รวมกฎหมาย สนช.ที่ผ่านอย่างคาใจ

ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีผู้แทนประชาชน ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผลิตกฎหมายจำนวนมากอย่างรวดเร็ว เพราะขาดการตรวจสอบถ่วงดุล และการมีส่วนร่วม ทำให้มีกฎหมายที่เป็นปัญหาและส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน  



                                                                             

กฎหมายคุ้มครองสัตว์

กฎหมายคุ้มครองสัตว์ออกมาภายใต้ความพึงพอใจของภาคประชาชน กลุ่มหนึ่ง อย่างไรก็ตามหลังจากกฎหมายฉบับนี้เริ่มบังคับใช้ มีผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้จำนวนหนึ่ง จึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายฉบับนี้ เช่น นิยามของการทารุณกรรมาสัตว์ที่กว้างจนทำให้   ผู้คนกังวลว่าขอบเขตของการกระทำที่จะถูกลงโทษจากกฎหมายนี้อยู่ ตรงไหน เช่น หากทำเพื่อป้องกันสัตว์ทำร้ายจะทำได้แค่ไหน รวมทั้งตัวบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับก็ถูกวิจารณ์ว่าโทษหนักกว่าการทำร้ายร่างกายคนเสียอีก

 

 

กฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ 

กฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีความพยายามผลักดันจากภาคประชาชนมาหลายปี เป้าหมายเพื่อส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมระหว่างเพศ ปัจจุบัน สนช.ผ่านกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีประเด็นที่ถูกวิจารณ์คือ การกำหนดข้อยกเว้น ในกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ข้อยกเว้นเหล่านี้ล้วนเป็นข้ออ้างสำหรับการกระทำละเมิดต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในสังคมปัจจุบัน และเหตุต่างๆ ล้วนเป็นคำที่มีความหมายกว้าง สามารถตีความได้หลากหลาย นอกจากนี้กฎหมายยังถูกวิจารณ์ว่าเน้นไปที่แนวทางการคุ้มครองและการลงโทษ แต่ไม่มีแนวทางที่จะส่งเสริมโอกาสให้เกิดความเสมอภาคขึ้น หรือไม่มีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

 

                                                              

กฎหมายชุมนุมสาธารณะ 

กฎหมายชุมนุม เป็นกฎหมายที่มีการพูดถึงกันมาหลายสมัย เนื่องจากประเทศไทยเผชิญการชุมนุมอยู่เป็นประจำ เจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องการเครื่องมือในการควบคุม อย่างไรก็ตามก็เกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการออกกฎหมายฉบับนี้ที่ออกมาในช่วงรัฐบาลทหาร สำหรับเนื้อหาที่ภาคประชาชนสะท้อนถึงปัญหา เช่น การกำหนดห้ามจัดการชุมนุมภายในพื้นที่ของรัฐสภา หรือทำเนียบรัฐบาล การห้ามชุมนุมในสถานที่ดังกล่าวอาจจะทำให้อำนาจต่อรองของประชาชนลดลง, การต้องแจ้งชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง อาจส่งผลต่อบางกรณีที่เป็นเหตุเร่งด่วน เช่น คนงานถูกเลิกจ้างแล้วนายจ้างปิดโรงงานหนี ซึ่งแบบนี้ไม่สามารถแจ้งล่วงหน้าได้ หรือนิยามของผู้จัดการชุมนุม ขยายครอบคลุมถึง ผู้ที่เชิญชวน หรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม ซึ่งอาจจไม่ใช่ ผู้จัดการชุมนุมที่มีอำนาจตัดสินใจ



 



กฎหมาย ป.ป.ช.

กฎหมาย ป.ป.ช.ถูกเสนอโดยคณะกรรมมาการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ หากเจ้าหน้าที่รัฐทำการทุจริต มีโอกาสได้รับโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ซึ่งหากผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีในระหว่างถูกดำเนินคดีไม่ให้นับระยะเวลาที่หลบหนีเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ทั้งนี้ข้อที่น่ากังวลคือโทษประหารชีวิตที่ดูเหมือนจะเป็นบทลงโทษที่รุนแรงเกินไปและดูขัดกับแนวทางสากลที่มีแนวโน้มที่จะลดการลงโทษจากการประหารชีวิต  



 

                                                                 

 

