มุมต่างที่ไม่มองข้าม ในกิจกรรมประกวดชุดนักโทษ

             หลังจาก iLaw ปล่อยแคมเปญการประกวดชุดนักโทษใหม่ ภายใต้แนวคิด ‘นักโทษก็เป็นคน’ ซึ่งจะปิดรับไอเดียวันที่ 30 เม.ย. 57 และประกาศในเดือน พ.ค. 57 ก็มีคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างตามมา ซึ่งล้วนน่ารับฟัง ไอลอว์จึงลองนั่งคุยกับคนที่เห็นต่างสามคน นั่นคือ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จาก เครือข่ายพลเมืองเน็ต  (Thai Netizen Network)  พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation) และ ณัฐเมธี สัยเวช บรรณาธิการสำนักพิมพ์ชายขอบ เกี่ยวกับแนวคิดการประกวดชุดนักโทษของเรา ว่ามีมิติใดบ้างที่ถูกมองข้ามและละเลยไป

 

คิดอย่างไร กับชุดนักโทษในปัจจุบัน ?

 

 

            พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กล่าวว่า เมื่อผู้ต้องขังถูกพาตัวมาศาล จะสวมชุดนักโทษสีน้ำตาล และใส่ตรวน ผู้ต้องขังบางคนจะใส่ถุงเท้ามาด้วย เพื่อป้องกันการขูดขีดของตรวน ทำให้เสียงโซ่ที่ติดมากับตรวนจะเป็นสิ่งแรกที่เราสัมผัสได้ ข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องชุดนักโทษ คือ ต้องไม่ลืมว่าผู้ต้องขังทุกคนที่อยู่ในระหว่างการพิจารณายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การใส่ชุดนักโทษ ใส่ตรวน ย่อมทำให้เขาถูกสังคมตัดสินไปก่อนแล้วว่าเป็นคนผิด และคอนเซปของมนุษย์คนไทยนั้น มองว่าผู้ต้องขังและผู้ต้องหานั้นไม่ต่างอะไรกับผู้กระทำความผิดเลย ดังนั้นถ้าเราไม่แก้ทัศนคติตรงนี้ ไม่ว่าจะมีชุดสักกี่สีมันก็เหมือนเดิม 

           อาทิตย์ สุรยะวงศ์กุล กล่าวว่า ถ้าจะให้ว่ากันแฟร์ๆ ในทางปฏิบัติ ชุดนักโทษก็เหมือนยูนิฟอร์มอื่นๆ ทั่วไป เหมือนชุดนักศึกษา ซึ่งทำหน้าที่แบ่งแยกว่า คนๆ นี้เป็นใคร ทำงานที่ไหน เรียนอะไร ถ้าความคิดแบบนี้มันโอเค ชุดนักโทษก็เป็นยูนิฟอร์มแบบหนึ่ง มีฟังก์ชั่นในการแบ่งแยกว่าใครเป็นใคร ใครเป็นนักโทษ ใครเป็นผู้คุม มันก็สมเหตุสมผลในสภาพที่มันต้องมีการจัดการอะไรบางอย่าง

            ด้าน ณัฐเมธี สัยเวช มองอีกมุมหนึ่ง ว่าเรื่องของชุดนักโทษเป็นสิ่งที่ต้องไปถามกับนักโทษ เพื่อจะได้สะท้อนถึงปัญหาอย่างแท้จริง ไม่ควรใช้มุมมองคนนอกไปตัดสิน ถ้าอยากใช้มุมมองคนนอก ต้องไปถามเจ้าตัวว่ามุมมองแบบคนนอกของเรานี่กระทบจิตใจเขาหรือเปล่า

 

ชุดนักโทษในปัจจุบันควรมีลักษณะอย่างไร

 

 

