คำถามต่อ “เรือนจำในค่ายทหาร” กับ “ความจำเป็นด้านความมั่นคง”

11 กันยายน 2558 กระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งให้ กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี เพื่อใช้เป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องขัง ภายใต้สังกัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยให้ตั้งอยู่ในพื้นที่กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 ถ.พระราม 5 (มทบ.11)

 

โดยระบุเหตุที่ต้องให้ค่ายทหารเป็นเรือนจำก็เพราะ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัย และความเหมาะสมในการคุมขังและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นผู้ต้องขังประเภท "มีเหตุพิเศษ"
นอกจากนี้ อายุตม์ สินธพพันธุ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ยังให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวผู้จัดการ ว่า ตนในฐานะต้นสังกัดของเรือนจำชั่วคราวฯ จะต้องมีคำสั่งแต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ควบคุมพิเศษ ประมาณ 20 นาย และส่งเจ้าหน้าที่เรือนจำไปประจำที่ พัน.ร.มทบ.11 อีกจำนวน 4 นาย ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ เพื่อให้ทำงานร่วมกันในการควบคุม และดูแลผู้ต้องขังที่จะถูกส่งไปคุมขังยังเรือนจำชั่วคราวฯ และทางเจ้าหน้าที่เรือนจำจะต้องมีการแนะนำขั้นตอนและระเบียบในการปฏิบัติแก่ผู้ต้องขังให้เจ้าหน้าที่ทหารทราบด้วย
"เรือนจำค่ายทหาร" แห่งนี้ ถูกใช้ควบคุมตัวนายอาเดม คาราดัก และนายไมไรลี ยูซูฟู  ผู้ต้องขังคดีระเบิดแยกราชประสงค์ ซึ่งประเด็นนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชน อย่าง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เคยออกแถลงการณ์ให้ความเห็นว่า การจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวภายในค่ายทหารและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหารให้เป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ อาจทำให้เรือนจำดังกล่าวขาดการตรวจสอบโดยบุคคลภายนอก และอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ 

 

ภาพจาก: Thaiza.com

 

มิใช่แค่ผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงหรือคดีก่อเหตุความรุนแรงเท่านั้น สถานที่ดังกล่าวยังถูกใช้ควบคุมตัวผู้ต้องหาจากกระทำความผิดฐาน "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ตาม ป.อาญา มาตรา 112 โดยมีผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวไว้ ได้แก่ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ "หมอหยอง", จิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ คนสนิทของหมอหยอง และ พ.ต.ต. ปรากรม วารุณประภา หรือ "สารวัตรเอี๊ยด"
และต่อมามีรายงานว่าผู้ต้องขังอย่างน้อยสองคน คือ สุริยัน และพ.ต.ต. ปรากรม เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากการให้สัมภาษณ์ของ นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กับประชาไท จะพบว่าเรือนจำดังกล่าว แตกต่างไปจากเรือนจำปกติ เพราะ ในปัจจุบันระบบเรือนจำ จะแยกตามอำนาจคุมขังและตามหน้าที่ โดยแบ่งออกเป็น เรือนจำกลาง เรือนจำจังหวัด เรือนจำอำเภอ เรือนจำพิเศษ และทัณฑสถาน โดยเรือนจำกลางจะมีอำนาจควบคุมผู้ต้องขังที่มีอัตราโทษสูงกว่าเรือนจำจังหวัดและเรือนจำอำเภอ 
ซึ่ง เรือนจำพิเศษ (Remand Prison) ตามหลักการ คือ เรือนจำที่ใช้คุมขังผู้ต้องขังที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา หรือ “ผู้ต้องขังระหว่าง” แต่ในทางปฏิบัติ เรือนจำพิเศษที่แยกเป็นเรือนจำเอกเทศมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง เช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำพิเศษพัทยา เรือนจำพิเศษธนบุรี เป็นต้น ในขณะที่เรือนจำส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดจะมีเรือนจำพิเศษอยู่ร่วมกันกับเรือนจำกลางหรือเรือนจำจังหวัด  เช่น เรือนจำกลางเชียงใหม่ จะมีทั้งเรือนจำกลางเชียงใหม่ และเรือนจำพิเศษเชียงใหม่อยู่ด้วยกัน แม้แยกออกเป็นคนละแดน แต่ก็อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน
ซึ่งจะเห็นว่า จุดประสงค์ของเรือนจำพิเศษ มีขึ้นเพื่อแยก "ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี" ออกจาก "ผู้ต้องโทษจำคุก" ที่ศาลพิพากษาแล้ว แต่ "เรือนจำในค่ายทหาร" เป็นเรือนจำที่เจ้าหน้าที่ใช้เพื่อแยกผู้ต้องหาที่ถือว่าเป็น "คดีพิเศษ" มาไว้ในมือ โดยไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน นอกจากเหตุผลด้าน "ความมั่นคง" 
คำถาม คือ มีความจำเป็นเพียงใด ที่จะต้องให้ผู้ต้องหาจากการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องอยู่ในความ "ดูแลและคุ้มครอง" ของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยใช้พื้นที่พิเศษในค่ายทหาร และแตกต่างไปจากการควบคุมดูแลตามปกติของกรมราชทัณฑ์ ทั้งที่ คดีมาตรา 112 ก่อนหน้านี้ ทั้งคดีแอบอ้างสถาบันฯ ของเครือข่ายพล.ต.ต. พงษ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ หรือคดีมาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็น ก็ถูกคุมขังที่เรือนจำปกติร่วมกับนักโทษอื่นๆ ได้
และทั้งนี้ การให้อำนาจในการเลือกสถานที่ควบคุมตัวได้อย่างอิสระ ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงด้าน "ความปลอดภัย" ของผู้ต้องหา เพราะมีหลายกรณีที่ผู้ต้องหาถูก "ซ้อมทรมาน" ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ หรือการซ้อมเพื่อหาข้อมูล อย่างใน พื้นที่ภาคใต้ และหลายครั้งก็เป็นการซ้อมผู้บริสุทธิ์ที่ศาลยกฟ้อง
ดังนั้น ถ้ายังปล่อยให้อ้างเหตุความมั่นคง และสามารถแยกผู้ต้องหามาไว้ในการควบคุมเฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้น เท่ากับว่า สังคมกำลังเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ต้องหาถูกละเมิดสิทธิไปด้วยก็เป็นได้