ข้อสังเกตต่อคำแถลงนโยบายของรัฐบาล เทียบจากผลงาน คสช.

ตามธรรมเนียมทางการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับ 2557 หลังการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี(ครม.) หน้าที่สำคัญลำดับถัดไปคือการแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คำแถลงของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกอบไปด้วย 11 ประเด็น โดยหลักสำคัญของกำหนดนโยบายเพื่อให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญมาตรา 19 คือ บริหารราชการแผ่นดิน การดำเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่างๆ และการส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ   
รัฐบาลนี้เข้ามาสืบทอดงานและสานต่อภารกิจจากที่คณะรักษาความรักษาสงบแห่งชาติ (คสช.) กระนั้นก็ตามแม้คำแถลงนโยบายโดยรวมจะดูดีและมีความหวัง แต่ก็มีหลายประเด็นที่รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการให้แตกต่างจาก คสช. ดังที่จะยกตัวอย่างจากนี้
ภาพต้นฉบับจาก: http://bit.ly/1s54h62
การปกป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของสถาบันฯ ในสังคมไทย ในคำแถลงระบุว่า
“รัฐบาลจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญ…ที่จะเชิดชูสถาบันนี้ไว้ด้วยความจงรักภักดีและปกป้องรักษาพระบรมเดชานุภาพ โดยจะใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางสังคมจิตวิทยา และมาตรการทางระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินกับผู้คะนองปาก ย่ามใจหรือประสงค์ร้าย มุ่งสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ”
คำแถลงนโยบายข้อนี้สอดรับกับสถานการณ์หลังการเข้าควบคุมอำนาจของ คสช. กล่าวคือ มีการเร่งดำเนินคดีและจับกุมคุมขังผู้ต้องหาว่ากระทำการเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวนมากขึ้น ปัจจุบันมีถึง 16 กรณี (ดูรายงานการปรากฏตัวของคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ หลังรัฐประหาร 2557) ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงคือการจับกุม ภรณ์ทิพย์ และ ปติวัฒน์ สองนักกิจกรรม จากการแสดงละครเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเดือนตุลาคม 2556 (ดูความเคลื่อนไหวคดีของทั้งสองคน
จากแนวโน้มของนโยบายและการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ข้างต้น พอให้เราอนุมานได้ว่ามาตรการที่จะใช้ดำเนินการเพื่อปกป้องสถาบันฯ น่าจะเข้มข้นและรุนแรงต่อเนื่องและแนวโน้มของคดีมาตรา 112 ก็น่าจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ในอนาคตมาตรการอาจขัดแย้งและเป็นอุปสรรคโดยตรงกับความต้องการสร้างความปรองดองภายในชาติ เพราะเท่ากับรัฐบาลนำสถาบันฯ มาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนที่เห็นต่างอย่างไม่ตั้งใจ ทั้งนี้รัฐบาลควรตระหนักถึงความเข้มแข็งทางสังคมวัฒนธรรมของสถาบันฯ ที่ยากจะถูกทำลายได้ด้วยคำพูดของคนธรรมดาจำนวนไม่มาก
การรักษาความมั่นคงของรัฐ
ในนโยบายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงของรัฐ และการต่างประเทศ  รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  ได้ตระหนักถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุใน ข้อ 2.2

"เร่งแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนำยุทธศาสตร์ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาใช้ตามแนวทางกัลยาณมิตรแบบสันติวิธี ส่งเสริมการพูดคุยสันติสุขจากผู้มีความคิดต่างจากรัฐ สร้างความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ…" 

ย้อนกลับไปในปี 2555 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ฟื้นกระบวนการเจรจาสันติภาพ(อย่างเป็นทางการ)กับผู้มีอุดมการณ์แตกต่างใน 3 จังหวัดชายแดนอีกครั้ง หลังเคยมีการเจรจาครั้งแรกในสมัยรัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือเมื่อเกือบ 70 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามกระบวนการเจรจาครั้งหลังสุดดูจะเงียบหายไป จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองช่วงปี 2556-2557 จนนำมาสู่การรัฐประหาร น่าสนใจว่ารัฐบาลทหารที่บุคลิกมีแนวโน้มจะใช้ "กำลัง" มากกว่า "เจรจา" จะสานต่อกระบวนการสันติภาพอย่างไร เพื่อลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์ของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ 
การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม 
ความเหลี่อมล้ำทางสังคมเป็นปัญหาที่ทุกคนสังคมไทยเห็นพ้องร่วมกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในคำแถลงนโยบายความเหลี่ยมล้ำจึงเป็นประเด็นที่ต้องกล่าวถึงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง 
"ข้อ 3.7 แก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรและการรุกล้ำเขตป่าสงวน…แก้ไขปัญหาเขตที่ดินทับซ้อนและแนวเขตพื้นที่ป่าที่ไม่ชัดเจน อันก่อให้เกิดข้อขัดแย้ง ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ"
ย้อนไปเมื่อ ปลายเดือนมิถุนายน ถึงกรกฎาคม 2557 มีการสนธิกำลังระหว่างทหาร เจ้าหน้าที่กรมอุทยาน และเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เข้ามาในพื้นที่บ้านเก้าบาตร อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ และชุมชนอื่นๆ ซึ่งตั้งอยู่เขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ เพื่อกดดันให้ชาวบ้านรื้อบ้านและอพยพออกจากพื้นที่ อันเป็นไปตาม คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั่งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม่ ต่อมามีการรื้อถอนบ้าน และควบคุมตัวแกนนำชาวบ้านเป็นระยะ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่พยายามบังคับให้ชาวบ้านเซ็นยินยอมรื้อถอนบ้าน และพยายามปิดกั้นไม่ให้สื่อเข้าไปในพื้นที่ พร้อมทั้งจดชื่อคนที่เดินทางเข้าออก ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องไปพึ่งพิงวัดเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว (ดูรายงาน: (เรียก) คืนความสุข บ้านเก้าบาตร?)
จะเห็นว่ามาตรการในช่วงที่ คสช.ควบคุมอำนาจ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐเลือกที่จะใช้กำลังกับประชาชนในการจัดการปัญหามากกว่า จึงน่าติดตามว่าหลังจากนี้ไปรัฐบาลจะนำนโยบายที่แถลงไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน หรือจะยึดตามแนวทางที่ คสช. เคยทำมา
การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
ระบบภาษีที่เป็นธรรมถูกยกเป็นประเด็นสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันระบบภาษีของประเทศไทยมีช่องว่างทำให้ผู้มีรายได้น้อยอาจต้องเสียภาษีมากกว่าผู้มีรายได้มาก โดยเทียบตามสัดส่วนของรายได้ ขณะเดียวกัน ระบบปัจจุบันยังมีส่วนแบ่งของรายได้และทรัพย์สินที่ไม่ต้องจ่ายให้รัฐ หรือจ่ายน้อยมาก เช่น ภาษีทรัพย์สิน หรือ ภาษีมรดก ในคำแถลงนโยบาย ข้อ 6.10 ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะมีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีทางด้านการค้าและขยายฐานการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ เช่น ภาษีมรดก ภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และยกเลิกการยกเว้นภาษีประเภทที่เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ที่มีฐานะการเงินดี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม" 
ประเด็นจากงาน เรียนเล่นเล่น: ภาษีที่ดิน และ ‘นโยบายไม้ประดับ’ (‘gimmick policies’) ภาคเกษตร มีการกล่าวถึงประเด็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่าประเทศไทยไม่มีการเก็บภาษีดังกล่าวอย่างแท้จริงเลย การที่เราไม่มีภาษีลักษณะนี้ทำให้มีปัญหาการใช้ที่ดินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเจ้าของไม่มีต้นทุนหรือมีก็ต่ำมาก เกิดการถือครองที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นกฎหมายใหม่ที่อยู่บนฐานภาษีทรัพย์สินอย่างแท้จริงและทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่ม ผลที่ตามมาจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากขึ้น และ “อาจจะ” ทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินได้บ้าง
จากปัญหาดังกล่าวมีความพยายามผลักดันของภาคประชาชนนำเสนอกฎหมายหลายฉบับ เช่น ร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน, ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า, ร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชนหรือโฉนดชุมชน รวมถึง ร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกันเพราะปัญหาที่ดินในประเทศไทยที่สะสมมานานและมีความซับซ้อน น่าติดตามว่านโยบายนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือเป็นเพียงนโยบายขายฝัน
การปรับปรุงกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม
กระบวนการยุติธรรมเป็นอีกนโยบายสำคัญของรัฐบาลทหาร ในประเด็นที่น่าสนใจ ข้อ 11.1 การปรับปรุงกฏหมายที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ  และข้อ 11.3 การจะจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ สะท้อมมุมมองของคณะรัฐมนตรีที่มองเห็นว่าปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทย คือ ปัญหาความยุติธรรมในทางเนื้อหากฎหมาย และในทางกระบวนการ
ปัญหาความยุติธรรมในทางเนื้อหากฎหมาย เพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัยและสอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ (ดูความสำคัญขอพันธกรณีระหว่างประเทศ)  รัฐบาลจึงควรแก้ไขหรือยกเลิกกฏหมายที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อาทิ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550, กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงฉบับต่างๆ (ดูเก็บอาวุธทหาร: ยกเลิกกฏหมายความมั่นคง ) และ ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 หรือรวมถึงประกาศและคำสั่งจำนวนมากของ คสช. เป็นต้น
ปัญหากระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม จากที่กล่าวไปตอนต้นคดีมาตรา 112 มีจำนวนเพิ่มขึ้นหลังการรัฐประหาร ข้อน่ากังวลอย่างสำคัญคือ บางคดีถูกโอนจากศาลพลเรือนไปสู่ศาลทหาร (ดูคดี 112 กำลังถูกเข็นให้ไปขึ้นศาลทหาร) และแม้หากพิจารณาคดีในศาลพลเรือนคดีนี้ก็มีปัญหา เช่น จำเลยมีโอกาสน้อยมากในการได้รับการประกันตัว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคดีที่พลเรือนต้องถูกดำเนินคดีในศาล (รายงานการตั้งข้อหาทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557)
หลักนิติธรรมเป็นสิ่งที่รัฐบาลแถลงว่าจะยึดถือในการบริหารประเทศ อย่างไรก็ดี หลังรัฐประหารหลักนิติธรรมดูจะถูกทำลายลงจากการออกกฏหมายและบังคับใช้กฏหมายตามอำเภอใจของคนเพียงไม่กี่คน ความน่าเชื่อถือของ คสช.ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน อาจต้องจับตาไว้ระดับหนึ่งว่านโยบายที่ดูดีเหล่านี้อาจไม่สำเร็จสวยหรู ส่วนนโยบายที่น่ากังวลคงสร้างปัญหาให้กับสังคมไทยอยู่ต่อไป
ไฟล์แนบ