ความเคลื่อนไหว : การปิดกั้น การจัดกิจกรรมสาธารณะ

หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีประชาชนจำนวนมากในหลายพื้นที่ออกมาชุมนุมต่อต้านการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายคนถูกจับกุมคุมขังและถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีในศาลทหาร นับเป็นผลสำเร็จของ คสช. ที่กำราบฝ่ายที่คิดต่างได้อยู่หมัด จนการชุมนุมต่อต้านเงียบลงไปในที่สุด และบรรยากาศเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมืองไทยก็ถูกปิดกั้นลง 
หลังการชุมนุมบนท้องถนนเงียบลงไม่นานนักก็มีการเคลื่อนไหวของพลังทางสังคมกลุ่มอื่นๆ ออกมาแสดงบทบาทในพื้นที่สาธารณะต่อประเด็นทางสังคมที่หลากหลาย การแสดงออกหลายครั้งถูกจำกัดและจับตามองอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลทหาร จากการรวบรวบข้อมูลจนถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2557 มีกิจกรรมการแสดงออกของประชาชนอย่างน้อย 21 ครั้ง ที่ถูกปิดกั้น-แทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐ  
จากจำนวนข้างต้น สามารถแบ่งกิจกรรมการแสดงออก เป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 การแสดงออกในพื้นที่สาธารณะหลังรัฐประหาร ซึ่งหมายถึงกิจกรรมการชุมนุมและการรณรงค์ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ท้องถนน ตลาด ฯลฯ และ รูปแบบที่ 2 การจัดกิจกรรมความรู้ทางวิชาการ ซึ่งหมายถึงการจัดกิจกรรมเสวนาหรือกิจกรรมอื่นๆ ในสถานที่ซึ่งมีขอบเขตจำกัด เช่น ห้องประชุม ห้องเรียน สถานที่จัดนิทรรศการ ฯลฯ 
ทั้งนี้จะนำเสนอประเด็นดังกล่าวผ่าน หนึ่ง) สถิติและประเด็นที่กลุ่มต่างๆ ต้องการแสดงออก สอง) ปฏิกิริยา รูปแบบและวิธีการในการจับกุมคุกคาม และสาม) ข้ออ้างและเหตุผลของเจ้าหน้าที่ในการห้ามหรือยุติกิจกรรมต่างๆ   

รูปแบบที่ 1 การแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ

วันที่

ชื่อกลุ่ม/องค์กร

เหตุผลการเคลื่อนไหว

สถานที่

การปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่

24มิ.ย. 57

ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง

อ่านแถลงการณ์ “แนวคิดเชียงใหม่จัดการตนเอง”

หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

ทหารให้หยุดอ่านแถลงการณ์และนำผู้ร่วมแถลงการณ์ไปพูดคุย

15 ก.ค. 57

สมัชชาคนจน (ชาวบ้านเก้าบาตร จ.บุรีรัมย์)

ยืนจดหมายขอให้ยุติการอพยพ ไล่รื้อบ้าน

หน้ากองบัญชาการกองทัพบก

 

25 ก.ค. 57

สมาพันธ์อัลกุดส์นานาชาติแห่งประเทศไทย

เรียกร้องความยุติธรรม อิสราเอล-ปาเลสไตน์

สถานทูตอิสลาเอล

ทหารส่งหนังสือเชิญให้มาพูดคุย

10 ส.ค. 57

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

รณรงค์หยุดส่งอาวุธสงคราม อิสราเอล-ปาเลสไตน์

ตลาดนัดสวนจตุจักร

เจ้าหน้าที่รถไฟเชิญไปพบตำรวจ

19 ส.ค. 57

เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน

เดินรณรงค์การปฏิรูปพลังงาน

จังหวัดสงขลา

ตำรวจและทหารเชิญตัวขึ้นรถขณะเดินรณรงค์

24 ส.ค. 57

เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน

เดินหนุนการรณรงค์ปฏิรูปพลังงานที่สงขลา

ปากซอยพหลโยธิน 2

ทหารเข้าควบคุมตัวขณะเดินรณรงค์

31 ส.ค. 57

กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมปี53

ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินยกฟ้อง 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' 

