์การจัดรายการ ไมโครโฟน เทป มีการรื้อถอนเสาอากาศ และยังมีการกล่าวอ้างว่ามีการยึดเครื่องปรับอากาศ รถมอเตอร์ไซค์ด้วย และมีสถานีที่ยุติการออกอากาศไปเอง 6แห่ง
 
ในงานเดียวกันนี้ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า พ...ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ยิ่งใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ พ...ฉุกเฉินฯ ไม่ได้เปิดโอกาสให้รัฐบาลใช้อำนาจแบบเหมาโหล เนื้อหากฎหมายกล่าวไว้ว่า ต้องใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินคับขัน มีลักษณะเป็นสงคราม และต้องชี้จำกัดในเรื่องพื้นที่ เวลา และการกระทำด้วย ไม่ใช่จะอ้าง พ...ฉุกเฉินฯ มาละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อที่รัฐธรรมนูญถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ตามที่ระบุในมาตรา45-46
 
ผมคิดว่า เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว การใช้พ...ฉุกเฉินก็ต้องยกเลิกไป วิทยุชุมชนต้องออกมาส่งเสียงว่า ไม่ว่ากฎหมายใดก็ไม่ควรอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับรัฐบาลยอมรับว่าได้ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้ว จึงสามารถใช้กฎหมายของคณะรัฐประหารได้ แม้จะเป็นรัฐประหารเงียบก็ตาม”
 
นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายแบบครอบจักรวาล ทำให้เกิดปัญหาการละเมิดและทำร้ายคนที่ไม่สมควร ก็คือสื่อวิทยุชุมชน หรือแม้กระทั่งผู้ต้องหาที่อยู่ในเรือนจำต่างๆ ซึ่งนพ.นิรันดร์ย้ำว่า การใช้อำนาจใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีสิทธิมนุษยชนเป็นตัวตั้ง ต้องมั่นคงและมั่นใจได้ว่าการใช้อำนาจนั้นยึดหลักการที่ถูกต้อง แม้ว่าจะเข้าประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม
 
กรรมการสิทธิฯ ซึ่งติดตามเรื่องสื่อชุมชนมายาวนานกล่าวว่า กรณีที่ไปปิดสถานีวิทยุชุมชนนั้น เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ เพราะไม่มีข้อหาหรือเหตุผลอะไรต้องไปปิด หากเป็นเรื่องเนื้อหาก็ต้องระบุไปว่าเป็นรายการอะไร ใครเป็นคนทำ และมีข้อความอย่างไรที่ฝ่าฝืนกฎหมายเรื่องการกระจายเสียง ไม่ใช่เหมารวมปิดทั้งสถานี ถือเป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และเป็นการใช้กฎหมายในการปราบปรามทำลายสิทธิของสื่อภาคประชาชน
 
นพ.นิรันดร์ ยังให้ความเห็นต่อการใช้พ...ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลเพิ่มเติมอีกว่า หากพฤติกรรมหรือการกระทำอะไรที่ส่อในเรื่องของความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิ เป็นอนาธิปไตย กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลหรือสาธารณะ ก็สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่ไปดำเนินการได้ แต่ถ้าใช้วิธีการไปปิดโดยไม่มีข้อบ่งชี้อะไร ถือเป็นการทำลายและละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้กฎหมายฉบับนี้จึงง่ายต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่ก็จำเป็นต้องมีองค์กรเข้าไปตรวจสอบว่า มีพฤติกรรมที่เป็นรายละเอียดของการบังคับใช้กฎหมายอย่างไรบ้าง ไม่เช่นนั้นรัฐก็จะเสพติดอำนาจ และรัฐเองมีแนวโน้มในการใช้อำนาจที่เกินเลยอยู่แล้ว
 
 
                               
                         สุเทพ วิไลเลิศ                                 นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
 
ขณะที่นายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาของวิทยุชุมชนว่า วิทยุชุมชนทุกวันนี้มีจำนวนมาก ใกล้เคียงกับจำนวนเซเว่นอีเลเว่นในประเทศไทย แสดงว่าสื่อนี้เข้าถึงชุมชนได้แท้จริง ที่ไหนมีชุมชนก็มีวิทยุชุมชนเกิดขึ้นเหมือนมีเซเว่น เรามักนำสื่อชุมชนไปเปรียบกับสื่อขนาดใหญ่ที่มีพัฒนาการทำสื่อมานาน ซึ่งจะมีคำพูดที่ฟังแล้วรื่นหูรัฐบาลกว่า แต่ชาวบ้านเมื่อลุกขึ้นมาทำสื่อก็จะพูดแบบชาวบ้าน คืออารมณ์ชาวบ้านที่อยู่กันอย่างนั้น ซึ่งรัฐก็จะมองว่านี่ไม่มีจริยธรรม เราไม่เห็นด้วยกับการเอาวิทยุชุมชนมายุให้คนตีกัน แต่แค่สะท้อนภาพการเมืองก็น่าจะทำได้ ถ้าเราไปติดแค่คำพูดท่าทีของตาสีตาสาที่มาจัดรายการไปเทียบกับคุณสรยุทธ์ (นักจัดรายการชื่อดัง) ก็เร็วเกินไปที่จะตัดสินวิทยุชุมชนว่าไม่สมควรทำสื่อ
 
