‘ประชามติ’ รัฐธรรมนูญใหม่ ใครคิดยังไง?

การรัฐประหารแต่ละครั้งของประเทศไทยเท่ากับการฉีกรัฐธรรมนูญ การรัฐประหารรอบล่าสุดก็เช่นกัน คณะรัฐประหารประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร 2549 ทั้งนี้เป็นที่รู้กันว่า บรรยากาศหลังการรัฐประหาร คือ ฤดูกาลร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 
รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 กำหนดว่า การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องทำประชามติให้ประชาชนเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการทำประชามติเพื่อขอฉันทานุมัติจากประชาชนทั้งประเทศ แม้ในบางพื้นที่จะทำประชามติ่ภายใต้กฎอัยการศึกก็ตาม
อนาคตอันใกล้ประเทศไทยกำลังจะมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่จะเป็นกฎหมายแม่บทของการเมืองการปกครองทั้งประเทศ แต่อำนาจในการให้ความเป็นชอบรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นของประชาชนหรือไม่ รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไม่ได้กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามจนถึงเดือนมีนาคม 2558 เสียงเรียกร้องให้ทำประชามติรัฐธรรมนูญเริ่มดังขึ้น แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติก็มีเช่นกัน ลองดูกันว่าใครคิดอย่างไรกับประชามติบ้าง?  
คสช.ตัดประชามติในรัฐธรรมนูญชั่วคราว
สามเดือนหลังจากยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พวกเขาประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยกำหนดให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 36 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยทั้ง 36 คนมาจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 5คน, คณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 5 คน, สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 20 คน และ  คสช. จำนวน 6 คน (รวมประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ)
หลังจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยก็จะต้องส่งร่างให้บรรดาสถาบันการเมืองต่างๆ พิจารณา โดยขั้นตอนท้ายสุดจะเป็น สปช. ที่จะให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจะต้องเริ่มกระบวนการคัดเลือก สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ย้อนกลับไปก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า “ในร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ระบุว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นแล้ว จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญไปผ่านการทำประชามติเพื่อรับฟังเสียงประชาชน แต่ คสช.ไม่เห็นด้วย…จึงสั่งการให้ตัดการทำประชามติออก”
ไม่ทำประชามติ เพราะสังคมจะแตกแยก เลือกตั้งล่าช้า และเปลืองงบประมาณ
ก่อนมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เสรี สุวรรณภานนท์ อดีตวุฒิสมาชิก ซึ่งขณะนี้เป็นสมาชิก สปช. ให้ความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่เพราะอาจสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม โดยเขากล่าวว่า หากนำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไปทำประชามติก็จะเกิดสถานการณ์คนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จะออกมาใช้โอกาสการประชามติ…ต่อต้านการรัฐประหารและรวมกลุ่มเรียกร้อง รวมถึงการสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายแตกแยกของประชาชนอีกรอบ
ขณะที่ เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของการทำประชามติ คือ จะทำให้การเลือกตั้งล่าช้า และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งเห็นพ้องกับ ประสพสุข บุญเดช กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดย ประสพสุข เสริมว่า ต้องการเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วที่สุด เพื่อให้สถานการณ์ในประเทศคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ทำประชามติ จะช่วยสร้างความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญ 
เสียงเรียกร้องให้ทำประชามติมีมาจากหลายกลุ่ม นักการเมืองอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ย้ำมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติ เพราะ ยังไม่เห็นกระบวนการสร้างความชอบธรรม การยอมรับรัฐธรรมนูญ และลดปัญหาในอนาคตใดที่จะดีไปกว่าการทำประชามติ
