“ร่วมจับตาอนาคต ที่คนกำหนดไม่ใช่เรา”

20 เมษายน 2558
วันแรกของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งวันนี้เป็นการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ‘ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน’ โดยมีประเด็นที่น่าสนดังนี้
+ภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญยึดหลักพอเพียง ป้องกันรัฐบาลอำนาจนิยม+
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ รายงานภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญว่ามีเจตนารมณ์ 4 ประการ คือ สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม และนำชาติสู่สันติสุข พร้อมยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน และใช้ความรู้คู่คุณธรรม ที่สำคัญร่างรัฐธรรมนูญยังออกแบบมาเพื่อป้องกันการมีรัฐบาลอำนาจนิยม ใช้อำนาจในทางมิชอบทำให้นำไปสู่ระบบพรรคเดียวและเผด็จการรัฐสภา จึงใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมที่นำมาจากประเทศเยอรมันเพื่อให้ได้รัฐบาลผสม และการเลือกตั้งระบบใหม่จะให้พรรคการเมืองได้ที่นั่งในสภามากตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับคะแนนเสียง 
+เขียนการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง+
คุรุจิต นาครทรรพ สปช.ด้านพลังงาน แสดงความกังวลต่อการให้พลเมืองมีส่วนร่วมตัดสินใจโดยการทำประชามติตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ว่าหากให้ทำประชามติในบางพื้นที่หรือบางโครงการ แล้วเกิดไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไร จะนำไปสู่ความขัดแย้งหรือไม่ รวมถึงเกรงว่าบางท้องถิ่นอาจทำประชามติแบ่งแยกการปกครองเหมือนที่สก็อตแลนด์ จึงเสนอว่าการทำประชามติควรทำเฉพาะประเด็นใหญ่ระดับชาติ ส่วนในระดับพื้นที่ไม่ควรทำ สำหรับเนื้อหาอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่าเน้นการตรวจสอบหยุมหยิมมากเกินไป ถ้าหวังให้ประเทศมีรัฐบาลที่ดีและเก่งก็ควรทำให้รัฐบาลบริหารงานคล่องตัว
+สปช.เห็นต่างเรื่องผลกระทบชุมชนและสิ่งแวดล้อม+
ประเด็นสิทธิชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ มีการแสดงความคิดเห็นที่จำนวนมากจากสมาชิก สปช. โดย สปช.ส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องการทำ EIA และ EHIA ว่ายังมีข้อความที่อาจไม่ช่วยแก้ไขปัญหาการดำเนินโครงการที่กระทบต่อชุมชน เนื่องจากการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมยังไม่ชัดเจน อีกมุมหนึ่ง อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล สมาชิก สปช. ติงว่าการให้ผู้จัดทำ EIA และ EHIA ไม่ใช่ผู้ประกอบการสร้างความสับสนให้เอกชน เงื่อนไขเช่นนี้จะทำให้การดำเนินการของเอกชนล่าช้าและส่งกระทบต่อเศรษฐกิจ
+พลเมืองจะเป็นใหญ่ต้องรู้หน้าที่+
ประเด็นสิทธิพลเมือง เป็นประเด็นที่มาการอภิปรายอย่างกว้างขวาง สมาชิก สปช.เห็นร่วมกันว่าการจะให้พลเมืองเป็นใหญ่ต้องให้ความสำคัญกับหน้าที่มากกว่าสิทธิ ทั้งนี้การจะทำให้พลเมืองเป็นใหญ่รัฐจะต้องปลูกฝังจิตสำนึกให้กับประชาชน โดย กัญญ์ฐญาณ์ ภู่สวาสดิ์ สมาชิก สปช.เสนอว่าร่างรัฐธรรมนูญควรระบุให้เป็นหน้าที่ของครอบครัวที่จะต้องดูแลสมาชิกให้เป็นพลเมืองดี นอกจากนี้ควรปลูกฝังผ่านระบบการศึกษาด้วย
+สร้างพลเมืองที่เหมาะกับประเทศไทย+
ชาติชาย ณ เชียงใหม่ สมาชิก สปช. อภิปรายเห็นด้วยกับการสร้างให้พลเมืองเป็นใหญ่ แต่ติงว่าหากใช้คำว่า ‘พลเมือง’ อย่างเดียวอาจไม่เหมาะสมกับประเทศไทยเพราะคำว่าพลเมืองมีความหมายกลางๆ อาจทำให้เกิดการตีความที่หลากหลายจึงเสนอให้เติมในร่างรัฐธรรมนูญเป็นว่า ‘พลเมืองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’
21 เมษายน 2558
วันที่สองของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นการอภิปราย ‘ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี’ มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
+กมธ.ยกร่างฯ ยันระบบสัดส่วนผสมไม่ทำพรรคการเมืองอ่อนแอ+