นายวิชาญเล่าถึงบรรยากาศของวิทยุชุมชนในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ว่า “หลายสถานีตอนนี้เซ็นเซอร์ตัวเอง เอาป้ายมาติดว่าสถานีนี้ไม่พูดเรื่องการเมือง เพราะกลัว เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนแล้วมองว่าการชุมนุมจะเป็นทางออกของเขา เช่น พี่น้องปากมูน พี่น้องบ่อนอก เค้าจะใช้วิทยุชุมชนไปชวนคนมาแก้ปัญหาได้ไหม ถ้าพูดเรื่องแบบนี้ออกไปก็ถูกตีความว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง หลายสถานีแค่วิจารณ์การเมือง ซึ่งไม่ได้อยู่ฝั่งสีใด ก็โดนชะลอสิทธิ”
 
เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติตั้งข้อสังเกตว่า สมัยก่อน สื่ออยู่ในมือรัฐ อย่างในเหตุการณ์ 14 ตุลา และ6 ตุลา ความรุนแรงจึงเกิดขึ้น แต่วันนี้สื่ออยู่ในมือประชาชน เจ็ดพันกว่าสถานี ความรุนแรงยังเกิดขึ้นมากกว่ายุคก่อน แสดงว่า สื่อที่อยู่ในมือชุมชนตอนนี้มันไม่เป็นอิสระจริงหรือเปล่า การเมืองวิจารณ์ได้จริงหรือเปล่า
 
ทางด้านนายเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย ซึ่งเป็นกลุ่มวิทยุขนาดเล็กที่ทำเป็นธุรกิจและมีโฆษณา กล่าวว่า วันนี้วิทยุท้องถิ่นหลายคลื่นก็โดนขึ้นแบล็คลิสต์ ต้องชะลอให้ต่อใบอนุญาตไม่ได้
 
วันนี้คุณประกาศศอฉ.ครอบคลุมทั้งพื้นที่ แล้วภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ ถ้าวิทยุชุมชน หรือพวกเราที่อยู่ในท้องถิ่น มีใครมาร้องเรียนผ่านรายการ ผมว่า ศอฉ.ก็ไปเยี่ยมแน่นอน ต้องตั้งเส้นแบ่งให้ชัดว่า คนที่สร้างความปั่นป่วนทางการเมือง กับข้อเรียกร้องภาคประชาชนมันต้องระบุให้ชัด ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาต่อการดำเนินกิจการของภาคประชาชน และวิทยุอย่างพวกเราก็มี อยากจะให้กฎหมายที่เกี่ยวกับศอฉ. มีวันเวลาชัดเจน หรือมีเส้นแบ่งระหว่างเครื่องมือทางการเมือง กับการเรียกร้องของประชาชนในผลกระทบเชิงนโยบาย” นายเจริญกล่าว
 
ขณะที่ อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า สมัยนี้การละเมิดสิทธิเสรีภาพไม่ผิดกฎหมายเสมอไป กฎหมายบางครั้งก็ถูกร่างให้การละเมิดสิทธิเสรีภาพถูกกฎหมายอยู่แล้ว โดยกฎหมายเล่านี้ มีลักษณะ 2 ประการ คือ เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจได้อย่างกว้างขวาง และปิดช่องไม่ใ้ห้มีการตรวจสอบลงโทษ ทุกวันนี้เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องกฎหมายอย่างเดียว แต่มีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมด้วย เราถูกทำให้อยู่ในกรอบความคิดว่า รัฐหรืออำนาจส่วนกลางมองว่าชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของส่วนกลาง เพราะฉะนั้นชุมชนต้องอยู่ภายใต้ที่ส่วนกลางกำหนดตลอดเวลา เมื่อรัฐละิเมิดสิทธิของวิทยุชุมชน คนจึงมองว่าเป็นเรื่องปกติ

 

 

ไฟล์แนบ
  • 1 (78 kB)
  • 1 (123 kB)