ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: ถ้ายอมรับการจับ ‘จ่านิว’ กลางดึก เท่ากับยอมให้ทุกคนเสี่ยงถูก ‘อุ้มหาย’

เวลาประมาณ 22.30 น.ของวันที่ 20 มกราคม 2559 ชายฉกรรจ์แปดคนแต่งกายด้วยเครื่องแบบทหารบังคับให้ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาที่ถูกศาลทหารออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ขึ้นรถยนต์ส่วนบุคคลไม่มีป้ายทะเบียนขับไปยังสถานที่ไม่เปิดเผย
 
ในคืนเดียวกัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของคสช.ปฏิเสธว่าไม่ทราบถึงการควบคุมตัวครั้งนี้ อย่างไรก็ตามในวันที่ 21 มกราคม 2558 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช.ก็แถลงว่า การควบคุมตัวครั้งนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ การดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ปฏิบัติอย่างให้เกียรติละมุนละม่อมไม่มีความรุนแรง อย่างที่บางคนพยายามจะบิดเบือน ขณะที่พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กล่าวว่าสิรวิชญ์ทำผิดหลายครั้ง ไม่ใช่แค่กรณีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่วนการจับกุมสามารถทำได้หลายรูปแบบ
 
สิรวิชญ์เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจที่จะจับกุมตัวเขาได้ แต่การจับกุมก็ต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายและต้องมีความพอเหมาะไม่เกินกว่าเหตุ แม้ก่อนหน้านี้สิรวิชญ์จะไม่ยอมเข้ารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนจนเป็นเหตุให้ถูกออกหมายจับ แต่เขาก็ไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนียังคงใช้ชีวิตตามปกติ วันที่ 8 มกราคม 2559 สิรวิชญ์และเพื่อนก็เดินทางไปที่สน.รถไฟธนบุรี แต่ไม่ได้เข้ารายงานตัว และวันที่ 16 มกราคม 2559 สิรวิชญ์และเพื่อนก็เดินทางไปทำกิจกรรมที่สถานีรถไฟธนบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถนำหมายจับไปแสดงตัวและจับกุมในเวลากลางวันได้โดยไม่ยาก
 
การควบคุมตัวโดยใช้กำลังทหารในยามวิกาล โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ปกปิดสังกัดของเจ้าหน้าที่ ปกปิดสถานที่ที่จะนำตัวไป การไม่อนุญาตให้ติดต่อญาติหรือทนายความ รวมทั้งการใช้กำลังตามคำบอกเล่าของสิรวิชญ์ จึงเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อละเมิดสิทธิของประชาชนเกินความจำเป็น และไม่พอสมควรแก่เหตุ
 
สิทธิในเนื้อตัวร่างกายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งบุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยได้รับความคุ้มครองโดยนัยของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แม้กติกาดังกล่าวจะถือว่าสิทธิในเนื้อตัวร่างกายจะเป็นสิทธิที่ถูกจำกัดได้โดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย แต่การจำกัดก็ต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นและพอสมควรแก่เหตุ ผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิยังต้องได้รับการปฏิบัติโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตลอดกระบวนการ
 
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ภายใต้รัฐบาลคสช. ยังเคยเข้าควบคุมตัวบุคคลด้วยพฤติการณ์อุกอาจไม่ต่างจากนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่น รณีเข้าควบคุมตัวธเนตรขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล  การบุกจับสิรภพกลางถนนก่อนเข้าเมืองกาฬสินธุ์  การบุกไปจับณัฐที่คอนโดมิเนียมตอนตีหนึ่ง หรือการใช้กำลังอุ้มสุนันทาขึ้นรถแท็กซี่ออกจากที่ชุมนุม
 
การใช้กำลังเข้าจับกุมตัวบุคคลเช่นนี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ ตามอำเภอใจ และไม่มีท่าทีว่าจะผ่อนคลายลง ช่วงแรกเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก แม้ต่อมากฎอัยการศึกจะถูกแทนที่ด้วยคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจจับโดยพลการ หรือจับโดยไม่มีหมายศาลได้อีกต่อไป แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่มีองค์กรหรือกลไกที่มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตร่างกายของประชาชน
 
ยิ่งในภาวะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีอำนาจควบคุมตัวได้ 7 วันโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา และไม่เปิดเผยสถานที่ ยิ่งทำให้ผู้ถูกจับกุมไม่มีความมั่นคงในชีวิตและร่างกาย
 
กรณีเหตุการณ์วันที่ 20 มกราคม 2559 ยังไม่เลวร้ายเกินไปนัก เมื่อภายหลังสิรวิชญ์ปรากฏตัวที่สถานีตำรวจ แต่หากสังคมยอมรับพฤติการณ์การควบคุมตัวด้วยความรุนแรงโดยไม่จำกัดสถานที่และเวลาเช่นนี้ เท่ากับการยอมรับให้ประชาชนทุกคนตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้สูญหายได้ตลอดเวลา
 
หมายเหตุ ก่อนท้องฟ้าจะสดใส ทำหน้าที่คล้ายบทบรรณาธิการ ที่แสดงจุดยืนของทีมงานไอลอว์ ในฐานะคนทำงานติดตามประเด็นต่างๆ ชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกที่เขียนและเผยแพร่ต่อสาธารณะ