#SingleGateway101: ความรู้เบื้องต้นก่อนถูก “สอดส่อง คัดกรอง ปิดกั้น”

ภายหลังมีการเปิดเผยข้อมูล เอกสารข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2558 ในด้านการบริหารราชการแผ่นดินและอื่นๆ ทำให้พบว่า รัฐกำลังพยายามผลักดันให้มี "การจัดตั้ง single gateway" โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ
จากนั้นไม่นาน เหล่ากลุ่มพลเมืองผู้ใช้อินเทอร์เน็ตก็เริ่มแสดงจุดยืนว่า "ไม่เอา Single Gateway" โดยการลงชื่อรณรงค์ต่อต้านและมีผู้ลงชื่อไปแล้วกว่า 60,000 คน (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2558) ผ่านเว็บ Change.org แต่ทว่า ก็ยังมีพลเมืองเน็ตจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจว่า Single Gateway ที่พูดกันมันคืออะไร ทำงานอย่างไร สำคัญอย่างไร และกระทบต่อชีวิตประจำวันมากน้อยแค่ไหน
เราจึงขอให้ ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยเปิดวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ Single Gateway ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าใจ และมีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจว่า เราควรจะมีความคิดเห็นและจุดยืนอย่างไรต่อนโยบายรัฐบาลอันนี้
+ทำความรู้จักกันก่อน Single Gateway คืออะไร?
"ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจก่อนว่าอินเทอร์เน็ตนั้นทำงานอย่างไร ในระบบอินเทอร์เน็ตประกอบไปด้วยคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ มากมายเชื่อมต่อกันอยู่ แต่การเชื่อมโยงกันนี้ไม่ได้เป็นการเชื่อมโยงกันหมดเป็นเครื่องข่ายเดียว แต่จะประกอบไปด้วยระบบเครือข่ายย่อย ๆ จำนวนมากมายที่สามารถบริหารจัดการกันได้อย่างเป็นอิสระในระดับหนึ่ง"  
"ดังนั้นตอนเวลาเราเล่นอินเทอร์เน็ตหรือเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ สิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถติดต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเว็บไซต์ใดในอินเทอร์เน็ตได้ก็คือวิธีการที่จะหาเส้นทาง ว่าข้อมูลของเรามันจะวิ่งไปทางไหน และไม่ใช่ว่าข้อมูลของเราจะวิ่งไปหาคอมพิวเตอร์อีกเครื่องโดยตรง แต่จะต้องวิธีผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่น ๆ มากมาย  และในกรณีที่เราต้องการติดต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่คนละเครือข่ายกัน เช่น คนละ ISP มันจะต้องมีประตูทางผ่านที่ให้ข้อมูลวิ่งไปหาเครือข่ายอื่นๆ ซึ่งเราเรียกกันว่า Gateway" ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ เริ่มอธิบาย
"อย่างในระดับประเทศ ถ้าเราจะสื่อสารหรือเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศ เราก็จำเป็นที่ต้องผ่าน Gateway ระดับประเทศไปยังเครือข่ายอื่นๆ โดยในปัจจุบัน ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างก็จัดหาซื้อสายสัญญาณเพื่อส่งข้อมูลไปยังเครือข่ายต่างประเทศโดยตรง เพื่อทำหน้าที่เป็น Gateway หรือประตูทางผ่านเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายอื่นได้  ในปัจจุบันที่ยังไม่ได้มีการบังคับเกี่ยวกับเรื่อง Single Gateway ช่องทางหรือประตูเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายต่างประเทศเหล่านี้ก็จะมีได้หลายช่องทาง และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็สามารถลงทุนเพิ่มช่องทางเหล่านี้ได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการกับลูกค้าของตนเอง"
"แต่พอมาพูดถึง Single Gateway มันก็คือ การทำให้ประตูทางผ่านที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอื่นๆ เหลือแค่เพียงเส้นทางเดียว หรือหมายความว่า ทุกข้อมูลจะต้องมาผ่านประตูทางผ่านอันเดียวกันหมดก่อนจะออกไปเครือข่ายอื่นในต่างประเทศ ดังนั้นการไหลเวียนข้อมูลก็จะผ่านประตูแค่บานเดียวกันหมด" 
+แล้วถ้าประเทศไทยมีทางผ่านของข้อมูลแค่ทางเดียว จะเกิดอะไรกับระบบอินเทอร์เน็ตบ้าง?