ขณะที่ สุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย เห็นว่า การทำประชามติจะดึงให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น สังคมไทยได้สร้างมาตรฐานของกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมไว้สูงมากในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 ฉะนั้นรอบนี้มาตรฐานก็ไม่ควรน้อยไปจากเดิม
ในส่วนสมาชิก สปช. วันชัย สอนศิริ เห็นว่า จะมีประชามติหรือไม่ต้องดูกระแสต่อไป และถ้าไม่มีเหตุสุดวิสัยหรืออุปสรรคอะไรเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน รัฐธรรมนูญมีภูมิคุ้มกันได้อย่างดี
  
ข้อเสนอรูปแบบประชามติ
เสียงเรียกร้องให้มีการทำประชามติทำให้มีข้อเสนอถึงรูปแบบประชามติด้วย เช่น พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. บอกว่า ควรทำประชามติเฉพาะประเด็นที่สำคัญให้ประชาชนตัดสินใจ ไม่ใช่ทุกมาตรา ขณะที่ จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกพรรคเพื่อไทย เสนอว่า หากประชามติไม่ผ่าน ต้องกำหนดไปเลยว่า…จะหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือว่าจะให้ร่างกันใหม่
อีกข้อเสนอจากสมาชิก สปช. ประสาร มฤคพิทักษ์ สนับสนุนให้มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญ “โดยเสนอให้เป็นรูปแบบเชิงเปรียบเทียบ คือเลือกระหว่างร่างรัฐธรรมนูญของนายบวรศักดิ์ กับระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และปี 50 ว่าจะใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใด”
ประชามติ ต้องยกเลิกกฎอัยการศึก?
ในช่วงการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 มีถึง 35 จังหวัด ที่ต้องลงคะแนนเสียงภายใต้กฎอัยการศึก ส่งผลให้การะทำประชามติในครั้งนั้นเกิดข้อครหาถึงเสรีภาพของผู้ลงคะแนนเสียง และการถกเถียงพูดคุยในสังคม จากบทเรียนครั้งก่อน จาตุรนต์ เสนอว่า ควรเปิดโอกาสให้มีการทำประชามติอย่างเสรีไม่ใช่ทำประชามติภายใต้กฎอัยการศึกเพื่อให้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่
ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เห็นต่างว่า การจัดทำประชามติจะไม่มีการยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะการทำประชามติที่ดีไม่ต้องไปชุมนุมเกิน 5 คน เพื่อหาเสียง… ซึ่งคนที่จะเข้ามาสร้างความเข้าใจต้องเป็นกลางไม่ใช่นักปลุกระดมที่จะพูดเข้าข้างตัวเอง
ประชามติต้องแก้รัฐธรรมนูญ 2557
นอกจากนี้ วิษณุ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายย้ำอยู่ตลอดว่าหากจะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญต้องเสนอให้ สนช. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้บัญญัติไว้ ซึ่งหากจำเป็นต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ต้องเพิ่มข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องไปอีก 5 – 7 มาตราด้วยกัน
สอดคล้องกับ คำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญแต่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 โดยมาตรา 46 ระบุว่า กรณีจำเป็นและสมควร คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะมีมติร่วมกันให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้
กกต. พร้อม! 
หลังมีเสียงเรียกร้องให้ทำประชามติ สมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า กกต.พร้อมทำประชามติ โดย บรรยากาศทางการเมืองต้องเปิดให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นอย่างเสรีเท่าเทียม.. ส่วนงบประมาณก็เท่ากับการจัดการเลือกตั้งอาจอยู่ที่ประมาณ 3000 ล้านบาทเศษ
ประชามติ เป็นอำนาจของทหาร
หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดชะตาชีวิตของคนทั้งประเทศ คือ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เขายืนยันบ่อยครั้งว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรทำประชามติ แต่ตัวเขา "ไม่ใช่ผู้มีอำนาจ ก็คงต้องไปถามคณะรัฐมนตรี และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ"
ขณะที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจอย่างตัวจริง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า อำนาจการตัดสินใจสุดท้ายรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของ คสช. แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเรื่องการทำประชามติ… เพราะฉะนั้นทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ อยู่ที่ผมตัดสินใจ ถ้าตกลงกันเรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไรกัน สามารถทูลเกล้าฯ ได้ มันก็จบ…ไม่งั้นก็ต้องล้มกันทั้งหมด เริ่มใหม่…ถ้าล้มทั้งหมดก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ รัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนั้น