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวชี้แจงเนื้อหาตอนหนึ่งว่า ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม หรือ MMP ไม่ได้มุ่งให้พรรคการเมืองอ่อนแอ แต่การออกแบบให้พรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงมากเกินไป ซึ่งจะสร้างสมดุลให้การเมือง เพราะจะทำให้ทุกคะแนนเกิดประโยชน์ ให้พรรคเล็กมีโอกาสมี ส.ส. สัดส่วนบัญชีรายชื่อเหมาะสม 
ส่วน ส.ว. จำนวน 200 คน ใช้หลักผู้แทนปวงชน หลัก Inclusive ในการคัดเลือก ไม่จำเป็นต้องเลือกตั้งโดยตรงเสมอไป โดยมีที่มาจาก 1.อดีตข้าราชการพลเรือน-ทหารระดับสูง 20 คน 2.ผู้แทนวิชาชีพ 15 คน 3.ตัวแทนด้านเกษตร แรงงาน วิชาการ ฯลฯ 30 คน 4.ผู้ทรงคุณวุฒิ 58 คน  5. มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละคน (โดยมีคกก.ทรงคุณวุฒิคัดกรองมาก่อน 10 คน) รวม 77 คน
+สปช. กังวลใจ ที่มา ส.ว. – นายกฯ  ไม่ยึดโยงประชาชน+
สปช.หลายคนเห็นตรงกันว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มอำนาจให้กับ ส.ว. ทั้งในการเสนอกฎหมายและถอดถอน มากขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 จึงควรมีที่มายึดโยงกับประชาชนมากกว่านี้ และไม่เห็นด้วยกับกระบวนการคัดกรองผู้สมัคร ส.ว.ให้เหลือ 10 คนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ก่อนที่จะให้ประชาชนเลือกตั้ง เพราะอาจจะมีการใช้เส้นสาย ดังนั้นควรให้ประชาชนเลือกเอง
สำหรับมาตรา 172 ประเด็นนายกไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. ก็มี สปช. หลายคนไม่เห็นด้วย เช่น ดิเรก ถึงฝั่ง เห็นว่านายกต้องมาจาก ส.ส. หากมีวิกฤติขึ้นมาค่อยให้รัฐสภาเสนอนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนนอกได้ ส่วนระบบสัดส่วนผสมที่คิดขึ้นมาเองนั้นคิดผิด ระบบเลือกตั้งเดิมไม่ได้เสียหายอะไรเลย หากอยากให้การซื้อสิทธิขายเสียงหายไปก็ควรเน้นไปที่การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
+ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่เข้าใจการปกครองส่วนท้องถิ่น+
พงศ์โพยม วาศภูติ ปธ.ปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น ติติงร่างรัฐธรรมนูญโดยเปลี่ยนคำว่าปกครองท้องถิ่นเป็นการบริหารท้องถิ่นอาจทำให้เกิดปัญหาในการตีความคำนี้ และยังมีบทบัญญัติที่ขาดความชันเจน เช่น ผู้บริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจะมาจากความเห็นชอบของประชาชนโดยวิธีอื่นก็ได้ และการกำหนดให้มีการกำกับดูแลในรัฐธรรมนูญนั้นก็เกิดปัญหาการตีความ ซึ่งที่ผ่านมาทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำงานได้อย่างจำกัด
+ใช้ระบบคุณธรรมแต่งตั้ง อาจส่งเสริมข้าราชการให้เป็นใหญ่+
มาตรา 207 กำหนดให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการชั้นสูงเจ็ดคนที่ ส.ว. เป็นผู้รับรอง และทำหน้าที่พิจารณาการย้าย โอน หรือเลื่อนขั้นข้าราชการแล้วจึงเสนอให้นายกฯ กราบบังคมทูลเพื่อให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง นำไปสู่คำถามว่าจะส่งเสริมให้ข้าราชการแต่งตั้งกันเอง ฮั้วกันเอง และทำให้ข้าราชการเป็นใหญ่จนควบคุมยาก ซึ่งที่สมาชิกเสนอให้เพิ่มอำนาจนักการเมืองหรือให้มีองค์กรอื่นๆเข้ามาร่วมให้มากกว่านี้
+สปช.เห็นต่างประเด็นอุปถัมคุ้มครองศาสนาพุทธ+
 สุกัญญา สุดบรรทัด สปช. ให้ความเห็นต่อเรื่องศาสนาว่า ศาสนาเหมือนถูกจัดวางให้เป็นของสูง แต่ไม่มีเขียนไว้เลยว่าจะโอบอุ้มค้ำชู พัฒนา ศาสนาอย่างไร มาตรา 80 ที่เขียนว่ารัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนายังไม่ชัดเจน ทั้งที่ประชาชน 98.6% เห็นว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ 
ขณะเดียวกันเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สปช.อีกคนหนึ่งเสนอให้ตัดมาตรา 80 ทั้งมาตรา เพราะเห็นว่ามีการบัญญัติเรื่องการอุปถัมภ์ศาสนาไว้ในมาตรา 9 อยู่แล้ว
22 เมษายน 2558
วันที่สามของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นการอภิปรายใน ‘ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี’ มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
+สปช.อภิปรายหลากหลายหมวดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ+
สมาชิก สปช.หลายคนอภิปรายในหมวดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เช่น สยุมพร ลิ่มไทย เห็นว่าหมวดนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ ดังนั้นต้องมีมาตรการบังคับที่จริงจัง แม้มาตรา 102 จะกำหนดว่าถ้ารัฐไม่ดำเนินการในเวลาอันสมควรให้ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นเพื่อให้ได้ผลควรกำหนดเวลาให้ชัดเจน 
ไพบูลย์ นลินทรางกรู อภิปรายว่าหมวดนี้ขาดประเด็นเดียวคือการให้ประชาชนมีความรู้ทางการเงิน คนไทยมีทักษะทางการเงินต่ำกว่ามาตรฐาน เช่น ไม่รู้จักดอกเบี้ยสินเชื่อ ไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย มีปัญหาการถูกหลอกทางการเงิน ซึ่งเป็นปัญหาทั้งกับคนจนและความมีความรู้ นอกจากนี้หากมีความรู้ด้านการเงินจะแก้ไขปัญหาความเหลี่ยมล้ำ เพราะถ้าไม่มีความรู้คนจนเอาเงินไปก็ใช้ไม่เป็น 
คณิศร ขุริรัง อภิปราย มาตรา 89 ว่าให้ความสำคัญกับความเสมอภาคด้านงบประมาณและป้องกันการสร้างความนิยมทางการเมืองที่ก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่อยากให้ระบุให้ชัดว่าความเสียหายที่ว่าคืออะไร จะได้ไม่ขัดขวางนโยบายที่ดีต่อการพัฒนาประเทศ 
สุดท้าย สุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง เสนอว่าไทยต้องมีเป้าหมายร่วมกันคือ เป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2575 โดยให้เติมคำว่า “ให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว” ลงในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องปฏิรูปหลายด้านโดยไม่ให้การเมืองมีผลกับเศรษฐกิจ
+เจษฎ์ ยกมาตรฐานการแต่งตั้งข้าราชการใหม่ให้เป็นสากล+ 
ในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง มาตรา 207 ระบุให้มีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม มี สปช.อภิปรายอย่างกว้างขวางว่าอาจเป็นการแยกขาดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายการเมือง ซึ่งการไม่ให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมอาจในการคัดเลือกจะส่งผลให้รัฐมนตรีทำงานยากขึ้น
อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการได้ดีกว่าระบบเดิมที่ให้รัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อ ทั้งนี้ เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพิ่มเติมว่า การมีคณะกรรมการฯ สรรหาข้าราชการเป็นระบบที่ใช้อยู่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอังกฤษและภาคพื้นยุโรป ซึ่งระบบนี้จะเป็นการยกระดับมาตรฐานการสรรหาข้าราชการของประเทศ
+สปช.หนุน มาตรา 86 ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข+
สปช.หลายคนพอใจมาตรา 86 ที่มีเนื้อหาว่ารัฐต้องจัดและส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการรับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง มีคุณภาพได้มาตรฐาน และได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานอันจำเป็นอย่างเท่าเทียม ซึ่งมี สปช. บางคนขอเพิ่มคำว่า "พอเพียง" เข้าไปด้วย ขณะที่ ประภาศรี สุฉันทบุตร เสนอให้ตัดคำว่า "เท่าเทียม" ออกไป เพราะอาจเข้าใจผิดว่าเป็นระบอบคอมมิวนิสต์
+เสนอแยกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาออกจากกัน+
สปช.หลายคนอภิปรายเห็นด้วยกับมาตรา 95 ที่ให้รัฐต้องส่งเสริมการกีฬาเพื่อพัฒนาสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการเขียนประเด็นนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ โดย ศานิตย์ นาคสุขศรี เสนอให้การกีฬาเป็นพื้นฐานพลเมืองคุณภาพ และให้กีฬาเป็นวิถีชีวิตโดยแต่ละคนมีกีฬาประจำตัวอย่างน้อยคนละ 1 ประเภท
ด้านโกเมศ แดงทองดี มีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1. ให้แยกกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาออกจากกันเพื่อประสิทธิภาพของแต่ละด้าน 2. ส่งเสริมการตั้งมหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ และ 3. ปรับปรุงกฎหมายด้านกีฬา
