รวมปฏิกิริยาหลังประกาศกฎอัยการศึก

รวมปฏิกิริยาหลังประกาศกฎอัยการศึก
เช้ามืดของวันที่ 20 พ.ค. 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ อ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 โดยอ้างเหตุผลในการประกาศเพื่อต้องการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ เนื่องจากสถานการณ์การเมืองปัจจุบันมีการชุมนุมของหลากหลายกลุ่ม และมีผู้ไม่หวังดีใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธสงครามต่อประชาชน ส่งผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งนี้ได้ตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) เพื่อดูแลรักษาความสงบ และตามมาด้วยการออกประกาศต่างๆ อีกหลายฉบับ
เกิดปฏิกิริยาจากกลุ่มต่างๆ ของผู้คนในสังคมทั้งสนับสนุน คัดค้าน จนถึงมึนงง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น iLaw พยายามรวมรวมความเห็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการประกาศกฎอัยการศึก จากสื่อออนไลน์ ทีวี และอื่นๆ เพื่อให้ได้ความเห็นที่หลากหลายที่สุดในสถานการณ์ที่สับสนที่สุด
ลางสังหรณ์ก่อนกฎอัยการศึก
สถานการณ์ความรุนแรงจากการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นระยะ จนเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2557 เกิดเหตุลอบยิงปืนและระเบิดถล่มที่ชุมนุม กปปส. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลาประมาณ 02.45 น. ทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 22 ราย
ในวันเดียวกันหลังเหตุการณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก แถลงคำแถลง 7 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 โดยสาระสำคัญของการแถลง คือ หากมีสถานการณ์รุนแรงจนถึงขั้นมีแนวโน้มจะเกิดการจลาจล กองทัพจะใช้กำลังทหารเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ
ถัดมาในวันที่ 16 พ.ค. 2557 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณแถลงการณ์ของ ผบ.ทบ. โดยเชื่อว่า “กองทัพน่าจะมีการเตรียมการไว้แล้ว และเมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึกก็จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายทหารที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความสงบ ศอ.รส.คงไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง และตนเชื่อว่าถ้ามีการประกาศกฎอัยการศึกทั้งประเทศ ก็จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้”
จากเหตุการณ์ข้างต้นมาอีกหลายวัน จนถึงคืนวันที่ 19 พ.ค. สู่วันที่ 20 พ.ค. เวลาตี 3 พลเอกประยุทธ์ จึงประกาศกฎอัยการศึก และมีความเห็นจากหลากฝ่ายปรากฏตลอด 24 ชั่วโมง พอสังเขปดังนี้
ฝ่ายการเมืองเห็นเชื่อกฎอัยการศึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ 
สถานการณ์หลังประกาศกฎอัยการศึกในฝั่งการเมืองค่อนข้างจะมองสถานการณ์ในแง่บวก โดยเริ่มจากฝั่งรัฐบาล ายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ของกองทัพว่ารัฐบาลก็มีความมุ่งหวังที่จะเห็นความสงบเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน โดยการดำเนินการจำเป็นต้องเป็นไปตามแนวทางสันติ ภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม และจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งสอดคล้องกับ นายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นว่า การประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือในการคลี่คลายปัญหาหลังจากที่หลายฝ่ายแสดงความวิตกกังวลว่าสถานการณ์ความขัดแย้งจะลุกลามบานปลาย โดยหวังว่ากองทัพบกจะดำเนินการในกรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ใช้อำนาจเท่าที่จำเป็นเพื่อความมั่นคง ไม่ใช่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน เช่นเดียวกับ กลุ่ม ส.ว. สายกลาง  นำโดย นายตรี ด่านไพบูลย์ ส.ว. จังหวัดลำพูน ที่สนับสนุนให้ผู้บัญชาการกองทัพบก เป็นคนกลางในการเรียกคู่ขัดแย้งและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาเจรจาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ  แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
