ปรากฏการณ์ ใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ “ขู่” ประชาชนห้ามชุมนุมทุกประเภท

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หรือ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เริ่มใช้จริงได้ไม่นาน แม้กรณีที่เป็นคดีความขึ้นโรงขึ้นศาลกันยังไม่ค่อยมีให้เห็น แต่กลับเห็นปรากฏการณ์บ่อยครั้งที่ทั้งตำรวจ ทหาร และผู้นำระดับบิ๊กเนม อ้างพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพื่อให้ประชาชนเลิกชุมนุมหรือไม่กล้าทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งในเรื่องการเมือง เรื่องปากท้อง เรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องอื่นๆ
พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หรือ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อ 1 พฤษภาคม 2558 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เริ่มมีผลบังคับใช้จริงตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมา
 
หลักการของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เช่น ก่อนการชุมนุมสาธารณะทุกครั้งผู้จัดต้องแจ้งให้ตำรวจในท้องที่ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ห้ามชุมนุมในระยะ 150 เมตรนับจากพระบรมมหาราชวัง ห้ามชุมนุมภายในรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาล การชุมนุมต้องเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และเป็นไปตามเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่กำหนด ตำรวจอาจขออำนาจศาลแพ่งสั่งเลิกการชุมนุมได้ การชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมายนี้ผู้จัดการชุมนุมต้องรับผิดชอบ ฯลฯ
 
แม้ว่าภายใต้รัฐบาลคสช.จะมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2557 ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนอยู่แล้ว แต่ตั้งแต่พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ประกาศใช้ เหมือนว่าเจ้าหน้าที่มีเหตุผลใหม่ที่ใช้ยกขึ้นอ้างกับประชาชน เพื่อปิดกั้นการแสดงออกที่คัดค้านกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเพื่อให้การชุมนุมของประชาชนอยู่ในกรอบกติกาที่ชัดเจนและเข้มงวดมากขึ้น
 
เหตุการณ์ต่างๆ ที่พ.ร.บ.ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้อ้างเพื่อ “ขู่” การเคลื่อนไหวของประชาชน เท่าที่บันทึกได้ มีดังนี้
กรกฎาคม 2558
21 กรกฎาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ชี้แจงต่อนักข่าวถึงวิธีรับมือกับมวลชนที่ออกมาคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ว่า การจะบังคับให้ผู้คัดค้านกลับบ้านคงลำบาก แต่ขอเตือนไว้ก่อนตอนนี้มีกฎหมายหลายตัว โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ก็จะมีผลบังคับใช้ ตนไม่อยากให้มีปัญหาจึงอยากให้คุยกัน
สิงหาคม 2558
17 สิงหาคม 2558 เจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 32 เข้าไปชี้แจ้ง ไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มรักษ์บ้านแหง ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปางไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อคัดค้านการประกาศผังเมืองรวมจังหวัดลำปาง และขอขึ้นทะเบียนพื้นที่เพื่อไม่ให้พื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ไปอยู่ในเขตขอสัมปทานเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ เนื่องจากอาจผิดต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
25 สิงหาคม 2558 พ.อ.อำนวย จุลโนนยาง รองผู้บัญชาการจังหวัดทหารบกเลย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดเลย มีคำสั่งห้ามไม่ให้มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) จัดค่าย “เยาวชนฮักบ้านเจ้าของ” เพราะเกรงว่า จะมีการปลุกปั่นเยาวชนให้ต่อต้านอำนาจรัฐ และยุยงให้ชาวบ้านแตกแยกกัน และหากทีมงานค่ายยังดื้อรั้นไม่ยอมยกเลิกการจัดค่ายเยาวชนฯ จะใช้กฎหมายห้ามชุมนุมจัดการกับทีมงานที่เข้ามามาจัดค่ายครั้งนี้ เพราะถือเป็นภัยต่อความมั่นคง