          ขณะที่ณัฐเมธี เสนอว่า โดยพื้นฐานที่สุด ชุดนักโทษต้องเป็นมิตรต่อร่างกายนักโทษ เหมาะสมแก่การใช้ชีวิตในเรือนจำไม่ใช่เป็นชุดที่ใส่แล้วอึดอัด ไม่สะดวก เพราะติดคุกก็แย่จะตายอยู่แล้ว ได้ใส่เสื้อผ้าสบายๆ หน่อยก็ดี ด้านพรเพ็ญ มองว่า ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีควรมีเสรีภาพที่จะเลือกใส่ชุดอะไรก็ได้ตามที่เขาอยากจะใส่ จะใส่เสื้อแมนยู จะใส่เสื้ออาร์เซน่อล จะใส่เสื้อรักในหลวง เสื้อเหลืองเสื้อแดง ก็น่าจะเป็นเสรีภาพที่เขาควรจะมี

            พรเพ็ญ เล่าด้วยว่า การใส่ชุดนักโทษหรือการมีโซ่ตรวนไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่หลบหนี แต่ผู้คุมต่างหากที่คิดเองว่าถ้ามีโซ่แล้วเขาจะไม่หนี ผู้คุมเองจึงควรเปลี่ยนทัศนคติเช่นกัน ตอนนี้คนที่อยู่ในหน่วยงานราชทัณฑ์ส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มที่จะปฏิรูปการเคารพสิทธิหลักมนุษยชนมากกว่าคนในกระบวนการยุติธรรม เพราะเขารู้ว่าการจะควบคุมได้จำเป็นต้องใช้จิตวิทยามากกว่าอำนาจ

 

มองเรื่องกิจกรรมประกวดชุดนักโทษของ iLaw เป็นอย่างไร

         ณัฐเมธี ในฐานะคนสนใจกิจกรรมทางสังคม มองว่า การประกวดของไอลอว์ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ทางไอลอว์ใช้คำว่า "ความเป็นคน" ซึ่งคำมันใหญ่เกินกว่าจะแก้ไขได้ด้วยการออกแบบชุดใหม่ๆ ยิ่งไปเจอกติกาข้อที่กำหนดว่าชุดที่ออกแบบต้อง "ดูแล้วรู้ว่าเป็นนักโทษ" อันนี้ฮากระจายเลย เพราะความเป็นนักโทษในสังคมเรามันโยงอยู่กับทัศนคติของคนต่อความเป็นนักโทษ ต่อให้ใส่สูท นักโทษก็เป็นนักโทษวันยันค่ำ และก็ยังต่ำกว่าคนอยู่ดี ต่อให้เราได้ชุดนักโทษที่ดูดีมีความเป็นคนมากๆ คนอย่างอากง หรือนักโทษคดีหมิ่นสถาบันฯ ทั้งหลาย ก็ไม่มีทางจะเป็นคนขึ้นมาในสายตาของคนที่เห็นว่านักโทษคดีนี้ไม่ใช่คน ซึ่งนี่เป็นทัศนคติของคนส่วนใหญ่ในสังคม

            ด้านคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยตรงอย่างพรเพ็ญ ก็มองคล้ายกันว่า เราไม่ควรมีชุดนักโทษด้วยซ้ำ และแม้ว่าชุดนักโทษนั้นออกแบบด้วยวัตถุประสงค์หรือจินตนาการที่ดีมากน้อยแค่ไหน ก็กลายเป็นอีกชุดที่ทำให้เหยื่อกลายเป็นเหยื่อซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งสำหรับผู้ต้องขังที่คดีเด็ดขาดแล้ว การประกวดชุดก็ยิ่งไม่จำเป็นเลย เพราะปกติต้องอยู่ในการควบคุมแทบทุกกระเบียดนิ้วอยู่แล้ว

 

