จริยศาสตร์บนโลกดิจิทัล: Freedom of Speech และ Hate Speech บนพื้นที่สื่อใหม่

Siam Intelligence Unit (SIU) ร่วมกับ Heinrich Boell Stiftung (HBS) จัดงาน “The Digital Ethic and the Spirit of Public Sphere จริยศาสตร์บนโลกดิจิทัล และจิตวิญญาณของพื้นที่สาธารณะ”บรรยายโดย ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Freedom of Speech ยังสำคัญ แม้สำหรับกลุ่มที่ไม่ต้องการประชาธิปไตย

ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ เห็นว่า สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากในสังคมไทยคือความต้องการพื้นที่ในการใช้เสรีภาพการแสดงออกหรือการมี Freedom of Speech ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ทำให้เกิดแนวคิด 2 กระแสที่ชัดเจน ได้แก่

กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่สนับสนุนประชาธิปไตยและนำมาสู่การแสดงออกทางการเมือง กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มพลังต่างๆ ที่ยึดโยงคุณธรรมความดีมาเป็นค่านิยมพื้นฐานของสังคมการเมืองไทย ตลอดจนโจมตีนักการเมือง และมักใช้วิธีการต่างๆเข้ามาสู่อำนาจทางการเมืองตามวิถีที่ตัวเองต้องการ

ดร.เกษม สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ในกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับประชาธิปไตยก็ยังยึดโยงกับหลัก Freedom of speech แม้ตนเองจะไม่ได้เชื่อมั่นหรือปรารถนาในระบอบประชาธิปไตยก็ตาม

จะเห็นว่า แม้คนบางกลุ่มจะไม่ปรารถนาประชาธิปไตยในเชิงสถาบัน แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่ยินยอมที่จะถูกพรากสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ตัวอย่างที่ชัดเจนภายใต้การจัดการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือ กรณีการจับกุม “กลุ่มขาหุ้นปฎิรูปพลังงาน” ที่ไม่ได้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย และก่อนหน้านี้มีท่าทีต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างชัดเจน แต่กระนั้นแม้ว่ารัฐบาลเก่าจะถูกโค่นล้มไป กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังไม่หยุดเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความต้องการทางการเมือง

ดร. เกษม ให้ความเห็นว่าเราควรจะมอง Freedom of Speech ในนัยยะ 3แบบ ด้วยกัน คือ

1.เสรีภาพในการแสดงออก การพูด เขียน เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะ

2.เสรีภาพในการรับรู้และค้นหาข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะ

3.หลักประกันความเสมอภาค ของสมาชิกในสังคมที่จะนำเสนอและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

ทั้งนี้ความเข้มข้นของ Freedom of Speech ในสังคมนั้นต้องเป็นไปอย่างมีขีดจำกัด เพราะในขณะที่คุณใช้เสรีภาพของคุณแต่ก็ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพคนอื่นเช่นกัน

Public Sphere ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับ Cyber Space

Public Sphere (ปริมณฑลสาธารณะ) หมายถึงพื้นที่ในการแสดงออก ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับการพัฒนาของสังคมประชาธิปไตยในปัจจุบัน

การเกิดขึ้นมาของรัฐสมัยใหม่ ทำให้พื้นที่ระหว่าง“รัฐ” กับ “สังคม” แยกกันชัดเจน และรัฐก็เข้าไปคุมพื้นที่ของสังคมในลักษณะ “บนลงล่าง” คือรัฐเป็นผู้จัดการทุกอย่าง สร้างความอึดอัดให้แก่สังคม ปรากฏการณ์นี้ทำให้เหล่าปัญญาชน และกลุ่มคนที่สนใจสิทธิทางการเมือง เริ่มแสดงความคิดเห็น ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ในผับ บาร์ หรือสังคมชนชั้นสูง  