นักวิชาการด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์กล่าวว่า การจะทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบอินเทอร์เน็ต จำเป็นจะต้องดูในรายละเอียดว่า รูปแบบของการวางระบบ Gateway นั้นเป็นอย่างไร เพราะมีความเป็นไปได้อย่างน้อย 2 วิธี 
ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ยกตัวอย่างรูปแบบที่หนึ่งว่า "กรณีมีประตูเดียวจริงๆ หมายความว่า การไหลเวียนข้อมูลทุกอย่างก่อนจะไปเชื่อมต่อกับเครือข่ายอื่นได้ ต้องมาผ่านประตูหลักอันนี้ก่อนแล้วถึงจะออกไปได้ สิ่งที่จะตามมาก็คือ "เส้นทางการวิ่งขาดเสถียรภาพ" เพราะแต่ก่อนการวิ่งผ่านของข้อมูลมีหลายช่องทาง หากว่าเส้นทางการวิ่งใดมีปัญหาข้อมูลก็สามารถไปวิ่งผ่านประตูทางผ่านอื่นได้"
"แต่พอเป็นเส้นทางวิ่งมีทางเดียว ความเสี่ยงก็เพิ่มมากขึ้น เช่น หากประตูทางผ่านที่มีอันเดียวมันล่ม ก็จะทำให้การวิ่งผ่านของข้อมูลมันล่มทั้งระบบ และสาเหตุก็เกิดได้หลายวิธี อาทิ ไฟดับบ้าง หรือหากมีผู้ก่อการร้ายมาโจมตี การรวมศูนย์แบบนี้ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้นไปอีก" นักวิชาการด้านวิศวกรรมแสดงความกังวล
"ประเด็นถัดมาก็คือ การจะมีประตูทางผ่านเพียงอันเดียว ก็ต้องการันตีได้ว่าประตูทางผ่านนั้นจะมีประสิทธิภาพสูงพอจะรองรับการไหลเวียนข้อมูลจำนวนมหาศาล ดังนั้น ถ้าประตูทางผ่านไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หรือทำให้เกิดการขวางทางของการส่งข้อมูล ก็จะเป็นผลให้ภาพรวมการใช้อินเทอร์เน็ตภายในประเทศช้าลงไปด้วย
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ มองว่า ถ้าหากเป้าประสงค์ของผู้มีอำนาจคือการเข้าไปสอดส่อง แทรกแซงการไหลผ่านของข้อมูล พวกเขาอาจไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลไหลผ่านประตูบานเดียวแบบที่ได้กล่าวมา แต่เป็นการเอาระบบไปไว้ตามเส้นทางการส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตแต่ละสายแทน เช่น ไม่ว่าจะวิ่งทางไหน เส้นไหน ก็ต้องผ่านตัวกรองที่รัฐติดตั้งไว้ก่อน ไม่ต้องบังคับให้การวิ่งไหลของข้อมูลมาที่จุดๆเดียว และวิธีนี้ก็จะแก้ไขข้อบกพร่องเดิมๆ เช่น การล่มทั้งระบบ หรือ ทำให้ความรวดเร็วในการทำงานของอินเทอร์เน็ตไม่ช้าลง
+ถ้าใช้ Single Gateway แบบประจำจุด แล้วเน็ตไม่ช้า ไม่ล่มทั้งระบบ แบบนี้ก็ไม่น่ามีปัญหา?
ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ มองว่า สิ่งที่น่ากังวลใจก็คือ "การยกอำนาจในการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลให้กับรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ" เพราะเดิมการปิดกั้นต่างๆ รัฐสามารถทำได้โดยการแจ้งไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต แต่ปัญหาที่ผ่านมาก็คือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ไม่ค่อยทำตาม ดำเนินการล่าช้า ไม่ว่าจะด้วยตัวผู้ให้บริการไม่สนใจเอง หรือเพราะต้องคำนึงถึงตัวผู้ใช้บริการก็ตาม 
ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ยังกล่าวอีกว่า "เมื่อรัฐเอาระบบกรองไปไว้ตามเส้นทางการไหลผ่านของข้อมูล รัฐก็จะสามารถคัดกรองเองได้มากขึ้น ทั้งที่การปิดกั้นเหล่านี้ รัฐควรต้องถูกตรวจสอบการใช้อำนาจ เพราะ การปิดกั้นโดยปกติก็จะต้องขอหมายศาล คือให้มีองค์กรมาตรวจสอบการใช้อำนาจ แต่การยกอำนาจให้รัฐแบบนี้ โดยเฉพาะในทางเทคนิคยิ่งตรวจสอบยากขึ้นไปอีก และก็มีหลายครั้งที่รัฐเลือกจะปิดกั้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของรัฐเอง ไม่ใช่การทำเพื่อคุ้มครองประชาชน"
"มันยากมากที่จะรู้ว่ารัฐปิดอะไร ทำอะไรไปบ้าง และรัฐกำลังพยายามปิดกั้นการรับรู้ของเราหรือเปล่า" นักวิชาการคอมพิวเตอร์แสดงความกังวล เมื่อรัฐจะลงมาจับตาสอดส่องการรับรู้ของประชาชนด้วยตัวเองแบบตรวจสอบอำนาจไม่ได้แบบนี้
+แต่ถ้ามองเรื่องว่า สามารถจัดการกับเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายได้ มันพอจะคุ้มค่าหรือเปล่า?
ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ คิดว่า "ตราบเท่าที่ผู้ให้บริการไม่เอาด้วย Single Gateway ก็ไร้ความหมาย เพราะผู้ให้บริการต้องคำนึงถึงตัวผู้ใช้บริการ เช่น เมื่อต้องผ่านระบบกรองของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แล้วส่งผลให้เน็ตช้า ผู้ให้บริการก็คงไม่ยินยอมเข้าร่วมโครงการ  หรือในกรณีที่มีการติดตั้งระบบของรัฐที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ถ้าระบบมีผลกระทบต่อผู้ใช้งานมาก ๆ ทางผู้ให้บริการอาจจะใช้วิธีการพิเศษที่หลบเลี่ยงระบบกรองของรัฐได้อยู่ดี ดังนั้นการทำระบบกรองแบบนี้ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพนัก และยังกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกด้วย"
และเมื่อถาม ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ว่า "ค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียไปกับการดำเนินระบบแบบนี้นั้นจะมากขนาดไหน?"
อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเมินว่า ถ้าใช้ระบบแบบ "หัวหน้ายามคนเดียว" คือบังคับให้การไหลผ่านข้อมูลมีทางเดียวค่าใช้จ่ายจะสูงเพราะต้องหาระบบที่ดีมากพอ มีประสิทธิภาพมากพอที่รองรับข้อมูลหลายๆเส้นทางได้ ไม่งั้นเน็ตจะล่ม เน็ตจะช้า และหากไปใช้ระบบ "ยามหลายคน" คือไปดักทุกเส้นทางนอกจากจะต้องมีระบบที่มีประสิทธิภาพระดับหนึ่งแล้ว เพื่อให้เน็ตไม่ช้า ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายกับการวางระบบในทุกๆจุด ซึ่งก็ประเมินไม่ได้ว่าต้องใช้จำนวนมากขนาดไหน
ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ยังย้ำอีกว่า โดยระบบปกติมันสามารถทำงานของมันได้ โดยไม่ต้องเพิ่มความเสี่ยงที่ตามมา หรือทำให้ค่าใช้จ่ายมันเพิ่มมากขึ้น รัฐสามารถแจ้งไปยังผู้ให้บริการให้ช่วยจัดการกับเว็บนั้น เว็บนี้ ได้อยู่แล้ว และความล้าช้าของผู้ให้บริการนั้นก็เกิดจากการคำนึงถึง "สิทธิเสรีภาพ" ของผู้ใช้บริการ ไม่มีใครอยากทะเลาะกับลูกค้า ต้องเสียทรัพยากรในการตรวจสอบให้กับรัฐแล้วยังมาเสียฐานลูกค้าอีก ดังนั้นรัฐต้องทำความเข้าใจในประเด็นนี้ก่อน
+จากที่อธิบายมาดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับ "ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์" แต่เป็น "ความมั่นคงของชาติ" แทน?
ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ กล่าวว่า วิธีการแบบนี้อาจจะไม่ค่อยส่งเสริมเสถียรภาพของอินเทอร์เน็ตหรือความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีนัก เพราะหากรวมศูนย์เส้นทางการไหลเวียนข้อมูล การโจมตี การแฮกก็จะง่ายมากขึ้น หรือต่อให้เป็นแบบวางประจำจุดก็มีความเป็นไปได้ที่แฮคระบบหนึ่งได้ก็จะลามมาแฮคข้อมูลจากทางผ่านอื่นๆได้
ดังนั้นพอจะสันนิษฐานได้ว่า ทิศทางการพัฒนาระบบ Single Gateway เป็นไปเพื่อร้องรับความต้องการด้านความมั่นคงของชาติ ในมิติการสอดส่องดูแลเนื้อหาที่ส่งข้ามเครือข่าย การปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่ถูกต้อง แต่เราก็มีค่าใช้จ่ายเป็นความเสี่ยงเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบที่เราจะต้องแบกไว้
ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ กล่าวอีกว่า การใช้อำนาจของรัฐเพื่อความมั่นคงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงหลัก "ได้สัดส่วน" เช่น ถ้าเรากำหนดให้คนทุกคนต้องถอดเสื้อตลอดเวลาเพื่อป้องกันการครอบครองอาวุธ อย่างนี้ก็จะได้เกินเลย ไม่ได้สัดส่วน เช่นเดียวกันหากรัฐสอดส่องมากไปก็อาจจะเป็นการคุกคามมากกว่าคุ้มครอง ยกตัวอย่าง กล้องวงจรปิด สิ่งที่เราเสียไปคือความเป็นส่วนตัว หากเราอยู่ในพื้นที่นั้น เราถูกบันทึก จับตาตลอดเวลา แล้วก็เชื่อกันว่ามันจะปลอดภัยมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงผลก็แทบจะไม่ต่างกันเลย
+การที่รัฐออกมาบอกว่าจริงๆ มันคือ “ฮับ” หรือศูนย์กลางดิจิทัล  เพราะต้องการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจดิจิทัลในภูมิภาค สร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาใช้ช่องทางเชื่อมต่อของไทย นั้นมันมีรายละเอียดอย่างไร?
ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ อธิบายว่า ตอนนี้ก็ยังมีความสับสนอยู่ เพราะแต่ละคนก็พยายามจะนิยามความหมายของ Single Gateway ในแง่ดี ยกตัวอย่างการพูดเรื่องการเป็น “ฮับ” หรือศูนย์กลางดิจิทัล ซึ่งรายละเอียดก็คือ ให้การไหลเวียนข้อมูลในประเทศอื่นมาผ่านทางประเทศไทยให้มากขึ้น เพราะเราอาจจะโปรโมตว่า เน็ตเราอาจจะมีความเร็วมากกว่า เป็นต้น
แต่เมื่อถามต่อว่า "แล้วประเทศเราจะได้อะไร จากการเป็นศูนย์กลางดิจิทัล" 
ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ กล่าวแบบติดตลกว่า "ผมไม่แน่ใจ แต่จากคุยกับเพื่อนในแวดวงเกี่ยวกับไอที ก็ได้รับคำตอบว่ามันอาจจะช่วยการส่งเสริมการลงทุน เช่น โปรโมตว่าเน็ตเร็วกว่าที่อื่น ค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่ประเด็นคือ การวิ่งผ่านข้อมูลแตกต่างจากการวางเส้นทางสายการบิน ข้อมูลวิ่งไปวิ่งมาโดยไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้อะไร จึงไม่ค่อยแน่ใจกับความต้องการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลเท่าไร"
ทั้งนี้ ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ บอกว่า ถ้ามองในมิติการลงทุน มันก็มีรายละเอียดที่มากกว่านั้น คือ ต้องดูความคุ้มค่า กฎหมายในประเทศ รวมถึงความมั่นคงปลอดภัยของระบบ ซึ่งความเสี่ยงแบบนี้ผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญ แต่ทั้งหมดทั้งมวล เป็นคนละประเด็นกับนัยยะที่แท้จริงของ Single Gateway เพราะการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง และถ้าเราเอาตัวกรองมาดักการไหลผ่านข้อมูลก็คงไม่มีผู้ประกอบการที่ไหนอยากจะมาใช้บริการประเทศเรา