23 เมษายน 2558
+สภาปฎิรูปยัน ขอให้กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขที่มาและสัดสวน ส.ว. และ ส.ส.+
ที่ประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติมีการอภิปรายเกี่ยวกับที่มาและสัดส่วนของ ส.ส. และ ส.ว. โดยมีข้อเสนอให้ กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาทบทวนสัดส่วนตัวเลขของตัวแทนฯ อย่างเช่น  สมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ ไม่เห็นด้วยกับนายกฯคนนอก และสัดส่วนส.ส.แบ่งเขตกับปาร์ตี้ลิสต์ที่ 250:200 เสนอเป็น 350:100 เพราะส.ส.แบ่งเขตใกล้ชิตประชาชนมากกว่า 
ส่วนที่มาของ ส.ว. มีการเสนอให้ทบทวนผู้ที่จะมาคัดกรองต้องมีความโปร่งใส  ผู้แทนจากอาชีพต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ คุณธรรม ควรให้กระจายเลือกในระดับภาค เพื่อเปิดโอกาสให้คนในภูมิภาคได้เข้ามา โดย  ชัย ชิดชอบ ยังเสนออีกว่าเมื่อยกย่องให้ประชาชนเป็นพลเมืองก็ให้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนไปเลย 450 คน ต้องให้เลือกตั้งทั้งส.ส.และส.ว. และต้องให้สิทธิอย่างเต็มที่กับผู้สมัครรับเลือกตั้ง อย่าไปตั้งกฎที่จำกัดสิทธิผู้สมัคร
+กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจ้ง กลุ่มการเมืองก็มีข้อบังคับเช่นเดียวกับพรรคการเมือง+
แม้ว่า ชัย ชิดชอบ จะอภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับการมีกลุ่มการเมือง เพราะที่ผ่านมากลุ่มการเมืองมักเป็นต้นเหตุความวุ่นวายในประเทศชาติ แต่ควรต้องส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่พล.อ.เลิศรัตน์ ชี้แจงต่อคำพูดของชัย ชิดชอบ "ชาติจะล่มจมเพราะกลุ่มการเมือง" ว่า กลุ่มการเมืองในร่างรธน.ฉบับนี้คือกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมาเองโดยไม่ได้มีกฎหมายรองรับ ร่างฯ ฉบับนี้ได้กำหนดข้อบังคับในมาตรา 76 ซึ่งเป็นข้อบังคับพรรคการเมือง แต่ก็ได้กำหนดให้ใช้บังคับกับกลุ่มการเมืองด้วย 
+สปช. เสนอวางกฎกติการการเลือกตั้งให้เป็นธรรม เพิ่มบทลงโทษนายทุนการเมืองซื้อเสียง+
สุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม มองว่ากติกาการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นธรรม เพราะร่างรัฐธรรมนูญนี้มองนักการเมืองด้วยอคติ ส่งผลให้มีข้อบังคับมากมายที่จำกัดสิทธินักการเมืองที่จะลงเลือกตั้ง ควรจะวางกฎเกณฑ์ให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เพราะกติกาไม่เป็นที่ยอมรับก็จะสร้างปัญหาในอนาคตอีก ด้าน วิชัย ด่านรุ่งโรจน์  เสนอเพิ่มโทษให้รุนแรง ป้องกันปัญหาการซื้อเสียงของนายทุนการเมือง
+นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ยันเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงไม่ได้+
          
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงข้อเสนอที่ต้องการให้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะที่ผ่านมาธรรมเนียมการแต่งตั้งนายกฯ นั้นพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามการเสนอของประธานสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นถ้าประชาชนเลือกนายกฯ โดยตรง พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งตรงของประชาชนได้อย่างไร ขณะที่อำนาจการเมืองต้องพิจารณาให้ครบ อย่าพูดเพียงครึ่งเดียวว่าอำนาจปวงชนชาวไทย แต่เมื่อพูดถึงอำนาจการเมืองไทยต้องพูดด้วยความระวัง เพราะท้ายที่สุดอำนาจนั้นจะทำงานได้อย่างแท้จริงต้องคู่กับประมุขของประเทศ คือ พระมหากษัตริย์ดังนั้นต้องพิจารณาให้เกิดความพอดี
+สปช.ยก พระปกเกล้าฯ ต้นแบบนักประชาธิปไตย+
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมร่างรัฐธรรมนูญในภาคหนึ่งจึงนำพระมหากษัตริย์อยู่ร่วมกับประชาชน เพราะทั้งสองคือรากฐานการเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 โดย บวรศักดิ์ ยกพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ว่า
"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดย สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร" ซึ่งข้อความนี้แสดงให้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่คู่กับประชาชนและประชาธิปไตยไทย
