รายงานหนึ่งปี สนช. 1/3 : การพิจารณากฎหมายในสภา

รายงานจับตาหนึ่งปี สนช. ใช้งบเฉียด 300 ล้าน พิจารณากฎหมาย 130 ฉบับ ผ่าน 108 ไม่ผ่าน 0
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นสภาที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อทำหน้าที่เสนอ และกลั่นกรองกฎหมาย รวมทั้งทำหน้าที่อื่นๆ ที่เดิมเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาด้วย
ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 กำหนดให้ สนช.มีสมาชิกไม่เกิน 220 คน โดยวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง สนช.เป็นครั้งแรกจำนวน 200 คน  ซึ่งมีผู้ขาดคุณสมบัติและลาออกไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้เหลือ 192 คน ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2557 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเพิ่มอีกจำนวน 28 คน ทำให้มีสมาชิก สนช. รวม 220 คน
หากนับจากวันที่เริ่มการประชุมครั้งแรกของ สนช. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2558 สนช. มีอายุการทำงานครบ 1 ปี ผลงานของสนช. ในส่วนของการพิจารณากฎหมายนั้น มีร่างกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. จำนวน 130 ฉบับ สนช. ประกาศให้ใช้เป็นกฎหมายแล้ว จำนวน 108 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. จำนวน 22 ฉบับ และมีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งไปแล้ว 28 ตำแหน่ง ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว 4 คน ทั้งนี้กฎหมายที่ประกาศใช้ 108 ฉบับ ยังไม่นับรวม พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2557 และ 2558
+ หนึ่งปี สนช. พิจารณากฎหมายแล้ว 130 ฉบับ ครม.เสนอมากสุด 105 ฉบับ
ในจำนวนร่างกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณาของสนช. 130 ฉบับ เป็นกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีมากที่สุดคือ 105 ฉบับ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 21 ฉบับ สมาชิก สนช. 3 ฉบับ และประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 1 ฉบับ
ขณะที่กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาแล้วจำนวน 108 ฉบับ ถูกเสนอโดย 23 หน่วยงาน กระทรวงการคลังเสนอมากที่สุดอย่างน้อย 18 ฉบับ รองลงมาคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างน้อย 9 ฉบับ กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงคมนาคมเสนอกฎหมายไปอย่างน้อย 7 ฉบับ
ในบรรดากฎหมายทั้ง 108 ฉบับ เป็นกฎหมายในประเด็นเทคนิค กล่าวคือ เป็นกฎหมายใหม่ที่ไม่ได้มีเนื้อหาใหม่มากนัก แต่มุ่งเน้นเกี่ยวกับการปรับปรุงในประเด็นทางเทคนิคที่กฎหมายเดิมอาจล้าสมัยไปแล้ว โดยไม่กระทบต่อสิทธิหน้าที่ของประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐมากนัก ซึ่งมีกฎหมายประเภทนี้อยู่ 14 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น, พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 63) เป็นต้น
เป็นกฎหมายที่แก้ไขจากกฎหมายเดิมมีจำนวน 77 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง, พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์, พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ฯลฯ และเป็นกฎหมายที่ออกใหม่ ประเทศไทยไม่เคยมีกฎหมายในประเด็นนี้มาก่อน จำนวน 17 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์, พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก, พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ เป็นต้น

 

+ กฎหมายผ่านเฉลี่ยเดือนละ 9 ฉบับ ผ่านสามวาระรวด 3 ฉบับไม่เคยมีฉบับไหนไม่ผ่าน

 

