สนช.แก้กม.อาญาแล้ว 4 ครั้ง ห้ามหนังโป๊เด็ก-ข่มขืนศพ ข่มขืนเด็กเพิ่มโทษ ให้รอลงอาญาใส่กำไลติดตามตัว

ประมวลกฎหมายอาญา เป็นกฎหมายหลักที่ระบุว่า การกระทำอะไรบ้างที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย และผู้ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษอย่างไร ประมวลกฎหมายอาญา ยังทำหน้าที่กำหนดหลักการพื้นฐานสำคัญๆ ของการกระทำที่เป็นความผิด เช่น หลักเจตนา หรือเหตุลดโทษต่างๆ ซึ่งใช้เป็นหลักของกฎหมายอื่นๆ ทั้งประเทศด้วย
ประมวลกฎหมายอาญา ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2499 นับถึงปัจจุบัน มีอายุได้ 60 ปี ตลอดอายุไขที่ผ่านมา ประมวลกฎหมายอาญาถูกแก้ไขมาแล้ว 27 ครั้ง โดยวิธีการออกเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม 24 ฉบับ ออกเป็นประกาศคณะปฏิวัติ 2 ครั้ง และ ออกเป็นพระราชกำหนด 1 ครั้ง ซึ่งในยุคของรัฐบาลคสช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้ว 4 ครั้ง และมีร่างอีกหลายฉบับที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
เมื่อย้อนไปดูการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาทั้ง 27 ครั้งพบว่า การแก้ไข 16 ครั้ง ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโดยนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งสภาที่ทำหน้าที่พิจารณากฎหมายไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนการแก้ไขอีก 11 ครั้งลงนามโดยนายกรัฐมนตรีที่ขึ้นสู่ตำแหน่งในยุคที่รัฐสภาซึ่งทำหน้าที่พิจารณากฎหมายมาจากการเลือกตั้ง เช่น ในยุคของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาไป 5 ครั้ง ในยุคของทักษิณ ชินวัตร แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาไป 4 ครั้ง
กฎหมายอาญา บางครั้งถูกแก้ไขเพื่อตอบรับกับสถานการณ์บ้านเมือง
ข้อน่าสนใจ คือ การแก้ไขกฎหมายอาญาโดยอำนาจของคณะรัฐประหารหลายครั้งมีเจตนารมณ์เฉพาะเพื่อตอบสนองสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้น เช่น การออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อปี 2514 กำหนดให้ความผิดฐานวางเพลิงมีโทษประหารชีวิต หรือการออกคําสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 โดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เมื่อปี 2519 เพิ่มโทษฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นศาสนา ฯลฯ ตามที่คณะรัฐประหารในยุคนั้นมุ่งปราบปรามการเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ เป็นต้น แต่เมื่อถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายมาเรื่อยๆ เป็นเวลานานเข้า นักกฎหมายรุ่นหลังก็จะไม่ใส่ใจที่มาของการแก้ไขกฎหมายในอดีต และยอมรับเอาหลักการนั้นๆ ว่าเป็นหลักของกฎหมายอาญาที่ชอบธรรม
ขณะเดียวกัน ในยุคที่มีรัฐบาลและรัฐสภามาจากการเลือกตั้ง อย่างยุคของทักษิณ ชินวัตร ก็มีการแก้ไขกฎหมายอาญาตามกระแสสังคมการเมืองเช่นกัน โดยคณะรัฐมนตรี ในปีพ.ศ.2546 เคยแก้ไขกฎหมายอาญาโดยการออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อบัญญัติความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ให้สอดรับกับกระแสโลกหลังเหตุการณ์ 9-11 ที่สหรัฐอเมริกา
ในยุครัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งอาศัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งเป็นผู้พิจารณากฎหมาย ก็เคยแก้ไขกฎหมายอาญาสองครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน แก้ไขในเรื่องความผิดทางเพศ นิยามการข่มขืนใหม่ให้ครอบคลุมทุกเพศ การกระทำทุกลักษณะ และเพิ่มโทษให้หนักขึ้น ตามกระแสเรียกร้องของสังคมในขณะนั้น
สนช.ยุคประยุทธ์ แก้ไขกฎหมายอาญาแล้ว 4 ครั้ง ความผิดเกี่ยวกับเพศ – เพิ่มเงื่อนไขรอลงอาญา
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุครัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีผลงานไม่น้อยหน้ารัฐบาลอื่น โดยผ่านพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลอาญาไปแล้ว 3 ฉบับ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับความผิดเกี่ยวกับเพศทั้งสิ้น ได้แก่
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 22 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 กำหนดนิยามของคำว่า “เจ้าพนักงาน” เป็นครั้งแรกในกฎหมายอาญา และเพิ่มความผิดลักษณะใหม่ คือ “ความผิดเกี่ยวกับศพ” กำหนดโทษสำหรับการข่มขืนศพ ทำอนาจารศพ ทำลายศพ ดูหมิ่นศพ ให้มีโทษจำคุก และเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 23 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 เพิ่มโทษปรับในความผิดฐานข่มขืนเด็กขึ้นอีก 10 เท่า และกำหนดให้ชัดเจนว่า หากผู้เสียหายเป็นเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ผู้กระทำความผิดจะอ้างว่าไม่รู้อายุของเด็ก เพื่อให้พ้นจากความผิดไม่ได้ ซึ่งก็เป็นการออกกฎหมายหลังกระแสคดีฆ่าข่มขืน “น้องแก้ม” บนรถไฟ ในปี 2557
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 24 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 เพิ่มคำนิยามศัพท์ของคำว่า “สื่อลามกอนาจารเด็ก” กำหนดให้การครอบครองและส่งต่อสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นความผิด มีโทษหนัก
นอกจากนี้ยังมี ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา อีกฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสนช. แล้ว เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2559 แต่อยู่ระหว่างรอประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับ หลักเกณฑ์การกักขังแทนการจ่ายค่าปรับ จากเดิมคิดวันละ 200 บาท ปรับเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท เพิ่มโอกาสการรอการลงโทษหรือรอลงอาญา ในคดีที่ศาลสั่งปรับไม่เกิน 20,000 บาท ให้ศาลมีอำนาจสั่งรอการลงโทษได้ และเพิ่มตัวเลือกการคุมประพฤติ แทนการกักขัง เช่น การให้ใส่อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิคส์ ทั้งนี้เพื่อมุ่งลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ
ยังจ่อแก้อีกหนึ่ง เพิ่มความผิดคุกคามทางเพศ
ในยุครัฐบาลคสช. ยังมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาอีกหนึ่งฉบับ ที่ร่างโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งยังอยู่ในชั้นของคณะรัฐมนตรียังไม่ถูกส่งเข้าสนช. ร่างฉบับนี้จะกำหนดนิยามความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราใหม่ หลังเพิ่งแก้ไขมาครั้งหนึ่งในยุคของรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ และจะเพิ่มความผิดฐานคุกคามทางเพศ รวมการกระทำไม่ว่าจะเป็นด้วยวาจา ท่าทาง เสียง ภาพ เอกสาร ข้อมูลทางอิเลคทรอนิกส์ ที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ หวาดกลัว เกิดความอับอาย
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เคยออกมาเปิดเผยผ่านคมชัดลึกว่า สาระสำคัญของการแก้ไข ร่างพ.ร.บ. นี้ ทางกระทรวงยุติธรรม ระบุคำนิยามเกี่ยวกับ “กระทำชำเรา” ให้ครอบคลุมกับพฤติกรรมของสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อให้เป็นกม. ที่มีความทันสมัยสามารถปกป้องระงับยับยั้งภัยคุกคามทางเพศให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง ขณะที่ความผิดฐาน “คุกคามทางเพศ” ที่ปัจจุบันเกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ลจึงเห็นควรให้แก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมการกระทำต่อผู้อื่น ด้วยวาจา ท่าทาง เสียง ภาพ เอกสาร ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสิ่งของในลักษณะลามกที่จะทำให้ผู้อื่น เกิดความเดือดร้อนรำคาญ หวาดกลัว เกิดความอับอายหรือรู้สึกว่าถูกเหยียดหยาม