ใครจะชี้ผิดชี้ถูก และใครจะรับรองสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม

เรากำลังอยู่ในสังคมที่ใครอยากให้ใครผิดอะไร ก็ตีความกฎหมายใช้กันเองได้ 
อยากฟ้องใครที่ไหนก็ได้ คดีอะไรก็ได้ 
และคนรับฟ้องก็ง้างตราประทับรับฟ้องกันอย่างง่ายดายจนน่าสงสัย
…หรือเปล่า? 
นี่คือคำถามของสังคมไทย เมื่อในยุคปี 2558 การแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติถูกตั้งข้อหาว่าเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดืองต่อกฎหมาย หรือแม้แต่การรายงานข่าวของเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 4 เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่บ้านเกิดของตน กลับกลายเป็นเหตุให้บริษัทแห่งหนึ่งแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท และแม้แต่การ "กดไลค์" ก็เป็นเหตุให้ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำได้จริงๆ 
ในสมรภูมิออนไลน์มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อันดุเดือดของทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและค้ดค้านปรากฏการณ์การใช้กฎหมายกับการแสดงความคิดเห็นเหล่านี้ แต่สิ่งจำเป็นที่สังคมควรจะต้องหาก็คือ "หลังอิง" หรือ "หลักการ" เพราะการสนับสนุนหรือคัดค้านให้ดำเนินคดี หรือการตีความกฎหมายว่าการกระทำใดๆเป็นความผิดหรือไม่ ล้วนแล้วแต่มาจากฐานคิดของแต่ละคน ซึ่งนอกจากจะสร้างความสับสน ยังก่อให้เกิดผลเสีย ทำให้ผู้คนที่อยู่ภายใต้ไม่กล้าแสดงออกตามความคิดความเชื่อของตนเองอย่างที่เคยเป็นมา
ในช่วงเวลาแบบนี้การหันปรึกษานักวิชาการทางกฎหมายอย่าง  "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รณกรณ์ บุญมี" จึงเป็นตัวเลือกที่ดี ทั้งนี้ อาจารย์รณกรณ์เป็นอาจารย์กฎหมายอาญา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะลองช่วยอธิบายถึง หน้าตาของสังคมไทยและกระบวนการยุติธรรมที่ควรจะเป็นนับจากนี้ไป
หลายครั้งเมื่อมีการจับกุมบุคคลสำคัญหรือการดำเนินคดีใหญ่ๆ และออกข่าวกันไปทั่วประเทศ สังคมก็จะวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานาตามความเห็นและความเชื่อของแต่ละคน บางคนก็ว่าทำแบบนี้ควรจะได้รับโทษให้สาสม แต่บางคนก็ว่าทำแบบนี้ไม่ควรจะเป็นความผิด บทสนทนาจึงเริ่มจากถาม ผศ.ดร.รณกรณ์ ว่า การที่ประชาชนลุกขึ้นมาตีความกฎหมายเพื่อบอกว่าสิ่งใดผิดหรือไม่ผิดนั้น ในสายตานักวิชาการกฎหมายเห็นอย่างไร
อาจารย์รณกรณ์ ตอบว่า ประเด็นแรกต้องยอมรับกันก่อนว่า "ประชาชนต้องมีสิทธิในการตีความกฎหมายได้" เพราะกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่ควบคุมพฤติกรรมของประชาชนทุกคน โดยกฎหมายอาญานั้นถือว่าทุกคนต้องรู้กฎหมาย ไม่สามารถอ้างว่าไม่รู้กฎหมายได้ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงจากการถูกลงโทษทางอาญาประชาชนจึงควรต้องรู้ล่วงหน้าว่า กฎหมายอาญากำหนดให้สามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้ การตีความบทบัญญัติของกฎหมายอาญาโดยประชาชนจึงไม่ใช่เพียงเป็นสิ่งที่กระทำได้แต่เป็นสิ่งที่ควรกระทำ
