กฎหมายพุทธศาสนาใหม่ “แผงพระ พระเบี่ยงเบน” อาจติดคุก

ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เป็นความพยายามผลักดันของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) มาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 ต่อเนื่องเรื่อยมาถึงรัฐบาลพลเรือนทุกชุดแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ล่าสุด วันที่ 26 สิงหาคม 2557 หลังการรัฐประหารอีกครั้ง ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับหลักการโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
เหตุผลของการให้มีกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เนื่องจาก “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน ซึ่งมีพุทธบริษัทสี่ โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ได้ใช้หลักธรรมในการสร้างศีลธรรมปัญญาและความเข้มแข็งของคนในชาติ จึงสมควรที่รัฐและพุทธศาสนิกชนได้ร่วมมือร่วมใจในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงดำรงอยู่สืบไป รวมทั้งต้องสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต” 
โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายมีดังนี้
ตั้ง “คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา” พาชาวพุทธเที่ยวอินเดีย
ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา กำหนดให้มีคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และกรรมการอีก 25 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ และพระภิกษุ โดยมีแนวทางในการอุปถัมภ์และคุ้มครอง (มาตรา 5) ที่สนใจคือ   
(1) ส่งเสริมสนับสนุนคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนในการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานทางพระพุทธศาสนา 
(2) จัดให้มีการสอดส่องดูแลและปกป้องกิจการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มิให้มีการกระทำละเมิด ดูหมิ่น เหยียดหยาม ทำลาย ลอกเลียน ดัดแปลง หรือทำให้วิปริตผิดเพี้ยนไป 
 
(3) ส่งเสริมและสนับสนุนการนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา มาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมศีลธรรม พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความสามัคคีของพุทธศาสนิกชน 
นอกจากนี้ให้มีคณะกรรมการในจังหวัดเรียกว่า “คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด” ด้วย
จากการสำรวจของสำนักงานสถิตแห่งชาติในปี 2554 พบว่า มีประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธ ถึงร้อยละ 94.6 และเมื่อดูการประกอบกิจทางศาสนาพุทธ พบว่าพุทธศาสนิกชนตักบาตร ร้อยละ 92.7 สวดมนต์ ร้อยละ 80.6 รักษาศีล ร้อยละ 49.4 และทำสมาธิ ร้อยละ 40.5 โดยสำนักงานสถิติฯ เปรียบเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2551 ว่า “การตักบาตรและสวดมนต์ไม่แตกต่างกัน สำหรับการรักษาศีล 5 และทำสมาธิเพิ่มขึ้น”  
ตั้งกองทุนเพื่อนำเงินสนับสนุนการอุปถัมภ์และคุ้มครอง
เพื่อให้ภารกิจการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาเป็นไปได้ด้วยความราบรื่น ให้จัดตั้ง “กองทุนอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา” โดยให้มีกรรมการบริหารกองทุนจำนวน 7 คน ประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ สำหรับเงินและทรัพย์สินของกองทุน ประกอบด้วย (มาตรา 21)
(1) เงินประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
(2) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็น
(3) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้
(4) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์กรการระหว่างประเทศ
(5) ดอกผลหรือรายได้ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน 
(6) รายได้อื่นๆ 
ทั้งนี้ รายได้หรือผลประโยชน์จากการดำเนินการหรือการจัดหาประโยชน์ของกองทุน ไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
การสำรวจของ ผศ.ดร.ณดา พบว่า รายรับรวมโดยเฉลี่ยของวัดเท่ากับ 3,235,692 บาทต่อปี มาจากเงินบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์เช่น งานซ่อมแซม โบสถ์ หรือศาสนสถานอื่น ๆ รองลงมาคือรายรับจากการสร้างเครื่องบูชา และเงินบริจาคในโอกาสพิเศษ เช่น ทอดกฐิน ผ้าป่า งานบวช พิธีฝังลูกนิมิต ขณะที่รายจ่ายรวมเฉลี่ยของวัดเท่ากับ 2,770,927 บาทต่อปี ซึ่งโดยมากเป็นค่าก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารสถานที่ในวัด รองลงมาเป็นค่าซ่อมบำรุงรักษาสถานที่และอุปกรณ์
 

ผลการสำรวจวัด 490 วัด พบว่า 107 วัด มีรายรับระหว่าง 500,001-1,000,00 บาท คิดเป็นร้อยละ 21.8 และโดยส่วนมากคือ 100 วัด มีรายจ่ายอยู่ที่ 200,001-500,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 20.41 วัดที่มีรายได้และรายจ่ายมากกว่า 20 ล้านบาทต่อปีขึ้นไปมีจำนวน 9-10 วัด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 โดยในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งมีรายรับ-รายจ่ายมากกว่า 50 ล้านบาท

โทษหนักหากทำลายศาสนา
ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา นิยาม “การกระทำให้เกิดความเสียหายทางพระพุทธศาสนา” ว่าคือ การกระทำที่บุคคลใด กระทำให้กระทบต่อความศรัทธาของพระพุทธศาสนา รวมถึงพระภิกษุที่กระทำผิดทางพระวินัยด้วย 
โดยมีบทลงโทษที่น่าสนใจคือ  
(1) ผู้ใดทำให้หลักศาสนธรรมผิดเพี้ยนไปจากพระไตรปิฎก ต้องระหว่างโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(2) พระภิกษุ สามเณร ทำการเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งผู้ที่ร่วมกับทำความผิด ผู้สนับสนุน ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในบทบัญญัตินั้นๆ หนึ่งในสาม
(3) ผู้ใดประกอบการค้า สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา พระเครื่องหรือวัตถุมงคลใดๆ ไม่ดำเนินการจัดวางไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
(4) พระภิกษุที่มีอำนาจหน้าที่ในการบรรพชาอุปสมบท จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำการบรรพชาอุปสมบทให้แก่ผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(5) พระภิกษุ สามเณรใด ที่มีพฤติการณ์เบี่ยงเบนทางเพศกระทำการใดๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากการศึกษา เรื่อง “การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย” (ปี 2555) ของ ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พบว่า วัดมีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทย พุทธศาสนิกชนชาวไทยมีบทบาทในการเข้าไปร่วมในการพัฒนา อุปถัมภ์วัดในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการบริจาคเงิน ข้อมูลเมื่อปี 2553 มีวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์ทั้งสิ้นจำนวน 37,075 วัด มีเพียงหลักพันเท่านั้น ที่ส่งรายงานบัญชีให้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่สำคัญคือการจัดทำบัญชีของวัดไม่สอดคล้องกับหลักธรรมภิบาล
ไฟล์แนบ