ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ: ไม่รวมการหมิ่นประมาทออนไลน์ โพสภาพโป๊เด็กจำคุก 6 ปี

ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ…. หรือ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นหนึ่งใน "ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล 10+3 ฉบับ" ที่คณะรัฐมนตรีอนุมติหลักการไปแล้วด้วยเหตุผลว่าเพื่อรองรับ “การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล” 
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เพราะพบปัญหาจากการบังคับใช้หลายประเด็น เช่น การนำมาใช้กับความผิดด้านความมั่นคงมากกว่าความผิดเกี่ยวกับการเจาะระบบ การกำหนดความรับผิดของผู้ให้บริการไว้กว้างเกินไปทำให้เกิดบรรยากาศการเซ็นเซอร์ตัวเอง การตีความมาตรา 14(1) เพื่อใช้กับการหมิ่นประมาทออนไลน์ซึ่งผิดเจตนารมณ์ 
ประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างมาก และกฎหมายไม่ได้ถูกนำมาใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง คือ เพื่อแก้ปัญหาการกระทำความผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์ หรือการฉ้อโกงหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต 
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ จึงมุ่งแก้ไขหลายประเด็น ดังนี้
แก้มาตรา 14(1) มุ่งเอาผิดการฉ้อโกง ไม่รวมการหมิ่นประมาทออนไลน์
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1) มีวัตถุประสงค์มุ่งเอาผิดการทำเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงผู้บริโภค หรือ ที่เรียกว่า Phishing และการใช้ไฟล์ปลอมเพื่อแฝงตัวเข้ามาทำลายระบบคอมพิวเตอร์ แต่เนื่องจากกฎหมายเดิมเขียนเอาไว้ว่า “ผู้ใด… นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ทำให้มาตรานี้ถูกตีความไปใช้ลงโทษการโพสต์ข้อความหมิ่นประมาท หรือการใส่ความกันบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นการบังคับใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ และกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างมาก
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้จึงแก้ไข มาตรา 14(1) เป็น
           “มาตรา 14 ผู้ใดโดยทุจริตนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ร่างฉบับแก้ไขกำหนดชัดขึ้นว่าความผิดตามมาตรานี้ต้องเป็นการ “ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคล” ทำให้การโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทบนโลกออนไลน์ไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายนี้อีกต่อไป หากร่างกฎหมายนี้ถูกประกาศใช้ คดีที่ฟ้องร้องกันอยู่ในชั้นศาลต้องพิพากษายกฟ้อง และหากมีคดีที่จำเลยกำลังรับโทษอยู่จำเลยจะพ้นโทษทันที
นอกจากนี้ มาตรา 14 ตามร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังกำหนดว่า หากเป็นการนำเสนอข้อมูลเท็จ “ต่อประชาชน” โทษก็จะสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังกำหนดให้ความผิดฐานนี้ เป็นความผิดอันยอมความได้ด้วย
 
เข้มงวดเรื่อง “ภาพโป๊เด็ก” จัดทำ-เผยแพร่-ครอบครอง โทษคุกหกปี
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ไม่มีความผิดเฉพาะเกี่ยวกับภาพลามกอนาจารของบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ซึ่งเป็นความผิดที่ยอมรับกันในระดับสากล ดังนั้น ร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงเพิ่มประเด็นนี้ให้ชัดเจน โดยเขียนเป็นมาตรา 16/1
นอกจากจะมุ่งลงโทษการกระทำที่เป็นการ “นำเสนอหรือจัดให้มี” “แจกจ่ายหรือโอนถ่าย” และ “จัดหามาให้” ซึ่งรูปภาพลามกอนาจารแล้ว ยังกำหนดว่าการ “จัดทำ” เพื่อการแจกจ่ายผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือการ “ครอบครอง” เพื่อวัตถุประสงค์แห่งการค้าหรือเพื่อหากำไร ก็เป็นความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิดหกปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท 
ข้อสังเกตประการแรก ต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในประเด็นนี้ คือ หากมีการจับกุมบุคคลที่จัดทำรูปภาพลามกอนาจาร หรือตรวจพบว่ามีการครอบครองรูปภาพลามกอนาจาร ก็ยากที่จะพิสูจน์เจตนาได้ว่ารูปภาพเหล่านั้นมีไว้เพื่ออะไร การเขียนกฎหมายให้การครอบครองหรือการมีไว้เป็นความผิด ย่อมเสี่ยงต่อการใช้กฎหมายไปกลั่นแกล้งจับกุมผู้บริสุทธิ์
ข้อสังเกตประการที่สอง คือ คำว่า “ลามกอนาจาร” นั้นยังไม่มีกฎหมายฉบับใดกำหนดนิยามไว้อย่างชัดเจน แนวการตีความของศาลฎีกา ไม่ได้พิจารณาว่าโป๊มากน้อยแค่ไหนจึงเข้าข่ายลามกอนาจาร แต่จะพิจารณาว่ารูปภาพมีลักษณะยั่วยุให้เกิดอารมณ์ทางเพศหรือไม่ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าการเผยแพร่รูปภาพของเด็กแรกเกิดที่ไม่ได้ใส่เสื้อผ้า หรือรูปภาพการ์ตูน หรือรูปภาพโป๊ที่เกิดจากการตัดต่อ จะเป็นความผิดหรือไม่
