การอุทธรณ์ฎีกาในศาลทหาร

ในยามปกติ ศาลทหารมีการพิจารณา 3 ชั้น เช่นเดียวกับศาลยุติธรรม แต่เมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลทหารจะเปลี่ยนเป็น "ศาลทหารในภาวะไม่ปกติ" ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดในระหว่างที่มีการประกาศกฎอัยการศึกจะไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา
การประกาศให้พลเรือนที่ทำความผิดในคดีบางประเภท ขึ้นศาลทหารหลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ทำให้พลเรือนที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลทหาร ไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาคดีของตนได้
1 เมษายน 2558 คสช. ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก และอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 ออกประกาศ 3/2558 มาใช้แทนกฎอัยการศึก ทำให้ศาลทหารกลายเป็นศาลใน "ภาวะปกติ" ซึ่งคู่ความมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา คำพิพากษาใดๆ ย่อมถูกตรวจสอบได้โดยศาลชั้นที่สูงกว่า
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงในเรื่องการตีความอยู่มากว่า คดีที่พิจารณาเสร็จไปแล้วในศาลทหารชั้นเดียว หรือคดีที่กำลังพิจารณาอยู่ จะมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาด้วยหรือไม่ พล.ต.พนมเทพ เวสารัชชนันท์ ตุลาการพระธรรมนูญ หัวหน้าศาลทหารกรุงเทพ จึงต้องออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อสังคม
ทั้งนี้คดีที่คู่ความจะมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา จะพิจารณาจากวันที่การกระทำความผิดเกิดขึ้น หากเกิดขึ้นหลังการยกเลิกกฎอัยการศึก ก็มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ ส่วนคดีที่พิจารณาค้างอยูนั้นแม้กฎอัยการศึกจะถูกยกเลิกไปแต่คู่ความก็ยังก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาอยู่ดี
บางคดีแม้ว่าการจับกุมตัว การตั้งข้อกล่าวหา หรือยื่นฟ้อง จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 1 เมษายน 2558 แต่ก็พิจารณาที่วันกระทำความผิดเท่านั้น หากการกระทำเกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เมษายน แต่กว่าจะรู้ตัวและจับกุมตัวได้ หลังการยกเลิกกฎอัยการศึก จำเลยในศาลทหารก็จะไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา
สำหรับระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ ปัจจุบันตามพ.ร.บ.ธรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 กำหนดว่า ต้องยื่นภายใน 15 วัน ซึ่งกฎหมายข้อนี้สนช.ได้พิจารณาแก้ไขเรียบร้อยแล้วให้เพิ่มระยะเวลาเป็น 30 วัน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟัง แต่กฎหมายที่แก้ไขจะเริ่มมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หากประกาศเมื่อไรก็จะมีผลใช้กับทุกคดี โดยไม่ต้องพิจารณาว่าคดีเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการแก้ไขกฎหมาย
อย่างไรก็ตามสิทธิในการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาในศาลทหาร ก็มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับการอุทธรณ์หรือฎีกาในศาลพลเรือน ซึ่งต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาประกอบด้วย หากเป็นคดีความผิดเล็กๆ น้อยๆ ศาลอาจไม่อนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (เช่นทำหรือไม่ได้ทำ) แต่การอุทธรณ์ในเรื่องข้อกฎหมาย (เช่นการฟ้องผิดมาตรา) สามารถอุทธรณ์และฎีกาได้เสมอ