ประชาธิปไตย กับเศรษฐกิจ

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร
 
ภาพประกอบจาก www.popularresistance.org
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ในงานสัมมนาที่มีนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำร่วมพูดคุยทิศทางประเทศไทย (ดูลิงค์นี้) ผู้ดำเนินรายการคือคุณภิญโญ ได้ถามคำถามสุดท้ายก่อนปิดรายการว่า ประชาธิปไตยจำเป็นต่อเศรษฐกิจแค่ไหน?
เป็นคำถามคลาสสิก โดยเฉพาะในสาขากฎหมายกับการพัฒนา ซึ่งเป็นความสนใจของผม
คำถามนี้ในทางสังคมศาสตร์ ไม่มีทางตอบได้ "แน่ชัด" เพราะวิธีการเดียวที่จะตอบได้อย่างแน่ชัด ก็ต้องทำการทดลอง จัดให้มีประเทศสองประเทศที่เหมือนกันทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียวคือประเทศหนึ่งมีประชาธิปไตย อีกประเทศหนึ่งไม่มี เราถึงจะรู้แน่ๆ ว่าประชาธิปไตยสร้างความแตกต่างอย่างไร แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง การทดลองอย่างนี้เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้
ที่พอทำได้ก็คือการวิจัยโดยใช้เทคนิคทางสถิติ ซึ่งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่สรุปได้ว่า ประชาธิปไตยมีความเกี่ยวโยงกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ คือประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มักมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดี แต่นักวิจัยทุกคนรู้ว่า ความเกี่ยวโยงไม่เท่ากับความเป็นเหตุเป็นผล (correlation does not imply causation) เช่น ประเทศที่มีตำรวจมาก มักเป็นประเทศที่มีโจรมาก แต่ไม่ได้แปลว่า เพราะมีตำรวจมาก เลยมีโจรมาก
มีนักคิดบางกลุ่มเห็นว่า ประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีต่างหาก จึงจะมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้ เศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เติบโตอย่างต่อเนื่องจนมีชนชั้นกลางจำนวนมาก จึงจะเป็นรากฐานให้ประชาธิปไตยเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยทำให้เศรษฐกิจดี
ผมมีข้อสังเกต 3 ข้อ
1. ประชาธิปไตยมีคุณค่าในตัวเอง คือถึงแม้ว่าประชาธิปไตยอาจจะไม่เกี่ยวอะไรโดยตรงกับเศรษฐกิจ แต่อาจมีเหตุผลอย่างอื่นที่ทำให้สังคมที่เป็นประชาธิปไตยเป็นสังคมที่พึงปรารถนา เพราะเราให้คุณค่ากับสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ความโปร่งใส ฯลฯ
ถึงแม้ว่าจะมีสังคมเผด็จการที่บริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว (เช่น จีน และสิงคโปร์) แต่เราอาจไม่อยากเป็นเหมือนจีนหรือสิงคโปร์ก็ได้ เพราะเราอาจต้องการคุณค่าอื่นนอกจากการเติบโตที่รวดเร็วทางเศรษฐกิจ (และเผด็จการของเราก็อาจไม่มีทางมีประสิทธิภาพเหมือนจีนหรือสิงคโปร์ แต่นั่นอีกประเด็นหนึ่ง)
2. สำหรับเศรษฐกิจแล้ว ปัจจัยที่สำคัญมากกว่าอาจเป็นเรื่องของเสถียรภาพทางการเมือง และนโยบายเศรษฐกิจ นี่จึงเป็นเหตุผลที่นักลงทุนยินดีลงทุนในจีนและเวียดนาม แม้จะไม่เป็นประชาธิปไตย และนักลงทุนยินดีลงทุนในอินโดนีเซีย เพราะรู้สึกว่าประชาธิปไตยที่นั่นมีการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพ
3. ผมพยายามตอบคำถามมายืดยาว แต่จริงๆ "ประชาธิปไตย" มีหลายรูปแบบ จะตอบคำถามของคุณภิญโญ อาจต้องจำกัดความก่อนว่า "ประชาธิปไตย" หมายถึงอะไร หมายถึงการเลือกตั้ง? หมายถึงการเลือกตั้ง + ระบบตรวจสอบ? การเลือกตั้งแบบไหน? ระบบตรวจสอบแบบไหน? นอกจากนั้น ลักษณะทางสังคมแบบไหนที่สนับสนุนให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, กระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ, วัฒนธรรมการเมืองที่ประชาชนเป็นพลเมือง ฯลฯ และเราจะส่งเสริมให้เกิดลักษณะทางสังคมเหล่านี้ได้อย่างไร?
คำถามสำคัญจึงน่าจะเป็น "ประชาธิปไตยแบบไหน" รวมทั้ง "ลักษณะทางสังคมแบบไหน" ที่จำเป็นต้องส่งเสริมเพื่อให้ประเทศ (และเศรษฐกิจ) เดินไปข้างหน้า?
คำถามเหล่านี้ ไม่ใช่ตอบปุ๊บ พรุ่งนี้ทำได้ทันที ประเทศเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ทันที อเมริกาและยุโรปปัจจุบันก็ยังตอบคำถามเหล่านี้อยู่เช่นเดียวกัน คำถามเหล่านี้ช่วยให้ทิศทางในการ "ปฏิรูป" สังคมได้ และการ "ปฏิรูป" เป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่อง ไม่มีวันจบ
เสียดายว่า สังคมไทย และการเคลื่อนไหว (รวมทั้งการปฏิวัติ) เพื่อประชาธิปไตยไม่ว่ากลุ่มใดที่ผ่านมา ล้วนชูธง "ประชาธิปไตย" แต่ไม่จริงจังและจริงใจพอจะตอบคำถามเหล่านี้