ในแง่กระบวนการออกกฎหมายของ สนช. พบว่า จากการประชุมเต็มคณะรวมทั้งสิ้น 80 ครั้ง สามารถออกกฎหมายได้ 108 ฉบับ  เฉลี่ยแล้วการประชุม 1 ครั้ง จะผ่านกฎหมายได้ 1.35 ฉบับ และหากคิดจากการทำงานที่ผ่านมา 12 เดือน เท่ากับ สนช. ผ่านกฎหมายเฉลี่ยเดือนละ 9 ฉบับ โดยที่ไม่เคยมีกฎหมายฉบับใดที่เมื่อ สนช. รับหลักการในวาระที่ 1 แล้วต่อมาถูกโหวตให้ตกไปเลยแม้แต่ฉบับเดียว อาจกล่าวได้ว่ากฎหมายที่เข้า สนช. ทุกฉบับไม่เคยมีฉบับใดไม่ผ่าน
เมื่อพิจารณาระยะเวลาในการออกฎหมายของ สนช. พบว่า ร่างกฎหมายที่มีการพิจารณานานที่สุดคือ ร่างพ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน การพิจารณานับตั้งแต่เข้าวาระแรกจนผ่านวาระที่ 3 ใช้เวลาไป 202 วัน หรือเกือบ 7 เดือน ส่วนร่างกฎหมายที่พิจารณาเร็วที่สุด พิจารณา 3 วาระรวดภายใน 1 วัน มีจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 63), ร่าง พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม (องค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการยุติธรรม) ซึ่งยังไม่รวมถึงการแก้เพิ่มเติมไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่ผ่านสามวาระรวดเช่นเดียวกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ด้วยมติ 203 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 โดยแก้ไขเพื่อเปิดช่องให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
กระบวนการพิจารณากฎหมายของ สนช. ยังเป็นที่จับตา เฝ้าดู เละสังเกตการณ์จากประชาชนไม่มากนัก เพราะ สนช. ทำงานอย่างรวดเร็วจนกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชนอาจเล็ดลอดออกมาประกาศใช้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งมีกฎหมายมากกว่า 10 ฉบับที่ผ่านการพิจารณาในขณะที่ยังเป็นข้อถกเถียงในสังคมอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น
พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก: เสียภาษีมรดกที่เกิน 100 ล้าน อัตราร้อยละ 10
พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก เป็นกฎหมายที่ถูกคาดหมายว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในวาระแรก ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้รับมรดกเสียภาษีในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทในอัตราร้อยละ 10 ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบไม่พอใจ จึงมีการแก้ไขเป็น ให้ผู้ที่รับมรดกเกิน 100 ล้านบาทเสียภาษีส่วนที่เกิน ในอัตราร้อยละ 10 ซึ่งมีข้อถกเถียงว่า ผู้รับมรดกเกิน 100 ล้านบาทมีจำนวนน้อยมากทำให้เก็บภาษีได้น้อย และเก็บในอัตราคงที่ จึงไม่น่าจะนำรายได้เข้ารัฐได้มากนัก ทำให้อาจจะไม่สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริง
พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ: การชุมนุมต้องแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง 
พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะเป็นกฎหมายที่มีข้อถกเถียงหลายประเด็นอาทิ ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า 24 ชั่วโมงว่าจะชุมนุม ซึ่งจิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพไทรอัมพ์ เห็นว่าบางเรื่องเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่สามารถแจ้งล่วงหน้าได้ เช่น นายจ้างเลิกจ้าง ปิดโรงงาน ก็เป็นเรื่องด่วนที่รอไม่ได้ ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เคยออกแถลงการณ์แสดงความกังวล ว่าหลายมาตราของกฎหมายนี้อาจละเมิดเสรีภาพการแสดงออก 
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ศาลเข้ามาออกคำสั่งบังคับในกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่ออกจากพื้นที่ที่มีการประกาศให้ยุติการชุมนุมแล้ว อาจส่งผลทำให้ศาลกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ชุมนุมเอง 
พ.ร.บ.อุ้มบุญฯ: คนโสด คนรักเพศเดียวกัน มีลูกด้วยวิธีอุ้มบุญไม่ได้
พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรือกฎหมายอุ้มบุญ มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการตั้งครรภ์เพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่ก็มีนักวิชาการบางส่วนคัดค้าน ขอให้ชะลอกฎหมายนี้ออกไปก่อนเพราะเกรงว่าการบังคับใช้อาจจะเป็นช่องทางให้คนลักลอบว่าจ้างอุ้มบุญซึ่งเป็นการค้ามนุษย์อย่างหนึ่ง ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้จำกัดการมีบุตรจากการอุ้มบุญให้เฉพาะคู่สามีภรรยาที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ไม่ครอบคลุมคนโสดและคู่ชีวิตเพศเดียวกันที่ต้องการมีบุตร อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้มีหลักเกณฑ์หลายส่วนที่ยังขาดความชัดเจนแน่นอน เนื่องจากจะต้องรอให้แพทยสภาและคณะกรรมการ ออกประกาศหรือกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องก่อน 
แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2 ฉบับ: คุ้มครองสิทธิผู้ค้ำประกันให้มากขึ้น
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (แก้ไขเรื่องค้ำประกันและจำนอง) เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ค้ำประกันและผู้จำนองให้มากขึ้น หลายฝ่ายกังวลว่าจะ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เข้าถึงแหล่งเงินทุนยากขึ้น เพราะเจ้าหนี้จะมีความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐจะประสบปัญหาในการกู้เงินลงทุนเพราะการค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ไม่มีความหมาย 
ภายหลังจากการแก้ไขครั้งแรกมีผลบังคับใช้ได้เพียง 1 วัน สภานิติบัญญัติก็ผ่าน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (แก้ไขเรื่องค้ำประกันและจำนอง) อีกครั้ง เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ที่เพิ่งออกมาก่อนหน้านี้ โดยแก้ไขให้นิติบุคคลในฐานะผู้ค้ำประกันสามารถรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่กฎหมายเดิมอาจส่งผลกระทบต่อโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่มีธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ค้ำประกันได้ 
แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง: วางระบบอุทธรณ์ฎีกาใหม่ ยื่นฎีกาต้องขออนุญาต
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของ สนช. ออกมาเพื่อจัดวางระบบการอุทธรณ์ฎีกาใหม่ ให้ศาลฎีกามีหน้าที่พิจารณาเฉพาะคดีที่จะวางบรรทัดฐานการตีความกฎหมายหรือคดีที่เป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ทำให้คดีแพ่งส่วนใหญ่จะจบที่ศาลชั้นอุทธรณ์ คดีที่ต้องการยื่นฎีกาต้องได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาก่อน
ระบบใหม่นี้อาจแก้ปัญหาคดีคั่งค้างได้มาก แต่ขณะเดียวกันก็ถือว่าพลิกโฉมกระบวนการยุติธรรมของไทยจากที่เดิมมีศาลสามชั้นเหลือเพียงสองชั้น สภาทนายความออกตัวคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งครั้งนี้เพราะถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนในการยื่นฎีกา 
พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม: นิยาม “เภสัชกร” ยังไม่ชัด
พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม ผ่านออกมาในขณะที่สมาชิกสภาเภสัชกรจำนวน 1,633 คน ยื่นหนังสือต่อสภาเภสัชกรรม เพื่อคัดค้านร่างฉบับนี้เพราะยังไม่ผ่านการมีส่วนร่วมของสมาชิก โดยมีประเด็นที่เป็นที่ถกเถียง เช่น นิยามของวิชาชีพเภสัชกรไม่ชัดเจน เพิ่มหน้าที่ในการปรุงยาและจ่ายยาให้วิชาชีพอื่น และร่างนี้ยังได้ปรับแก้ให้เภสัชกรต้องต่ออายุใบประกอบวิชาชีพฯ ทุกๆ 5 ปี  จากเดิมสอบใบประกอบวิชาชีพฯ ครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้ตลอดชีพ
การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ผ่านไปแล้ว 4 แห่ง กำลังพิจารณาอีก 3 แห่ง
