สิทธิหน้าที่ของ “พลเมือง” ในร่างรัฐธรรมนูญ 2558

ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 หมวดที่ 2 ประชาชน แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน คือ ความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง สิทธิเสรีภาพของบุคคล การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้
หน้าที่และอำนาจใหม่ของพลเมือง
ส่วนที่ 1 ว่าด้วยความเป็นพลเมืองและหน้าที่ของพลเมือง ในมาตรา 26 กำหนดว่า ประชาชนชาวไทยย่อมมีฐานะเป็นพลเมือง
พลเมืองต้องเคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เคารพหลักความเสมอภาค ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม มีค่านิยมที่ดี มีวินัย รู้รักสามัคคี มีความเพียร ไม่กระทำการที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังระหว่างคนในชาติหรือศาสนา รัฐมีหน้าที่ปลุกฝังให้พลเมืองมียึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจัดการอบรมในทุกระดับเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง
และมาตรา 28 ได้เพิ่มกลไกใหม่ให้กับพลเมืองด้วยการเข้าไปทำหน้าที่ในสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง สภาตรวจสอบภาคประชาชน และองค์กรอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้เพื่อให้บุคคลทำหน้าที่พลเมือง
ห้ามล้มล้างระบอบประชาธิปไตย
ต่อมาส่วนที่ 2 สิทธิเสรีภาพของบุคคล ในบททั่วไป ได้บัญญัติกลไกป้องกันตนเองของรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้มีการทำลายระบอบไว้ในมาตรา 31  โดยระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองด้วยวิธีอื่นที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ ถ้าพบเห็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการดังกล่าว ผู้พบเห็บสามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ขาดได้ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวและสั่งการอย่างอื่นได้
แยกสิทธิมนุษยชน กับ สิทธิพลเมือง
สิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2558 แตกต่างจากฉบับอื่น คือ มีการแยกสิทธิมนุษยชนกับสิทธิพลเมืองออกจากกัน โดยสิทธิมนุษยชนจะคุ้มครองบุคคลทุกคน เช่น สิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิในการสมรสและครอบครัว เสรีภาพในการสื่อสาร เสรีภาพในการนับถือศาสนา สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่น่าสนใจคือได้มีการบัญญัติว่า การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพราะความแตกต่างของ “เพศสภาพ” จะกระทำมิได้
ส่วนบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นกำเนิดอยู่ในไทยจะมีสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเพียงใด ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติหรือตามที่รัฐจัดให้
ขณะที่ “พลเมือง” อันหมายถึงประชาชนชาวไทยทุกคนนั้น มีสิทธิได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือจากรัฐให้มีรายได้พอเลี้ยงชีพ มีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่ มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุข มีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ มีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร มีเสรีภาพในการชุมนุม และรวมกันตั้งพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง มีสิทธิได้ค่าจ้างที่เป็นธรรม สิทธิของผู้บริโภค มีสิทธิปกป้องทรัพยากรและขนบธรรมเนียมของชุมชน นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญยังระบุว่าเจ้าของกิจการสื่อมวลชนต้องเป็นพลเมืองด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้สิทธิต่างๆ ดูเหมือนจะได้รับการคุ้มครองอย่างครอบคลุมแล้ว แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ต่อเรื่องนี้ เช่น ความเห็นของนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มองว่ามีปัญหาใหญ่ๆ อยู่หลายเรื่อง เรื่องแรกคือ การแยกสิทธิมนุษยชนกับสิทธิพลเมืองจะทำให้เกิดความสับสน เพราะในหลักสากล สิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน ร่างรัฐธรรมนูญนี้บอกว่าพลเมืองต้องเป็นคนที่มีสัญชาติไทย ก็จะขัดหลักการของพันธกรณีระหว่างประเทศ 7 ฉบับ เรื่องการดูแลสิทธิมนุษยชน ต่อไปอาจมีปัญหาว่า คนไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ คนไร้สัญชาติ จะไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ
การแยกสิทธิพลเมืองออกมาก็เหมือนเป็นการแบ่งแยกที่จะดูแลเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น จะเกิดปัญหามากในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นและเสรีภาพทางวิชาการที่จะถูกจำกัด