Public Sphere ที่เกิดขึ้นได้พัฒนามาถึงปัจจุบันจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “สื่อ” แบบ Old Media โดยสื่อเหล่านี้มองว่าข้อถกเถียงต่างๆ ควรแพร่กระจายออกไป ให้คนส่วนใหญ่เข้ามาแสดงบทบาทความคิดเห็นสาธารณะ เช่นในศตวรรษที่ 18สื่อสิ่งพิมพ์โยนคำถามไปว่า Enlightenment คืออะไร ซึ่งคนที่เข้าร่วมตอบมีเยอะมากและหนึ่งในนั้นคือ อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant )

ปัจจุบันพัฒนาการของสื่อใหม่ใน Cyber space ได้ห้อมล้อมเราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ออนไลน์ สื่อใหม่ไม่ใช่แค่ทำให้เราได้รับรู้ข่าวสารอย่างเดียวอีกต่อไป แต่รวมเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของเราด้วย พัฒนาการของสื่อใหม่ ก่อให้เกิดการ Intervention ชีวิตในทางสาธารณะและส่วนตัว เพราะชีวิตส่วนบุคคลได้แทรกเข้าไปอยู่ในพื้นที่สาธาณะไปแล้ว เช่น การที่เราโพส สเตตัสหรือรูปภาพ บน Facebook เราคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ความจริงคือได้ถูกทำให้เป็นเรื่องสาธารณะ

จากประเด็นนี้จะเห็นได้ว่า การเกิดขึ้นของ Public Sphere หรือ พื้นที่สาธารณะนั้นเกิดจากการความอึดอัดระหว่างรัฐ และ ประชาชน เพราะความสัมพันธ์เป็นไปในลักษณะบนลงล่าง คือรัฐเป็นสื่อสารกับสังคม ทางเดียวมากกว่าการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ทำให้เหล่าปัญญาชนสร้างพื้นที่สาธารณะให้มากขึ่น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของ Public House ให้คนได้แลกเปลี่ยนสื่อสารกัน หรือ สื่งเก่าอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้คนได้ถกเถียงกันมากขึ้นและไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ในสถานที่ แต่สามารถส่งสารกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ

อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์ได้ทำลายข้อจำกัดเดิมๆ อย่างเรื่องของระยะทาง และความรวดเร็วของข้อมูลลงไป อีกทั้งไม่ใช่การสื่อสารฝ่ายเดียว ที่เป็นแค่ผู้ส่งสารและประชาชนเป็นผู้รับ แต่ทุกคนสามารถเข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเสรีและเข้าถึงได้ง่ายกว่า

จะเห็นได้ว่าทั้ง Freedom Of Speech กับ Public Sphere มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ในส่วนนี้ ดร.เกษม เล่าต่อว่า การเกิดของสื่อใหม่ ทำให้คนมีช่องทางในการแสดงออก และทำให้คนต้องการแสดงออกมากยิ่งขึ้น ดังนั้นสื่อใหม่จึงต้องการันตี freedom of speech ให้มาก ความพยายามในการปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์ จึงเป็นการทำลายหลักการพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่อง Freedom of Speech

Hate Speech เป็นด้านมืดของ Freedom of Speech

ดร.เกษม พยายามชี้ให้เห็นว่า การให้คุณค่า กับ Freedom of Speech ไม่ใช่เพียงการให้คุณค่าแค่ของเรา แต่เป็นของคนอื่นด้วย การให้คุณค่าแก่ความคิดเห็นที่จะแลกเปลี่ยนกันได้ ไม่ว่าความคิดเห็นเหล่านั้นเราจะเห็นด้วยหรือต่างก็ตาม จะช่วยให้พื้นฐานของ ของ freedom of speech และ Public Sphere อยู่ด้วยกันได้

ดร.เกษม กล่าวว่า Freedom of Speech อาจเป็นทั้งสิทธิเสรีภาพและคุณค่าพื้นฐานที่หล่อเลี้ยงสังคมประชาธิปไตย แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่เราให้คุณค่าของเรื่อง freedom of speech ก็คือ hate speech แต่เราไม่สามารถมองว่า hate speech เป็นด้านตรงข้ามกับ freedom of Speech อาจจะมองได้ว่า hate speech เป็น dark side ที่ก่อและเกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่เรามี freedom of speech

