การเสนอกฎหมายโดยประชาชน ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558

สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่ถูกยกเลิกไปพร้อมกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ระหว่างที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ใช้บังคับอยู่ประชาชนไม่อาจเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมายให้ผู้มีอำนาจพิจารณาได้ 
เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เผยโฉมออกมาให้เห็นในปี 2558 หลักการใหญ่ๆ ในเรื่องการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนก็ยังถูกเขียนไว้เหมือนเดิม แต่ในเรื่องกระบวนการพิจารณาของรัฐสภามีประเด็นที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพื่อบีบให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายที่ประชาชนเสนอ ด้วยความหวังว่ากฎหมายที่มาจากประชาชนฐานรากแท้ๆ จะถูกผลักดันให้ออกมาใช้ได้จริง
ร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2558 
            “มาตรา ๖๖ พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนย่อมมีสิทธิร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายตามภาค ๑ หมวด ๒ ส่วนที่ ๒ สิทธิและเสรีภาพของบุคคล และภาค ๒ หมวด ๒ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญนี้ ต่อรัฐสภา ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
            หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและตรวจพิจารณาร่างกฎหมายมีหน้าที่สนับสนุนการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายของพลเมืองตามที่กฎหมายบัญญัติ
             ในการพิจารณาร่างกฎหมายตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องให้ผู้แทนของผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนั้นชี้แจงหลักการของร่างกฎหมาย และคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้แทนของผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนั้นจานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจานวนกรรมาธิการทั้งหมดด้วย”
หลักการในมาตรา 66 นี้เหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 163 แทบจะทุกประการ ดังนี้
 
            1. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 คนเข้าชื่อกัน สามารถเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาได้
 
            2. กฎหมายที่ประชาชนมีสิทธิเสนอ ต้องเป็นกฎหมายในหมวดสิทธิเสรีภาพ และหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 คือ หมวด 3 และหมวด 5 ส่วนตามร่างรัฐธรรมนูญในปี 2558 คือ ภาค ๑ หมวด ๒ ส่วนที่ ๒ และภาค ๒ หมวด ๒ แม้เคยมีกระแสเรียกร้องให้ประชาชนมีสิทธิเสนอร่างกฎหมายได้ในทุกหมวด เพราะการตีความว่าร่างกฎหมายใดเป็นเรื่องของหมวดใดก็เป็นเรื่องยาก แต่ร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2558 ไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้
 
            3. กฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ เมื่อรัฐสภานำไปพิจารณาต้องให้ตัวแทนของผู้เสนอกฎหมายเข้าไปมีที่นั่งเป็นคณะกรรมาธิการ อย่างน้อย 1 ใน 3 แม้ประเด็นนี้จะเคยมีกระแสเรียกร้องให้เพิ่มตัวแทนประชาชนเป็นอย่างน้อย 1 ใน 2 เพราะจากประสบการณ์พบว่าเมื่อสัดส่วนของภาคประชาชนน้อยกว่าก็จะโหวตแพ้ตัวแทนจากภาคการเมืองเสมอ แต่ร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2558 ไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในประเด็นนี้
หลักการที่เปลี่ยนไป
จากประสบการณ์ที่ประชาชนเคยเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายมาอย่างน้อย 50 ฉบับ มีกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาได้แค่ 3 ฉบับ ซึ่งหลักการก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปมาก ส่วนอีก 47 ฉบับ มีทั้งที่นอนค้างรอการพิจารณาอยู่ตามขั้นตอนต่างๆ ในสภามาเป็นเวลาหลายปี มีทั้งที่ถูกโหวตไม่ให้ผ่านโดยรัฐสภา และมีทั้งที่พบเจออุปสรรคเรื่องขั้นตอนนานัปการ ทำให้ความฝันที่ประชาชนจะเสนอกฎหมายได้จริงนั้นยังอยู่ห่างไกล
ร่างรัฐธรรมนูญในปี 2558 จึงเสนอแก้ไขกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน ดังนี้
 
            1. บังคับให้สภาต้องเริ่มพิจารณาร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอ ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมายนั้น ตามมาตรา 147 วรรค 3
 
             2. หากรัฐสภาลงมติว่าร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอไม่ผ่านการพิจารณา สมาชิกรัฐสภาอาจเข้าชื่อกันจำนวน 1 ใน 10 ของสมาชิกที่มีอยู่ เพื่อขอให้เอาร่างกฎหมายฉบับนั้นไปให้ประชาชนทั้งประเทศทำประชามติก็ได้ หากผลการทำประชามติ คือ ผ่าน ก็ถือว่ากฎหมายนั้นผ่านการพิจารณา ตามมาตรา 154(5)
 
             3. หากร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอ ค้างการพิจารณาอยู่จนมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งใหม่สามารถหยิบกฎหมายที่ค้างอยู่นั้นกลับมาพิจารณาต่อได้เลย ไม่ต้องรอให้คณะรัฐมนตรีร้องขอ เหมือนกับร่างกฎหมายอื่นที่เสนอโดยส.ส.หรือคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 162 วรรค2
ปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ไข
แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญ ที่เห็นกันในปี 2558 จะพยายามแก้ไขปัญหาหลายประการเพื่อให้กฎหมายที่ประชาชนเสนอมีโอกาสผ่านการพิจารณาของรัฐสภาได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคของการเสนอกฎหมายโดยประชาชนอีกหลายประการที่ยังไม่ถูกแก้ไข เช่น
กฎหมายที่ประชาชนเสนออาจถูกดองโดยนายกรัฐมนตรีไม่ลงนามรับรอง กรณีที่ร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน หรือมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ต้องใช้เงินงบประมาณ ต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรองก่อน รัฐสภาถึงนำไปพิจารณาได้ ซึ่งที่ผ่านมามีร่างกฎหมายหลายฉบับ เช่น ร่างพ.ร.บ.หลักประกันชราภาพแห่งชาติ, ร่างพ.ร.บ.กองทุนสินไหมผู้ประสบภัยจากรถ ที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอไปนานแล้ว แต่นายกรัฐมนตรีไม่ยอมลงนามรับรอง ร่างกฎหมายจึงตกไป และมีอีกหลายฉบับที่ยังอยู่ระหว่างการรอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี
หรืออุปสรรคในทางปฏิบัติที่ร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอจะถูกนำไปพิจารณารวมกับร่างกฎหมายที่มีหลักการคล้ายกันที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีและส.ส. ทำให้สุดท้ายหลักการที่ประชาชนเสนอก็จะถูกหลอมรวมไปกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีเสนอ แม้หลายครั้งภาคประชาชนจะนำเสนอประเด็นใหม่ๆ ที่ก้าวหน้าแต่ประเด็นเหล่านั้นก็จะถูกทำให้หายไปและนำประเด็นจากร่างของคณะรัฐมนตรีมาเขียนไว้แทน