#SingleGateway102: กระทบสิทธิและล้าหลัง หากจะทำ Single Gateway

สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นร้อนในแวดวงเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และความมั่นคง คงจะเป็นเรื่องอื่นไปไม่ได้นอกจาก single gateway ที่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดตั้ง single gateway ในประเทศไทย ขณะที่เสียงคัดค้านจากภาคประชาชนก็ดังมากขึ้นและมีผู้ลงชื่อคัดค้านที่ www.change.org เป็นจำนวนหลายมากกว่าห้าหมื่นคนไปแล้ว
หนึ่งในผู้เกาะติดประเด็นนี้อย่างจริงจังคือ ดอน เทวพจน์ สัมพันธ์ธารักษ์ ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาค วารสาร Telecomasian ล่าสุดเขาได้เขียนบทความอย่างน้อย 2 ชิ้น เกี่ยวกับประเด็น single gateway คือ General Happiness orders Great Firewall of Thailand และ Thai ICT minister defends single gateway initiative ใน www.telecomasian.net เราจะมาคุยกับเขาถึงที่มาและผลกระทบของ single gateway อย่างคร่าวๆ กัน
Single gateway คืออะไร ความเป็นอย่างไร?
“gateway คือประตูเข้าออกอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ โดยสมัยก่อนประตูเข้าออกนี้ถูกผูกขาดโดยการสื่อสารแห่งประเทศไทย ต่อมาเมื่อมีคณะกิจการกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.หลังรัฐธรรมนูญ 2540) ทำให้มีการเปิดเสรีมีเอกชนเข้ามาขอใบอนุญาต จนปัจจุบันประเทศไทยมีประตูที่เข้าออกอินเทอร์เน็ตกับต่างประเทศ อยู่ 9 แห่งซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตรายต่างๆ เช่น กสท.โทรคมนาคม (CAT), ทรู ฯลฯ”
“ล่าสุดรัฐบาลทหารมีมติให้ตั้ง single gateway เพื่อให้ประตูเข้าออกอินเทอร์เน็ต 9 แห่ง เหลือแห่งเดียวเพื่อให้สามารถควบคุมอินเทอร์เน็ตให้สะดวกขึ้น โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งรัดให้มีผลเป็นรูปธรรมภายในปีงบประมาณนี้ (กันยายน 2558) และให้รายงานกลับมาว่ามีกฎหมายอะไรที่เป็นอุปสรรคบ้าง”
Single gateway จะกระทบต่อคนเล่นเน็ตอย่างไร?
“เราสามารถแบ่งเป็นสองมิติ คือประสิทธิภาพและการสอดแนม” ดอน กล่าว “ในแง่ประสิทธิภาพ หากมี กสท. โทรคมนาคม เป็นผู้ให้บริการแต่เพียงรายเดียวจะทำให้ทุกอย่างช้า และเต็มไปด้วยความไร้ประสิทธิภาพของอดีตรัฐวิสาหกิจที่ทำงานไม่เป็น ค่าบริการอินเทอร์เน็ตจะแพงขึ้น ความเร็วของอินเทอร์เน็ตก็ช้าลง และอินเทอร์เน็ตก็จะล่มง่าย”
“ในแง่การสอดแนม เมื่อประตูเข้าออกอินเทอร์เน็ตเหลือแห่งเดียวรัฐก็จะควบคุมง่ายขึ้น การแสดงความคิดเห็นไม่ตรงกับนโยบายรัฐบาล ก็อาจจะถูกตามไล่ล่าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพขึ้น คงเดาได้ว่าสังคมจะเป็นเช่นไร สังคมที่จะเกิดขึ้นจะเป็นสังคมแห่งความกลัว และความหวาดระแวง” เขาเสริมว่า “ในแง่เศรษฐกิจการจ้างงานก็จะลดลง นักลงทุนต่างชาติไม่กล้าเข้ามาลงทุน”
"คนที่คิดจะทำโครงการนี้ไม่โง่ ก็บ้า เพราะจะเป็นการปิดประเทศ ทุกคนจะเจ๊งหมด เราอยากเจริญเหมือนเกาหลีเหนือ และอยากให้คนที่เห็นต่างจากรัฐบาลถูกจับเหมือนจีนใช่ไหม" ดอน ทิ้งทาย
เราควรจะกลัว single gateway ไหม ?