นอกจากนี้ พล.ต.ต.ขจร ไชยวัฒน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ยังเห็นว่าพระราชหัตถเลขานี้ ควรนำมาเป็นกราบในการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งยังยกให้รัชกาลที่ 7 คือบุคคลที่เป็นต้นแบบของระบบประชาธิปไตยไทย ที่นักประชาธิปไตยควรยึดมั่น  
+กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงนิยามเงินแผ่นดิน ช่วยเพิ่มธรรมาภิบาล สปช. เสนอทุกอย่าง ส.ส. ต้องตรวจสอบ+
จรัส สุวรรณมาลา กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่าเหตุที่ต้องกำหนดนิยามการเงินของแผ่นดิน เพราะต้องการให้หลักการเงินอยู่ภายใต้ธรรมาภิบาลการคลัง ดังนั้นจึงต้องนำหลัก งบประมาณ 2 ขา คือการแสดงแหล่งที่มาของรายได้ ควบคู่ไปกับการแสดงที่มาของเงิน เพื่อที่จะควบคุมการคลังและการใช้จ่าย นอกจากนั้นยังจะช่วยป้องกันการทุจริตอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ พิสิฐ ลี้อาธรรม ได้เสนอเพิ่มเติมว่า ควรให้การใช้จ่ายของรัฐผ่านการตรวจสอบและผ่านความเห็นชอบจาก ส.ส. ก่อน แล้วจึงจะอนุมัติดำเนินการได้ และไม่ใช่แค่เพียงต้องแสดงเงินงบประมาณเท่านั้น แต่ยังควรแสดงจำนวนเงินกู้จากต่างประเทศ วงเงินค้ำประกัน ฯลฯ เพื่อการตรวจสอบได้ 
24 เมษายน 2558
+กมธ.ยกร่างฯ แจง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบได้ ประชาชนมีส่วนร่วม+
นพ.กระแส ชนะวงศ์ กล่าว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีจุดดีเด่นที่มีประโยชน์ต่อการกระจายอำนาจ 4 ประการ ได้แก่ ทำให้การปกครองท้องถิ่นไม่เป็นสิ่งลึกลับแต่เปิดเผยตรวจสอบได้ ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงและอ้อมมากขึ้น กระจายอำนาจไปสู่การปกครองท้องถิ่นชัดเจนมากขึ้น และให้งบประมาณและทรัพยากรในการปกครองท้องถิ่นที่ชัดเจน 
ด้าน วุฒิสาร ตันไชย เสริมอีกว่า การมีองค์กรบริหารบุคคลของการปกครองท้องถิ่นเอง กำหนดสถานะข้าราชการท้องถิ่นให้มีความเท่าเทียมกัน สร้างหลักประกันการย้ายหรือสับเปลี่ยนสังกัดระหว่างองค์กรบริหารท้องถิ่นรูปแบบต่างกันได้ ภายใต้ระบบคุณธรรม
+ปกครองท้องถิ่นยังไม่ก้าวหน้า ต้องเพิ่มอำนาจจัดการภาษี+
การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวดการกระจายอำนาจ และการปกครองท้องถิ่น มีสมาชิกอภิปรายว่า ยังไม่มีความชัดเจนในการปกครองท้องถิ่น เนื่องจากกระบวนการมีส่วนร่วมไม่เป็นรูปธรรม และการกระจายอำนาจต้องเขียนให้ชัดเจนว่า ถ่ายโอนอย่างไร ขับเคลื่อนอย่างไร เพราะที่ผ่านมาก็ยังขับเคลื่อนไม่ได้ หลายๆภารกิจยังอยู่ในส่วนกลาง ทั้งนี้ เมื่อกระจายอำนาจแล้ว ควรระบุถึงระบบจัดเก็บภาษี ให้ชัดว่าท้องถิ่นจัดเก็บภาษีอะไรได้บ้าง นอกจากนี้ ควรมีกองทุนเงินเดือนและสวัสดิการของข้าราชการส่วนท้องถิ่น
+สมัชชาพลเมืองอาจทำให้การบริหารท้องถิ่นสะดุด+
มาตรา 215 เพื่อประโยชน์ส่วนรวม พลเมืองอาจรวมตัวกันเป็นสมัชชาพลเมือง ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากองค์ประกอบที่หลากหลายในท้องถิ่นและมีความเหมาะสมกับภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อประชาชนและสามารถให้ความเห็นในการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรบริหารท้องถิ่นได้
ประเด็นนี้ นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง กล่าวว่า การระบุให้ประชาชนหรือชุมชน ย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การตรวจสอบการดำเนินงาน การถอดถอน คณะผู้บริหารท้องถิ่น มาตรานี้ไม่ควรบรรจุไว้ เพราะจะทำให้การทำงานบริหารในท้องถิ่นสะดุด และจะสร้างความแตกแยกในแผ่นดิน 
+กมธ.ยกร่างฯ แจง ข้าราชการจัดการเลือกตั้ง เพิ่มอำนาจศาลแจกใบแดง เพิกถอนสิทธิ์+
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. รวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่น ยกเว้นการแต่งตั้งคน ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่การให้ใบเหลืองก็ยังเป็นอำนาจของ กกต. 
