แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว: ประชามตินับเสียงเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบ เท่านั้น

ร่างรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 10 มีนาคม 2559 โดยการแก้ไขในครั้งนี้เป็นการแก้ไขเป็นครั้งที่สอง ซึ่งเนื้อหาที่แก้ไขในครั้งแรกเป็นการแก้ไขเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงแก้ไขคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
การแก้ไขครั้งที่สองยังคงเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นการแก้ไขในห้าประเด็นเพื่อทำให้กระบวนการออกเสียงประชามติมีความชัดเจนขึ้น เช่น การแก้ไขประเด็นการนับเสียงข้างมากในการออกเสียงประชามติ ฯลฯ  ขณะที่ถ้าประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไรนั้นยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม
++การนับคะแนนเสียงนับเฉพาะคน “เห็นชอบ” กับ “ไม่เห็นชอบ”++
การนับคะแนนเสียงของการทำประชามติเป็นที่ถกเถียง เมื่อหลายคนหลายกลุ่มตีความ “เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ” ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขครั้งที่หนึ่งต่างกัน ในการแก้ไขครั้งนี้รัฐบาล คสช. จึงขอแก้ไขบทบัญญัติให้เป็น “เสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติ” และถ้าเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญก็ให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ
สำหรับการนับคะแนนนั้น จะนับเฉพาะผู้ที่ลงคะแนนว่า “เห็นชอบ” กับ “ไม่เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่นับรวมคะแนนบัตรเสียและงดออกเสียง ซึ่งวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า ถ้ามีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง 30 ล้านคน เห็นชอบ 12 ล้านคน ไม่เห็นชอบ 10 ล้านคน บัตรเสียและงดออกเสียง 8 ล้านคน ก็จะนับเฉพาะคะแนนเห็นชอบที่ได้มากกว่าไม่เห็นชอบเท่านั้น ไม่รวมบัตรเสียและงดออกเสียง ถือว่าได้เสียงข้างมากแล้ว โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องได้คะแนนถึง 15 ล้านคน
++ขั้นตอนการทำประชามติใหม่ ไม่ต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญครัวเรือน เน้นส่งผ่านออนไลน์ สื่อมวลชน++
ขั้นตอน การแจ้งร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้แจ้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ สนช.ทราบ และให้ ครม.แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ
ขั้นตอน การจัดทำสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ ให้ กรธ.จัดทำคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยสรุป ส่งให้ กกต.ภายใน 15 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ กรธ.แจ้ง ครม. และ สนช.ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว
สำหรับการจัดทำคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญโดยสรุป แก้ไขจากเดิมที่ กกต.ต้องแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้ถึง ร้อยละ 80 ของครัวเรือนทั้งหมด จึงจะสามารถประกาศวันออกเสียงประชามติได้ มาเป็นการใช้วิธีการรณรงค์เผยแพร่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในช่องทางต่างๆ เช่น อินโฟกราฟฟิก เว็บไซต์ การซื้อโฆษณาจากสื่อต่างๆ รวมถึง การติดประกาศตามหน่วยงานราชการ
ขั้นตอน การกำหนดวันออกเสียงประชามติ ให้ กกต.ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติ ซึ่งต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 120 วันนับแต่วันถัดจากวันที่ กรธ.ส่งคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ
กติกาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว
– การพิจารณาของ สนช.จะแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ เว้นแต่ ครม.และ คสช.จะเห็นชอบด้วย
– มติเห็นชอบต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิก สนช.เท่าที่มีอยู่
++มอบอำนาจ กกต.ดูแลประชามติ พร้อมให้รณรงค์เต็มที่ในเวทีรัฐ++ 
รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดหน้าที่ของ กกต. ไว้ว่า ให้เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเวลาในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ รวมถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ การเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ การออกเสียงประชามติ และงการนับคะแนน บัตรเสีย และการประกาศผลการออกเสียงประชาติ
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ส่วนหนึ่งจะปรากฎอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ กกต.กำลังร่างอยู่ โดยศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ชี้แจงไว้เบื้องต้นว่า จะมี 16 มาตรา ซึ่งมีบทกำหนดโทษเหมือนเดิม เช่น ผู้ที่ขัดขวางการทำประชามติ ต้องโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท
ส่วนขอบเขตการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้น วิษณุ เครืองาม กล่าวว่า จะให้ผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ โดยจะให้ กกต.จัดเวทีแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม วิษณุ เตือนว่า “ถ้าไปแสดงความเห็นในพื้นที่อื่น ก็จะต้องแบกรับความเสี่ยง หากถูกดำเนินการตามกฎหมาย”
++ขยายฐานผู้มีสิทธิออกเสียง อายุ 18 ในวันประชามติ ก็มีสิทธิออกเสียงได้++
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้เป็นอำนาจ กกต.กำหนด ซึ่งต้องใกล้เคียงกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับอายุ จากเดิมผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องอายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง เปลี่ยนเป็นผู้ที่อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันออกเสียงประชามติ เป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ กล่าวคือผู้ที่อายุ 18 ในวันที่ลงประชามติถือว่าเป็นผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งเป็นการขยายฐานของผู้มีสิทธิออกเสียงให้มากขึ้น
++สนช. สามารถเสนอคำถามประชามติได้++ 
ในการออกเสียงประชามติ นอกจากคำถามว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้ว รัฐธรรมนูญชั่วคราวยังกำหนดให้ สนช.สามารถเสนอประเด็นอื่นได้หนึ่งประเด็น และให้ กกต.จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติม ว่าจะให้เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบพร้อมกันไปในคราวเดียวกันได้ แต่ สนช.ต้องเสนอภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับแจ้งจาก กรธ.ว่าร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ในส่วนนี้เป็นการแก้ไขจากเดิมที่กำหนดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สนช.สามารถตั้งคำถามประชามติ ได้องค์กรละหนึ่งคำถาม โดยต้องมีการกลั่นกรองจาก ครม.ก่อน
++วงจรเดิม ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ คสช. ตั้ง กรธ.ชุดใหม่++
ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีสองเงื่อนไขที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ เงื่อนไขแรกคือเสียงข้างมากลงคะแนนไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าเห็นชอบ เงื่อนไขที่สองคือเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านการเห็นชอบจากเสียงข้างมาก และนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ แล้ว แต่พระมหากษัตริย์ไม่เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นกำหนด 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ร่างรัฐธรรมนูญก็จะตกไป
ทั้งนี้ ทางออกทางเดียวหากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำไม่ว่าจากกรณีใดก็ตาม ให้ คสช.แต่งตั้ง กรธ.ขึ้นมาหนึ่งคณะ เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งระยะเวลาก็จะเท่ากับการร่างรัฐธรรมนูญของมีชัย ฤชุพันธุ์
ขั้นตอนการการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว
– การพิจารณาให้ทำเป็นสามวาระ
– วาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการให้ใช้วิธีการเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยว่าสมาชิกจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการ
– วาระที่สองให้สนช.พิจารณาโดยกรรมาธิการเต็มสภา การออกเสียงขั้นพิจารณาเรียงมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้างมาก โดยใช้เครื่องออกเสียงลงคะแนน และให้พิจารณาทั้งร่างเป็นการสรุปอีกครั้ง
– วาระที่สามให้ สนช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในการออกใช้รัฐธรรมนูญ ในการออกเสียงให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย
You May Also Like
อ่าน

ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งตอนไหน? ชวนย้อนดูประวัติศาสตร์แต่ประเทศ

วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันที่ทั้งโลกร่วมรำลึกถึงขบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงทั่วโลกที่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบจากการใช้แรงงานที่กดขี่และเอาเปรียบ ในโอกาสวันสตรีสากล ชวนย้อนดูประวัติศาสตร์สิทธิเลือกตั้งของผู้หญิง ห้าประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ ไทย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และปากีสถาน ว่าผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งกันเมื่อไร
อ่าน

13 ปัญหารัฐธรรมนูญ 60 ทำไมรัฐบาลควรรีบมีรัฐธรรมนูญใหม่

รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มีปัญหาเพียงแค่ “ที่มา” จากคณะรัฐประหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาในเชิง “เนื้อหา” ด้วยไม่แตกต่างกัน ถือเป็นโอกาสอันดีและควรเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการกำจัด “ผลไม้พิษ” อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 และยุติปัญหาที่กระทบประชาชนทั้งประเทศโดยไม่ประวิงเวลาออกไปมากกว่านี้