เส้นทางก่อนจะถึงวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ’ 59

ในที่สุดร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 ของมีชัย ฤชุพันธ์ ก็เผยแพร่ให้สาธารณะชนได้รับทราบ หลังจากนี้หากไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองแบบไม่คาดฝันขึ้น เส้นทางของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะจบลงที่การออกเสียงประชามติ นอกจากนี้ระหว่างทางเดินสู่ประชามติยังมีประเด็นสำคัญ คือ แรงกดดันให้แก้ไขหลักเกณฑ์การทำประชามติ ให้ยึดจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ใช่จำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด และ คำถามที่ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไรต่อไป ระยะเวลาประมาณห้าเดือนหลังจากนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญในการกำหนดทิศทางการออกเสียงประชามติ

องค์กรต่างๆ ออกความเห็นและปรับปรุงร่างอีกสองเดือน เสร็จปลาย มี.ค.59 

ตามกำหนดการหลังการเผยแพร่ร่างแรกในวันที่ 29 มกราคม 2559 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), คณะรัฐมนตรี (ครม.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และพรรคการเมือง เพื่อนำข้อเสนอไปปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น 

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดการณ์ว่าขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณสองเดือน กรธ.จะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์พร้อมส่งให้ ครม.ประมาณวันที่ 30 มีนาคม 2559 จากนั้น ครม.ต้องส่งมาให้ กกต.ดำเนินการออกเสียงประชามติโดยเร็ว แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ระบุระยะเวลาที่แน่ชัดว่าจะต้องส่งมาภายในเมื่อไร ซึ่ง กกต.คาดว่า ครม.จะส่งมาให้ภายใน 1-2 สัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 2559

คาดได้ลงประชามติ 31 ก.ค.59

หากเป็นไปตามที่ กกต.คาดการณ์ วันที่ 8 เมษายน 2559 จะเริ่มพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยน่าจะเริ่มจัดส่งตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2559 เป็นต้นไป ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดว่าต้องจัดส่งให้ครัวเรือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จึงจะสามารถประกาศวันออกเสียงประชามติได้ ทั้งนี้ กกต.เชื่อว่าน่าจะส่งเสร็จภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2559 รวมระยะเวลาการพิมพ์และจัดส่ง 45 วัน และคาดว่าวันที่ 22 มิถุนายน 2559 กกต.จะสามารถประกาศวันออกเสียงประชามติได้ ซึ่ง กกต.กำหนดวันออกเสียงประชามติไว้เบื้องต้นคือวันที่ 31 กรกฎาคม 2559

เกณฑ์ผ่านประชามติร่าง รธน. ยังไม่นิ่ง ยึดเสียงข้างมาก ‘ผู้มีสิทธิ’ หรือ ‘ผู้มาใช้สิทธิ’

ก่อนจะถึงวันออกเสียงประชามติประเด็นที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งแรกคือ หลักเกณฑ์การผ่านร่างรัฐธรรมนูญโดยการทำประชามติ ประเด็นนี้มีข้อสังเกตทั้งจาก สปท. และ กกต. ว่าอาจทำให้ในทางปฏิบัติร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ดังนั้นจึงมีการเสนอแก้ไขกติกาในส่วนนี้ให้ชัดเจนขึ้น

ปัจจุบัน มาตรา 37/1 วรรค 7 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้การออกเสียงประชามติ “…ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ...”