“พูดตรงๆ ไม่กลัวเท่าไร” ดอนตอบ “เป้าหมายของรัฐบาลคือการควบคุมเว็บไซต์และการไหลของข้อมูล ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้จะต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัส เพราะหากยังมีการเข้ารหัสได้ รัฐก็จะสอดแนมยากขึ้น” เขายกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอินเดีย “มีการให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี (Internet free) แต่ห้ามใช้การเข้ารหัส หากรัฐไทยทำเช่นเดียวกันก็เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นแล้ว หากปิดการเข้ารหัสก็สามารถดักได้ง่ายขึ้นเพราะทุกอย่างอยู่ที่เดียว”
อย่างนี้การใช้เฟซบุ๊ก หรือ ไลน์ ก็น่าจะปลอดภัย?
“เฟซบุ๊ก มีการเข้ารหัสและมีระบบที่เรียกว่า certificate pinning ซึ่งทำให้ไม่สามารถโดนดักตรงกลางได้หากเข้าปกติ ส่วน ไลน์ นั้นอย่าลืมว่าเขาให้ข้อมูลกับทางการไทยอยู่แล้ว มีการตั้งพลตำรวจตรีพิสิษฐ์ เปาอินทร์ ไปขอข้อมูล และ พรชัย รุจิประภา อดีต รมต.ไอซีที ก็ได้ขอบคุณไลน์ที่ให้ข้อมูล นอกจากนี้ผู้จัดการภายในประเทศไทย (country manager) ของไลน์ ได้ลาออกจากไปทำงานที่กระทรวงไอซีที ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า revolving door policy ดังนั้น ไม่ต่างเท่าไหร่ เพราะเดิมแย่อยู่แล้ว”
อย่างไรก็ตามดอนเห็นว่า “รัฐจะไม่ยอมแพ้ในการที่จะควบคุม เพราะมีอีกหลายวิธี ที่จะคุมอินเทอร์เน็ต เช่น การขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการ หากไม่ทำก็ไม่ต่อใบอนุญาต อย่าลืมว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายใต้ชุดกฎหมายดิจิทัลใหม่ กสทช.จะอยู่ภายใต้คณะกรรมการดิจิทัล ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไม่ใช่องค์กรอิสระเช่นตอนนี้”
ข้อมูลในต่างประเทศหากเราถูกปิดกั้น จะมีช่องทางเข้าถึงอย่างไร?
“มีหลายวิธี เช่นใช้ virtual private network (VPN) เพื่อเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านอีกเครื่องที่อยู่ต่างประเทศ แต่ปัญหาคือเป็นระบบที่บริษัทส่วนใหญ่ใช้สำหรับการป้องกันการโจรกรรมข้อมูล อีกปัญหาคือทางรัฐไทยจะแยกได้อย่างไรระหว่างการเข้าถึงเพื่อเลี่ยงการปิดกั้นและการเข้าถึงของบริษัทต่างชาติที่ใช้กันหากห้ามใช้ก็ปิดบริษัทกันหมดทั้งประเทศ”
“อย่างไรก็ตามมีอีกหลายวิธี แต่คำถามก็คือเราจะไล่ธุรกิจต่างชาติออกหมดเลยหรือเพื่อจะสอดแนมคนไทยหรือ?” ดอน ตั้งคำถาม
รมว.ไอซีที single gateway บอกเน้นพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล?
“รมว.ไอซีที (อุตตม สาวนายน) โกหก” ดอน ในฐานะผู้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ยืนยันหนักแน่นว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทุล เพราะ “เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เอกสารข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ระบุเหตุผลของการสร้างทางออกอินเทอร์เน็ตทางเดียวทั้งประเทศว่า เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยหากติดข้อกฎหมายใดก็ให้เร่งดำเนินการออกกฎหมายต่อไป”
ทั้งนี้ ดอน ชี้ให้เห็นว่า หาก single gateway ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจจริง “อยากให้ลองย้อนกลับไปสมัยที่องค์การโทรศัพท์ กับสมัยนี้อะไรดีกว่ากัน”