แก้วิ.อาญา เพิ่มทางเลือกใหม่ ใส่อุปกรณ์ติดตามตัวแทนจำคุก

ปัญหานักโทษล้นคุกเป็นปัญหาที่มีมานาน ทางหนึ่งที่อาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้คือการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งจะจำกัดการเดินทางของผู้ต้องหาได้ด้วย วิธีนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลนักโทษและช่วยกรองคนที่ทำผิดไม่รุนแรงออกจากระบบคุก ซึ่งในต่างประเทศมีทางเลือกอื่นแทนการจำคุกมานานกว่าร้อยปีแล้ว ขณะที่ประเทศไทยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว หลักเกณฑ์การบังคับคดีผู้ประกัน และการอุทธรณ์ คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ถูกปล่อยตัวต้องยินยอม ถ้าอุปกรณ์เสียหาย ให้สันนิษฐานว่าหลบหนี
ในการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อาจนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางมาใช้กับผู้ที่ถูกปล่อยตัวชั่วคราวก็ได้ถ้าผู้นั้นยินยอม เพื่อป้องกันการหลบหนีหรืออันตรายต่างๆ แต่ถ้าผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ จะนำอุปกณ์ดังกล่าวมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรงหรือมีเหตุสมควรอื่น  
ถ้าพบว่ามีการทำลายอุปกรณ์หรือทำให้ใช้การไม่ได้ไม่ว่าโดยวิธีใด ให้สันนิษฐานว่าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวนั้นหนีหรือจะหลบหนี
 
ห้ามเรียกประกันเกินควร เพิ่มโอกาสจำเลยได้ปล่อยตัวชั่วคราว
ในร่างกฎหมายฉบับเดียวกันยังกำหนดว่า ไม่ให้เรียกประกันหรือหลักประกันเกินควร และต้องคำนึงถึงเงื่อนไขและมาตรการต่างๆ ที่ได้ใช้กับผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวประกอบด้วย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข แล้วแต่กรณี เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยมีโอกาสได้รับการปล่อยชั่วคราวมากขึ้น
ส่วนกรณีที่ผิดสัญญาประกัน ศาลอาจสั่งงดการบังคับตามสัญญาประกัน หรือลดจำนวนเงินประกันที่ต้องใช้ตามสัญญาประกันก็ได้ โดยคำนึงถึงความพยายามของผู้ประกันในการติดตามผู้หลบหนี รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามีมากน้อยเพียงใด เมื่อศาลสั่งแล้ว ก็สามารถอุทธรณ์ได้ทั้งสองฝ่าย โดยคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
ขณะเดียวกันก็มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การบังคับคดีสำหรับกรณีที่ผิดสัญญาประกัน เพื่อให้การบังคับตามสัญญาประกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยให้ศาลมีอำนาจออกหมายหรือมีคำสั่งเพื่อบังคับเอาทรัพย์สินของบุคคลที่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาประกันได้ เสมือนว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยให้เจ้าพนักงานที่ได้รับแต่งตั้ง และพนักงานอัยการเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับตามสัญญาประกัน และให้เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี มีอำนาจหน้าที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ประกันและขายทอดตลาดตามที่ได้รับแจ้งจากศาลหรือพนักงานอัยการ
บังคับใช้ 3 ปี หลังจากนั้นอาจเก็บค่าอุปกรณ์ ยกเว้นคนรายได้น้อย
นอกจากนี้ในตอนท้ายของร่าง พ.ร.บ. มีการกำหนดว่า เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับครบ 3 ปี ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประเมินความคุ้มค่าและค่าใช้จ่ายของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่น ถ้า ครม.เห็นควรให้เก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ให้กำหนดอัตราค่าใช้จ่าย หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งต้องมีข้อยกเว้นให้ผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินพอที่จะจ่ายด้วย ทั้งนี้ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามร่าง พ.ร.บ.นี้
หลักเกณฑ์การนำไปใช้ยังไม่ชัด
วิษณุ เครืองาม เคยกล่าวในที่ประชุม สนช. ตอนที่เสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ ว่า “ปัจจุบันกรมควบคุมการประพฤติมีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring) หรืออีเอ็มกว่า 3,000 เครื่อง แล้ว จึงเห็นควรนำมาใช้กับผู้ต้องหาและจำเลย เพราะจะทำให้การติดตามตัวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ได้สิทธิปล่อยตัวชั่วคราว” 
การนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ มื่อเดือนมีนาคม 2557 ได้มีการนำเอาเครื่องมือคุมประพฤติด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเอ็ม มาใช้กับผู้กระทำผิดในคดีเมาแล้วขับเป็นรายแรก ซึ่งเป็นคนขับรถแท็กซี่ วัย 41 ปี โดยศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาจำคุก 2 เดือน ปรับ 3,500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี คุมประพฤติ 1 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และศาลได้สั่งให้สวมกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ แทนการบริการสังคม 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วัน และสั่งห้ามออกจากบ้านในเวลา 22.00-04.00 น.
หากโชเฟอร์แท็กซี่รายนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล หรือตัดทำลายสายรัดข้อเท้าทิ้ง เครื่องก็จะส่งสัญญาณไปที่ศูนย์ควบคุมกรมคุมประพฤติ ซึ่งจะมีรายงานบันทึกการทำงานให้เจ้าหน้าที่ทราบ จากนั้นเจ้าหน้าที่คุมประพฤติก็จะรายงานให้ศาลทราบเพื่อนำตัวชายคนนี้มาจำคุก ตามคำพิพากษาของศาลที่สั่งรอลงอาญาไว้ 
 