ส่วนการให้ใบแดงที่เป็นการเพิกถอนสิทธิ จะให้อำนาจศาล เพราะที่ผ่านมามีการมองว่า กกต.ไม่เป็นกลาง มีอคติ ที่สำคัญไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ถูกใบแดงไม่ได้รับความเป็น แต่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ และผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสามารถยื่นฎีกาได้
อย่างไรก็ตาม สปช.หลายคนไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้ง กจต. เพราะเกรงว่าจะมีหน้าที่ซ้ำซ้อน ก้าวก่ายการทำงานกับกกต. นอกจากนี้ยังพบว่า การทุจริตในหน่วยเลือกตั้งแทบไม่มีเลย ประกอบกับคนที่จะมาเป็น กจต. ก็มีงานประจำอยู่แล้ว
+ผู้พิพากษาศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด วาระละ 4 ปี อายุครบ 65 เกษียณ+
บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ สำหรับมาตรา 226 ว่าด้วยการดำรงตำแหน่งและการเกษียณอายุราชการของผู้พิพากษาและตุลาการนั้น ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่งเพียงหนึ่งวาระ คือ 4 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้อยู่ในตำแหน่งมากจนเกินไป แต่ประเด็นนี้เสรี สุวรรณภานนท์ สปช. มีความเห็นว่าการเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวบ่อยๆ จะไม่เป็นผลดีต่อการทำงาน
+กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มั่นใจ ลดซ้ำซ้อน คุ้มครองสิทธิได้ เมื่อยุบรวมผู้ตรวจการฯกับกรรมาการสิทธิฯ+
เลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงกรณีที่มีหลายท่านคัดค้านการควบคุมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าอำนาจหน้าที่ของทั้งสององค์กรแบ่งแยกได้ยากมาก ทั้งสององค์กรมีหน้าที่ทับซ้อนกันในเรื่องการปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน มีองค์กรที่เป็นอิสระและเป็นกลางเหมือนกัน จนแทบจะมีหลักการเหมือนกัน ในบ้านเรา ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิก็สับสนเวลาจะไปร้องเรียน การรวมเป็นองค์กรเดียวกันจะช่วยให้การร้องเรียนมีประสิทธิผลมากขึ้น และการรวมกันจะยกระดับกฎหมายให้เป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อำนาจที่กำหนดไว้ก็ไม่ได้น้อยไปกว่าเดิม
+เพิ่มความสะดวก ลดซ้ำซ้อน ไม่เพียงพอยุบรวบผู้ตรวจการฯ กับ กรรมาการสิทธิฯ+
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ อภิปรายประเด็นนี้ว่า ไม่เห็นด้วยการรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะทั้งสององค์กรมีภารกิจ โครงสร้าง วัฒนธรรมที่ต่างกัน การควบรวมอาจจะอาจสร้างปัญหาได้ ส่วนเหตุผลที่ระบุว่ารวมสององค์กรเพื่อลดความซ้ำซ้อน เพิ่มความสะดวกให้ประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานนั้น ไม่มีน้ำหนักพอ เพราะการแก้ไขปรับปรุงแต่ละองค์กรน่าจะง่ายกว่า
ด้าน ประสาร มฤคพิทักษ์ อภิปรายว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีขอบเขตของจริยธรรม กฎหมาย ระบบราชการ แต่กรรมการสิทธิเน้นไปสู่ประชาชน ถ้ามีการควบรวมกันคงต้องใช้เวลา 3-4 ปีถึงรวมกันได้ เหตุผลที่บอกว่าซ้ำซ้อนจึงต้องควบรวมกันไม่น่าจะสำคัญเท่าการที่สิทธิของประชาชนพร่าเลือนไป
+เวลาจำกัด การปฏิรูปไม่อาจสำเร็จได้ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ต่อเวลาปฎิรูปและปรองดอง+
ช่วยเย็น เข้าสู่การอภิปราย ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง คำนูน สิทธิสมาน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง มีคำถามว่าทำไมไม่ปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อนที่จะเลือกตั้งครั้งใหม่ ก็เพราะว่าภารกิจของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญมีเวลาจำกัด การปฏิรูปไม่อาจสำเร็จได้ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ การกำหนดให้มีองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมานั้นไม่ได้ต้องการสืบทอดอำนาจ แต่หากบัญญัติให้หน้าที่ในการสร้างความปรองดองไปอยู่ในมือคนที่เข้ามาเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ก็อาจสานต่อไม่ได้
