งานวิจัยสื่อในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีเสนอ รัฐควรกำกับให้น้อย ต้องประกันเสรีภาพให้ตัวกลาง

24 กรกฎาคม 2558 มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ร่วมกับ สำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง (สส.)  สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดเสวนาเรื่อง “สำรวจภูมิทัศน์และอนาคตของการจัดการสื่อในยุคหลอมรวมข้ามพรมแดน” ณ โรงแรมอมารี วอร์เตอร์เกท ตั้งแต่เวลา 09.30 – 17.00 น.
งานวิจัย การกำกับสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี 
ในช่วงเช้า ได้มีการนำเสนอผลวิจัยโครงการศึกษาแนวทางการส่งเสริมจริยธรรมจรรยาบรรณ และการกำกับกิจการสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี โดย อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน  
อาทิตย์อธิบายว่า ลักษณะของ “สื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี” เป็นสื่อดิจิทัลที่มีลักษณะให้ผู้ใช้ตอบโต้ได้ เปลี่ยนรูปและถูกส่งต่อไปยังช่องทางอื่นได้ง่าย หรือเป็นสื่อที่ถูกสร้างโดยพลเมืองทั่วไป ซึ่งก่อนหน้านี้ สำหรับสื่อดั้งเดิมพลเมืองเป็นเพียงผู้รับสื่อเท่านั้น 
ยุคหลอมรวมเทคโนโลยี ส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่างกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง และเครือข่ายข้อมูลคอมพิวเตอร์ พร่าเลือน การหลอมรวมของสื่อ (Media Convergence) ทำให้การกำกับสื่อที่ยังแบ่งแยกการกำกับตามชนิดของสื่อกลางไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้ใช้สื่อ
โดยงานวิจัยชิ้นนี้ เสนอแนวทางการจัดการสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยีหลายประการ เช่น 
  • ควรปรับบทบาทหน้าที่หน่วยงานที่มีอยู่แล้วให้คลอบคลุมภารกิจใหม่ และให้มีความยึดโยงกับประชาชน มีความโปร่งใสที่จะถูกตรวจสอบได้ง่าย  และแยกบทบาทระหว่างผู้ประกอบการกิจการและผู้กำกับกิจการ
     
  • ควรจัดสรรทรัพยากรโดยคำนึงถึงความสำคัญของสื่อใหม่ หากเชื่อว่าทิศทางของสื่อใหม่ในยุคหลอมรวม คือการมีอินเตอร์เน็ตเป็นแพลตฟอร์มหลัก ก็ควรจัดสรรคลื่นความถี่ให้สอดคล้องกับความสำคัญดังกล่าว นอกจากนั้น ด้วยเหตุที่ในภูมิทัศน์สื่อใหม่ สื่อพลเมืองจะมีความสำคัญเท่าๆ กับสื่ออื่น และเป็นช่องทางสื่อที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและร่วมผลิตเนื้อหาได้มากกว่าช่องทางอื่น จึงควรจะจัดสรรทรัพยากรให้กับสื่อพลเมืองไม่น้อยไปกว่าสื่ออื่น
     
  • สื่อควรทำงานกับสิ่งที่อยู่ในท้องถิ่นให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลท้องถิ่น ทรัพยากรท้องถิ่น ทุนท้องถิ่น  ในภาพรวม จำเป็นต้องจัดสรรทรัพยากรด้านต่างๆ มาที่รัฐบาลท้องถิ่นมากขึ้น
     
  • รัฐบาลควรกำกับเนื้อหาให้น้อยที่สุด โดยควรให้สื่อกำกับกันเอง หลักเกณฑ์ที่ควรนำมาใช้ร่วมกันคือ การเคารพหลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง
     
  • เนื่องจากเนื้อหาในยุคสื่อใหม่จำนวนมากมาจากผู้ผลิตสื่อที่เป็นประชาชนทั่วไป สื่อตัวกลางจะมีความสำคัญมากขึ้น ผู้ให้บริการขนาดใหญ่ในยุคสื่อใหม่ไม่ได้มีเพียงผู้ผลิตเนื้อหา แต่ยังมีสื่อตัวกลาง เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูป พันทิป ที่มีบทบาทมาก สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เป็นทั้งผู้รับข้อมูลและผู้ผลิตเนื้อหา จะอยู่ได้ในระบบใหม่เช่นนี้ ก็ต่อเมื่อมีการรับประกันเสรีภาพในการทำงานของสื่อตัวกลาง
     
  • ควรมีกลไกร้องเรียนชั้นต้นที่บริหารโดยตัวองค์กรสื่อเอง โดยในทุกกรณีต้องแสดงคำวินิจฉัยในสื่อของตนเองหรือช่องทางที่สามารถสืบค้นได้ด้วย และมีการทบทวนมาตรฐานที่ได้จากการประมวลคำวินิจฉัยทุกๆ ปี

 