บริเวณ MRT และ BTS จตุจักร

ตำรวจเข้าควบคุมตัวขณะทำกิจกรรม

2 ก.ย. 57

เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน

เดินรณรงค์การปฏิรูปพลังงาน

จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ทหารเข้าควบคุมตัวขณะเดินรณรงค์

19 ก.ย. 57

ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย แห่งประเทศไทย

แขวนป้ายผ้ารำลึกถึงรัฐประหาร2549

สะพานลอยหน้าจุฬาฯ

ตำรวจติดต่อให้เข้ามาเสียค่าปรับ

20 ก.ย. 57

ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย แห่งประเทศไทย

แขวนป้ายผ้ารำลึกถึงรัฐประหาร2549

สะพานลอยหน้าไทยรัฐ

ตำรวจติดต่อให้เข้ามาเสียค่าปรับ

 
ตารางการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ
 
สถิตและประเด็นการแสดงออก
หลังการรัฐประหารมีการแสดงออกสาธารณะจำนวนอย่างน้อย 10 ครั้ง ซึ่งแบ่งเป็นประเด็นดังนี้ 
หนึ่ง) การเดินรณรงค์เกี่ยวกับพลังงาน 3 ครั้ง ของ “เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” 
สอง) การชุมนุมเกี่ยวปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอิสราเอลต่อปาเลสไตน์ ของ “สมาพันธ์อัลกุดส์นานาชาติแห่งประเทศไทย” และ การรณรงค์ของ “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย”  
สาม) การเรียกร้องความเป็นธรรม โดยการยื่นหนังสือจากการที่ทหารรุกไล่ที่ทำกินที่บ้านเก้าบาตร จังหวัดบุรีรัมย์ ของ “สมัชชาคนจน”  และ การทวงความเป็นธรรมจากการที่ศาลอาญายกฟ้อง 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' สลายการชุมนุม ของ “กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 53” 
สี่) การอ่านแถลงการณ์ เจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจของจังหวัดเชียงใหม่ ของ “ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง” 
ห้า) การแขวนป้ายผ้ารำลึกการรัฐประหาร 2549 และนายนวมทอง ไพรวัลย์ ที่สะพานลอยหน้าจุฬาลงกรณ์และสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ของ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย หรือ ศนปท. 
ป้ายผ้ารำลึกการรัฐประหาร 2549 และนายนวมทอง ไพรวัลย์ ที่สะพานลอย
ใกล้สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ของ ศนปท.  (ภาพจากประชาไท)
ปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่
ปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่ สามารถแบ่งอย่างกว้างได้ 2 แบบ คือ การยุติการแสดงออกอย่างทันที และ การเรียกตัวมาพบภายหลัง การยุติการแสดงออกอย่างทันทีมี 7 ครั้ง การเรียกตัวมาพบภายหลังมี 3 ครั้ง
ในแบบแรก กรณีการเดินรณรงค์ของเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน 3 ครั้ง ในทุกครั้งพวกเขาถูกเจ้าหน้าที่เข้าขัดขวางและมีผู้ถูกจับกุม เริ่มจากวันที่ 20 กันยายน 2557 ที่จังหวัดสงขลาการเดินรณรงค์ถูกทหารและตำรวจขัดขวางและมีการเชิญตัวผู้ชุมนุม 11 คน ขึ้นรถไปที่ค่ายเสนาณรงค์ จังหวัดสงขลาและผู้ชุมนุม 11 คน ถูกกักตัวเป็นเวลา 4 วัน ปฏิกิริยาต่อเนื่องคือวันที่ 24 กันยายน 2557 มีการรวมตัวกันของเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานที่กรุงเทพมหานครเพื่อสนับสนุนการเดินรณรงค์ที่จังหวัดสงขลา ครั้งนี้ตำรวจได้จับกุมผู้ชุมนุม 8 คน นำโดยนายวีระ สมความคิด และนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ไว้ที่กองบังคับการปราบปรามเป็นเวลา 4 วัน และครั้งสุดท้ายการเดินรณรงค์ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีวันที่ 2 กันยายน 2557 ทหารได้เข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมจำนวน 8 คน และกักตัวไว้ที่ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นเวลา 3 วัน
