รัฐธรรมนูญ’58 ‘สร้างการเมืองที่ดี ด้วยสมัชชาคุณธรรม’

นับตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นมา คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยการนำของศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ (ที่พยายามเรียกกันว่า) "ฉบับปฏิรูป" โดยล่าสุด บวรศักดิ์ ได้เผยแนวคิดเกี่ยวการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่าน บทความ "ระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง" ในจุลสาร รัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูปฉบับที่ 2 โดยมีการเพิ่มเติมหลักการใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
"สร้างสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อสร้างนักการเมืองที่มีคุณธรรม”
โจทย์ใหญ่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือจะทำอย่างไรให้นักการเมืองเป็นคนดีมีคุณธรรม ในบทความของบวรศักดิ์ รัฐธรรมนูญใหม่จะมีการออกแบบสถาบันทางการเมืองใหม่เพื่อทำหน้าที่ควบคุมจริยธรรมของนักการเมือง โดยแบ่งเป็น
ระดับชาติ “สร้างสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” จะทำหน้าที่ส่งเสริมและพิทักษ์คุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลของนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน โดยจะตรวจสอบไต่สวนการละเมิดจริยธรรมของบุคคลสาธารณะ และประกาศผลให้ประชาชนทราบ พร้อมส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจดำเนินการ "ถอดถอน" ได้ ซึ่งสมัชชาคุณธรรมประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมที่เป็นที่ยอมรับในสังคม
ระดับพื้นที่ “สร้างสมัชชาพลเมือง” ทำหน้าที่จัดทำแผนพัฒนา เห็นชอบงบประมาณ และมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยประกอบไปด้วย ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ผู้แทนประชาสังคม ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ผู้นำศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ
ที่กล่าวมาเป็นแนวทางเบื้องต้นที่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามคงต้องรอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องว่าจะมีการเลือก “คนสังคมยอมรับ” มาจากไหนเพื่อเป็นสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ
 
ร่างโครงสร้างสถาบันของร่างรัฐธรรมนูญใหม่
 
"ที่มาวุฒิสภา ไม่ต้องเลือกตั้ง เน้นสรรหาหลากหลาย"
โครงสร้างทางการเมืองใหม่จะประกอบไปด้วย 2 สภาเช่นเดิม สำหรับความแตกต่างจากที่ผ่านมา บวรศักดิ์ อธิบายถึงโครงสร้างใหม่ว่าจะเป็นผนวกรวมทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามา โดยไม่จำกัดอยู่ที่เรื่องของจำนวนหรือเรื่องที่มาเพียงทางเดียว โดย สภาผู้แทนราษฎร จะมีสมาชิกไม่เกิน 480 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน เป็นสภาที่บริหารโดยอาศัย "หลักเสียงข้างมาก”
และ วุฒิสภา มีสมาชิกไม่เกิน 200 คน มากจากความหลากหลายทางวิชาชีพและกลุ่มต่างๆ ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมือง โดยเลือกจาก
1)     ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานศาลฎีกา เลือกกันเองให้ได้ประเภทละไม่เกิน 3 คน
2)     ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพไทย ฯลฯ เลือกกันเอง ประเภทละไม่เกิน 10 คน
3)     ผู้แทนองค์กรอาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง อาทิ สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรม หรือ สภาวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทยสภา สภาทนายความ ฯลฯ จำนวนไม่เกิน 20 คน
4)     ผู้ที่มาจากการเลือกกันเองขององค์กรต่างๆ ตามจำนวนที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด อาทิ องค์กรด้านการเกษตร แรงงาน สื่อมวลชน ฯลฯ จำนวนไม่เกิน 40 คน
5)     ให้มีการสมัครผู้ทรงคุณวุฒิจากด้านต่างๆ โดยจะใช้คณะกรรมการสรรหาบุคคลให้ได้รายชื่อ 200 คน และให้ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นทั่วประเทศเลือกให้เหลือจำนวนไม่เกิน 100 คน บวรศักดิ์เรียกวิธีนี้ว่า "ระบบเลือกตั้งทางอ้อม"
โดย วุฒิสภาจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และจะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระไม่ได้
"อำนาจของวุฒิสภาที่มากขึ้น”
วุฒิสภามีอำนาจที่สำคัญ เช่น การเสนอกฎหมาย การตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี การเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาโดยไม่มีการลงมติได้ การตรวจสอบประวัติผู้ที่นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี การลงมติเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ การเสนอถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกทั้ง 2 สภา และข้าราชการระดับสูง
นอกจากนี้ วุฒิสภามีอำนาจในการเสนอให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติตรวจสอบจริยธรรมของรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการระดับสูง รวมถึงองค์กรอิสระ หากเกิดกรณีกระทำผิดก็สามารถถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ อย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีก็มีอำนาจนี้เช่นกันในการตรวจสอบองค์กรอื่นๆ รวมทั้งวุฒิสภาด้วย
"เพิ่มบทบาทฝ่ายค้าน มากขึ้นในสภา”
ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมติของพรรคและต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง โดยให้ผู้ที่ได้รับคะแนนลำดับที่ 2 และ 3 ในการเลือกประธานสภาดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภา และรองประธานสภามีสัดส่วนให้พรรคการเมืองฝ่ายค้าน นอกจากนี้ในประเด็นการถ่วงดุลอำนาจนั้น ฝ่ายค้านจะดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการชุดตรวจสอบที่สำคัญๆ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นต้น
"เปิดโอกาสให้มีนายกคนกลางได้”
รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการลงคะแนนเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตามเพื่อการแก้ไข "ภาวะวิกฤต” ให้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ จึงกำหนดให้นายกรัฐมนตรีห้ามเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสามารถนำ "คนกลาง” ที่เป็นที่ยอมรับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นผู้แก้ภาวะวิกฤตชั่วคราวได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคาดว่า"ร่างแรก"ของรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 18 เมษายน 2558
ไฟล์แนบ