ที่มาภาพ Official GDC
โครงสร้างพื้นฐานสำหรับอนาคตกับการอภิบาลสื่อในยุคหลอมรวม
ถัดจากการนำเสนอผลงานวิจัย ได้มีการเสวนาเรื่อง “โครงสร้างพื้นฐานสำหรับอนาคต: การอภิบาลสื่อในยุคหลอมรวมจะส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมและสังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร” ดำเนินการเสวนาโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จาก FTA Watch
ดร.กษิติธร ภูภราดัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบาย สวทช. นำเสนอเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นนโยบายเพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึง คุณภาพของการเข้าถึง และต้นทุนราคา
ดร.กษิติธรตั้งข้อสังเกตว่าร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังคงมีลักษณะการมองแบบแยกส่วนระหว่างกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง และเครือข่ายข้อมูลคอมพิวเตอร์ พร้อมตั้งความหวังว่าในอนาคตจะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างภาคนโยบายกับภาคการกำกับดูแล โดยควรมีตัวแทนของผู้กำกับดูแลเข้าไปมีส่วนร่วมกับคณะกรรมการที่กำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย
มยองจุน คิม ประธาน MediAct ประเทศเกาหลีใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสื่อทางเลือกเกิดขึ้นมากมายนอกเหนือจากสื่อกระแสหลักที่มีอยู่เดิม ในภูมิทัศน์ใหม่ ประชาชนสามารถผลิตสื่อเองได้ ทำให้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับสื่อทั้งหมดต้องมีความสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ต้องมีการสนับสนุนสื่อมวลชนอิสระ (Independent journalism) และสื่อมวลชนชุมชน (Community media) และต้องมีการให้ความสำคัญกับท้องถิ่น และนิเวศน์สื่อประชาชนท้องถิ่น (local people’s media ecosystem) ต้องเปิดรับแนวทางการนำเสนอเรื่องราวในรูปแบบใหม่ๆ เช่น ใน Transmedia, VR, AR, หรือสื่อ Virtual อื่นๆ 
ดอนนี บี ยู ผู้อำนวยการบริหาร ICT Watch ประเทศอินโดนีเซีย เสนอประสบการณ์ว่า ในอินโดนะเซียเจ้าของสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมยังกระจุกตัวอยู่ที่ไม่กี่เจ้า และยังมีปัญหาการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตในบางพื้นที่ เช่น ในหมู่เกาะ Malaku และ Papua ซึ่งมีสัญญาณในระดับต่ำ เพราะฉะนั้นนโยบายภาครัฐจึงควรเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของแต่ละชุมชนเพื่อเปิดพื้นที่ของสื่อออนไลน์ให้กว้างขวางและหลากหลายขึ้น โดยการขับเคลื่อนของภาคพลเมืองในประเทศอินโดนีเซียเป็นการพยายามโน้มน้าวให้ภาครัฐปรับเปลี่ยนจากการกำหนดนโยบายจากเบื้องบน (Top-down approach) มาเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากประชาชนในระดับล่าง (Bottom-up approach) 
การกำกับดูแลกันเองของสื่อใหม่คือแนวทางของอนาคต
ในช่วงบ่าย มีการเสวนาในหัวข้อ “การกำกับดูแลกันเองของสื่อใหม่เพื่อการตัดสินใจด้วยตัวเองของพลเมือง” ดำเนินการเสวนาโดยพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ส่วนงานเอเชียตะวันออก ฟอรั่มเอเชีย
เอ็ดการ์โด พี เลกาสปี ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) เสนอภาพรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลเนื้อหาของสื่อออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่า กฎหมายของภูมิภาคนี้มักเป็นการจำกัดกรอบ (restrictions) มากกว่าการคุ้มครองสิทธิ (protection of rights) กฎหมายมักนำพฤติกรรมออฟไลน์ที่ต้องการลงโทษมากำหนดเป็นเนื้อหาในการกำกับดูแลโลกออนไลน์ 
เอ็ดการ์โด มองว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีแนวทางการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตที่สมเหตุสมผลที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น ไม่มีการระบุเนื้อหาที่ต้องห้าม ไม่มีการกำหนดความรับผิดกับตัวกลาง (no intermediary liability) เป็นต้น สำหรับแนวทางในอนาคตควรเปลี่ยนจากการจำแนกสื่อโดยพิจารณารูปแบบ (classification according to medium) มาเป็นการจำแนกโดยพิจารณาวัตถุประสงค์ (classification according to purpose) และแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสมภายใต้หลักการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก
ล็อกแมน ซุย จาก The Chinese University of Hong Kong ได้เสนอแนวคิดเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมโดยไม่ต้องขออนุญาต” (Innovation without permission) โดยยกตัวอย่างเว็บไซต์ Wikipedia ซึ่งค่อยๆ มีการพัฒนานวัตกรรมการกำกับดูแลตัวเองไปตามธรรมชาติ ซึ่งลักษณะการกำกับดูแลตัวเองดังกล่าวจะไม่สามารถพัฒนาขึ้นได้ ถ้ากฎระเบียบกำหนดว่าต้องขออนุญาตในทุกขั้นตอน ในความเป็นจริงแล้ว หน่วยงานที่กำกับดูแลไม่สามารถทำนายอนาคตหรือทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้ จึงต้องให้พื้นที่ที่เหมาะสมกับสื่อเพื่อให้มีการพัฒนานวัตกรรมการกำกับดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องขออนุญาตก่อน 
นอกจากนี้ ล็อกแมน เสนอว่า ควรต้องมีการพิจารณาถึงแนวทางการสนับสนุนทุนให้แก่สื่อมวลชน (funding model) ที่นอกเหนือไปจากการโฆษณาด้วย เพราะการกำกับดูแลด้วยตัวเองยังอาจมีข้อจำกัดจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจ เพราะสื่อมวลชนย่อมต้องพึ่งพิงรายได้จากการโฆษณา 
สุวรรณา สมบัติรักษาสุข จากสถาบันอิศรา กล่าวว่า ที่ผ่านมาการตีความกฎหมายไม่ตรงตามเจตนารมย์ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การกำกับดูแลสื่อมีปัญหา โดยเฉพาะการที่ กสทช. เข้ามาพิจารณาทั้งในเรื่องความมั่นคงของชาติและจริยธรรมของสื่อ ทั้งที่ กสทช. มีอำนาจเพียงส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มและกำกับกันเองในเรื่องจริยธรรม ดังนั้น แนวทางที่ถูกต้องควรเป็นการกำกับดูแลตัวสื่อที่เป็นอาชีพผ่านองค์กรสื่อ