กิจกรรมเดินรณรงค์ของกลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงานที่จังหวัดสงขลา  (ภาพจากประชาไท)
ขณะที่ การอ่านแถลงการณ์ของภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเองในวันที่ 24 มิถุนายน 2557 และการรณรงค์ของแอมแนสตี้ฯ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2557 เจ้าหน้าที่สั่งให้ยุติกิจกรรมแล้วนำตัวผู้จัดกิจกรรมไปพูดคุยทำความเข้าใจหลังจากนั้นจึงปล่อยกลับบ้าน ส่วนวันที่ 31 สิงหาคม 2557 กิจกรรมของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตฯ ปี 53 ก็เช่นเดียวกันคือตำรวจเข้าจับกุมนางพะเยาว์ นายณัฐภัทร อัคฮาด และนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ในกรณีของพันธ์ศักดิ์เขาถูกปรับจากการโปรยใบปลิวเรียกร้องความเป็นธรรมด้วย
สำหรับ ในแบบที่สองการเรียกตัวมาพบภายหลังมี 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งเป็นการที่ตำรวจเรียกตัว นิสิตนักศึกษาจาก ศนปท. มาเสียค่าปรับเนื่องจากในวันที่ 19 กันยายน 2557 พวกเขาแขวนป้ายผ้าในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนอีกหนึ่งครั้งเป็นการชุมนุมของสมาพันธ์อัลกุดส์ฯ ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ซึ่งต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม คสช.ได้ส่งหนังสือเชิญนายเสถียรภาพ สุขสำราญ ประธานสมาพันธ์อัลกุดส์ฯ ผู้นำการชุมนุมมาชี้แจงที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์
หลังจากเข้าพบ คสช.นายเสถียรภาพ กล่าวว่า “การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวมุสลิมในประเทศปาเลสไตน์ ซึ่งในหลายประเทศทั่วโลกก็มีการชุมนุมในลักษณะเดียวกัน… (และ) การชุมนุมดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศไทยแต่อย่างใด”
เหตุผล ข้ออ้าง และการตั้งข้อหาของเจ้าหน้าที่
ในการแสดงออกสาธารณะทั้งหมด 10 ครั้ง เหตุผลและข้ออ้างหลักของเจ้าหน้าที่คือ การปฏิบัติตามกฎอัยการศึกและประกาศ คสช.7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน นอกจากนี้หลังจากการจับผู้ชุมนุมหรือยุติการชุมนุมสำเร็จ เจ้าหน้าที่จะทำการปรับความเข้าใจกับผู้ชุมนุมและขอร้องไม่ให้มีการเคลื่อนไหวในห้วงเวลานี้เพื่อรักษาความสงบ และไม่อยากให้เกิดการกระทำลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่น 
อย่างไรก็ตาม กรณีของกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตฯ ปี 53 และนิสิตนักศึกษาจาก ศนปท. จำนวน 3 ครั้ง ตำรวจตั้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ตามมาตรา 10 ว่าด้วย “โฆษณาด้วยการปิด ทิ้งหรือโปรยแผ่นประกาศหรือใบปลิว ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับหนังสืออนุญาต”
จากการตั้งข้อหาข้างต้น นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษาจาก ศนปท.กล่าวถึงการตั้งข้อหาครั้งนี้ว่า “ไม่ควรต้องดำเนินการอะไรขนาดนี้ เพราะแค่เพียงติดป้ายผ้าพูดถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ คือ การรัฐประหารปี 2549 กับรำลึกถึงลุงนวมทอง การกระทำครั้งนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดความสกปรกหรือเสียหายแก่สาธารณะ ท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้ ควรมีพื้นที่แสดงออกกันบ้าง” 