26 สิงหาคม 2558 ตำรวจจากสภ.เมืองขอนแก่น ส่งหนังสือแจ้งเตือนผู้ชุมนุมคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1 จ.ขอนแก่น ให้ยกเลิกการชุมนุม เนื่องจากทำผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เพราะไม่ได้แจ้งล่วงหน้า และกีดขวางทางเข้า-ออกสถานที่ราชการ
กันยายน 2558
4 กันยายน 2558 สน.ปทุมวัน นำคำสั่งเรื่องประกาศห้ามใช้พื้นที่ในการชุมนุมมาโพสต์ในเพจกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาที่ต้องการจะจัดกิจกรรม “กรวดน้ำ คว่ำขัน ร่างรัฐธรรมนูญ 2558″ โดยอ้างเหตุว่าเนื่องจากพื้นที่การจัดกิจกรรมดังกล่าวอยู่ในรัศมีวังสระปทุมซึ่งอาจจะขัดต่อมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จึงไม่สามารถจัดให้มีการชุมนุมได้
19 กันยายน 2558 สุวพันธุ์ ตันยุวัฒนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มต่างๆ จะเคลื่อนไหวเพื่อรำลึกเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า ต้องเป็นไปตามหลักของกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ทั้งนี้ ในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าเจรจากับกลุ่มที่เคลื่อนไหวว่า ไม่ให้เคลื่อนขบวนเพราะจะเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และขัดต่อประกาศของคสช.ข้อที่ 12 แต่ท้ายที่สุด พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เข้าเจรจาขอให้เคลื่อนขบวนด้วยความสงบ งดใช้เครื่องกระจายเสียง ไม่กีดขวางการจราจร
ตุลาคม 2558
2 ตุลาคม 2558 เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจอ้าง มาตรา 44 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ห้ามไม่ให้เครือข่ายรักษ์บำเหน็จณรงค์ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินสวมเสื้อสกรีนข้อความต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และรวมตัวชุมนุมกัน ระหว่างการประชุมคณะกรรมการเฝ้าระวังติดตามความคิดเห็นของประชาชนต่อการประกอบกิจการของ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ที่ อบต.บ้านเพชร อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ
13 ตุลาคม 2558 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีเหตุจราจลที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ว่า  “ใครที่มีการทำลายทรัพย์สิน เรามีการจับได้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว แต่เป็นคนละส่วนกับการชุมนุมประท้วงกับการทำลายโรงพักหรือสิ่งของจะมีการดำเนินคดีอย่างแน่นอน ตัวบทกฎหมายบอกชี้ความผิด มีทั้ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และมาตรา 44 ซึ่งเชื่อว่าทุกคนรู้ดี”
14 ตุลาคม 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจขอเจรจาเพื่อไม่ให้นักกิจกรรมเดินขบวนในกิจกรรมชุมนุมรำลึก 42 ปี 14 ตุลาฯ โดยอ้างว่าการเดินขบวนอาจฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมได้ต่อรองว่าจะใช้ทางเท้าเคลื่อนขบวน ทำให้ตำรวจใช้วิธีประกบผู้ชุมนุมด้านข้างแทน
27 ตุลาคม 2558 พ.อ.มงกุฏ แก้วพรม รองหัวหน้ากองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมฝ่ายปกครองอำเภอโขงเจียม เข้าพบปะพูดคุยกับชาวบ้านว่า หากชาวบ้านออกมาร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านการปิดประตูเขื่อนปากมูลจะผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพราะยังไม่ได้ขออนุญาต ทั้งนี้ ชาวบ้านที่เรียกร้องให้เปิดประตูเขื่อนเพราะต้องการให้น้ำมีการถ่ายเทของเสียออกจากลุ่มน้ำเพื่อปรับความสมดุลให้ธรรมชาติ
31 ตุลาคม 2558 เจ้าหน้าที่ติดประกาศที่ระบุขั้นตอนปฏิบัติตามแผนการเผชิญเหตุ การรักษาความสงบเรียบร้อยกลุ่มผู้ชุมนุม, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 ในศาลาข้างๆ สดมภ์นวมทอง ไพรวัลย์ บริเวณสะพานลอยหน้า สนพ. ไทยรัฐ ซึ่งได้ระบุถึงการตั้งจุดตรวจอาวุธ การใช้เครื่องขยายเสียง และการห้ามกลุ่มบุคคลจับกลุ่มในลักษณะการชุมนุมที่ด้านหน้าสำนักพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งมีการจัดกิจกรรมรำลึก “ลุงนวมทอง”