กติกาที่ว่าต้อง ดูแล้วรู้ว่าเป็นนักโทษ” มีปัญหาอะไร

            ณัฐเมธี กล่าวว่า กติกามันขึ้นหัวว่า ชุดที่ออกแบบใหม่ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไล่มาเรื่อยๆ และมีข้อนี้โผล่มา คล้ายๆ ว่า ตอนขึ้นหัวมันสร้างความคาดหวังให้คนรู้สึกว่าไม่ควรจะแบ่งเขาแบ่งเรา ควรจะต้องปฏิบัติต่อทุกคนเท่าๆ กันก่อน เวลามีความคาดหวังแบบนี้ขึ้นมา พอมาเห็นข้อที่บอกว่า ใส่แล้วดูรู้ว่าเป็นนักโทษ คนมันก็สะดุด เอ๊ะ ยังไงวะ ตกลงอะไรกันแน่ เราก็เลยคิดว่าตรงนี้เป็นอันหลักๆ ที่คนวิจารณ์กันเยอะ

            ด้าน อาทิตย์ มองว่า คนเขารู้สึกตะหงิดกับ กติกาข้อที่ว่า ใส่แล้วดูรู้ว่าเป็นนักโทษ เราก็ตะหงิดตรงนี้เหมือนกัน เพียงแต่ก็เข้าใจได้ว่าสุดท้ายชุดก็ต้องมีประโยชน์ใช้สอยบางอย่าง มองว่าเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสารกติกาการประกวดมากกว่า  

            ณัฐเมธี อธิบายถึงจุดอ่อนของกิจกรรมครั้งนี้ต่อว่า ปัญหาเกี่ยวกับกิจกรรมประกวดชุดนักโทษ คือ ไอลอว์กับคนทั่วไปน่าจะมีจินตนาการหรือความรับรู้เกี่ยวกับคำว่า "ชุดนักโทษ" ที่ต่างกัน คือ เห็นภาพไปคนละแบบ เข้าใจว่าไอลอว์เน้นหนักไปที่เรื่อง "ตรวน" แต่คนทั่วไปไม่นึกถึง ยิ่งพอใช้คำว่า "ชุด" นักโทษ ความเข้าใจของคนทั่วไปก็จะนึกถึงเสื้อผ้าเสียมากกว่า การที่คนทั่วไปจะเข้าใจว่า ไอลอว์หมายถึงตรวนด้วย ก็ต้องเข้าไปดูที่เว็บไอลอว์ ซึ่งมีภาพประกอบ นอกจากนี้ ไอลอว์เหมือนจะมีปัญหากับชุดนักโทษเมื่อออกนอกเรือนจำ ไม่ใช่ชุดนักโทษในทุกกรณี

 

การประกวดครั้งนี้พอจะมีข้อดีหรือประโยชน์บ้างไหม

            อาทิตย์ กล่าวว่า แคมเปญนี้น่าสนใจตรงที่ทำให้คนมามองสิ่งที่บางทีไม่ได้นึกถึงมาก่อนเลย ทั้งๆ ที่เราก็เห็นอยู่ตรงหน้าตลอด เห็นตามหน้าสื่อตลอด หรือคนที่ไปศาลบางทีก็ไม่ได้สังเกตด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าทำอย่างไรให้คนช่วยกันคิดต่อไปหน่อยว่า จริงๆ แล้วต่อให้คุณทำชุดดีแค่ไหนก็ตาม เขาก็ไม่ได้มีโอกาสซักชุดนี้บ่อยๆ หรอกนะ หรือว่าเขาอาจจะไม่มีโอกาสอาบน้ำ หรืออะไรต่างๆ นานาที่เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ทำอย่างที่คนปกติทำได้ คือ ทำอย่างไรให้คนมองผ่านเสื้อผ้าของนักโทษไปถึงชีวิตในเรือนจำว่ามันมีความไม่ถูกสุขลักษณะ แออัด ตรงนี้แหละคือความไม่เคารพความเป็นมนุษย์จริงๆ

            ขณะที่ ณัฐเมธี กล่าวว่า ไม่เห็นข้อดีของการประกวดครั้งนี้เลย แถมยังทำให้ไอลอว์ดูเป็นตัวตลกด้วย แต่ถ้าให้พูดแบบโลกสวยสุดๆ ไอลอว์ก็คงได้เห็นผลตอบรับในการวิจารณ์บ้างว่ามันมีจุดบกพร่องอะไรยังไง        