ผู้ดูแลเว็บไซต์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม "ขั้นตอนการแจ้งเตือน" 
ตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 ประเด็นความรับผิดของ “ผู้ให้บริการ” เป็นปัญหาใหญ่ เพราะกฎหมายเดิมกำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการที่ “จงใจสนับสนุนหรือยินยอม” ให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์ที่ดูแลอยู่ ต้องรับโทษเท่ากับผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นการสร้างภาระทางกฎหมายให้ผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นอย่างมาก เว็บไซต์หลายแห่งจึงยกเลิกบริการพื้นที่แสดงความคิดเห็นอย่างเช่น เว็บบอร์ด และต้องคอยเซ็นเซอร์เนื้อหาบนโลกออนไลน์โดยการลบข้อความที่แม้ยังไม่แน่ใจว่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ แม้จะยังกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องรับผิดเท่ากับผู้กระทำความผิด แต่ก็เพิ่มบทบัญญัติขึ้นมาว่า
           “ถ้าผู้ให้บริการที่พิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ” 
สำหรับ “ขั้นตอนการแจ้งเตือน” ตามที่ร่างฉบับนี้เขียนไว้จะมีรายละเอียดอย่างไร และสร้างภาระให้กับผู้ให้บริการในโลกออนไลน์มากน้อยแค่ไหน ยังต้องขึ้นอยู่กับกฎระเบียบที่จะออกมาในอนาคต จึงยังไม่แน่ชัดว่าร่างฉบับนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่เดิมได้หรือไม่
แกะรอยอาชญากร ด้วยข้อมูลการใช้งานคอมพิวเตอร์
ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 การที่ตำรวจจะสืบหาตัวคนร้ายด้วยการแกะรอยจากข้อมูลการใช้งานคอมพิวเตอร์ ต้องเป็นคนร้ายที่ต้องสงสัยว่ากระทำผิดตาม “พระราชบัญญัตินี้” หรือเป็นความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เท่านั้น หากเป็นความผิดตามกฎหมายอื่น ตัวอย่างเช่น นายพรชัย แชทคุยกับ ด.ญ.สวย แล้วล่อลวงผ่านการแชทพา ด.ญ.สวย ไปทำอนาจาร ตำรวจไม่อาจขอข้อมูลจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เพื่อหาว่านายพรชัยเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตจากบริเวณใด เพื่อตามจับตัวนายพรชัยได้
ตามร่างแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดว่า เจ้าหน้าที่อาจขอข้อมูลการใช้งานคอมพิวเตอร์ของผู้ต้องสงสัยว่า “กระทำความผิดที่มีระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นความผิดตามกฎหมายใด…” หมายความว่าตำรวจอาจแกะรอยผู้ต้องสงสัยด้วยวิธีการขอข้อมูลจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ในกรณีที่เป็นความผิดที่ “มีระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง” ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตจากกฎหมายเดิม ให้รวมไปถึงความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่มีการกระทำผ่านระบบคอมพิวเตอร์ด้วย
หากร่างกฎหมายนี้ถูกประกาศใช้ กรณี นายพรชัย แชทคุยกับ ด.ญ.สวย แล้วล่อลวงผ่านการแชทพา  ด.ญ.สวย ไปทำอนาจาร ตำรวจสามารถแกะรอยหาตัวนายพรชัย ด้วยวิธีการขอข้อมูลการใช้งานโปรแกรมแชทผ่านผู้ให้บริการได้
แต่หากเป็นกรณี นายพรชัยฆ่าคนตาย โดยวิธีการฆ่าคนไม่ได้มีคอมพิวเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้องเลย ตำรวจก็ยังไม่สามารถอาศัย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แกะรอยหาตัวนายพรชัย ด้วยวิธีการขอข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากผู้ให้บริการได้
นอกจากนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ยังแก้ไขมาตรา 11 กำหนดเรื่องการส่งอีเมล์รวบกวน หรือ การส่งสแปม (Spam) โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับบอกเลิก ให้มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท, แก้ไขมาตรา 12 กำหนดให้การเจาะข้อมูลคอมพิวเตอร์ การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ การดักข้อมูลคอมพิวเตอร์ ในกรณีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ เป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหนึ่งปีถึงเจ็ดปี ปรับสองหมื่นถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
ในแง่การปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือการ “บล็อคเว็บ” ก็ลดขั้นตอนให้เจ้าหน้าที่ขอคำสั่งศาลอย่างเดียว ไม่ต้องให้รัฐมนตรีเป็นผู้เห็นชอบก่อน และกำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ให้บริการเก็บข้อมูลการใช้งานคอมพิวเตอร์ไว้เป็นเวลาเกินกว่า 90 วัน แต่ไม่เกินสองปีได้ ซึ่งตามกฎหมายเดิมผู้ให้บริการมีหน้าที่เก็บไว้เพียงไม่เกิน 90 วันเท่านั้น
ไฟล์แนบ