กฎหมายภาษีมรดก

กฎหมายภาษีมรดกได้รับความสนใจอย่างมาก เป้าหมายในเบื้องต้นคือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ พร้อมกับเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนจนและคนรวย และสร้างความเป็นธรรมในสังคม อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเมื่อผ่านพิจารณาของ สนช. เนื้อหาของกฎหมายกลับเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากให้ผู้รับมรดกเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีมรดก เป็น 100 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งการแก้ไขเนื้อหาในส่วนนี้ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะการขยับกลุ่มผู้ที่ต้องเสียภาษีเป็น 100 ล้าน จะทำให้ผู้เสียภาษีจริงๆ มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น  



  

กฎหมายกำลังพลสำรอง  

กฎหมายกำลังพลสำรอง ถูกวิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์ เนื้อหาสำคัญให้อำนาจกระทรวงกลาโหม เรียกตัวชายไทยที่ผ่านการเกณฑ์ทหารหรือผ่านการเรียน รด. รวมทั้งผู้ที่จับใบดำได้ กลับมารับราชการทหารอีกครั้งเพื่อเป็นกำลังพลสำรอง สำหรับระยะเวลาการฝึก หรือวิธีการเรียกยังไม่กำหนดแน่ชัด ทั้งนี้ต้องรอกระทรวงกลาโหมออกกฎกระทรวงมารองรับ นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องให้ความร่วมมือด้วยการปล่อยลูกจ้างของตนเป็นกำลังพลสำรอง พร้อมทั้งยังต้องจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างขณะเป็นกำลังพลสำรองด้วย กฎหมายฉบับเป็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสม เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีทหารกองประจำการจำนวนมาก ยังไม่มีแนวโน้มจะเกิดภัยสงคราม และยังหวั่นว่ากฎหมายจะเป็นช่องทางใหม่ให้ทหารคอร์รัปชั่น ขณะที่ผู้ประกอบการเองไม่คุ้มค่าหากต้องจ่ายเงินเดือน โดยไม่ได้ผลตอบแทน ลูกจ้างเอง ก็มีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้าง ขณะที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระอาจต้องสูญเสียรายได้ไปเลย                            

                                                             

กฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมการอุทธรณ์ฎีกา

สนช. ออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อจัดวางระบบการอุทธรณ์ฎีกาใหม่ สาระสำคัญคือกำหนดหลักเกณฑ์การยื่นคดีต่อศาลฎีกาใหม่ โดยกำหนดให้ประชาชนที่ต้องการยื่นคดีให้ศาลฎีกาวินิจฉัยต้องขออนุญาตจากศาลฎีกาก่อน เปลี่ยนจากระบบที่เดิมการยื่นคดีต่อศาลฎีกาเป็นสิทธิของคู่ความ เพื่อลดภาระคดีของศาลฎีกาให้เหลือแต่คดีสำคัญที่จะวางบรรทัดฐานการตีความกฎหมายเท่านั้น ระบบใหม่นี้อาจแก้ปัญหาคดีคั่งค้างได้มาก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการพลิกโฉกระบวนการยุติธรรมของไทย จากที่เดิมมีศาลสามชั้น เหลือเพียงสองชั้น ยกเว้นคดีที่พิเศษจริงๆ เท่านั้นถึงจะขึ้นสู่ศาลฎีกาได้ ด้วยเหตุนี้ศาลอุทธรณ์จึงเป็นศาลสุดท้าย ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการตัดสิทธิประชาชนในการฎีกา เพราะศาลอุทธรณ์ก็ยังมีมาตรฐานการทำงานที่ต่างจากศาลฎีกาอยู่ 

 

 

กฎหมายมหาวิทยาลัยนอกระบบ 

สนช.ออกกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหลายฉบับ อาทิ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และขอนแก่น เนื้อหาคือการนำมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงก็เพื่อให้มีอิสระ และความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ทั้งเรื่องการจัดการทางการเงิน งบประมาณ และการบริหารงานบุคคล สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการภายในด้วยตัวเองได้ อย่างไรก็ตามมีข้อกังวลที่ตามมา เช่น รัฐไม่ได้ลดเงินสนับสนุนไปจากเดิม และมีแนวโน้มว่าค่าเล่าเรียนหลังการออกนอกระบบจะสูงขึ้น รวมถึงการคานอำนาจและการตรวจสอบผู้บริหารมหาวิทยาลัยดูเหมือนจะรวมศูนย์อยู่ที่สภามหาวิทยาลัย