พ.ร.บ.ประชามติ: ห้ามรณรงค์-โพสต์ปลุกระดม ติดคุก 10 ปี

คลอดเรียบร้อย สำหรับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เพื่อรับมือกับเส้นทางสู่การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 สำหรับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขไปจากเดิมพอสมควร โดยเฉพาะส่วนสำคัญเช่น การตัดไม่ให้มีการรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญ หรือการปรับเปลี่ยนบทลงโทษขอความผิดบ้างประเภทใหม่ และยกเลิกการออกเสียงผ่านเครื่องลงคะแนน โดยรายละเอียดที่น่าสนใจของ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีดังนี้
ให้ กรธ.ทำหน้าที่เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ
พ.ร.บ.ฉบับนี้ สนช.ตัดข้อความ “รณรงค์” ในมาตรา 7 และ 10 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับเดิม ซึ่งให้บุคคลเพียงแค่สามารถเผยแพร่ความคิดเห็นตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ สนช.ได้เพิ่มเติมหน้าที่เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 
โดยมาตรา 10 กำหนด “ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมการ อนุกรรมการ และเจ้าหน้าที่ ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ดําเนินการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เพื่อทําความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ…ร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนทราบ” ให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุน ให้ความร่วมมือ ตามที่ กรธ.ร้องขอ การดําเนินการใดๆ ของ กรธ. ไม่ถือว่าเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง 
อายุครบ 18 ปี ในวันออกเสียง มีสิทธิออกเสียง
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติไม่แตกต่างจากการเลือกตั้ง ยกเว้นการกำหนดให้ผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันออกเสียง สามารถใช้สิทธิออกเสียงได้ ดังนั้นหากการออกเสียงประชามติเกิดขึ้นวันที่ 7 สิงหาคม ผู้ที่มีอายุครบ 18 ปี ในวันดังกล่าวสามารถไปใช้สิทธิออกเสียงได้ (มาตรา 25 (2))
ใช้สิทธินอกพื้นที่ หรือย้ายที่อยู่ไม่ถึง 90 วัน ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า 30 วัน
การออกเสียงประชามติครั้งนี้ไม่ได้จัดให้ออกเสียงล่วงหน้า เพราะการออกเสียงประชามติจะทำวันเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ ดังนั้น ผู้ที่ไม่สะดวกในการกลับภูมิลำเนาเพื่อออกเสียง และผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเวลาน้อยกว่า 90 วัน นับแต่วันออกเสียง หากต้องการใช้สิทธิออกเสียง ให้ยื่นคำขอลงทะเบียนก่อนวันออกเสียงอย่างน้อย 30 วัน โดยจะหมดสิทธิลงคะแนนในหน่วยออกเสียงเดิมที่ตนมีชื่ออยู่ (มาตรา 46)
ถ้าไม่ “กากบาท” นับเป็นบัตรเสีย
พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดลักษณะของบัตรเสียไว้หลายแบบ ซึ่งอาจสรุปอย่างรวบรัดว่า “บัตรที่ทำเครื่องหมายอื่นนอกจากเครื่องหมายกากบาท” คือบัตรเสีย (มาตรา 45)
ค้านผลประชามติได้ ภายใน 24 ชั่วโมง
ประชาชนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจำนวนไม่น้อยกว่า 50 คนในหน่วยออกเสียงใด หากเห็นว่าการออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริต มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านพร้อมหลักฐานต่อ กกต. ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่การลงคะแนนออกเสียงสิ้นสุดลง (มาตรา 49)
โพสต์บิดเบือน-ปลุกระดม ติดคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับสองแสน
สำหรับการควบคุมการออกเสียงและบทกำหนดโทษ มีเนื้อหาที่สำคัญใน มาตรา 61 ที่สรุปได้ว่า
“ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสื่อพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปี
ในกรณีเป็นการกระทําความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท  ศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี
ห้ามเปิดผลโพลก่อนวันลงประชามติ 7 วัน
ผู้ใดเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงในระหว่างเวลา 7 วันก่อนวันออกเสียง จนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 63)
ฉีกบัตร-ถ่ายรูป-เล่นพนัน เจอโทษหนัก
+ ฉีกบัตรออกเสียงประชามติ จำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท (มาตรา 59)
+ นำบัตรออกเสียงประชามติออกไปจากสถานที่ออกเสียง จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 60 (3))
+ ถ่ายรูปบัตรออกเสียงประชามติ ที่ตนได้ลงคะแนนออกเสียงแล้ว จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 60 (5))
+ เล่นพนันผลประชามติ  อันมีผลเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปี (มาตรา 61 (5))
+ จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตออกเสียงระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันออกเสียงจนสิ้นสุดวันออกเสียง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 61 (7))
+ ผู้ใดจัดยานพาหนะนําผู้มีสิทธิออกเสียงไปยังที่ออกเสียงเพื่อการออกเสียง หรือนํากลับไปจากที่ออกเสียงโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะหรือค่าจ้าง โทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมี 5 ปี แต่ไม่ให้ใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐ (มาตรา 62)
ไฟล์แนบ