ทั้งนี้ มีคำถามอีกว่าถ้าบัญญัติกลไกพิเศษไว้ในภาค 4 จะไม่ขัดกับกลไกการทำงานตามปกติหรือ คำตอบคือ ไม่น่าจะเกิดขึ้นหากทุกฝ่ายเห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงประเทศ และอำนาจหน้าที่ของกลไกพิเศษนี้ก็จำกัดอย่เพียง 22 มาตรา และจำมีอายุแค่ 5 ปี อย่างไรก็ดีหากมีการตัดสินใจเรื่องใดก็จะนำไปสู่การลงประชามติโดยประชาชนทั้งประเทศ
25 เมษายน 2558
เข้าสู่วันที่ 6 ของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันนี้เป็นการอภิปรายภาค 4 เรื่อง การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
+หวั่นสภาขับเคลื่อนฯ ถูกมองสืบทอดอำนาจ+
สปช.หลายคนท้วงติงที่มาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่ระบุว่ามีสมาชิกสภาฯไม่เกิน 120 คน มาจากสปช. 60 คน สนช. 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ  30 คน เพราะเกรงจะถูกครหาจากสังคมว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ เช่น  จุรี วิจิตรวาทการ เห็นว่าไม่ควรเขียนลงในร่างรัฐธรรมนูญ การเขียนแบบนี้คงไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม แต่อย่างไรก็ดียังเห็นด้วยว่าต้องมีกลไกในการทำงานต่อ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงความเห็นต่อการกำหนดระยะเวลาของรัฐธรรมนูญภาค 4 เรื่องการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองที่กำหนดให้มีระยะเวลา 5 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 5 ปีแต่ต้องผ่านการทำประชามติ โดยดุสิต เครืองาม เสนอให้ตัดความข้อนี้ออก เพราะไม่เชื่อว่า 5 ปี จะทำการปฏิรูปได้สมบูรณ์
+สปช.ยังเห็นต่าง ต่อการจัดตั้งองค์กรบริหารพัฒนาภาค+
กระพล แก้วประพาฬ กล่าวว่า มาตรา 284(5) ที่กำหนดให้มีองค์กรบริหารพัฒนาภาคนั้น เสนอให้ตัดออกเลย เพราะสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องการให้ราชการส่วนกลางมีหน้าที่น้อยที่สุดเฉพาะเรื่องความมั่นคง เรื่องภาษี ส่วนเรื่องในพื้นที่โครงการที่อยู่ในวิสัยของภูมิภาคและท้องถิ่น ก็ขอให้กระจายอำนาจไป ไม่ควรให้องค์กรระดับภาคมีส่วนเข้ามาแก้ไขปัญหาในจังหวัดต่างๆ  
ด้านนครินทร์ เมฆไตรรัตน์  ตอบข้อซักถามว่า คณะกรรมาธิการฯ คุยกันแล้วเรื่ององค์กรบริหารการพัฒนาภาค เห็นว่าควรให้เป็นราชการส่วนกลาง ไม่ใช่ส่วนท้องถิ่น  ตอนนี้กรมต่างๆ คิดเรื่องการจัดตั้งระบบภาคของตัวเอง  คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องจัดระเบียบหน่วยงานราชการที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เสียที
+แนะรัฐอย่าคุมการรักษาพยาบาลเอกชนมาก+
ประเสริฐ ศัลย์วิวรรธน์ สปช. เห็นว่า การรักษาพยาบาลของเอกชน เป็นทางเลือกของประชาชนว่าจะรับการรักษาจากเอกชนหรือไม่ก็ได้ และเห็นว่าหากไม่มีเอกชน การบริการของภาครัฐเพียงอย่างเดียวอาจรับมือไม่ไหว การมีโรงพยาบาลเอกชนจึงทำให้ประชาชนที่สามารถจ่ายไหวไปใช้บริการภาคเอกชน และแบ่งเบาภาครัฐในการักษาประชาชนที่ไม่สามารถไปพึ่งพาภาคเอกชนได้ ถ้ารัฐควบคุมราคาเอกชนมากๆ อาจทำให้เอกชนทำไม่ไหว
+สปช.เสนอเพิ่มความสำคัญอุตสาหกรรม – เกษตรกรรม+
ประทวน สุทธิอํานวยเดช กล่าวว่า กรรมาธิการยกร่างฯ ลืมเรื่องที่รัฐต้องให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรม เรื่องของภาคอุตสาหกรรมมีแต่เรื่องการกำกับดูแล เพิ่มหน้าที่ให้เขา อยากขอให้ช่วยเพิ่มเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้มีความเข้มแข็ง มีการวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ด้านอุทัย สอนหลักทรัพย์ เสนอเรื่องเกษตรกรรม ให้เขียนลงไปในรัฐธรรมนูญว่า มีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นเกษตรอินทรีย์ และเสนอให้เขียนว่าให้ปฏิรูปให้เป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์โลก และควรปฏิรูปการเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ 
26 เมษายน 2558
วันสุดท้ายของการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันนี้เป็นการอภิปรายภาค 4 เรื่อง การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาล มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
+สังศิต เสนอแยกงานสอบสวนจากตำรวจเพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุล+
สังศิต พิริยะรังสรรค์ เห็นว่าควรแยกงานสืบสวนและงานสอบสวนออกจากกัน เช่น เมื่อตำรวจไปจับคนค้ายาเสพติดมา ตำรวจฝ่ายสืบสวนและสอบสวนก็นั่งอยู่ด้วยกัน ฝ่ายสอบสวนก็จะถามข้อมูลจากฝ่ายสืบสวน สรุปแล้วก็จะไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ดังนั้นจึงควรต้องแยกส่วนงานสอบสวนออกมาเฉพาะ ทั้งนี้ สังศิต ยังเห็นว่าการเพิ่มอำนาจให้อัยการ ผู้ว่าราชการฯ นายอำเภอรวมสอบสวนจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกอื่นและเป็นธรรมมากขึ้น ด้าน อดิศักดิ์ ภานุพงษ์ ก็สนับสนุนให้การสอบสวนต้องเป็นอิสระจากการแทรกแซงของผู้บังคับบัญชา และให้ประชาชนตรวจสอบได้
+กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเชื่อ คณะกรรมการปรองดองฯ ทางออกความขัดแย้ง+
เอนก เหล่าธรรมทัศน์ หนึ่งในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งต้องเป็นคนกลาง ไม่ฝักใฝ่การเมืองและเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับเป็นที่เคารพนับถือ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปรองดองฯ คือ ศึกษาหาสาเหตุของความขัดแย้ง รวมถึงปลูกฝังให้คนยึดมั่นในหลักสันติสุข 
ทั้งนี้ คณะกรรมการต้องช่วยฟื้นฟูและเยียวยาผู้เสียหายหรือครอบครัวผู้เสียหายจากเหตุความขัดแย้งทางการเมืองในทุกยุค ทุกรูปแบบ ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาชายแดนภาคใต้ หรือ เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นอกจากนี้ ยังสามารถเสนอคณะรัฐมนตรีให้ตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องให้การที่เป็นประโยชน์และแสดงความสำนึกผิดต่อหน้าคณะกรรมการปรองดองฯ
+รัฐธรรมนูญแก้ไขยาก วางเงื่อนไขให้ซับซ้อน ในทางปฏิบัติแทบจะเป็นไม่ได้+
นันทวัฒน์ บรมานันท์ สมาชิก สปช. ขออภิปรายบทสุดท้ายของรัฐธรรมนูญว่า วางเงื่อนไขให้แก้ไขได้ยากมาก แม้จะมีลักษณะใกล้เคียงกับ ปี 2550 แต่รูปแบบและโครงสร้างของรัฐสภาเปลี่ยนรูปไป และต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ทั้งที่ ปี 2550 ใช้แค่ 2 ใน 3 รวมถึงอาจจะต้องลงประชามติ ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ยังต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอีกว่าประเด็นดังกล่าวขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้ระยะเวลาในการแก้ไขเนิ่นนานโดยใช้เหตุ
+รัฐธรรมนูญประกาศใช้ให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังทำหน้าที่ ยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ+
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวสรุปในส่วนบทเฉพาะกาล ซึ่งสาระสำคัญคือ การหมดวาระของตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว เริ่มจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังเสร็จสิ้นการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อ และให้ สนช.ทำหน้าที่วุฒิสภาจนกว่าการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จ มาตราสุดท้าย มาตรา 315 ให้การกระทำหรือการใดๆ ที่ได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ว่าก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ให้ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด