ความเห็นศาลฎีกา : ความผิดเกี่ยวโยงกันให้ขึ้นศาลทหารได้หมด

คณะกรรมการพิจารณาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในระหว่างการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 40/2557 ได้ประชุมหารือและได้ข้อสรุปถึงผลของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เกี่ยวข้องกับเขตอำนาจของศาลยุติธรรมและศาลทหาร สรุปได้ดังนี้

[ดูเอกสารอ้างอิงได้ตามไฟล์แนบ]
ข้อ 1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะมีประกาศ คสช. ฉบับที่ 11/2557 ให้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง เมื่อไม่มีรัฐธรรมนูญแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยอีกต่อไป ถ้ามีการยื่นคำร้องขอ ศาลรัฐธรรมนูญควรยกคำร้อง
ข้อ 2. ข้อสังเกคต่อ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่กำหนดให้ความผิดบางประเภทต้องขึ้นศาลทหาร 
2.1 เป็นการกำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่พลเรือนกระทำความผิดด้วย
2.2 ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารตามประกาศ ได้แก่
          (1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 108-112
          (2) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 108-112 ยกเว้นในเขตที่ประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังคงให้ขึ้นศาลพลเรือน
          (3) ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เช่น ประกาศฯ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และฉบับที่ 25/2557 เรื่องให้มารายงานตัว หรือแจ้งเหตุขัดข้อง เป็นต้น
 
2.3 ต้องเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นภายในราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป
 
2.4 กรณีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดยังอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ไม่ต้องไปศาลทหาร
3. ประกาศฯ ฉบับที่ 38/2557 ขยายอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารให้รวมถึงการกระทำความผิดอื่นที่เกี่ยวโยงกับการกระทำความผิดที่ระบุไว้ใน ประกาศฯ ฉบับที่ 37/2557 ด้วย การกระทำความผิดข้อหาอื่นที่ไม่ใช่ความผิดตามที่ประกาศฯ ฉบับที่ 37/2557 ก็อาจอยู่ในอำนาจของศาลทหารได้ถ้ามีความเกี่ยวโยงกัน 
           เช่น จำเลยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองภายหลังวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นความผิดตามประกาศฯ ฉบับที่ 7/2557 และได้ร่วมวางเพลิงเผาทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 (อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม) ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น แม้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร แต่เมื่อมีความเกี่ยวโยงกับความผิดฐานเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ศาลทหารจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ได้ ด้วย