รูปแบบที่ 2 การจัดกิจกรรมความรู้ทางวิชาการ

วันที่จัดงาน

วันที่ยกเลิก

ชื่อกลุ่ม/องค์กร

กิจกรรมที่จัด

สถานที่

การปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่

14 มิ.ย. 57

ก่อน 3-4 วัน

กลุ่มปันยามูฟวี่คลับ

จัดฉายภาพยนตร์

แสงดีแกลเลอรี่ เชียงใหม่

ตำรวจโทรสอบถาม

23 ก.ค. 57

23 ก.ค. 57

น.ศ.คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่

จัดค่าย

ศูนย์เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือเชียงใหม่

ทหารโทรหาและตำรวจเข้ามาดูสถานที่

8 ส.ค. 57

ไม่ถูกยกเลิก

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย

งานเสวนา 

มธ.ท่าพระจันทร์

ส่งจดหมายขอความร่วมมือยุติกิจกรรม

17 ส.ค. 57

15 ส.ค. 57

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย

งานเสวนา 

ร้าน Book & Wife เชียงใหม่

ทหารโทรให้ยุติกิจกรรม

2 ก.ย. 57

2 ก.ย. 57

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน และ อื่นๆ

งานเสวนา 

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯ

ทหารโทรให้ยุติกิจกรรมและส่งหนังสือขอความร่วมมือ

18 ก.ย. 57

18 ก.ย. 57

กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย

งานเสวนา 

มธ.รังสิต

ส่งหนังสือขอความร่วมมือและทหารเข้ามางานเสวนา

23 ก.ย. 57

23 ก.ย. 57

บัณฑิตวิทยาลัย มรภ. นครราชสีมา

งานเสวนา 

มรภ. นครราชสีมา

ทหารประสานให้ยุติ และเข้ามาดูตรวจตรามหาวิทยาลัย

24 ก.ย. 57

23 ก.ย. 57

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

งานเสวนา 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทหารโทรและเข้ามาเจรจา มีหนังสือส่งมาตามหลัง

25 ก.ย. 57

20 ก.ย. 57

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

งานเสวนา 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทหารโทรให้ยุติกิจกรรมและส่งหนังสือขอความร่วมมือ

5 ต.ค. 57

ไม่ถูกยกเลิก

กลุ่มสภาหน้าโดม

งานเสวนา 

มธ.ท่าพระจันทร์

ก่อนงานเสวนาเจ้าหน้าที่พูดคุยถึงขอบเขตเนื้อหาการพูด

6 ต.ค. 57

3 ต.ค. 57

กลุ่มเกลียวแห่งธรรม

งานเสวนา 

มธ.ลำปาง

ทหารโทรให้ยุติกิจกรรม

ตารางการจัดกิจกรรมความรู้ทางวิชาการ

สถิตและประเด็นการจัดกิจกรรม
หลังการรัฐประหารมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้ทางวิชาการหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในมหาวิทยาลัยหรือสถานที่อื่นๆ เท่าที่ทราบมีจำนวนอย่างน้อย 11 ครั้งที่ถูกคุมคามโดยเจ้าหน้าที่ 
เริ่มจากจังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวน 5 ครั้ง คือ หนึ่ง) การยกเลิกจัดเสวนา “ความสุขและความปรองดองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557” และ สอง) “วันนี้คุณเอาปี๊บคลุมหัวแล้ว..หรือยัง???” ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทั้งสองครั้งสถานที่จัดอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาม) การยุติการจัดค่ายประเด็นเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาไทย ของนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ศูนย์เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ สี่) การจัดฉาย “ภาพยนตร์เรื่อง 1984” ของกลุ่มปันยามูฟวี่คลับ ที่แสงดี แกลลอรี่ และ ห้า) “กิจกรรม Light Up Night: ค่ำคืนสิทธิมนุษยชน ณ เชียงใหม่ ตอน สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในกาซ่า" ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งจัดที่ร้านBook & Wife  
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการจัดเสวนาอยู่ 4 ครั้งที่ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ คือ หนึ่ง) การยกเลิกการเสวนา “ห้องเรียนประชาธิปไตยบทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ” ของกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ที่ศูนย์รังสิต และ สอง) การยกเลิกงานรำลึก “6 ตุลา วันฟ้าเปลี่ยนสี” ของกลุ่มเกลียวแห่งธรรม ที่ศูนย์ลำปาง ในกรณีที่ศูนย์ลำปางทหารให้ยกเลิกการจัดงานทุกประเภทไม่เว้นแต่การทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สาม) การยกเลิกงานเสวนา "ห้องเรียนประชาธิปไตย: บทที่ 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557" ของกลุ่ม LLTD ที่ศูนย์รังสิต และการพยายามควบคุมเนื้อหาเสวนาวิชาการ "ประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการชำระ และการสร้าง" ของกลุ่มสภาหน้าโดม ที่ท่าพระจันทร์
สำหรับอีก 2 ครั้ง เป็นการยกเลิกงานแถลงข่าวและเสวนา “ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง” ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และแอมเนสตี้ฯ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) และการยกเลิกเวทีเสวนาทางวิชาการ “ประเด็น พ.ร.บ. จัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่” ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 
 
ตำรวจยื่นหนังสือขอความร่วมมืองดจัดงานเสวนาความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง ที่ FCCT (ภาพจากประชาไท)
รูปแบบการคุกคามของเจ้าหน้าที่
