ร่าง แก้ไขพ.ร.บ.จราจร 2 ฉบับ ว่าด้วยเรื่องบริการใบสั่งถึงบ้าน และไม่เป่าเมาแน่นอน

ถนนเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนทุกเพศทุกวัยและทุกชนชั้นต้องใช้อยู่ตลอดเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือความขัดแย้งของการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์มากำกับดูแลผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนทุกคนจะได้รับการคุ้มครองและปกป้องสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ตัวแสดงที่เป็นเสมือนกรรมการหรือผู้ตัดสินบนท้องถนนก็คงจะเป็นใครไม่ได้นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่คอยอำนวยความสะดวกและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ข้อถกเถียงก็คือเราจจะออกแบบกฎเกณฑ์และวิธีการอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น เพิ่มบทลงโทษ หรือให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากน้อยแค่ไหนที่จะแก้ปัญหาบนท้องถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการร่างกฎหมายเกี่ยวกับจราจร 2 ฉบับ คือ 
1) ร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ส่งใบสั่งทางไปรษณีย์) ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 171 เสียง ไม่เห็นชอบ 8 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง 
2) ร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กำหนดสัญญาณจราจรเพิ่มเติมกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ไฟฉายเรืองแสงในการแสดงสัญญาณจราจรได้) ด้วยคะแนนเห็นชอบ 184 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง 
ซึ่งทั้งสองร่างนี้จะให้อำนาจและอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เป็นกรรมการบนท้องถนนมีอำนาจเอาผิดย้อนหลังผู้ผิดกฎจราจร เพิ่มอำนาจหน้าที่และเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกของผู้ใช้รถใช้ถนน
แก้ไข ร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่
ร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก (สั่งใบสั่งทางไปรษณีย์) เกิดจากปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตำรวจพบการกระทำความผิดของผู้ขับขี่รถจำนวนมากที่ไม่สามารถออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ได้ทันที เนื่องจากไม่สามารถเรียกให้ผู้ขับขี่หยุดรถได้ ซึ่งผลคือการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้ต้องทำการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 140 วรรคหนึ่ง ของพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2535 โดยยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 140 และใช้ข้อความแทน ว่า
“มาตรา 140 เมื่อเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบด้วยตนเองหรือโดยใช้เครื่องอุปกรณ์ใดๆ 
ว่าผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม…กฎหมาย…จะว่ากล่าว ตักเตือนผู้ขับขี่ หรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับ…ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้ขับขี่ ให้ติดหรือผูกใบสั่งไว้ที่รถ…และถ้าไม่สามารถติดหรือผูกใบสั่งไว้ที่รถได้…ให้ส่งใบสั่งพร้อมพยานหลักฐานไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของรถโดยไปรษณีย์ตอบรับ และให้ถือว่าเจ้าของรถได้รับใบสั่งนั้นเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับตั้งแต่วันส่ง”
กล่าวอย่างง่ายคือ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพิ่มอำนาจตำรวจในการเอาผิดย้อนหลังหากพบว่าผู้ใช้รถคนไหนทำผิดกฎหมายโดยใบสั่งและพยานหลักฐานจะส่งไปทางไปรษณีย์ของเจ้าของรถ ซึ่งเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับตั้งแต่วันส่งให้ถือว่าเข้าของรถได้รับในสั่งแล้ว
แก้ไข ร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก (กำหนดสัญญาณจราจรเพิ่มเติมกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้
ไฟฉายเรืองแสงในการแสดงสัญญาณจราจรได้)
ในร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กำหนดสัญญาณจราจรเพิ่มเติมกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ไฟฉายเรืองแสงในการแสดงสัญญาณจราจรได้) จะมีการเพิ่มเติมเนื้อหาในกฎหมาย 2 ส่วน คือ กำหนดอุปกรณ์เพื่อช่วยในการแสดงสัญญาณจราจร และ การเพิ่มอำหน้าที่ตำรวจในการให้มีการตรวจสอบผู้ที่เมาแล้วขับ
สัญญาณจราจรแบบใหม่ ใช้ไฟฉายเรืองแสงหรืออุปกรณ์เรื่องแสงก็ได้
เนื่องจากในมาตรา 24 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงสัญญาณจราจรผ่านการเคลื่อนไหวร่างกายเท่านั้น ส่งผลให้ในสภาพแวดล้อมที่ยากต่อการมองเห็นสัญญาณจราจรแบบเดิมอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุต่อทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไป ดังนั้นเพื่อให้มีความปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้นร่างนี้จึงได้เพิ่มข้อความว่า “การแสดงสัญญาณจราจรของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรานี้ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถใช้ไฟฉายเรืองแสงหรืออุปกรณ์เรื่องแสงอื่นได้”.ในมาตรา 24
เปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจในการสันนิษฐาน “ไม่ยอมเป่าต้องเมาแน่นอน”
แม้ในปัจจุบันมีมาตรการตรวจสอบผู้ขับขี่รถเมาสุรา แต่มีผู้ขับขี่จำนวนมากปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ โดยในมาตรา 142 ของร่างนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าตำรวจที่มีอำนาจมากขึ้น คือจากเดิมที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำการทดสอบผู้ขับขี่รถว่ามีอาการเมาหรือไม่ และมีอำนาจกักตัวผู้ขับขี่ที่น่าสงสัยภายในระยะเวลาที่จำเป็นได้ด้วยแล้ว ในร่างใหม่ได้เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ดุลยพินิจในการสันนิษฐานกรณีที่ผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นมีความผิดเมาสุราได้