แม้ว่า เราจะไม่สามารถทำลาย Hate Speech ได้อย่างเด็ดขาด แต่การที่ Hate Speech ถูกนำมาใช้เพื่อลดทอนคุณค่า หรือ บิดเบือนข้อเท็จจริงของอีกฝ่าย ก็ทำให้การสนทนาด้วยเหตุด้วยผลไม่อาจะเกิดขึ้น แต่เป็นการแลกเปลี่ยนด้วยอารมณ์และผลักให้สังคมมีวุฒิภาวะน้อยลง จึงเป็นปัญหาที่สำคัญว่า การใช้ Hate Speech ในลักษณะนี้จะทำลาย Freedom of  Speech และ Public Sphere ไปพร้อมๆกัน

ซึ่งรูปแบบของ Hate Speech ที่พบเห็นได้ง่ายบนโลกอินเทอร์เน็ต เช่น การถากถางส่วนตัว – ยกเรื่องส่วนตัวของคนอื่นมาพยายามทำลายความน่าเชื่อถือ โดยการไปตัดสินว่าคนคนนั้นเป็นคนเลว แต่ไม่ได้พิจารณาว่าสิ่งที่ผู้พูดนำเสนอถูกต้องหรือไม่อย่างไร อีกรูปแบบหนึ่ง คือ นักปูดข่าวลือ – ในสังคมไทย ข่าวลือที่สนับสนุนสิ่งที่คนเชื่ออยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องราวฉาวโฉ่จากพื้นที่ซึ่งคนทั่วไปไม่มีโอกาสเข้าถึง เช่น ในวัง ในกองทัพ ในศาล ในสังคมไฮโซ ฯลฯ มักจะถูกให้น้ำหนักว่า “น่าเชื่อถือ” โดยไม่เรียกร้องขอดูข้อมูลหลักฐาน เป็นต้น

คณะรักษาความสงบแห่งชาตินำ Hate Speech มาเป็นเหตุผลว่า การสื่อสารบนโลกออนไลน์ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด นำไปสู่ความแตกแยก และมีโอกาสบานปลายเป็นความรุนแรง จึงต้องควบคุมหรือปิดกั้น จึงเป็นคำถามว่า เราควรจะมีทางออกอย่างไรในการควบคุม Hate Speech เหล่านี้อย่างไร และวิธีการแก้ปัญหาเรื่อง Hate Speech โดยการปิดกั้นเหมาะสมหรือไม่ เพราะถึงจะควบคุมได้แต่ก็ทำให้เกิดการปิดกั้น Freedom of Speech ไปพร้อมๆกัน

การรักษาไว้ซึ่ง Freedom of Speech ใน Public Sphere

ดร.เกษม ให้ความเห็นว่า ในการใช้พื้นที่สาธารณะมีสิ่งที่ต้องระวังมีอยู่ 2 อย่าง เพื่อรักษาไว้ซึ่ง Freedom of Speech 

อย่างแรก คือ สภาวะ Sharing (การแบ่งปัน) และ Over Sharing (การแบ่งปันมากเกินไป) โดยเฉพาะสภาวะการแบ่งปันมากเกินไป หมายถึงข้อความเหล่านั้นอยู่ต่างสถานการณ์ หรือข้อความเหล่านั้นมีนัยยะหนึ่งๆ แต่ถูกเอาไปใช้อย่างอื่นๆ และกลายเป็น Hate Speech ไปโดยไม่รู้ตัว

อีกเรื่อง คือ ความจริงจัง กับกระบวนการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารด้วยตัวเอง ยกตัวอย่าง เทียบกับสื่อเก่า มีบรรณาธิการคอยตรวจสอบเนื้อหา แต่ในสื่อใหม่ ทุกคนสามารถสร้างและเป็นหอกระจายข่าวสารได้ด้วยตนเอง ซึ่งไม่มีกลไกการตรวจสอบ ซึ่งทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อใหม่