Q&A 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับศาลทหาร

1. ศาลทหารแตกต่างจากศาลพลเรือนอย่างไร
– กระบวนการพิจารณาคดีนั้นเหมือนกันเกือบทั้งหมด เพราะให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้ในกับการพิจารณาคดีในศาลทหารด้วย 
– โครงสร้างการบริหารงานของศาลศาลทหารจะแตกต่างกับศาลพลเรือน เพราะอยู่ใต้กระทรวงกลาโหม ตุลาการและเจ้าหน้าที่ศาลจะเป็นข้าราชการทหาร
– ศาลทหารมีที่ทำการต่างหากจากศาลพลเรือน ศาลทหารกรุงเทพตั้งอยู่ข้างกระทรวงกลาโหม ใกล้สนามหลวง อยู่ด้านหลังของศาลหลักเมือง อาคารของศาลทหารขึ้นป้ายว่า “กรมพระธรรมนูญ” 
2. สิทธิของผู้ต้องหาที่ขึ้นศาลทหารแตกต่างกับสิทธิในการขึ้นศาลพลเรือนอย่างไรบ้าง
– โดยปกติแล้วไม่ต่างกัน 
เว้นแต่เป็นศาลทหารในเวลาไม่ปกติ เวลาที่ประกาศกฎอัยการศึกจะไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา
3. ผู้ต้องหามีสิทธิตั้งทนายความมาว่าความให้ได้หรือไม่ มีสิทธิเรียกคนมาเป็นพยานให้ตัวเองได้หรือไม่
– ได้ เหมือนศาลพลเรือน
4. สิทธิประกันตัว และการควบคุมตัวเป็นอย่างไร
– ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิประกันตัวเหมือนกันกับศาลพลเรือน อำนาจในการควบคุมตัวก็เหมือนกันกับศาลพลเรือน คือ การส่งฟ้องต้องนำตัวไปฝากขังที่ศาล และควบคุมตัวก่อนส่งฟ้องได้สูงสุดไม่เกิน 84 วัน
5. องค์คณะผู้พิพากษาในศาลทหารเป็นอย่างไร
– องค์คณะของทุกชั้นศาลจะต้องประกอบด้วยตุลาการทหาร คือ นายทหารที่มียศสูงกว่าจำเลย ซึ่งเป็นทหารไม่มีความรู้กฎหมาย และตุลาการพระธรรมนูญซึ่งมีความรู้กฎหมาย
ศาลทหารชั้นต้น ต้องมีตุลาการสามนายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา คือ นายทหารชั้นสัญญาบัตรสองนาย ตุลาการพระธรรมนูญหนึ่งนาย
6. สิทธิในการอุทรณ์ฎีกาเหมือนกับศาลพลเรือนหรือไม่
– ไม่เหมือน ถ้าเป็นเวลาไม่ปกติที่ประกาศกฎอัยการศึก อุทธรณ์หรือฎีกาไม่ได้เลย
ถ้าเป็นเวลาปกติ อุทธรณ์ หรือฎีกา ได้ หลักเกณฑ์เหมือนกับศาลพลเรือน
7. กรณีไหนบ้างที่ต้องขึ้นศาลทหาร
– คดีที่จำเลยเป็นทหาร
– คดีความผิดต่อกฎหมายทหาร หรือความผิดที่ คสช. ประกาศให้ขึ้นศาลทหาร ได้แก่ (1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107 – 112 (2) ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 – 118 และ (3) ความผิดตามประกาศ หรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
– คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร คือ คดีที่ทหารกระทำความผิดร่วมกับพลเรือน คดีที่ผู้กระทำความผิดเป็นด็กและเยาวชน
8. ผู้ที่ถูกจับกุมจากการร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติต้องขึ้นศาลทหารหรือไม่
– ขึ้นอยู่กับการตั้งข้อหา ถ้าถูกตั้งข้อหาว่าทำผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. และเป็นการกระทำหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ก็ต้องขึ้นศาลทหาร 
9. หากความผิดที่ถูกตั้งข้อหาเกิดขึ้นก่อนวันที่ 25 พ.ค. จะขึ้นศาลทหารหรือศาลพลเรือน
– ความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ต้องขึ้นศาลพลเรือน
ยกเว้นความผิดที่ “เกี่ยวโยง” กับความผิดที่ต้องขึ้นศาลทหาร ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ต้องไปขึ้นศาลทหารด้วย
10. กรณีศาลทหารพิพากษาให้จำคุก จะถูกจำคุกในศาลทหารหรือศาลพลเรือน
หากศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ต้องรับโทษจำคุกในเรือนจำทหาร เว้นแต่ถ้าต้องจำคุกเกิน 3 ปี ก็จะโอนไปรับโทษยังเรือนจำพลเรือน ซึ่งมีข้อสังเกตว่าเรือนจำทหารน่าจะแออัดน้อยกว่าเรือนจำพลเรือน (ข้อมูลจากอดีตนายทหารพระธรรมนูญ)
ทั้งนี้ คสช.ออกประกาศฉบับที่ 44/2557 ให้เรือนจำกรมราชทัณฑ์ ปฏิบัติตามหมายของศาลทหาร  คนที่ถูกศาลทหารพิพากษาจำคุก มีแนวโน้มว่าอาจถูกส่งไปจำคุกที่ศาลพลเรือนก็ได้