ร่างพ.ร.บ.ตั้งศาลคดีทุจริต: “ของขวัญ” คนไทยตามนโยบายปราบโกงของคสช.

คณะรัฐมนตรีเสนอร่างกฎหมายใหม่ ให้จัดตั้งศาลพิเศษสำหรับพิจารณาคดีทุจริตเป็นการเฉพาะ แต่ยังไม่ชัดว่าวิธีพิจารณาคดีจะแตกต่างจากศาลปกติอย่างไร และศาลใหม่นี้ไม่ได้พิจารณาคดีทุจริตของนักการเมือง เพราะเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่แล้ว
ตั้งศาลคดีทุจริต สอดรับนโยบายปราบโกงแบบกรรมติดจรวด ของคสช.
ความขัดแย้งทางการเมืองไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมาส่วนหนึ่งมีจุดเริ่มต้นจากความไม่พอใจนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต และกระบวนการยุติธรรมตามปกติก็ยังไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงหรือนำคนผิดมาลงโทษจนเป็นที่พึงพอใจแก่สังคมได้ จนการคอร์รัปชั่นกลายเป็นข้ออ้างสำคัญของการรัฐประหารทั้งในปี 2549 และในปี 2557
การรัฐประหารครั้งล่าสุดโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป้าหมายหนึ่งคือการปราบปรามการทุจริต การนำคนผิดมาลงโทษ และการหาแนวทางปฏิรูปประเทศให้ปราศจากคอร์รัปชั่น และไม่ให้นักการเมืองที่มีประวัติคอร์รัปชั่นกลับเข้ามาบริหารประเทศได้อีก ไอเดียการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ “ศาลทุจริต” หรือที่บางคนเรียกว่า “ศาลปราบโกง” จึงถูกเสนอขึ้นผ่านร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ร่างโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และเสนอต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  และเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้โดยมีบุคคลต่างๆ ออกมาประสานเสียงผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กันถ้วนหน้า
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ นี้ ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายออกมาแล้วจะจัดตั้งศาลได้เลย แต่ต้องออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน เอกชนต้องการกฎหมายนี้มานานมาก พยายามส่งสภาภายในสิ้นปีนี้ มั่นใจว่าทุกส่วนจะขานรับและเร่งดำเนินการเพื่อให้กรรมติดจรวด ต่อไปประเทศไทยก็จะปลอดเรื่องของการทุจริต ประพฤติมิชอบ
“นี่เป็นเพียงการกำหนดจุดเริ่มต้น เนื่องจากในอดีตมีความพยายาม 20 ปีมาแล้วที่จะให้ศาลพิจารณาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ เพราะเมื่อคดีทุจริตเข้าสู่ศาลโดยรวมแล้วทำให้คดีล่าช้า ที่ว่ากรรมไม่ติดจรวด วันนี้รัฐบาลนี้จัดให้ ใครทำความผิดประพฤติมิชอบต้องพบกรรมติดจรวด” พล.ต.สรรเสริญ ระบุ
ด้านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวไว้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เริ่มจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้จัดทำและยกร่างขึ้นแล้วเสนอมายัง ครม. ซึ่งมีหลักการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำชับขอให้เป็นเรื่องเร่งด่วน การทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดขึ้นเป็นอันมากในประเทศไทย และสลับซับซ้อนมากขึ้น เมื่อเข้าสู่กระบวนการด้วยวิธีการเหมือนปกติทั่วไปใช้เวลายาวนาน ล่าช้า ทำให้ผู้กระทำผิดได้ประโยชน์โดยไม่สมควร ควรจะมีศาลที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ ให้ผู้พิพากษาชำนัญพิเศษที่เชี่ยวชาญคดีนี้มาพิจารณา
สมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า นายกฯ ตั้งใจให้เป็นของขวัญปีใหม่ 2559 สนช.จะสานฝันต่อให้เป็นจริง เป็นของขวัญปีใหม่ไทย สงกรานต์นี้เสร็จเเน่นอนครับ ใครที่คิดว่าโกงเเล้วรอดคิดใหม่ได้เลย เตรียมตัวรับกรรมไปนอนในคุกเเน่ครับ
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แค่จัดตั้งศาลใหม่ วิธีการพิจารณาคดียังไม่รู้เป็นอย่างไร
ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีความยาวเพียง 20 มาตรา มีสาระสำคัญ คือ ให้จัดตั้งศาลขึ้นใหม่ ชื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นศาลที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะอยู่ในระบบของศาลยุติธรรมมีฐานะเช่นเดียวกับ ศาลภาษีอากร ศาลแรงงาน ศาลเยาวชนและครอบครัว ฯลฯ ไม่ใช่ลักษณะเป็นศาลที่มีอำนาจแยกต่างหากเหมือนศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่จัดตั้งขึ้นจะมีทั้งศาลส่วนกลาง และอยู่ตามภาคต่างๆ อีก 9 แห่ง ผู้พิพากษาที่มาทำหน้าที่จะต้องมีประสบการณ์ทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี หากมีเหตุจำเป็นจะกำหนดให้ศาลชั้นต้นอื่นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแทนก็ได้
คดีที่จะอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้แก่ คดีที่ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีตามกฎหมาย ป.ป.ช. กฎหมายการเสนอราคา กฎหมายฟอกเงิน คดีฟ้องขอให้ริบทรัพย์สินเนื่องจากเหตุร่ำรวยผิดปกติ และคดีที่ฟ้องประชาชนในความผิดเกี่ยวกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่
ข้อสังเกต คือ ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพียงแค่ให้ตั้งศาลแห่งใหม่ขึ้น แต่ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดวิธีพิจารณาคดี ว่าคดีทุจริตจะต้องมีขั้นตอนการดำเนินคดีแตกต่างจากคดีทั่วไปอย่างไร จึงจะแก้ปัญหาการดำเนินคดีที่ล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพได้ ซึ่งตามปกติเมื่อมีการจัดตั้งศาลชำนัญพิเศษจะต้องมีการกำหนดวิธีพิจารณาคดีเป็นพิเศษควบคู่กันไปด้วยเสมอ เช่น การจัดตั้งศาลแรงงาน ใช้วิธีออกเป็น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน การจัดตั้งศาลภาษีอากร ใช้วิธีออกเป็น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ก่อนหน้านี้กฎหมายที่จัดตั้งศาลชำนัญพิเศษและกำหนดวิธีพิจารณาคดีมักจะออกควบคู่กันไปในฉบับเดียว
กรณีของศาลคดีทุจริตนั้น วิษณุ เครืองาม เคยกล่าวว่า จำเป็นต้องมีร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นกฎหมายแฝดในการนำไปบังคับใช้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากเรียบร้อยแล้วจะเสนอตามมาอย่างเร็วที่สุด
ด้านสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม เคยอธิบายไว้กับคมชัดลึกว่า “ศาลยุติธรรม” เตรียมเสนอกฎหมาย “ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. …” เพื่อบริหารจัดการคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้เสร็จรวดเร็ว และให้สัมฤทธิ์ผลในการลงโทษผู้ทำผิด แบบกรรมติดจรวด โดยมีหลักการว่า ผู้ต้องหา หรือ จำเลยที่หลบหนีไประหว่างการปล่อยชั่วคราว จะต้องถูกจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท แม้ภายหลังศาลจะยกฟ้องแต่ความผิดฐานหลบหนีคดีก็ยังอยู่ และการที่จำเลยหลบหนีไประหว่างพิจารณา จะไม่ทำให้คดีหยุดชะงัก เพราะศาลมีอำนาจพิจารณาคดีลับหลังต่อไปได้