 

ถ้ามองว่าการประกวดครั้งนี้คือลูกเล่นหนึ่ง เพื่อจะช่วยดึงความสนใจของคนทั่วไป ให้รับรู้ถึงประเด็นสิทธินักโทษมากขึ้นจะได้ไหม

 

            ณัฐเมธี กล่าวว่า เท่าที่เห็นกิจกรรมนี้ไม่น่าจะช่วยนัก คือ ถ้าไม่สามารถทำให้คนเห็นปัญหาซึ่งมาจากความรู้สึกของนักโทษจริงๆ กิจกรรมแบบนี้คงไม่ช่วยอะไร ซึ่งต่อให้ทำมาชัดก็จะมีปัญหาต่อไปอีก พวกที่เห็นนักโทษเป็นคนก็จะสนใจ พวกที่ไม่เห็นเป็นคนก็จะบอกว่าสาสมแล้ว

 

            ด้านอาทิตย์ เห็นว่าแคมเปญนี้มันก็น่าสนใจเหมือนกัน พอชวนคนมาดูเสื้อผ้า ก็ทำให้คนคิดไปต่อได้ถึงกิจวัตรประจำวัน พอพูดถึง การออกแบบเสื้อผ้าก็ต้องนึกถึงว่า ชีวิตประจำวันเขาทำอะไรบ้าง การที่ชวนคนคิดต่อไปเรื่อยๆ เนี่ย ก็อาจทำให้คนเห็นเหมือนกันว่าการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มันมากไปกว่าการบังคับแต่งชุดอะไรพวกนี้อีก เพราะว่าชีวิตข้างในของเขาก็อาจไม่ได้ถูกสุขลักษณะ สุดท้ายแล้วแค่การเปลี่ยนชุดของเขาให้ดูดีขึ้นก็อาจไม่ได้ทำให้ชีวิตโดยรวมของเขาดีขึ้นสักเท่าไหร่

 

คิดว่าหากมีการจัดกิจกรรมเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจในสิทธินักโทษ ควรเริ่มที่ไหน

            ณัฐเมธี กล่าวว่า เรื่องชุดนักโทษ ไอลอว์ต้องตีโจทย์ออกมาให้ชัดๆ ว่าปัญหาที่ต้องการจะแก้คืออะไร แล้วสื่อสารออกมาให้ชัดเจน ต้องทำให้คนที่เข้ามาอ่านมาดูไม่หลุดไปจากกรอบวัตถุประสงค์ที่วางไว้ แล้วก็ต้องพยายามอุดทุกช่องโหว่ ประเด็นเรื่องความเป็นคนของนักโทษ เราว่าคงต้องทำงานร่วมกับพวกสายสิทธิมนุษยชนเยอะๆ ถ้าทำแล้วก็บอกเลยว่าต้องทำเยอะกว่านี้

             พรเพ็ญ เสนอว่า ควรเริ่มที่การทำงานกับราชทัณฑ์หรือผู้พิพากษา เพราะอะไรในศาลก็เป็นการควบคุมของผู้พิพากษา ลองคิดดูถ้าศาลคนหนึ่งบอกว่าผู้ต้องขัง(จำเลย)ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ราชทัณฑ์ก็ต้องเหลียวมองบ้างแหละ หรืออาจทำกิจกรรมรณรงค์แจกเสื้อให้ผู้ต้องขังเปลี่ยนที่ศาล เพราะทางราชทัณฑ์อาจไม่มีงบทำเสื้อใหม่ก็ได้ หรืออาจเป็นการทำอาหารฮาลาลให้ผู้ต้องขังที่เป็นมุสลิม เริ่มจากการซื้อหม้อ หรืออุปกรณ์ทำอาหารให้เขาทำแยกต่างหากก็ได้ ดังนั้นเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ก่อนก็ได้เหมือนกัน