การออกนอกระบบหรือการเปลี่ยนสถานะของมหาวิทยาลัยจากหน่วยงานราชการในสังกัดของรัฐโดยตรง เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ด้วยเหตุผลเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหาร ทำให้มหาวิทยาลัยมีอิสระมากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล มีกลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยออกมาคัดค้านทั้งการจัดกิจกรรม ติดป้ายผ้า และยื่นหนังสือต่อ สนช. เพราะเห็นว่าการร่างกฎหมายดังกล่าวมาจากบุคคลกลุ่มเดียว ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาคมมหาวิทยาลัย การออกนอกระบบจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เพราะมีการเพิ่มอำนาจให้ผู้บริหารมากขึ้น ค่าเล่าเรียนมีแนวโน้มสูงขึ้น นำไปสู่การปิดกั้นโอกาสเข้าถึงการศึกษา
สนช. เห็นชอบให้มหาวิทยาลัย 4 แห่งออกนอกระบบไปแล้ว ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยอีก 3 แห่ง ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณา ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
+ กฎหมายที่ประชาชนเคยเสนอผ่านแล้ว 4 จาก 26 ฉบับ ยังแก้ข้อคาใจไม่หมด
ก่อนการรัฐประหาร ภาคประชาชนเคยใช้สิทธิเข้าชื่อกัน 10,000 คน เพื่อเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณามาแล้วอย่างน้อย 50 ฉบับ มีร่างกฎหมายที่รัฐสภารับไว้พิจารณาแล้วแต่ยังไม่เสร็จ 26 ฉบับ เมื่อมีการประกาศยุบสภาร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอทั้งหลายจึงคั่งค้างอยู่ไม่มีทางไปต่อ จนกระทั่ง สนช. เริ่มปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่ได้เอาร่างทั้ง 26 ฉบับกลับเข้าสู่กระบวนการ แต่หากร่างฉบับไหนมีหน่วยงานภาครัฐเสนอเข้ามาก็จะรับพิจารณาตามขั้นตอนไป แม้ว่าร่างที่หน่วยงานภาครัฐเสนอนั้นจะมีเนื้อหาแตกต่างจากร่างที่ประชาชนเคยเสนอค้างไว้ก็ตาม
พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เป็นหนึ่งในกฎหมายที่ประชาชนเคยเสนอและค้างพิจารณาอยู่ในวาระที่ 2 ก่อนการยุบสภา ซึ่ง สนช.ประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ท่ามกลางข้อเรียกร้องของภาคประชาชนกลุ่มเดียวกับที่เคยเสนอกฎหมายให้ สนช. แก้ไขระบุเพิ่มข้อห้ามการทารุณกรรมสัตว์ด้วยวิธีต่างๆ เข้าไปอีก 
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่ง สนช. ประกาศใช้ไปเมื่อ 9 มกราคม 2558 มีเนื้อหาคล้ายกับร่างกฎหมายที่ประชาชนเคยเสนอและค้างการพิจารณาอยู่ แต่ร่างของประชาชนใช้ชื่อว่า “ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ. …” ข้อแตกต่างสำคัญ คือ ร่างฉบับที่ประกาศใช้ไปแล้วมีข้อยกเว้นให้เลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างทางเพศได้ หากเป็นกรณีที่มีเหตุผลทางวิชาการ ทางศาสนา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นหลักการที่ภาคประชาชนคัดค้านมาตลอดและไม่มีในร่างที่ประชาชนเคยเข้าชื่อเสนอ
นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ประชาชนเคยเข้าชื่อกันเสนอและมาผ่านในยุคของ สนช. อีกด้วย รวมแล้ว สนช. ผ่านกฎหมายที่ประชาชนเคยเสนอแต่ค้างการพิจารณาอยู่ก่อนยุบสภาไป 4 ฉบับ อีก 22 ฉบับยังไม่ถูกยกขึ้นมาพิจารณาต่อ
ขณะที่มีร่างกฎหมายอีกหลายฉบับที่ประชาชนอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อยังได้ไม่ครบ และ สนช. หยิบขึ้นมาพิจารณาประกาศใช้ไปแล้ว เช่น พ.ร.บ.ประมง ซึ่งผ่าน สนช. เมื่อ 29 มกราคม 2558 แม้กฎหมายฉบับนี้จะมีการระบุถึงบทบาทขององค์กรชุมชนประมงไว้คล้ายกับข้อเสนอที่ประชาชนอยากเห็น แต่หลักเกณฑ์เงื่อนไขก็ยังไม่เหมือนกับร่างพ.ร.บ.ประมง ฉบับภาคประชาชนทั้งหมด
พ.ร.บ.ประกันสังคมเป็นกฎหมายอีกฉบับที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานเคยเข้าชื่อกันเสนอ เพื่อให้ลูกจ้างมีช่องทางเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารระบบประกันสังคมได้ รัฐสภาเคยลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายนี้ทำให้ตกไป ต่อมาร่างของกระทรวงแรงงานผ่าน สนช. เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 ซึ่งมีเนื้อหาหลายประการที่คล้ายกับข้อเสนอของภาคประชาชนแต่ก็มีหลายประเด็นที่แตกต่างออกไป 
ไฟล์แนบ