ดังนั้น ศาลทุจริตจะสามารถแก้ปัญหาการพิจารณาคดีแบบเดิมในศาลเดิมได้หรือไม่ ยังไม่สามารถทราบได้จากพ.ร.บ.จัดตั้งศาลฉบับเดียว ยังต้องรอดู ร่าง พ.ร.บ.ที่จะออกมากำหนดวิธีพิจารณาคดีอีกด้วย
ศาลทุจริต ไม่เกี่ยวกับคดีทุจริตของนักการเมือง
ตามที่ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ในมาตรา 3 กำหนดว่า คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่แล้ว จะไม่อยู่ในอำนาจของศาลทุจริตที่ตั้งขึ้นใหม่
ซึ่งแม้ปัจจุบันจะยังไม่มีกฎหมายกำหนดชัดเจนว่าคดีใดบ้างที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะยังไม่มีรัฐธรรมนูญ แต่หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ก็จะพบว่า คดีที่กล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือคดีที่ร้องขอให้ยึดทรัพย์บุคคลดังกล่าว ให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เมื่อมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำหรับพิจารณาคดีทุจริตของนักการเมืองอยู่แล้ว ดังนั้นศาลทุจริตที่จะตั้งขึ้นใหม่ จึงน่าจะมีอำนาจพิจารณาคดีของเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการเท่านั้น ศาลทุจริตแห่งใหม่นี้จะไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในระดับนักการเมือง
ความเห็นต่าง ห่วงเปลืองงบประมาณ แก้ปัญหาไม่ยั่งยืน 
สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษา และอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เคยกล่าวไว้ว่า ทุกวันนี้คดีทุจริตที่ขึ้นศาลยุติธรรมตามปกติ ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมก็ทำหน้าที่ได้มาตลอดอยู่แล้ว จึงไม่เห็นด้วยว่าจะต้องตั้งเป็นศาลแห่งใหม่ขึ้นมา เพราะจะต้องเสียงบประมาณและเสียเวลาในการอบรมบุคลากรขึ้นมาใหม่ เนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชั่นในปัจจุบันมีการพัฒนาเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบอยู่ตลอด ต้องอาศัยผู้พิพากษาที่มีความรู้ความชำนาญมารับผิดชอบคดี จึงเสนอว่า วิธีที่อาจเป็นไปได้จริงมากกว่า คือ การตั้งเป็นแผนกคดีทุจริตขึ้นมาเฉพาะในศาลยุติธรรม ไม่ต้องตั้งศาลใหม่
ซึ่งขอเสนอของสมลักษณ์เรื่องการจัดตั้งเป็นแผนกคดีทุจริตขึ้นมาในศาลเดิมนั้น ก็ถูกทำให้เป็นจริงแล้ว เมื่อมีการจัดตั้งแผนกคดีทุจริตขึ้นในศาลอาญา เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 แต่ก่อนที่จะมีผลงานเป็นรูปธรรมก็มีการเสนอให้ตั้งเป็นศาลทุจริตขึ้นมาแทน ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ผ่านการพิจารณา แผนกคดีทุจริตที่เพิ่งตั้งขึ้นก็จะถูกยุบและโอนภารกิจมายังศาลแห่งใหม่
ด้าน คณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 กล่าวกับมติชนออนไลน์ว่า การพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมตามปกตินั้นล่าช้ามากจริง แต่เป็นความล่าช้าที่เกิดกับการพิจารณาคดีอาญาทั่วไปทั้งหมด และเป็นมานานแล้ว เป็นความเดือดร้อนในวงกว้างและเป็นปัญหาในระดับชาติ ไม่ใช่แค่เฉพาะคดีทุจริตเท่านั้น การแก้ไขต้องเป็นการแก้ไขกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่พนักงานสอบสวน อัยการ และศาล ไม่ใช่แยกคดีอาญาทุจริต ซึ่งมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของคดีอาญาทั่วไปทั้งหมด ออกมาจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาโดยเฉพาะ แล้วปล่อยให้คดีอาญาทั่วไปดำเนินการอย่างล่าช้าเหมือนเดิม
ไฟล์แนบ