รายงานหนึ่งปี สนช. 3/3: การใช้งบประมาณพิจารณากฎหมาย

หนึ่งปี สนช. ใช้เงินงบเฉียดสามร้อยล้าน เพื่อผ่านกฎหมาย 108 ฉบับ
นับตั้งแต่เปิดประชุมสภาในเดือนสิงหาคม 2557 สนช.มีผลงานการันตีการทำงานอย่างหนัก คือ การผ่านร่างกฎหมายอย่างน้อย 108 ฉบับ สิ่งที่น่าสนใจคือ ในการทำงานของ สนช.ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณเท่าไร? ซึ่งอาจคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างง่ายที่ต้องใช้ไปจากข้อมูลต่อไปนี้
หนึ่ง เงินเดือนของประธาน รองประธาน และสมาชิก สนช. (ตั้งแต่สิงหาคม 2557 – กรกฎาคม 2558) โดยเงินเดือน ประธาน สนช. เท่ากับ 125,590 บาทต่อเดือน และ รองประธาน สนช. เงินเดือน 115,740 บาทต่อเดือน เมื่อรวมเวลาทำงาน 11 เดือน คิดเป็น เงิน 2,654,630 บาท และเงินเดือน สมาชิก สนช. ทั้งหมด 217 คน คนละ 113,560  บาทต่อเดือน รวมทำงาน 11 เดือน คิดเป็นเงิน 271,067,720 บาท ดังนั้นค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เป็นส่วนของเงินเดือน สนช. เท่ากับ 273,722,350 บาท
สอง ค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมาธิการที่สภาแต่งตั้งหลังสภามีมติรับหลักการวาระแรกของการพิจารณากฎหมายฉบับต่างๆ โดย ค่าเบี้ยประชุมกรรมาธิการจ่ายครั้งละ 1,500 บาทต่อคนต่อการมาประชุมหนึ่งครั้ง สนช.ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการอย่างน้อย 97 ชุด สำหรับการพิจารณากฎหมาย 108 ฉบับ คณะกรรมาธิการแต่ละชุดมีจำนวนไม่เท่ากัน สูงสุดอยู่ที่ 30 คน และต่ำสุดอยู่ที่ 15 คน  รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 16,702,500 บาท โดยคิดจาก จำนวนครั้งในการประชุมและจำนวนคณะกรรมาธิการตามกำหนดการที่นัดประชุม
  
ค่าใช้จ่ายในการประชุมกรรมาธิการที่คำนวณออกมานี้ยังไม่นับรวมการประชุมของคณะกรรมาธิการอีกหลายชุดที่พิจารณากฎหมายฉบับที่ยังไม่แล้วเสร็จ 
และเมื่อนำเงินเดือนของสมาชิก สนช. มารวมกับค่าเบี้ยประชุมกรรมาธิการ ก็คือ ค่าประมาณของเงินงบประมาณแผ่นดินที่ถูกใช้ไปแล้ว เท่ากับ 290,424,850 บาท 
อย่างไรก็ดี ยอดรวมทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวม เบี้ยประชุมของอนุกรรมาธิการ สนช.ที่จะได้รับ 800 บาท/ครั้ง รวมถึงสิทธิให้สมาชิก สนช. เช่น ค่าพาหนะ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างจังหวัดและต่างประเทศ ตามภาระหน้าที่ และค่าใช้ในการจัดประชุมหรือจัดกิจกรรมนอกสถานที่อีกด้วย 
 
+ เฉลี่ยกฎหมายแต่ละฉบับของใช้เงินประมาณ “สองล้านห้าแสน” พ.ร.บ.การยางฯ ใช้เงินมากสุด และกฎหมายขึ้นเงินเดือนข้าราชการใช้เงินน้อยสุด 
เมื่อเรานำเงินเดือนของสมาชิก สนช. ที่ประเมินไว้ข้างต้น (273,722,350 บาท)  มาหารด้วยจำนวนกฎหมายที่ สนช. ให้ความเห็นชอบในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (108  ฉบับ) จะได้ ค่าเฉลี่ยของเงินที่ใช้ไปกับกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่งเท่ากับ 2,534,466 บาท
โดยกฎหมายที่ใช้เงินมากที่สุดคือ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย  ซึ่งมีการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญ 18 ครั้ง และมีจำนวนคณะกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน โดยใช้ค่าเบื้ยประชุมทั้งหมด ประมาณ 675,000 บาท และเมื่อนำมาคิดรวมกับเงินเดือนและระยะเวลาการทำงานของ สนช. ด้วยแล้ว ทำให้กฎหมายดังกล่าวใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,209,466 บาท 
ส่วนกฎหมายที่ประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดก็คือ กฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2)  / พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ 2)  / พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) / พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) / พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2558     
ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ถูกนำมาพิจารณารวมกันเนื่องจากเป็นกลุ่มกฎหมายที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันนั้นคือการ "ปรับเงินเดือนราชการ" จึงใช้คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดเดียวกัน นัดประชุมในวันเดียวกัน โดยมีการประชุมทั้งสิ้น 6 ครั้ง มีจำนวนคณะกรรมาธิการ 15 คน และใช้ค่าเบื้ยประชุมต่อฉบับ ประมาณ 27,000 บาท และเมื่อนำมาคิดรวมกับเงินเดือนและระยะเวลาการทำงานของ สนช. ด้วยแล้ว ทำให้กฎหมายดังกล่าวใช้เงินงบประมาณต่อฉบับเท่ากับ 2,561,466 บาท
  
+ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ใช้เงินเบี้ยประชุมไปกว่า “สามแสนบาท” แต่ผู้เสนอขอถอนร่างกฎหมายออก 
ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีการตั้งคณะกรรมาธิการในวาระสอง 2 ครั้ง โดยการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับแรก มีการตั้งกรรมาธิการมาพิจารณา 30 คน และมีการประชุมทั้งสิ้น 7 ครั้ง ซึ่งใช้เงินค่าเบี้ยประชุมอย่างเดียว 315,000 บาท แต่ทว่า ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้เสนอกฎหมายได้ขอถอนร่างดังกล่าวออก และเสนอร่างฉบับใหม่ เมื่อร่างฉบับใหม่ผ่านวาระแรกของสภา จึงตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดใหม่ 21 คน และประชุมอีก 7 ครั้ง ซึ่งใช้เงินค่าเบี้ยประชุม 220,500 บาท จึงออกมาเป็นร่างที่สภาให้ผ่านและประกาศใช้เป็นกฎหมายในที่สุด เท่ากับว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ใช้เงินค่าเบี้ยประชุมอย่างเดียว 535,500 บาท
ข้อครหา: ตั้งคนในครอบครัวเป็นที่ปรึกษา – ยื่นฟ้อง ป.ป.ช. ให้ยุติการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน
+ ตั้งคนในครอบครัวเป็นที่ปรึกษา 
การที่สมาชิก สนช. บางคนตั้งที่ปรึกษาเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย วิชาการ ตลอดจนศึกษาสภาพปัญหา และข้อร้องเรียนต่างๆ ถูกพูดถึงกันอย่างมาก โดยมีเงินเดือนในตำแหน่งต่างๆ ดังนี้ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว สนช. 24,000 บาท ผู้ชำนาญการประจำตัว สนช. 20,000บาท ผู้ช่วยประจำตัว สนช. 15,000 บาท ผู้ช่วยผู้ดำเนินงานของ สนช. 15,000 บาท ซึ่งสำนักข่าวอิศรา เปิดเผยว่ามีสมาชิก สนช. ได้ตั้งเครือญาติ คนในครอบครัวให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว อย่างน้อย 50 ตำแหน่ง เช่น 
ตวง อันทะไชย แต่งตั้ง ปิยะณัฐ อันทะไชย บุตรชาย เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช.
สมชาย แสวงการ แต่งตั้งเอกชัย แสวงการ น้องชาย เป็นผู้ช่วยประจำสนช.
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์  แต่งตั้ง นันทนัช ศิรธรานนท์ บุตรสาว เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช.
พล.อ.อ.ไพศาล สีตบุตร พี่ชาย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. แต่งตั้งนางสุพร สีตบุตร ภริยา เป็นผู้ช่วยประจำตัว
พล.อ.อู๊ด เบื้องบน แต่งตั้ง พ.ต.ศิริพัฒน์ เบื้องบน บุตรชาย เป็น ผู้ช่วยประจำตัว สนช.
ขณะที่ พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ แต่งตั้ง พล.ร.ต.หญิง พวงพลอย ขจิตสุวรรณ คู่สมรส เป็นผู้ช่วยประจำตัว ผู้ชำนาญการประจำตัว และผู้เชี่ยวชาญประจำตัว รวม 3 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ ประกาศ สนช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่ สนช. ระบุชัดเจนว่า “บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติงานให้แก่ สนช. คนหนึ่ง ให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ-ผู้ช่วยดำเนินงาน ได้เพียงตำแหน่งเดียว และบุคคลดังกล่าวจะต้องไม่เป็นผู้ปฏิบัติงานให้แก่ สนช. คนอื่นอีก”
และ “สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องละเว้นจากการแสวงหาผลประโยชน์ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่และไม่กระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน และจะต้องดูแลให้คู่สมรสและบุตรของสมาชิกและกรรมาธิการปฏิบัติตามเช่นเดียวกันด้วย”
+ ยื่นฟ้อง ป.ป.ช.ให้ยุติการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน
29 สิงหาคม 2557 สมาชิกสนช. จำนวน 28 ราย นำโดย พล.อ.นพดล อินทปัญญา ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังป.ป.ช. มีมติ ลงวันที่ 14 และ 27 สิงหาคม 2557 ให้สมาชิก สนช. ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. และให้ประกาศเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณชน สมาชิก สนช.กลุ่มนี้เห็นว่า สมาชิก สนช. มิได้มีฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณชน ซึ่งจะทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
วันที่ 3 กันยายน 2557 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง เนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความหมายถึงผู้เอาภาระของบ้านเมืองเป็นภาระของตน มีหน้าที่ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจเพื่อให้สังคมรับรู้รับทราบถึงความโปร่งใส ต่อมา 30 กันยายน 2557 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง 
ไฟล์แนบ