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวนักโทษที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ภาพจาก วิกิพีเดีย
ด้านนัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมคุมประพฤติและกรมราชทัณฑ์ให้ความเห็นว่า “จุดเด่นข้อดีของเครื่องอีเอ็มก็คือ ผู้ถูกคุมประพฤติยังมีโอกาสได้กลับไปอยู่กับครอบครัว สามารถทำงานหาเลี้ยงครอบครัวต่อไปได้ โดยไม่ต้องเข้าไปอยู่ในระบบเรือนจำให้มีตราบาปติดตัว ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว ยากต่อการกลับเนื้อกลับตัว” 
นัทธีกล่าวอีกว่า ในต่างประเทศเครื่องมือนี้นิยมใช้กับผู้กระทำผิดทางเพศ ซึ่งมักกระทำผิดซ้ำ การมีระบบติดตามแจ้งเตือนจึงช่วยให้สังคมมีความมั่นใจยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังควรนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้กับนักโทษหญิงให้มากขึ้นเพราะนักโทษหญิงส่วนใหญ่มักทำผิดโดยพลั้งพลาด และภาวะทางเพศต่างจากนักโทษชาย
อีกข้อเสนอหนึ่งของ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ คือให้นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับผู้ต้องขัง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย  1.ผู้ต้องขังจำคุกที่จะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าจะต้องจำคุก เช่น ผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้าย มะเร็งระยะสุดท้าย 2.ผู้ต้องขังที่จำเป็นต้องเลี้ยงบิดามารดา สามี ภรรยา บุตร ที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ 3.ผู้ต้องขังเจ็บป่วยเรื้อรัง ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และต้องออกไปรับการรักษาภายนอก เช่น ฟอกไต หรือฉายรังสีทุกสัปดาห์ และ 4.ผู้ต้องขังจำคุกที่มีเหตุอันควรได้รับการทุเลาการบังคับ เช่น วิกลจริต เพิ่งคลอดบุตรหรือตั้งครรภ์ 
ทั้งนี้ที่ผ่านมาเคยมีโครงการนำร่องโดยนำกำไลข้อเท้า 3,000 ชุด งบกว่า 70 ล้านบาท มาใช้ในงานคุมประพฤติ และเคยมีการเสนอให้ใช้ในคดีเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายระหว่างคนในครอบครัว เช่น คู่สามีภรรยา ที่มีคดีทำร้ายร่างกาย เพื่อกันไม่ให้ผู้ที่มีพฤติกรรมทำร้ายร่างกายมีโอกาสเข้าใกล้เหยื่อ หรือสุ่มเสี่ยงที่จะใช้ความรุนแรง ขณะที่ปัจจุบันยังไม่แน่ชัดว่าจะนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้กับผู้ต้องขังกลุ่มใดบ้าง จำนวนมากน้อยเพียงใด และจะลดจำนวนนักโทษที่ล้นคุกได้จริงหรือไม่
ไฟล์แนบ