ร่างพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ตั้งศูนย์กลางรับคำขออนุญาตทุกเรื่อง มุ่งแก้ “เทปสีแดง”

กฎระเบียบของรัฐที่เข้ามากำกับควบคุมเอกชนนั้น มีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันว่า การให้สิทธิกับเอกชนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยทั่วไป ในความเป็นจริงบางครั้งขั้นตอนที่รัฐสร้างขึ้นกลับก่อให้เกิดผลเสียและนำมาซึ่งปัญหามากมาย การใช้กฎหมายในการกำกับหรือควบคุมมากจนเกินไปย่อมสร้างภาระต้นทุนแก่ประชาชนและส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกการกำกับดูแลที่ “มากเกินไป” ของรัฐบาลว่า “เทปสีแดง (red tape)”
"เทปสีแดง" เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของการดำเนินนโยบายที่ล้มเหลวและก่อให้เกิดปัญหาการแสวงหากำไรเกินปกติในขั้นตอนการกำกับดูแลของรัฐ นอกจะไม่ก่อให้เกิดผลดียังเปิดช่องให้เกิดการเล่นตุกติกตลอดการดำเนินการอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเอกชนต้องการขอใบอนุญาตจากรัฐ ต้องเจอกับขั้นตอนมากมายและความล่าช้า ต้องเจอกับกระบวนการเอกสารที่จุกจิก เพื่อการพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิทธิของประชาชนโดยทั่วไป แต่ราชการกลับฉกฉวยประโยชน์จากจุดบอดนี้ เพื่อเรียกค่าตอบแทนในการอำนวยความสะดวกให้รวดเร็วขึ้น หรือที่เรานิยมเรียกว่าการจ่ายเงินใต้โต๊ะนั้นเอง ทำให้ต้นทุนในการดำเนินกิจการต่างๆ ของประชาชนสูงเกินสมควร
ออกกฎหมายลดขั้นตอน แก้ความล้าช้าของระบบราชการไทย
ร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เป็นกฎหมายที่พยายามลด “เทปสีแดง” ในระบบราชการไทย ซึ่งกฎหมายนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
โดยสาระสำคัญของกฎหมายมีอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่
1. หน้าที่ของผู้อนุญาตและการพิจารณาอนุญาต
ร่างพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกฯ กําหนดหน้าที่ของผู้อนุญาตไว้หลายประการ โดยหน้าที่ที่สําคัญมีดังนี้
1) จัดทําคู่มือสําหรับประชาชน (ร่างมาตรา 7) ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(1) หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข (ถ้ามี) ในการขออนุญาต
(2) ขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตและ
(3) รายการเอกสารหรือหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการขออนุญาต
ทั้งนี้ ผู้อนุญาตต้องจัดทําคู่มือสําหรับประชาชนดังกล่าวให้เสร็จภายใน 180 วันนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้ (ร่างมาตรา 17)
2) พิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่ให้อํานาจในการอนุญาตทุก 5 ปี เพื่อยกเลิกการอนุญาตหรือจัดให้มีมาตรการอื่นแทนการอนุญาต และเสนอผลการพิจารณานั้นต่อคณะรัฐมนตรี (ร่างมาตรา 6)
3) ในขั้นตอนการขออนุญาตนั้น เจ้าหน้าที่รับคําขอต้องตรวจสอบคําขอและรายการเอกสารหรือหลักฐาน หากไม่ถูกต้องครบถ้วนต้องแจ้งผู้ขออนุญาตทันที (ร่างมาตรา 8 วรรคแรก) ถ้าแก้ไขหรือเพิ่มเติมได้ในขณะนั้น ให้ผู้ขออนุญาตดําเนินการให้ครบถ้วน แต่ถ้าไม่สามารถแก้ไขหรือเพิ่มเติมได้ในขณะนั้น ให้บันทึกรายการเอกสารที่จะต้องยื่นเพิ่มเติม และกําหนดระยะเวลาที่จะต้องแก้ไขหรือเพิ่มเติมไว้และมอบสําเนาให้ผู้ขออนุญาตเก็บไว้เป็นหลักฐาน
4) เมื่อผู้ขออนุญาตยื่นคําขอและรายการเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องครบถ้วนตามที่กําหนดไว้ในคู่มือสําหรับประชาชนแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเรียกเอกสารเพิ่มเติมหรือปฏิเสธคําขอนั้น โดยอ้างว่าเอกสารหรือหลักฐานไม่ครบถ้วน (ร่างมาตรา 8 วรรคสาม)
5) ผู้อนุญาตต้องดําเนินการอนุญาตตามกําหนดเวลาที่ระบุไว้ในคู่มือสําหรับประชาชน และแจ้งผู้ขออนุญาตภายใน 7 วันนับแต่พิจารณาแล้วเสร็จ หากครบตามกําหนดเวลายังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขออนุญาต และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการทราบทุก 7 วัน (ร่างมาตรา 10)
2. หน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และคณะรัฐมนตรี
ร่างพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกฯ กําหนดหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และคณะรัฐมนตรีโดยมีหน้าที่ที่สําคัญดังนี้
หน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
1) ตรวจสอบขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตในคู่มือสําหรับประชาชน และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการหากเห็นว่าควรดําเนินการแก้ไข (ร่างมาตรา 7 วรรคสาม)
2) รายงานต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งเสนอแนะการพัฒนาหรือปรับปรุงหน่วยงานหรือระบบการปฏิบัติราชการ ในกรณีที่ผู้อนุญาตดําเนินการพิจารณาอนุญาตล่าช้ากว่าที่กําหนดในคู่มือสําหรับประชาชนเกินสมควร หรือล่าช้าเพราะขาดประสิทธิภาพ (ร่างมาตรา 10 วรรคสาม)
3) หารือเรื่องการชําระค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาตแทนการยื่นคําขอต่อใบอนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ร่างมาตรา 12 วรรคสี่)
4) ให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเลิกการอนุญาต หรือจัดให้มีมาตรการอื่นแทนการอนุญาต (ร่างมาตรา 6 วรรคสอง)
หน้าที่ของคณะรัฐมนตรี
1) ออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อกําหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชําระค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาตแทนการยื่นคําขอต่อใบอนุญาต (ร่างมาตรา 12 วรรคแรกและวรรคสอง)
2) พิจารณายกเลิกการอนุญาตหรือจัดให้มีมาตรการอื่นแทนการอนุญาต (ร่างมาตรา 6 วรรคสอง)
3) จัดตั้งศูนย์รับคําขออนุญาต (ร่างมาตรา 14)
3. ศูนย์รับคําขออนุญาต
ศูนย์รับคําขออนุญาตเป็นหน่วยงานใหม่ที่ออกแบบมาเพื่ออํานวยความสะดวกแก่ประชาชนในการขออนุญาตจาก
หน่วยงานราชการ ร่างพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกฯ กําหนดให้คณะรัฐมนตรีสามารถออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดตั้งศูนย์รับคําขออนุญาต (ร่างมาตรา 14) ซึ่งทําหน้าที่คล้ายตัวกลางระหว่างประชาชนผู้ขออนุญาตกับหน่วยงานรัฐผู้พิจารณาอนุญาตในเรื่องต่างๆ ศูนย์รับคำขออนุญาตมีหน้าที่รับคําขออนุญาตและค่าธรรมเนียม ให้ข้อมูล และแนะนําเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาต เป็นต้น (ร่างมาตรา 16) โดยประชาชนสามารถยื่นคําขอ ส่งเอกสารหลักฐาน หรือค่าธรรมเนียม ณ ศูนย์รับคําขออนุญาต แทนหน่วยงานผู้อนุญาตได้ (ร่างมาตรา 15)
ศูนย์รับคำขออนุญาตนี้ใช้รับเรื่องแทนหน่วยงานรัฐได้ทุกประเภท ยกเว้นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี การพิจารณาคดีของศาล การดำเนินคดีทางอาญา และการขออนุญาตตามกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งต้องยื่นเรื่องกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนั้นๆ โดยตรง
ต้องแก้กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองให้สนับสนุนกันด้วย
ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ ประเทศไทยใช้ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (วิ.ปฏิบัติ) เป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานกลางสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ดุลพินิจและออกคำสั่งให้อยู่ในกรอบ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น นอกจากการเสนอพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ เพื่อแก้ปัญหาเทปสีแดง ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งแล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนของกฎหมายที่มีอยู่เดิมก็อาจช่วยแก้ปัญหาเทปสีแดงได้เช่นกัน
มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เดิมกำหนดว่า
“ถ้าคำขอหรือคำแถลงมีข้อบกพร่องหรือมีข้อความที่อ่านไม่เข้าใจหรือผิดหลงอันเห็นได้ชัดว่าเกิดจากความไม่รู้หรือความเลินเล่อของคู่กรณี ให้เจ้าหน้าที่แนะนำให้คู่กรณีแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้อง”
มาตรา 27 ตามข้อเสนอแก้ไขใหม่นั้น กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องของคำขอและความครบถ้วนของเอกสารที่ต้องยื่นพร้อมกับคำขอ หากคำขอไม่ถูกต้อง ให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าว แนะนำให้ผู้ยื่นคำขอแก้ไข และหากเอกสารไม่ครบถ้วน ให้เจ้าหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอทราบทันทีหรือภายในไม่เกินเจ็ดวัน พร้อมทั้งบันทึกการแจ้งดังกล่าวไว้ด้วย
การกำหนดเช่นนี้ก็เพื่อแก้ปัญหากระบวนการพิจารณาออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ที่ล่าช้าโดยอ้างเหตุว่าเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ซึ่งอาจสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้มาใช้บริการ ซึ่งร่างแก้ไขนี้ยังกำหนดด้วยว่า หากเจ้าหน้าที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำขอเพราะอ้างเรื่องเอกสารไม่ถูกต้องอยู่ ก็อาจถูกดำเนินการทางวินัยต่อไปได้
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มมาตรา 39/1 เข้ามา โดยกำหนดให้การออกคำสั่งที่ต้องทำเป็นหนังสือใน ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งไว้เป็นอย่างอื่น เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสารครบถ้วน เพื่อให้กระบวนการมีกรอบเวลาชัดเจน รวดเร็ว เป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ใช้บริการและไม่ให้เจ้าหน้าที่กลั่นแกล้งประชาชนโดยการถ่วงเวลาการออกคำสั่ง
เอกสารอ้างอิง
ไฟล์แนบ