ตำรวจได้ชี้แจงห้ามผู้ชุมนุมสวมหน้ากากขณะเดินขบวน เพราะผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 16 (2) แต่ก็ยังอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้ตลอดทางโดยการเดินเรียงเป็นแนว และประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินบนทางเท้าให้เป็นระเบียบ ทั้งนี้ เมื่อผู้ชุมนุมเจรจากับเจ้าหน้าที่เพื่อขอข้ามไปฝั่งกองทัพบก แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตเนื่องจากขัดเงื่อนไขที่เคยแจ้งไปก่อนหน้านี้ หากข้ามฝั่งมาจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่เว้นแม้สื่อมวลชน โดยเจ้าหน้าที่พยามแยกสื่อออกจากผู้ชุมนุม
หลังกิจกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้น อานนท์ นำภา ผู้จัดกิจกรรมและผู้ยื่นเอกสารแจ้งการชุมนุมถูกตำรวจเรียกไปพบที่สน.นครบาลนางเลิ้ง และสั่งปรับ 200 บาท จากการใช้เครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้แจ้งก่อน ซึ่งผิดเงื่อนไขตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ [ดูรายละเอียดกรณีนี้ในฐานข้อมูลของไอลอว์ คลิก]
พฤศจิกายน 2558
13 พฤศจิกายน 2558 เจ้าหน้าที่แสดงเอกสาร พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 และประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง ต่อตัวแทนนักกิจกรรม กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ กลุ่มเสรีนนทรี และขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่เตรียมจัดกิจกรรมห้องเรียนสาธารณะ รู้ทันเผด็จการซีรีย์ 2 # “จากทุ่งบางเขนสู่ราชดำเนิน : เกษตรศาสตร์กับการเมืองไทย” ว่า การชุมนุมหรือการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ไม่ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือเจ้าพนักงานตำรวจผู้รับผิดชอบพื้นที่แต่อย่างใด
ธันวาคม 2558
8 ธันวาคม 2558 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ เดินทางไปตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ว่า จำเป็นต้องสกัดกั้นเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักศึกษา ทั้งนี้ หากยังมีการเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวอีกจะใช้มาตรการแบบเดิมและหากกดดันก็อาจนำ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะมาใช้ควบคุมสถานการณ์ต่อไป
ในวันเดียวกัน พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมในหลายพื้นที่ว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว หากบุคคลใดฝ่าฝืน อาจถูกดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย และไม่สามารถอ้างได้ว่า ตนเองไม่ทราบหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงอยากฝากไปถึงกลุ่มผู้ชุมนุมที่เตรียมจะเคลื่อนไหวให้คิดไตร่ตรองให้ดีก่อน
มกราคม 2559
6 มกราคม 2558 กระทรวงแรงงานไม่อนุญาตให้คนงานจากสหภาพแรงงานซันโคโกเซ อยู่ค้างคืนที่บริเวณใต้ถุนกระทรวงแรงงานได้ เนื่องจากกระทำผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่กำหนดห้ามชุมนุมในสถานที่ราชการ จึงแจ้งให้ออกไปชุมนุมที่บริเวณภายนอกกระทรวงแรงงานแทน อีกทั้งยังได้แจ้งว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นและส่งผลเสียหายต่อทรัพย์สินภายในกระทรวงในเวลาวิกาล ทางสหภาพแรงงานฯต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น
8 มกราคม 2558 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ไม่ห่วงเรื่องม็อบชาว สวนยางพาราเตรียมจะเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล เพราะมาก็ไม่ได้อะไร ผิดกฎหมายด้วย เพราะมีพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า การที่นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. ประกาศร่วมกับ กลุ่มเกษตรกรสวนยาง 17 จังหวัดภาคใต้ เคลื่อนขบวนเข้า กทม.เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำนั้น เห็นว่านายถาวรเป็นนักกฎหมาย รู้กฎหมายและขั้นตอนอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ก็มี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะออกมาแล้ว คิดว่าเขารู้ว่าอะไรควรหรือไม่ ไม่ต้องแนะนำแม้จะรู้จักกันเป็นการส่วนตัว