เรื่องต่อมาคือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในมาตรา 62 ที่ตัดสิทธิในเรื่องการฟ้องร้องหน่วยราชการ เหลือแค่สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และการมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องที่มีผลกระทบกับสิทธิเสรีภาพของตน แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เขียนไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 67 ว่าชุมชนมีสิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐได้ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐก็จะไม่สามารถฟ้องศาลปกครองเพื่อระงับโครงการอีก
พลเมืองมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย-ตรวจสอบนักการเมือง
ในส่วนที่ 3 การมีส่วนร่วมทางการเมือง พลเมืองมีสิทธิที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งการกำหนดนโยบายสาธารณะ ให้ข้อคิดเห็นในการร่างกฎหมาย หรือโครงการที่กระทบกับวิถีชีวิต เช่น มาตรา 66 ให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คนมีสิทธิร่วมกันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย และมาตรา 67 พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีส่วนร่วมในการออกเสียงประชามติตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือออกเสียงประชามติในเรื่องที่อาจกระทบกับประโยชน์ได้เสียของชาติและประชาชน
และส่วนสุดท้าย คือ ส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เปิดโอกาสให้พลเมืองมีสิทธิตรวจสอบข้อมูลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในเรื่องการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน การจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง รวมทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง
โดยมาตรา 71 กำหนดให้มีสภาตรวจสอบภาคพลเมืองในแต่ละจังหวัด มีสมาชิกไม่เกิน 50 คน มีที่มาจากผู้แทนสมัชชาพลเมืองไม่เกิน 1 ใน 4 จากเอกชนไม่เกิน 1 ใน 4 ที่เหลือมาจากพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัดนั้นในการตรวจสอบการกระทำผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้อง เจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนหรือตัดสิทธิผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่น
ข้อสังเกต
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญหมวดนี้ในการให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า 
ในส่วนแรก ความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง เหมือนเอาวิชาหน้าที่พลเมืองมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ คือบอกว่า พลเมืองต้องทำนั่น ต้องทำนี่ ต้องเคารพนั่นเคารพนี่ เป็นการเอาเรื่องในทางศีลธรรมจริยธรรมมาเขียน มันคือการเทศนาผ่านตัวบทในทางรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง
ส่วนที่ 2 สิทธิเสรีภาพของบุคคล ในส่วนของสิทธิมนุษยชนยังไม่เป็นระบบ เพราะเอาเรื่องข้าราชการตำรวจทหารไปใส่ไว้ในมาตรา 35 ทั้งที่เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคล และถ้าพูดถึงสิทธิมนุษยชนควรจะพูดเป็นรายสิทธิที่มนุษย์ทุกคนมี ถ้อยคำที่ใช้ควรใช้คำว่า “บุคคล” หรือ “บุคคลทุกคน” จะเป็นคำในทางกฎหมายมากกว่า ถ้าอยากจะให้อันไหนหมายถึงสิทธิพลเมือง ก็ใช้คำว่า “บุคคลสัญชาติไทย” จะชัดเจนกว่า
นอกจากนี้ มาตรา 51 ที่ว่าด้วยเสรีภาพทางวิชาการและการวิจารณ์คำพิพากษา โดยปกติก็วิจารณ์ตามหลักวิชาการได้อยู่แล้ว การเขียนร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้อาจเป็นปัญหาสำหรับคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น แต่ไม่ได้มีสถานะนักวิชาการหรือนักกฎหมาย ว่าเขาจะได้รับการคุ้มครองหรือไม่ ส่วนที่เขียนว่าการเรียนการสอน การวิจัย หรือเผยแพร่งานวิชาการย่อมได้รับการคุ้มครอง “เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” มันก็เปิดให้ตีความได้กว้างขวางมาก อาจไปกระทบกับเสรีภาพในทางวิชาการซึ่งเกี่ยวพันกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
สำหรับเรื่องการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการตรวจสอบ เช่น สภาตรวจสอบภาคพลเมืองในแต่ละจังหวัด ก็มีความพยายามสร้างระบบตรวจสอบเข้ามา แต่ปัญหาคือคนที่จะไปตรวจสอบคนอื่นเป็นใครมาจากไหน แล้วความชอบธรรมในการตรวจสอบได้มาอย่างไร ในส่วนนี้ยังไม่ได้ลงรายละเอียด ต้องไปดูกฎหมายที่จะออกมาขยายความเรื่องนี้อีกที ว่าจะมีที่มาอย่างไร