แต่.. อาจารย์รณกรณ์พยายามเน้นว่า เมื่อประชาชนตีความกฎหมาย ต้องเป็นไปเพื่อป้องกันการกระทำของตนเองไม่ให้ละเมิดกฎหมาย แต่ไม่ได้มีไว้เพื่อใช้ชี้หน้าคนอื่นว่าทำผิด หรือกระทำสิ่งใดไม่ได้ เพราะการชี้ว่าการกระทำนั้นผิดหรือไม่ผิดเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงาน และหากประชาชนคิดว่าการกระทำของเพื่อนประชาชนด้วยกันเป็นสิ่งที่ผิด ประชาชนก็สามารถแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน หรือที่เรียกกันว่า "การกล่าวโทษ" ได้ และเจ้าพนักงานซึ่งได้รับการอบรมและฝึกฝนมาโดยเฉพาะจะใช้อำนาจในการดำเนินการเอง แน่นอนว่าถ้าประชาชนเห็นว่าการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานไม่ถูกต้องคลาดเคลื่อนก็มีมีช่องทางที่จะร้องเรียนต่อไปได้ การที่ประชาชนจะไปชี้หน้ากล่าวหาคนอื่นโดยตรง หรือจัดการกับการกระทำความผิดอาญาซะเองนั้นจึงไม่ควรทำเว้นแต่เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันภัย หรือเรื่องเหตุการณ์เฉพาะหน้าซึ่งเป็นส่วนน้อยมากๆ และมีข้อจำกัดหลายประการในการที่กฎหมายจะอนุญาตให้ประชาชนทำได้เอง
ท่ามกลางความเห็นที่ถกเถียงกันจากฝ่ายกองเชียร์และฝ่ายค้าน ซึ่งต่างก็มักจะตีความกฎหมายกันไปคนละทิศคนละทางว่าการกระทำแบบใดผิดหรือไม่ผิด และยิ่งเมื่อแต่ละฝ่ายก็อ้างเหตุผลได้น่าเชื่อถือด้วยกันทั้งนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ การสร้างความสับสนและความกังวลใจให้กับประชาชนผู้อยู่ภายใต้กฎหมายจำนวนหนึ่งว่า จะมีหลักการอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินเพื่อป้องกันไม่ให้การตีความกฎหมายของประชาชนและรัฐเป็นไปอย่างผิดเพี้ยน? 
อาจารย์รณกรณ์ ตอบว่า โดยทั่วไป การตีความกฎหมายอาญามีกรอบอยู่สองกรอบคือ "กรอบลายลักษณ์อักษร" และ "กรอบเจตนารมณ์" เพราะโทษทางอาญา อันได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สินนั้น มีผลในทางจำกัดสิทธิของประชาชน ดังนั้น ประชาชนจำเป็นต้องรู้ล่วงหน้าได้ว่าขอบเขตของการกระทำที่ผิดและไม่ผิดนั้นอยู่ตรงไหน การบังคับให้กฎหมายอาญาจึงมีกรอบที่ชัดว่าต้องไม่ตีความเกินไปกว่าตามที่ลายลักษณ์อักษรเขียนเอาไว้
กรอบที่สองก็คือ ต้องไม่ตีความเกินไปกว่า "กรอบเจตนารมณ์" บางกรณีเมื่อดูตามตัวบทลายลักษณ์อักษรการกระทำอาจจะเป็นความผิด แต่ว่า เมื่อ "เจตนารมณ์ของกฎหมาย" ไม่ได้ระบุมุ่งหมายที่จะเอาผิดกับการกระทำนั้น กฎหมายอาญาก็ไม่สามารถเอาผิดได้ ตัวอย่างเช่น นาย A ขโมยกล้องของนาย B และเอาไปขายให้นาย C นาย C ก็จะผิดฐานรับของโจร แต่ทว่าถ้านาย C รับซื้อของเพื่อมาคืนให้กับนาย A แม้ว่าการกระทำจะเป็นไปตามตัวบท แต่ลักษณะการกระทำความผิดไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยเรื่องรับของโจรที่มีขึ้นเพื่อตัดตอนการกระทำความผิด และป้องกันความยุ่งยากในการติดตามเอาทรัพย์คืน ดังนั้น นาย C ก็ไม่ควรมีความผิดเพราะการกระทำของนาย C นั้นทำไปเพื่อให้เจ้าทรัพย์ได้ทรัพย์คืน
นอกจากนี้ อาจารย์รณกรณ์ ยังชี้แนะเพิ่มเติมอีกว่า การที่คนทั่วไปจะรู้ถึงกรอบสองอย่างที่กล่าวมาได้นั้น จำเป็นจะต้องดูที่ตัวบทกฎหมาย หรือข้อความของกฎหมายเป็นสำคัญ ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่ต้องได้รับการกลั่นกรองและพิจารณาโดยสภา เพื่อสะท้อนว่าประชาชนมีความเห็นต่อหลักการของกฎหมายนั้นอย่างไร ส่วนอีกสิ่งหนึ่งที่นิยมใช้ดูประกอบการตีความก็คือ แนวคำพิพากษาหรือความเห็นของนักวิชาการ 
เมื่อถามอาจารย์กฎหมายว่า ในกรณีที่กฎหมายลายลักษณ์อักษรเขียนไว้กว้างๆ และคลุมเครือ จะเอามาตีความใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้อย่างไร?
อาจารย์รณกรณ์ ตอบว่า หากตีความเกินไปจากขอบเขตของกรอบลายลักษณ์อักษรและกรอบเจตนารมณ์ก็ใช้ไม่ได้ เพราะว่า กฎหมายอาญามีข้อเรียกร้องพื้นฐานอยู่ 4 ประการในการใช้กำหมายอาญาเป็นผลร้ายกับใครก็ตามนั้นคือกฎหมายอาญานั้น ต้องไม่ใช้ย้อนหลัง / ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร / ต้องเขียนชัดเจนแน่นอนอ่านแล้วเข้าใจว่าอะไรทำได้ไม่ได้ และจะใช้เทียบเคียงกับหลักการและเหตุผลอื่นๆ ไม่ได้ อีกทั้ง กฎหมายอาญามิใช่กฎหมายปกติทั่วไปในความหมายที่ว่าเป็นกฎหมายที่ตัวมันเองเป็นการจำกัดสิทธิประชาชนด้วยการใช้โทษทางอาญา
ดังนั้น กฎหมายจึงต้องทำโดยไปผ่านกระบวนการนิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนของประชาชน เพื่อรับรองว่าประชาชนเห็นด้วยกับการระบุให้การกระทำนั้นๆ เป็นความผิด เพราะถ้าหากประชาชนไม่เห็นชอบ หรือตัวแทนของประชาชนไม่เห็นชอบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความผิด ก็เอาผิดไม่ได้ หรือถ้าสังคมเห็นควรให้การกระทำใดๆ เป็นความผิด แต่ยังไม่มีความผิดอาญาฐานนั้น ก็จะต้องเรียกร้องผ่านผู้แทนของตนให้ตรากฎหมายขึ้นมาใช้ ไม่ใช่ไปตีความกฎหมายขยายความเพื่อจะเอาผิดกับพฤติกรรมที่เราไม่เห็นด้วย
ตั้งแต่สังคมไทยรู้จักกับคำว่า "ตุลาการภิวัฒน์" สถาบันตุลาการก็ค่อยๆ ขยายตัวเข้ามามีบทบาทกับความเป็นไปของสังคมการเมือง ทำให้ผู้คนในสังคมตั้งคำถามมากขึ้นกับมาตรฐานและความเที่ยงตรงของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะเมื่อหลายกรณีรัฐบาลใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้าม วิกฤติศรัทธาในระบบยุติธรรมจึงเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น คำถามสำคัญก็คือ "ประชาชนจะมีสิ่งใดคอยรับประกันว่าเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมจะไม่ใช้กฎหมายในทางที่ผิดไปจากที่ควรจะเป็น?"
อาจารย์รณกรณ์ ตอบว่า เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมไม่มีหน้าที่ที่ต้องตีความกฎหมายตามความคิด หรือตอบสนองความต้องการของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เจ้าหน้าที่ถูกฝึกอบรมมา และถูกคาดหมายว่าต้องรู้กฎหมายดีกว่าประชาชนทั่วไป ดังนั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ขาดความชำนาญ หรือปฏิบัติด้วยความประมาทเลินเล่อ ก็อาจจะมีโทษทางวินัย เช่น ตักเตือน ภาคทัณฑ์ ให้พักหรือให้ออกจากราชการ นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งได้อีกด้วย แต่การใช้กฎหมายผิดพลาดนี้โดยประมาท โดยขาดความชำนาญนี้หลักเป็นแค่ความผิดวินัย ไม่ถึงกับเป็นความผิดอาญาเว้นเค้าจงใช้กฎหมายคลาดเคลื่อนเพื่อเรียก หรือรับผลประโยชน์ที่นอกเหนือสิ่งที่เค้าควรได้ตามกฎหมาย หรือเป็นการใช้กฎหมายอย่างบิดเบือเพื่อกลั่นแกล้งให้ใครได้รับความเสียหาย
ดังนั้น หากเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจในทางมิชอบ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการชี้ผิดชี้ถูกอย่าง ศาล หรือตำรวจ แต่กลับจงใจใช้อำนาจลงโทษบุคคลโดยรู้ว่าเขาไม่ผิด หรือใช้กฎหมายกลั่นแกล้งผู้อื่น หรือละเว้นไม่ลงโทษกับผู้กระทำความผิด สิ่งเหล่านี้จะเป็นการกระทำความผิดและมีโทษทางอาญา เพราะเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แม้ว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อาจจะพบได้บ่อย แต่โดยหลักแล้วกฎหมายมาตรานี้จะครอบคลุมอยู่สองประเด็น ได้แก่ กระทำไปเพื่อรับผลประโยชน์ หรือใช้เพื่อกลั่นแกล้งบุคคลอื่น 
ประชาชนทั่วไปย่อมไม่มีใครชอบการขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะเมื่อเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยกระบวนการต่างๆ ที่เข้าใจยาก และชี้ผิดชี้ถูกกันด้วยกฎหมาย ประชาชนย่อมรู้สึกว่าอยู่ในฐานะเสียเปรียบที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่หลายๆ ครั้งข้อกล่าวหาทางกฎหมายก็วิ่งเข้ามาหาประชาชนโดยไม่รู้ตัวและไม่มีทางเลือก ดังนั้น คำถามต่อไปคือ นอกจากจะรอศาลตัดสินแล้ว จะมีวิธีการหรือเครื่องมือใดอีกบ้าง ที่ช่วยรับรองสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม? 
อาจารณ์รณกรณ์ ตอบว่า โดยระบบของกระบวนการยุติธรรมจะมีสิ่งที่คอยช่วยในการกลั่นกรอง อย่างเช่น ในชั้นสอบสวน ก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงคอยกำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง และก็จะไปกรองในชั้นอัยการ ถ้าอัยการเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดแล้วจึงค่อยสั่งฟ้อง และในขั้นต่อไปศาลก็จะเป็นผู้กลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งว่า ถ้ามีมูลเหตุว่ากระทำความผิดก็จึงประทับรับฟ้อง และศาลก็ยังมีถึง 3 ชั้นที่จะกลั่นกรองอีกที
นอกจากนี้ อาจารย์รณกรณ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ไม่ใช่เพียงระบบกระบวนการยุติธรรมที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกันเองเท่านั้น แต่ยังมีทนายความที่เป็นด่านกรองอีกชั้นหนึ่งที่จะถ่วงดุลตำรวจและอัยการว่าการทำความเห็นทางกฎหมายได้ถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลก็จะต้องรับฟังแล้วถึงจะวินิจฉัย ดังนั้น ถ้าศาลจงใจกลั่นแกล้งหรือตัดสินไปเพื่อผลประโยชน์ ก็ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เช่นเดียวกัน ไม่เว้นแม้แต่กรณีที่ศาลมีอคติทางการเมือง หรือมีใบสั่ง หรือวาระซ่อนเร้นบางประการ อันส่งผลให้ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม จงใจบิดเบื้อนกฎหมายก็ถือเป็นความผิด