ในทางตรงข้าม นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า การประกาศใช้กฎอัยการศึกครั้งนี้ ทาง ผบ.ทบ.ไม่ได้หารือหรือแจ้งทางรัฐบาลก่อน ทั้งนายจาตุรนต์คิดว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกอาจช่วยระงับยับยั้งความรุนแรงหรือความไม่สงบได้บ้างชั่วคราว แต่ต่อไปก็อาจจะสร้างปัญหาที่ใหญ่กว่าตามมา เช่น การจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพหรือกระทั่งปราบหรือใช้ความรุนแรงต่อประชาชน หรืออาจทำให้สถานการณ์บานปลายที่ทางทหารเองไม่มีทางลงนอกจากจะต้องทำรัฐประหารในที่สุด
ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า "การประกาศกฎอัยการศึกถือเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ สำหรับผู้ติดตามสถานการณ์การเมืองไทยตลอดช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผมหวังว่าจะไม่มีฝ่ายใดก่อให้เกิดการลิดรอนสิทธิมนุษยชน และบ่อนทำลายกระบวนการทางประชาธิปไตยมากยิ่งไปกว่านี้ ซึ่งยิ่งซ้ำเติมให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยถูกบ่อนทำลายในสายตาของชาวโลก"
แกนนำมวลชนแต่ละฝ่ายยังชุมนุมอยู่
ข้ามมาที่ผู้ชุมนุม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คว่า การประกาศกฎอัยการศึกไม่มีผลกระทบต่อการต่อสู้ของมวลมหาประชาชนทั้งสิ้น เพราะไม่ได้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ มวลมหาประชาชน ยังมีสิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่จะต่อสู้ ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทรราชทุกประการ
ขณะที่ถนนอักษะ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ปราศรัยว่า นปช.จะชุมนุมจนกว่าระบอบประชาธิปไตยจะปลอดภัย แม้ว่าจะถูกตัดสัญญาณถ่ายทอดสด ทั้งนี้หากมีการเสนอ 'นายกรัฐมนตรีเถื่อน' แม้จะมีการประกาศกฎอัยการศึกเราก็จะสู้ไม่ถอย และขอให้ประชาชนร่วมกันสื่อสารไปยังพี่น้องคนเสื้อแดงให้ออกมาต่อสู้ร่วมกัน
กรรมการ กสทช. ปกป้องเสรีภาพสื่อมวลชน   
มาที่สื่อมวลชนโดยเริ่มที่นักข่าวสายทหาร วาสนา นาน่วม โพสต์ ในเฟซบุ๊ก เรื่อง ”รัฐประหาร ครึ่งใบ???? 20 พ.ค. 2557 ประชาชนคนไทย ตื่นเช้ามาเจอ กับ กฎอัยการศึกและ ผอ.กอ.รส.คนใหม่ บิ๊กตู่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. แม้ ทบ.ยันไม่ใช่ปฏิวัติรัฐประหาร แต่ก็ถือว่า เป็นก้าวแรก ที่จะนำไปสู่การรัฐประหารได้. หากทุกอย่าง ไม่สามารถควบคุมได้. พล อ ประยุทธ์ ต้องการให้ กปปส. และ นปช. กลับบ้าน. แล้วถ้าไม่ยอมกลับหล่ะ และขอความร่วมมือ สื่อ …งานนี้ ทบ. ดูแลทั้งหมด ตำรวจ และเหล่าทัพอื่น กลับที่ตั้งปกติ…จากนี้ ประวัติศาสตร์ ชาติไทย อยู่ในมือ พล อ ประยุทธ์ แล้ว”
ขณะที่ ใบตองแห้ง บรรณาธิการข่าวช่อง VoiceTV ซึ่งถูกตัดสันญาณถ่ายทอดจากประกาศของ กอ.รส ได้โพสต์เฟซบุ๊คว่า “เหมือนจะบอกว่ารักษาการนายกฯ ไม่มีอำนาจยับยั้ง ต้องรับทราบสถานเดียว แต่ในทางกฎหมาย เท่ากับหัวหน้าคณะอัยการศึก ยอมรับว่ารัฐบาลยังอยู่ รัฐบาลยังมีอำนาจ (แบบเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่าคณะรัฐมนตรียังอยู่)
ฉะนั้นรัฐบาลมีอำนาจโต้แย้งนะครับ ต่อให้ไม่กล้าประทับตรา "ไม่เห็นชอบ" ก็ยังสามารถทำหนังสือถามกลับไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจอะไรในเมื่อมาตรา 4 ต้องมีพระบรมราชโองการซึ่งต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนอง และ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อะไรประเมินว่ามีแนวโน้มจะเกิดจลาจล ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญยังบอกว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ”
ในส่วนของผู้มีหน้าที่กำกับดูแลสื่ออย่าง กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ ในฐานะกรรมการ กสทช. ระบุว่า "ในฐานะเป็น กสทช. ด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อและผู้บริโภค ดิฉันเห็นว่า อำนาจของ กอ.รส. ทับซ้อนกับ อำนาจของ กสทช. ระดับหนึ่ง ซึ่งเราต่างมีอำนาจตามกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่ง กสทช. ควรธำรงความเป็นอิสระในการทำงาน ยึดเอาผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง และ ถ่วงดุลกับกลุ่มอำนาจทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งอำนาจที่เบ็ดเสร็จของทหารด้วย"
นักวิชาการตั้งคำถาม รัฐประหารหรือกฎอัยการศึก
มาที่ฟากฝั่งนักวิชาการ ซึ่งโดยผู้ที่ออกมาเสนอความคิดเห็นส่วนใหญ่น่าจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามผ่านเฟซบุ๊กว่า “ผบ.ทบ. มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึกในสถานการณ์ขณะนี้ โดยไม่ต้องมีพระบรมราชโองการ หรือไม่? …ขอให้ดูมาตรา 2 และ มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ที่ประกาศเมื่อเช้านำมาอ้าง …จะเห็นว่า มาตรา 2 นั้น การจะประกาศกฎอัยการศึกได้ "เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักร" จะต้องประกาศเป็นพระบรมราชโองการ
ในขณะที่ มาตรา 4 ให้อำนาจแก่ "ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหาร" มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึกได้จริง แต่ก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า "เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใด" เท่านั้น ไม่ใช่ในทุกกรณี ที่แน่ๆ ไม่ใช่กรณี "เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อย…" ที่กำหนดไว้ในมาตรา 2 แล้วว่า จะประกาศกฎอัยการศึก จะต้องทำเป็นพระบรมราชโองการ ซึ่งในขณะนี้ ไม่มี "สงครามหรือจลาจล" ทั่วราชอาณาจักร แต่อย่างใด
ดังนั้น ประกาศกฎอัยการศึก เมื่อเช้า อาศัยอำนาจอะไร ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก? ถ้าเป็นการประกาศ "เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อย.." (คืออาศัยอำนาจตาม มาตรา 2) ก็ต้องเป็นพระบรมราชโองการ แต่ถ้าจะประกาศเองในนาม ผบ.ทบ. ก็จะทำได้ตามมาตรา 4 เฉพาะในกรณี "สงครามหรือจลาจล" เท่านั้น ซึ่งไม่มีในขณะนี้”
ปิยบุตร แสงกนกกุล นักกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึงความไม่สมเหตุสมผลของการออกกฎอัยการศึกครั้งนี้ ผ่านเฟซบุ๊กตนเอง ว่า "ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสามารถเสนอร่างพระบรมราชโองการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยได้โดยให้เหตุผลว่าการประกาศกฎอัยการศึก ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1. ผู้บัญชาการทหารบกหรือแม่ทัพภาคมีอำนาจประกาศกฎอัยการศึกได้เอง โดยไม่แจ้งรัฐบาล ได้เฉพาะกรณีเกิดสงครามและสถานการณ์จลาจลเท่านั้น ในขณะนี้ ไม่มีเหตุการณ์เช่นว่าเกิดขึ้น
2. การประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ อ้างเหตุการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมีเขตพื้นที่จำกัดในกรุงเทพฯและไม่กี่จังหวัด แต่กลับประกาศกฎอัยการศึกให้มีผลทั่วราชอาณาจักร จึงขัดกับหลักความได้สัดส่วน
หากต้องการจัดการความสงบเรียบร้อย โดยกฎหมายพิเศษ มี พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ และ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ใช้ ไม่จำเป็นต้องประกาศกฎอัยการศึก"
ต่อมา คณะนิติราษฎร์ แถลงเรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยสรุปได้ว่า
1. การประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศให้มีผลใช้บังคับตลอดทั่วราชอาณาจักรเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะต้องกระทำในรูปแบบพระบรมราชโองการ (มาตรา 2) และต้องมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้กฎอัยการศึก หาใช่อำนาจของผู้บัญชาการทหารบกไม่ 
2. การประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งซึ่งเป็นอำนาจของผู้บัญชาการทหารในเขตพื้นที่นั้น (มาตรา 4) จะต้องเป็นกรณีที่เกิด “สงคราม” หรือ “จลาจล” เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ยังไม่ปรากฏว่าเกิด “สงคราม” หรือ “จลาจล”
3. การประกาศกฎอัยการศึกโดยให้มีผลทั่วราชอาณาจักรจึงเกินความจำเป็น ขัดกับหลักความพอสมควรแก่เหตุหรือหลักความได้สัดส่วนที่เรียกร้องว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพต้องกระทำเท่าที่จำเป็น ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในระดับรัฐธรรมนูญ
4. เพื่อขจัดความสับสนในทางปฏิบัติของบรรดาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตลอดจนบุคคลทั่วไปว่าจะต้องปฏิบัติตามประกาศกองทัพบกและประกาศฉบับอื่นๆ ต่อมาหรือไม่ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบนำร่างพระบรมราชโองการยกเลิกประกาศกองทัพบกฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกตาม มาตรา ๕ ของพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก
ขณะที่ เกษียร เตชะพีระ นักรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามถึง “เส้นแบ่งระหว่างกฎอัยการศึก กับ การรัฐประหาร” ผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุ “ผบ.ทบ. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชายืนยันในการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรว่านี่ไม่ใช่การรัฐประหาร เส้นแบ่งและข้อพิสูจน์ว่านี่เป็นการประกาศกฎอัยการศึกภายใต้ระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่การรัฐประหาร จริงหรือไม่? อยู่ที่ท่าทีของปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลรักษาการว่าจะยืนหยัดปกป้องหลักรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยต่อไปเพียงใด? หรือจะยอมสละหลักการดังกล่าวและความเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน เพื่อให้เห็นวันเลือกตั้งที่แน่นอนจะได้ไปลง เท่านั้น?”
อย่างไรก็ตามต้องติดตามสถานการณ์หลังประกาศกฎอัยการศึก ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง หลัง กอ.รส. ออกประกาศหลายฉบับในช่วงค่่ำของวันที่ 20 พ.ค. ซึ่งในประกาศแต่ละฉบับมีเนื้อหาละเมิดสิทธิภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างชัดเจน นับตั้งแต่การปิดสื่อเคเบิลทีวีหลายช่อง การขอความร่วมมือให้ระวังการแสดงความคิดเห็นของสื่อออนไลน์ จนกระทั่งการแสดงความเห็นออกโทรทัศน์ 
การประกาศใช้ "กฎอัยการศึก" ที่ดูเหมือนจะเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยด้วยอำนาจตามกฎหมาย จะต่างจากการ "รัฐประหาร" ยึดอำนาจเพียงใด ต้องจับตากันต่อไป