นั่นหมายความว่าหากร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติต้องได้รับความเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิลงประชามติทั้งหมด ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เทียบเคียงให้เห็นว่า ปัจจุบันจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีประมาณ 49 ล้านคน ดังนั้นหากร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติได้ต้องได้เสียงเห็นชอบประมาณ 24.5 ล้านคน เขายกตัวอย่างการเลือกตั้งปี 2554 ที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 75% คิดเป็น 35 ล้านคนของจำนวนผู้มีสิทธิ ซึ่งเสียงข้างมากของ 35 ล้านคนคือ 17.5 ล้านคน ขณะที่เสียงข้างมากของผู้สิทธิเลือกตั้งคือ 24.5 ล้าน หากใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิลงคะแนนจึงยากมากที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติ

ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวโน้มว่า คสช.น่าจะใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไข รัฐธรรมนูญชั่วคราวเปลี่ยนเป็นคำว่า “ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมาก” แทน เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญสามารถผ่านประชามติไปได้ 

ด้านประธานกรธ. มีชัย ฤชุพันธ์ เคยแสดงความเห็นไว้ว่า หาก “รัฐบาลเข้าใจว่าประชามติใช้เสียงข้างมากตามปกติก็ไม่จำเป็นต้องแก้ แต่หากสงสัยก็สามารถแก้ได้ … หากรัฐบาลเกรงว่าจะเกิดปัญหาในเรื่องการตีความก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดก่อนจัดทำประชามติได้”  ดังนั้นประเด็นนี้ คสช.มีทางออกที่สามารถจัดการให้ชัดเจนได้โดยไม่ยากเย็นนัก

ท่าทีผู้มีอำนาจ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำอย่างไร?

เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้กำหนดว่าหากประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร ทำให้เกิดคำถามกดดัน คสช.ว่า ในประเด็นนี้ควรมีการแก้ไขให้ชัดเจน เมื่อสำรวจท่าทีของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้วอาจกล่าวได้ว่า ยังไม่มีข้อสรุป ไม่ว่าจะเป็นมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เห็นว่า “…ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็ค่อยไปหาทางคิดกันอีกครั้งว่าจะทำอย่างไร…” ซึ่งคงต้องใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวไปก่อน 

ขณะที่วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “…คงต้องคิดว่าจะแก้หรือไม่แก้ เพียงแต่ต้องมีคำตอบให้กับประชาชนเท่านั้น ว่าถ้าไม่ผ่านแล้วจะทำอย่างไรต่อ ทีนี้คำตอบมันอาจจะมาโดยการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งถ้าแก้ก็ไม่อึมครึม แต่ถ้าไม่แก้ก็ต้องมีคำตอบ แต่ว่าอาจจะยังประกาศไม่ได้ … เอาเป็นว่าคนที่เกี่ยวข้องกำลังคิดหาหนทางที่ดีที่สุด ซึ่งต้องเตรียมคำตอบเอาไว้…”

อย่างไรก็ดีคำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. คือ “หากไม่ผ่านประชามติ ก็จะให้มีการเลือกตั้งให้ได้ตามโรดแมป กรกฎาคม ปี 2560” ทำให้เราพอคาดการณ์ได้ว่า มีโอกาสน้อยที่จะมีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแบบสองครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สาม เพราะการร่างใหม่แบบเดิมเป็นครั้งที่สามน่าจะไม่ทันเวลาการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2560 ตามคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ และการร่างใหม่ยังมีแนวโน้มจะสร้างแรงกดดันด้านลบให้กับ คสช. มากกว่า

ดังนั้นทางออกที่เป็นไปได้หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จึงน่าจะคล้ายกับการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 คือ ให้คณะรัฐประหารนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาประกาศใช้ได้เลย ถ้าประเมินจากท่าทีของมีชัยที่เห็นว่าให้ใช้รัฐธรรมชั่วคราวไปก่อน หรือวิษณุ ที่เสริมว่าให้เพิ่มบางมาตราเข้าไป หรือเอารัฐธรรมนูญเก่ามาดัดแปลง จึงเป็นไปได้ที่ คสช.จะนำรัฐธรรมนูญเก่าฉบับใดฉบับหนึ่งกลับมาแก้ไขใหม่เพื่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น 

แต่จะใช้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวหรือแค่ประกาศให้ประชาชนทราบแล้วทำเลย คำตอบจากสองมือกฎหมายคือ เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจกำลังประเมินอยู่…