ทั้งนี้ นักวิชาการทางกฎหมายยังมีข้อกังวลใจเกี่ยวกับข้อจำกัดในการตรวจสอบศาลในปัจจุบัน เพราะทัศนคติของคนในสังคมค่อนข้างจะเชื่อใจ หรือไม่ก็เกรงกลัวในอำนาจของศาล เนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์ศาลเป็นเรื่องใหญ่ และหากวิพากษ์วิจารณ์จนล้ำเส้นก็มีความผิดทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นการดูหมิ่นศาล ละเมิดอำนาจศาล ซึ่งข้อหาเหล่านี้มีโทษสูงกว่าดูหมิ่นเจ้าพนักงานในตำแหน่งอื่นๆ
ในช่วงท้าย เนื่องจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รณกรณ์ บุญมี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา เราขอจึงยกประเด็นร้อนในสังคมขึ้นมาเข้าสู่บทสนทนา อย่างกรณีการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 116 หรือ "ข้อหาปลุกปั่นยั่วยุ" ที่ถูกนำมาใช้กับคนแสดงความเห็นโดยสงบวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือบุคคลระดับสูงในรัฐบาล โดยในปี 2558 มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีตามมาตรา 116 อย่างน้อย 28 คน เช่น รินดาผู้โพสต์ข้อความกล่าวหาพลเอกประยุทธ์ จุฑาทิพย์ผู้โพสต์เกี่ยวกับปัญหาทุจริตอุทยานราชภักดิ์ 
ทั้งนี้ ประเด็นการตีความและการบังคับใช้มาตรา 116 จึงเป็นเรื่องที่ควรถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันให้มากขึ้นในวงการกฎหมายอาญา จึงต้องถามอาจารย์รณกรณ์ว่า ในสายตาผู้สอนวิชาทางกฎหมาย อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรต่อการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 116 ในสถานการณ์ปัจจุบัน?
อาจารย์รณกรณ์ ตอบว่า ปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ไม่ได้อยู่แค่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่ด้วยตัวบทกฎหมายค่อนข้างจะมีปัญหาด้วยตัวของมันอยู่แล้ว และอาจจะขัดแย้งกับหลักพื้นฐานของประชาธิปไตย ซึ่งอาจารย์รณกรณ์อธิบายว่า หลักของประชาธิปไตยในแง่หนึ่งก็คือ การเคารพต่อความคิดเห็นอีกด้าน การยอมรับในความคิดที่แตกต่าง และการที่จะรักษาสภาวะแบบนี้ได้ จำเป็นจะต้องมีหลักการที่เรียกว่า "เสรีภาพในการแสดงออก" 
ดังนั้น ไม่จำเป็นเลยที่ประชาชนจะต้องคิดเหมือนกับรัฐบาล และถ้าเราคิดไม่แตกต่างจากรัฐ เราก็จะเป็นเพียงหุ่นกระบอกที่รัฐเชิด และที่กล่าวมาก็ขัดกับการปกครองแบบประชาธิปไตยที่รัฐเป็นตัวแทนของเรา นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า การปกครองโดยประชาชน หรือหมายความว่าประชาชนเป็นผู้กำกับความคิดของรัฐนั่นเเอง
"การที่เราวิพากษ์วิจารณ์รัฐไม่ได้ หรือต้องคิดต้องทำตามที่รัฐต้องการ มันกลับกัน มันคือรัฐที่ปกครองประชาชน มาตรา 116 จึงมีปัญหา เพราะทำลายรากฐานของความเป็นประชาธิปไตย และอาจจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ"
นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังมีปัญหาในแง่ของบทบัญญัติที่คลุมเครือ อย่างเช่น "การติชมที่ไม่สุจริต" หมายถึงอะไก็มิอาจทราบได้ แล้วใครจะเป็นคนชี้ว่าขอบเขตดังกล่าวอยู่ที่ตรงไหน แปลว่าอะไรได้บ้าง ซึ่งมาตรานี้จะไม่ค่อยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายอาญาที่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษรที่มีความแน่นอนชัดเจน
*หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เขียนไว้ว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในนความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
          (๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย
          (๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
          (๓) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี