ระบบเลือกตั้งผสมแบบไทย-เยอรมัน ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558

การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นหัวใจสำคัญของการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ ระบบเลือกตั้ง ส.ส. นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540, รัฐธรรมนูญ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ถูกเปลี่ยนแปลงทุกครั้งเรื่อยมาตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
การปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมในปี 2535 ประเทศไทยได้รัฐธรรมนูญ 2540 เปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากเดิมที่เป็นระบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ ที่ส่งผลให้พรรคการเมืองและรัฐบาลอ่อนแอ มาเป็นระบบผสมที่มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ผลลัพธ์ประเทศไทยได้พรรคการเมืองที่กุมเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จ และได้รัฐบาลที่เข้มแข็งสมความปรารถนา  
การรัฐประหาร 2549 นำมาสู่รัฐธรรมนูญ 2550 ระบบเลือกตั้งยังคงเป็นแบบผสม แต่แบบแบ่งเขตให้เป็นแบบเขตเดียวเรียงเบอร์ ส่วนแบบบัญชีรายชื่อแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด ผลลัพธ์ของคือประเทศไทยได้รัฐบาลผสม แต่เสียงข้างมากยังคงเป็นของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ดีมีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2554 ได้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งให้กลับไปเป็นแบบรัฐธรรมนูญ 2540 
การรัฐประหาร 2557 นำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยโจทย์สำคัญของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  คือ ทำให้เกิดรัฐบาลผสม และมีพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองจำนวนมากเข้ามาในสภา (ในส่วนของกลุ่มการเมืองมีแนวโน้มที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะแก้ไข) เพื่อให้เกิดความหลากหลายของตัวแทนทางการเมืองต่างๆ ไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองจนเป็นเผด็จการรัฐสภา  
ดังนั้นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจึงออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ที่เรียกว่าระบบสัดส่วนแบบผสม หรือ Mix Member Proportional หรือ MMP หรือที่นิยมเรียกกันว่าระบบเยอรมัน เพื่อตอบสนองโจทย์ทางการเมืองที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลได้รับเสียงข้างมากเกินไป
ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมแบบไทย-เยอรมัน                                             
ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 กำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นระบบสัดส่วนแบบผสม โดยให้มี ส.ส.จำนวน ตั้งแต่ 450-470 คน มาจากแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 250 คน และ มาจากแบบบัญชีรายชื่อ 200-220 คน โดยจุดเด่นของระบบแบบใหม่นี้ คือ การยึดเอาคะแนนเสียงที่ได้รับจากระบบบัญชีรายชื่อ มาเป็นจำนวน ส.ส.ที่จะได้ที่นั่งในสภา
การเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต
การเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ยังคงเหมือนเดิม คือให้ประชาชนออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ได้เขตละหนึ่งคน โดยคนที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละเขตจะได้เป็น ส.ส.ในเขตนั้น แต่มีการลดจำนวน ส.ส.แบ่งเขตลดลงเหลือ 250 คน ดังนั้นขนาดเขตเลือกตั้งจะใหญ่ขึ้นและ ส.ส.หนึ่งคนต่อประชาชนในแต่ละพื้นที่ก็จะเพิ่มขึ้น 
การเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
การเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะแบ่งออกเป็นหกภาค แต่ละภาคมีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสัดส่วนประชากรของภาคนั้น ในการลงคะแนน ประชาชนจะเลือกบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเพียงบัญชีเดียว และเมื่อเลือกบัญชีรายชื่อใดแล้ว ต้องเลือกผู้ที่มีชื่อในบัญชีนั้นหนึ่งคนในเป็นตัวแทนพรรคในภาคนั้น
เช่น ถ้าเลือกลงคะแนนให้พรรค ก. เราต้องดูว่าในบัญชีรายชื่อที่พรรค ก.มีใครอยู่บ้าง แล้วต้องเลือกบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนั้นเพียงคนเดียว
โดยคนที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดตามลำดับในบัญชีรายชื่อของพรรค ก.จะมีโอกาสได้เป็น ส.ส. มากที่สุด ขึ้นอยู่กับจำนวนที่นั่งทั้งประเทศที่พรรค ก.ควรได้จากระบบบัญชีรายชื่อบวกลบกับที่นั่งที่ที่พรรค ก.ได้รับในระบบแบ่งเขต
การคิดคำนวณเพื่อหาจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมือง
 
ภาพประกอบการคำนวนที่นั่ง ส.ส. ของระบบ MMP
(1) ให้นำคะแนนเสียงจากระบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมือง มารวมกันเพื่อคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส.ตามสัดส่วนที่แต่ละพรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ทั้งประเทศ
จากภาพประกอบ จำนวน ส.ส.ทั้งหมดมี 450 คน แต่ไม่เกิน 470 คน เมื่อคิดคะแนนเป็นเปอร์เซ็นต์ แล้วแปรมาเป็นสัดส่วนที่นั่ง จะทำให้เราทราบว่าพรรคการเมืองไหนจะได้ ส.ส.เท่าไร 
(2) ให้นำจำนวนส.ส. ทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นจะมีได้ มาเทียบกับจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้ง เพื่อคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง
จากภาพประกอบ เมื่อทราบแล้วว่าแต่ละพรรคจะได้ที่นั่งเท่าไร ต้องเอาจำนวนที่พรรคการเมืองจะได้มาลบกับจำนวน ส.ส.ที่ได้จากรระบบแบ่งเขต ผลลัพธ์ที่ได้ คือ จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้ เช่น พรรค ก.จะต้องได้ ส.ส.ทั้งสภา 45 คน แต่ได้ ส.ส.จากระบบแบ่งเขตแล้ว 25 คน ดังนั้น พรรค ก.จะต้องได้ ส.ส.จากบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกจำนวน 20 คน เพื่อให้เท่ากับจำนวนที่นั่งทั้งหมดที่พรรคนั้นต้องได้
(3) ในกรณีที่พรรคการเมือง มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตรวมกันเท่ากับหรือมากกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงมีได้ ให้พรรคการเมืองนั้นมี ส.ส.เฉพาะที่ได้รับเลือกตั้งจากระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ไม่มีส.ส.ที่มาจากระบบบัญชีรายชื่อเลย
จากภาพประกอบจะเห็นว่า พรรค ง.ควรได้ ส.ส.ทั้งประเทศรวมกันเพียง 4 คน แต่เนื่องจากได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตถึง 16 คน ทำให้ พรรค ง.จะไม่ได้ ส.ส.จากบัญชีรายชื่อ เพราะได้จำนวน ส.ส.เกินกว่าที่ควรจะได้รับแล้ว ในกรณีนี้เองจะเป็นเหตุให้จำนวน ส.ส.จากระบบบัญชีรายชื่อจะไม่คงที่
(4) ในการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อในแต่ละภูมิภาค ให้คำนวณโดยเฉลี่ยจากสัดส่วนคะแนนเสียงที่ได้รับในภูมิภาคนั้น กับคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองนั้น
เช่น พรรค ข.ได้ที่นั่ง ส.ส.จากระบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด 108 คน ซึ่ง พรรค ข. ได้คะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อมาจากภาคเหนือประมา 50% ภาคอีสานประมาณ 25% ภาคใต้ 25% ส่วนภาคอื่นได้น้อยมาก การจัดสรรที่นั่ง สส..จากระบบบัญชีรายชื่อของพรรค ข. ก็จะมาจากบัญชีรายชื่อของภาค 54 คน ภาคอีสาน 27 คน และภาคใต้ 27 คน เป็นไปตามสัดส่วนคิดเป็นเปอร์เซ็นของคะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อจากภาคนั้นๆ
ระบบเลือกตั้งแบบ MMP เป็นระบบเลือกตั้งที่ซับซ้อนที่จะสามารถเข้าใจได้ทันที แต่ก็ไม่ยากเกินจะเข้าใจเพราะหลายประเทศในโลกที่ใช้ก็เข้าใจกันได้ อย่างไรก็ตามความซับซ้อนเดิมที่มีอยู่แล้วกลับเพิ่มขึ้น เมื่อระบบการเลือกตั้งนี้ถูกวางบนบริบทการเมืองไทย