สิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการ (sex workers)

เมื่อถึงวันที่  25 พฤศจิกายนของทุกปีที่ทั่วโลกรณรงค์ต่อต้านการยุติการความรุนแรงต่อผู้หญิง  คุณนึกถึงใครบ้าง เด็กผู้หญิงที่โดนบังคับให้แต่งงาน  ภรรยาที่ถูกสามีทำร้าย นักโทษหญิงมีผู้หญิงจำนวนมากมายที่ยังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง  เสียงร้องไห้ ความเสียใจ ของพวกเธอสำคัญเสมอต่อคนทำงานด้านนี้และกับพวกเราทุกคน  ในโอกาสนี้ ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันเนล ประเทศไทยอยากจะขอพูดถึง  นั่นก็คือ พนักงานบริการ
“พนักงานบริการเป็นกลุ่มที่อยู่ชายขอบมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก  ที่ต้องเผชิญความเสี่ยง การถูกเลือกปฏิบัติ โดนกระทำ และเจอกับความรุนแรงรูปแบบต่างๆ การเคลื่อนไหวทั่วโลกของเราปูทางเพื่อให้มีนโยบายในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการ ซึ่งจะเป็นประเด็นงานที่สำคัญมากของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันเนลในอนาคต” กล่าวโดย ซาลิล เช็ตติ เลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันเนล  
เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ในที่ประชุมการประชุมสามัญระดับนานาชาติ  (International Council Meeting – ICM) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ได้มีการลงมติครั้งสำคัญเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการ (sex workers) หลังจากนั้นได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ร่วมลงชื่อจากกลุ่มสิทธิสตรีทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติกว่า 600 กลุ่ม แสดงความไม่เห็นด้วยต่อนโยบายดังกล่าว ซึ่งรวมถึงนักแสดงและคนมีชื่อเสียงหลายคน ถกประเด็นการค้าบริการทางเพศกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลผ่านสื่อต่างๆ มากมาย
กอริ แวน กูลิกรองผู้อำนวยการฝ่ายยุโรปแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า “ค่อนข้างประหลาดใจที่ได้รับจดหมายฉบับนั้น เพราะดูเหมือนว่าจะเป็นการเข้าใจนโยบายที่เราต้องการรณรงค์ผิดไป จริงๆ แล้วแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเน้นไปที่การสร้างความปลอดภัยให้แก่พนักงานบริการ เพื่อที่จะช่วยให้พวกเธอ/เขาสามารถเข้าถึงสิทธิของตัวเอง และเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้ดียิ่งขึ้น”
“การค้าประเวณีไม่ใช่สิทธิมนุษยชน แต่พนักงานบริการมีสิทธิมนุษยชน พวกเขามีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย สิทธิการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข และการได้รับความคุ้มครองเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ การถูกแสวงหาผลประโยชน์ หรือบีบบังคับ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เรากำลังพยายามผลักดัน นอกจากนี้ เราตระหนักว่า ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ตลอดจนความไม่เท่าเทียมในรูปแบบอื่นๆ เป็นปัจจัยที่บีบบังคับและผลักดันให้คนก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมทางเพศ เราเชื่อว่าคุณไม่ควรลงโทษพวกเธอ/เขา ด้วยการทำให้การค้าประเวณีเป็นอาชญากรรม เพราะนั่นเหมือนเป็นการตัดทางเลือกของพวกเขาออกไปด้วย จุดยืนของเราจึงเป็นการขยายงานด้านความเท่าเทียมทางเพศให้กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่” 
นอกจากนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังผลักดันให้การค้าประเวณีไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่พนักงานบริการจะต้องได้รับการคุ้มครอง และทำให้พวกเธอ/เขาเข้าถึงสิทธิที่พึงจะได้รับและยังต่อต้านการเอาผิดทางอ้อมอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงของผู้ค้าบริการ ยกตัวอย่างเช่น การเอาผิดกับผู้ซื้อบริการทางเพศ
“พนักงานบริการหลายคนบอกกับเราว่าพวกเธอรู้สึกปลอดภัยน้อยลง เมื่อต้องทำงานอย่างหลบๆ ซ่อนๆ หลายครั้งต้องยอมไปพบลูกค้าที่บ้าน ท้ายที่สุดการเอาผิดทางอ้อมก็ส่งผลต่อผู้ขายบริการไม่ต่างกับการเอาผิดทางกฎหมาย จุดยืนของเราข้างต้นยังรวมถึงบุคคลที่สามอย่างสถานบริการ (ซ่อง) หรือผู้แสวงหาผลประโยชน์ (แม่เล้า/พ่อเล้า) ด้วย”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อต้านการแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าประเวณี แต่ไม่เชื่อว่า การทำให้ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีเป็นเรื่องผิดกฎหมายจะช่วยปกป้องสิทธิของผู้ขายบริการได้แต่อย่างใด ผู้ขายบริการบางกลุ่มอยากทำงานและอยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกัน แต่ถ้าทำเช่นนั้นจะเข้าข่ายซ่องโดยปริยาย ดังนั้นจึงวนกลับมาที่จุดเดิมคือเราต้องหามาตรการในทางปฏิบัติเพื่อคุ้มครองผู้ขายบริการทางเพศและช่วยให้พวกเธอ/เขาสามารถเข้าถึงสิทธิที่สมควรจะได้รับ
นอกจากนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังอธิบายต่อข้อโต้แย้งที่ว่าการผลักดันนโยบายดังกล่าวกำลังจะทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ทั่วโลกทำงานได้ง่ายขึ้น โดยยืนยันว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าการค้ามนุษย์เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่น่ารังเกียจ  ทั้งต่อต้านและเรียกร้องให้ตำรวจและรัฐบาลต้องหาทางยุติการค้ามนุษย์ การแสวงหาผลประโยชน์ ยุติการบังคับใช้แรงงาน แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลงโทษบุคคลที่ต้องการความคุ้มครองจากเรา
“ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าจำนวนการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นเมื่อยกเลิกโทษทางอาญาของการค้าบริการทางเพศ ในทางตรงกันข้าม ผู้หญิงจะสามารถฟ้องร้องขบวนการค้ามนุษย์ได้ง่ายขึ้น ถ้าไม่ต้องหลบๆซ่อนๆ และอยู่ในสถานะที่สามารถพูดคุยกับตำรวจได้อย่างเปิดเผย โดยไม่ต้องหวาดกลัวเจ้าหน้าที่ เหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งกำหนดให้อาชีพนี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย”
ถึงแม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านมากมาย แต่นักวิชาการและคนที่ทำงานในองค์กรที่ทำงานกับพนักงานบริการในประเทศไทยร่วมแสดงความเห็นที่พ้องกับนโยบายของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันเนลในการยกเลิกโทษทางอาญาแก่พนักงานบริการ ทั้งยังเสริมในเรื่องความแตกต่างระหว่างการยกเลิกโทษกับการทำให้เป็นกฎหมายอีกด้วย
“เห็นด้วยกับกับนโยบายดังกล่าว เพราะสนับสนุนแนวความดิด การยกเลิกโทษทางอาญา (decriminalization) อยู่แล้ว ถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่เคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ในส่วนของกฎหมาย (legalisation)ในประเทศไทยได้เคยมีการถกเถียงกันแล้วออกมาเป็นตัว พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ปี 2539  ซึ่งถือเป็นกฎหมายเฉพาะ แต่การเอาผิดยังคงตกอยู่ที่ผู้ขายบริการมากกว่าการพิจารณาการบริการทางเพศโดยรวม หากพิจารณาเนื้อหาของกฎหมายตัวนี้อย่างละเอียดจะพบว่าเป็นการเว้นโทษให้แก่พนักงานบริการแล้ว แต่พูดได้ว่ายังคลุมเคลืออยู่ ”
“เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าส่วนหนึ่งของพนักงานบริการ คือเหยื่อของการค้ามนุษย์ (human trafficking) นั่นคือกลุ่มที่ไม่สมัครใจและผู้เกี่ยวข้องจะต้องลงไปจัดการ ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าสู่งานบริการ (sex work) โดยการเลือกภายใต้การเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆในชีวิต และการเลือกอาชีพนี้ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในชีวิตของพวกเขา ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกโดยตนเองไม่มีใครสามารถตัดสินแทนได้ ถ้าหากสังคมมองว่าการเลือกปฏิบัติอาชีพนี้เป็นสิ่งที่ไม่สมควร แล้วสังคมได้ทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาให้พวกเขาเหล่านี้?” รศ ดร ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์
“ทุกวันนี้ไม่ถูกกฎหมาย ก็ยังมีคนมาทำเยอะและยอมจ่ายแมงดา  แต่ถ้าไม่เอาผิดหรือมีโทษทางอาญา เขาอาจจะไม่ต้องพึ่งพาแมงดา  หรืออาจจะขายบริการที่บ้านตัวเองได้ หรือทำได้อิสระขึ้น  จะถูกกฎหมายหรือไม่ คนก็ยังมาทำเพราะมันสร้างรายได้  และทำได้ด้วยตัวเอง  แต่พอมันมีกฎหมายมาเอาผิดเขาต้องไปพึ่งพาแมงดาหรือสถานบริการ”
“เรื่องการไม่เอาผิดต่อพนักงานบริงานบริการ เราต่อสู้มานาน แต่ก็เป็นไปได้ยาก ถ้างานบริการด้านนี้มันถูกต้องขึ้นมา หรือใครเอาผิดไม่ได้ ผู้ที่เคยได้รับผลประโยชน์จากพนักงานบริการ ก็อาจจะทำไม่ได้อีก เราต่อสู้เพราะมันเป็นประโยชน์กับคนทำงาน  เจ้าของบาร์ก็ปลดล็อก  ลดภาระค่าใช้จ่าย และดูแลพนักงนตัวเองดีขึ้น คนทำงานก็สบายใจไม่ต้องคอยจ่ายเงินให้ใคร  และมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มันปลดล๊อกความไม่ดีต่างๆออกไป” คุณตี๋ เจ้าหน้าที่จากองค์กร SWING
ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ใช้เวลา 2 ปีในการการทำวิจัยและปรึกษาหารือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานสหประชาชาติ กลุ่มผู้ให้บริการทางเพศ กลุ่มของผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อการค้าบริการทางเพศ หน่วยงานที่สนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิต หน่วยงานสตรีนิยมและตัวแทนสิทธิสตรี นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศ หน่วยงานต่อต้านการค้ามนุษย์ และหน่วยงานด้านเอชไอวี/เอดส์นอกจากนั้นเรายังได้ทำงานวิจัยในสี่ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา ฮ่องกง นอร์เวย์ ปาปัวนิกินี จนได้ข้อสรุปที่ว่าแนวทางนี้จะช่วยปกป้องสิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการได้ดีที่สุด และลดความเสี่ยงจากการถูกปฏิบัติมิชอบและการละเมิดที่กำลังเผชิญกันอยู่
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันเนล กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนานโยบายเพื่อปกป้องสิทธิของพนักงานบริการนี้  เรายอมรับว่านี่เป็นประเด็นที่ท้าทายและมีการถกเถียงกันมากที่สุดประเด็นหนึ่ง    
“นี่ถือเป็นการเดินทางที่ยาวนานกว่าจะถึงวันนี้ สองปีของการอภิปรายถกเถียงกันทั่วโลก เราน้อมรับทุกความเห็น ตอนนี้เราเชื่อว่าจะสามารถผลักดันให้กลุ่มบุคคลที่เปราะบางกลุ่มนี้ได้รับสิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข มีความปลอดภัย เรากำลังปกป้องสิทธิมนุษยชนของพวกเขาเหล่านี้อยู่” กอริ แวน กูลิก กล่าว
ชมคลิปคำถาม-คำตอบเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้ที่ https://youtu.be/cVqmy1CrP6s
แล้วคุณล่ะ เมื่อนึกถึงพนักงานบริการ คุณเห็นด้วยหรือมองต่างจากเราอย่างไร  แลกเปลี่ยนกับเราได้ที่ [email protected]