ในแต่ละกรณีจะพบว่ามีรูปแบบการคุกคามที่หลากหลาย ซึ่งในเหตุการณ์หนึ่งอาจถูกคุกคามได้หลายรูปแบบ โดยสามารถแบ่งรูปแบบของการคุกคามออกเป็น 4 รูปแบบ คือ
รูปแบบแรก การโทรศัพท์ขอให้ยกเลิกกิจกรรม เป็นวิธีที่เจ้าหน้าที่จะใช้เป็นลำดับแรกและใช้มากที่สุดถึง 8 ครั้ง เช่น การโทรศัพท์หากลุ่มปันยามูฟวี่คลับเพื่อสอบถามเรื่องการจัดฉายภาพยนตร์ โทรศัพท์หาแอมเนสตี้ฯ ให้ยุติงานที่เชียงใหม่ และโทรศัพท์คุยกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อให้กลุ่มเกลียวแห่งธรรม งดจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ผลคืองานทั้งสามผู้จัดต้องยกเลิกการจัดไปโดยปริยาย ในกรณีของการจัดค่ายของนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้จัดเองต้องตัดสินใจยกเลิกเช่นกัน เนื่องจากมีทหารโทรศัพท์มาพูดคุยถึงกิจกรรมขณะที่ตำรวจเองก็พยายามเข้ามาสอดส่องกิจกรรมนี้อย่างใกล้ชิด
รูปแบบที่สอง การส่งหนังสือขอความร่วมมือยุติกิจกรรมมีจำนวน 5 ครั้ง เช่น การจัดเสวนาของกลุ่ม LLTD ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นครั้งเดียวที่มีหนังสือแต่กิจกรรมไม่ถูกยกเลิก และ การเสวนาเรื่องความปรองดองภายใต้รัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งกิจกรรมนี้ทหารได้พยายามโทรศัพท์ไปยกเลิกก่อนหน้าด้วย นอกจากการโทรศัพท์และส่งหนังสือขอความร่วมมือให้ยุติกิจกรรม ในงานเสวนาความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง ที่ FCCT ตำรวจได้เข้ามาในสถานที่จัดงานเพื่อมอบหนังสือขอความร่วมมือยุติงานให้ผู้จัดงาน ส่วน งานเสวนาว่าด้วยเรื่องปี๊บคลุมหัวที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มีทหารเข้ามาพูดคุยขอให้เลื่อนการจัดเสวนาออกไป
รูปแบบที่สาม เจ้าหน้าที่บุกมาในขณะทำกิจกรรมมีจำนวน 2 ครั้ง โดยครั้งที่มีชื่อเสียง คือการเสวนาของกลุ่ม LLTD ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเจ้าหน้าที่บุกเข้ามายุติงานในขณะที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กำลังกล่าวปาฐกถา ขณะที่อีกครั้ง คือการที่ทหารบุกเข้ามาควบคุมไม่ให้มีเสวนาการจัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา
และ รูปแบบสุดท้าย การพยายามเข้าควบคุมเนื้อหาเสวนา ซึ่งมีเพียงครั้งเดียวคือเสวนาเรื่องประวัติศาสตร์ของสภาหน้าโดม ซึ่งก่อนเริ่มงานเจ้าหน้าที่ได้พูดคุยกับวิทยากรว่าสิ่งใดพูดได้หรือไม่ได้บ้าง  
เหตุผลของเจ้าหน้าที่
อ้างตามหนังสือขอความร่วมมือของทหาร เหตุผลหลักของการยกเลิกกิจกรรมทางวิชาการในหลายครั้ง เนื่องจาก “อาจส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาของชาติ อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดความแตกแยกและความเห็นต่างทางทัศนคติในทางการเมืองเกิดขึ้น…ตลอดจนในปัจจุบันทุกภาคส่วนได้ร่วมมือในการสนับสนุนการปรองดองสมานฉันท์” ดังนั้น “เพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของคนในชาติ” กิจกรรมเหล่านี้ควรยกเลิกไปก่อน ทั้งนี้กิจกรรมที่เกิดขึ้นนั้นอาจมีลักษณะเป็นกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งอาจผิดกฎอัยการศึกและขัดกับประกาศเรื่องการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนได้
 
หนังสือขอความร่วมมือจากทหาร กรณีเสวนาของกลุ่ม LLTD ที่ มธ.ศูนย์รังสิต
นอกจากนี้มีกิจกรรม 3 ครั้งที่มีเหตุผลต่างไป คือ หนึ่ง) การฉายภาพยนตร์ 1984 โดยก่อนวันเริ่มกิจกรรมตำรวจโทรศัพท์หาผู้จัดงานเนื่องจากกังวลปัญหาลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นผู้จัดถูกทหารเรียกพบและขอให้หยุดทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง สอง) กรณีจัดค่ายการศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทหารโทรศัพท์หาผู้จัดขอไม่ให้วิทยากรท่านหนึ่งพูดในงาน และสาม) การแถลงข่าวและเสวนาเรื่อง "ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง" ที่ FCCT ทหารขอความร่วมมือให้ยุติ โดยให้เหตุผลว่าหากมีปัญหาหรือข้อเสนอแนะเรื่องการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมหรือการปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชน ให้ร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย
สำหรับเหตุการณ์การเสวนาของ LLTD ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หลังจากยุติเสวนาสำเร็จเจ้าหน้าที่นำตัวอาจารย์และนักศึกษาจำนวน 7 คน ไปพูดคุยปรับความเข้าใจต่อที่ สภ.คลองหลวง โดยเจ้าหน้าที่ขอให้นักศึกษาลงชื่อในข้อตกลงว่าหากจะจัดการเสวนาครั้งต่อไปต้องให้มหาวิทยาลัยประสานกับทางทหารเพื่อพิจารณาหัวข้อว่าสามารถจะจัดได้หรือไม่
บรรยากาศเสรีภาพภายในมหาวิทยาลัย
หลังการรัฐประหาร มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าจะเป็นเกราะคุ้มภัยให้กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้คนทั่วไป กลับปรากฏให้เห็นถึงความน่าผิดหวังตั้งแต่อธิการบดีในหลายมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งสำคัญจากรัฐบาลทหาร เช่น รัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในแง่หนึ่งการดำรงตำแหน่งเหล่านี้ น่าจะช่วยเป็นเกราะคุ้มกันเสรีภาพได้บ้าง แต่กลับกันกลายเป็นว่าอำนาจรัฐกลับเข้ามาแทรกแซงพื้นที่มหาวิทยาลัยอย่างโจ่งแจ้งมากขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ ต้องถูกยกเลิกไป และสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวภายในมหาวิทยาลัยขึ้นแทน  
เรื่องการจัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดในจังหวัดนครราชสีมา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา จึงได้จัดเสวนาในเรื่องดังกล่าวขึ้นเพื่อใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการแลกเปลี่ยน แต่ผลที่ตามมาคือกองทัพภาคที่ 2 ไม่ต้องการขยายปมความขัดแย้ง จึงประสานเพื่อขอให้งดจัดกิจกรรม อ.อดิศร เนาว์นนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งเป็นประธานจัดงาน กล่าวว่า “เป็นที่น่าเสียดาย ที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ทั้งๆ ที่มิได้แอบแฝงทางการเมืองแต่อย่างใด ผู้จัด…ได้เชิญกลุ่มที่มีความคิดต่าง นำเสนอเหตุผลเชิงวิชาการ เพื่อมาพูดคุยถกเถียงกันด้วยเหตุ ดีกว่าการจัดกิจกรรมล่ารายชื่อตามท้องถนน”
ทั้งนี้ อ.อดิศร กล่าวอีกว่าหลังยกเลิกเสวนาแล้ว “ทหารในเครื่องแบบ เดินไปมาตามตึกเรียน เสมือนมาล้อมจับคนร้าย เป็นการไม่ให้เกียรติสถานที่ รวมทั้งนักศึกษา และนักวิชาการ พวกเราไม่มีแนวคิดที่จะสร้างปัญหาให้เลย ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่ได้ยืนยันยกเลิกการจัดกิจกรรมกับนายทหารแล้ว”
สำหรับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หลังเจ้าหน้าที่บุกยกเลิกเสวนาการล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ กล่าวได้ว่าบรรยากาศเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยความหวาดระแวง นักศึกษาคนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “รู้สึกหดหู่และผิดหวังกับบทบาทของมหาวิทยาลัยมาก หลังเหตุการณ์มีนักศึกษาบางคนโดนตามล่า มีเจ้าหน้าที่มาถามว่าคนนี้อยู่ไหน นอกจากนี้ อาจารย์บางท่านสอนๆ อยู่ก็บอกว่าเรื่องนี้สอนไม่ได้ พูดต่อไม่ได้ เดี๋ยวเขาเอาผมเข้าคุก ซึ่งจริงๆ มันต้องพูดได้สอนได้”
สอดคล้องกับอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งสะท้อนว่า “จากเหตุการณ์นั้นทำให้ต้องระวังตัวมากขึ้น การพูดการสอนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น เวลามีสื่อมาขอสัมภาษณ์ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศก็ต้องปฏิเสธ นอกจากนี้ช่วงแรกในชั้นเรียนจะมีการเช็คชื่อนักศึกษาเพื่อเช็คดูว่ามีใครแปลกหน้าเข้ามาในชั้นเรียนบ้าง”
สุดท้ายนักศึกษาคนหนึ่ง สะท้อนในทางที่น่าสนใจว่า “เห็นความพยายามของนักศึกษาและอาจารย์ในการต่อสู้ เห็นกลุ่มนักศึกษาบางกลุ่มพยายามแสดงออกว่ารับไม่ได้กับการกระทำแบบนี้ เห็นการไม่ยอมแพ้ของหลายคนในธรรมศาสตร์ ซึ่งก็จะพยายามทำนู่นทำนี่เท่าที่เขาจะทำได้”